17 ต.ค. 2023 เวลา 05:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำไมวิกฤต Subprime ถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัฏจักรหนี้ของสหรัฐฯ

ก่อนที่เราจะมาบอกเล่าว่าทำไมวิกฤต Subprime ถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัฏจักรหนี้ของสหรัฐฯ
คงต้องเริ่มที่วิกฤต Subprime ว่ามันคืออะไรและเกิดขึ้นได้ยังไงเสียก่อน
วิกฤต Subprime ก็คือ วิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2008 โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ
ย้อนไปในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 หลังการระเบิดของฟองสบู่ดอทคอมและเหตุการณ์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย
ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับที่ต่ำ จึงเป็นผลให้เกิดการกู้หนี้ยืมทรัพย์มากมายโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบวกกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯในการส่งเสริมให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านในช่วงเวลานั้น และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำการเก็งกำไรในตลาดนี้จึงได้เริ่มก่อตัวขึ้น
ต่อมาหลังจากปี 2004 ด้วยความกังวลของ Fed ที่มีต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่างๆ เช่น ความกังวลเรื่องฟองสบู่สินทรัพย์, เศรษฐกิจเริ่มร้อนแรงเกินไป, อัตราการว่างงานที่ต่ำ, ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น และอื่นๆ Fed จึงตัดสินใจค่อยๆ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อัตราเงินเฟ้อราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ
หลังจากที่ได้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปล่อยกู้ในวงกว้างให้กับผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง (subprime loans) บวกกับการขาดการกำกับดูแลที่เข้มงวดจากหน่วยงานภาครัฐ
ทำให้เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จนทำให้เกิดการล้มละลายของสถาบันการเงินมากมายลุกลามไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆของสหรัฐฯ และส่งผลให้เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก
อัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิต
สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์
วิกฤตครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่
แต่เหตุการณ์นี้ก็ได้จบลงโดยมาตรการต่างๆ ที่ออกโดยรัฐบาลที่นำโดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา อย่างเช่น
- การปล่อยกู้ฉุกเฉินให้กับสถาบันการเงินมูลค่ากว่า 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยเงินทุนดังกล่าวได้มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายให้นักลงทุนทั่วโลก ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เป็นการสร้างหนี้ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐฯ
รวมถึงยังมีการปรับอัตราดอกเบี้ยต่างๆลงจน "เกือบจะกลายเป็นศูนย์" เพื่อส่งเสริมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ ระบบเศรษฐกิจ และมาตรการลดภาษีต่างๆ
Federal Funds Rate
Federal Funds Effective Rate
และนี้คือจุดเริ่มต้นของหัวข้อที่เราจะมาบอกเล่ากันในครั้งนี้
อธิบายมาถึงตรงนี้หลายๆคน อาจ "เริ่มตะหงิดใจ" กับการกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯในครั้งนั้นบ้างแล้ว หากยังไม่เริ่มตะหงิดใจงั้นเรามาต่อกันเลย
ด้วยกระทำในครั้งนั้นของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเวลาต่อมาทำให้เกิดรายจ่ายมากมายเพิ่มขึ้นในระบบ ส่งผลให้หนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯ ในช่วง Q1 ปี 2008 ที่อยู่ที่ 64% กระโดดไปอยู่ที่ 86% ใน Q1 ปี 2010
หนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯสูงขึ้นถึง 22% ภายในระยะเวลา 3 ปี หลังจากเกิดวิกฤต Subprime
ซึ่งหนี้ที่เกิดขึ้นนี้หากเป็นช่วงโรคระบาด Covid-19 มันจะดู "สมเหตุสมผล" เพราะว่าหนี้ที่ก่อขึ้นทำไปเพื่อช่วยระบบเศรษฐกิจและประชาชนจากเหตุการณ์ที่ "ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย"
แต่กลับกันในครั้งวิกฤต Subprime จากที่กล่าวมาข้างต้นมันดูเหมือนเกิดจากการบริหารและจัดการที่ไม่สอดคล้องกันของรัฐบาลกลางและ Fed มากกว่า
การสนับสนุนให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้เกิดการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมาซื้อบ้าน และโดยทั่วไปแล้วเวลาเราจะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย เรามักนิยมการผ่อนจ่ายมากกว่าการจ่ายรวดเดียวอยู่แล้ว การสนับสนุนให้ประชาชนเป็นเจ้าของบ้านจึงทำให้ประชาชนมี "พันธะผูกมัดทางการเงินมากขึ้น"
และไม่เพียงแต่ภาคประชาชนเท่านั้น เมื่อมีความต้องการบ้านหรือที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น การก่อหนี้เพื่อนำมาสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของภาคธุรกิจก็มากขึ้นตามไปด้วย
แล้วอยู่ๆ Fed ก็ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ซึ่งก็ไม่ได้ผิด เพียงแต่มันไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สุดท้ายเลยลงเอยที่วิกฤตทางการเงินนั่นเอง
การแทรกแซงระบบของสหรัฐฯในครั้งนั้น จึงมีนัยมากกว่าครั้งก่อนๆ
ด้วยเม็ดเงินหรือสภาพคล่องที่ถูกเพิ่มเข้ามาในระบบมหาศาล จากนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ บวกกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แทบจะเป็นศูนย์หลังจากเกิดวิกฤต Subprime
สองสิ่งที่กล่าวมานี้ได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมต่างๆในสหรัฐฯเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ GDP ของสหรัฐฯหลังจากการเกิดวิกฤต ได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
GDP
อย่างไรก็ตาม GDP ที่เติบโตขึ้นในอีกแง่หนึ่งมันยังผลักดันให้ราคาของสินทรัพย์ภายในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย
สิ่งนี้ทำให้พวกเขามี "หลักประกันในการค้ำเพื่อกู้เงินมากขึ้น" และส่งผลให้ "ความสามารถในการก่อหนี้" ของพวกเขาเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย
สินเชื่อเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม
หนี้สาธารณะทั้งหมดเป็นเปอร์เซ็นต์ต่อ GDP
กล่าวคือ แม้ GDP ของสหรัฐฯจะเดิบโตขึ้นเรื่อยๆในช่วงหลายปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดวิกฤต Subprime แต่มันยังไม่มากเพียงพอเมื่อเราเทียบกับหนี้ที่สหรัฐฯก่อขึ้นนับตั้งแต่หลังวิกฤต Subprime
สิ่งที่จะยืนยันเรื่องนี้ได้นั่นก็คือ แนวโน้มหนี้ต่อ GDP ของพวกเขาที่เติบโตเร็วพอๆหรืออาจจะมากกว่าแนวโน้มการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในเวลาที่ผ่านมาด้วยซ้ำ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้หนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯ ยืนอยู่เหนือระดับ 100%
โดยทั่วไปแล้ว หากหนี้ต่อ GDP ของประเทศใดยังไม่เกิน 100% ต่อ GDP ประเทศนั้นจะยังคงถือว่ามีการเติบโตที่สามารถครอบคลุมหนี้ของประเทศตนได้
ในทางกลับกัน หากว่าเกิน 100% ต่อ GDP ก็จะถือว่าพวกเขาเสี่ยงต่อการผิดนัดขำระหนี้ เนื่องจากการเติบโตของ GDP ไม่ครอบคลุมหนี้ของประเทศ
ซึ่งหากสังเกตจะเห็นได้ว่าหนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯได้ยืนอยู่เหนือระดับ 100% ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กล่าวคือ สหรัฐฯไม่ได้มีการเติบโตที่พอเพียงเมื่อเทียบกับหนี้ต่อ GDP ที่พวกเขามีอยู่
หากพวกเขาไม่สามารถที่จะนำเปอร์เซ็นหนี้ต่อ GDP ให้ลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100% ได้หรือเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ให้เติบโตทันหนี้ที่ก่อขึ้น
เราคงจะได้เห็นการแทรกแซงระบบจากรัฐบาลของสหรัฐฯเหมือนในครั้งวิกฤต Subprime อย่าง "แน่นอน"
และเพื่อที่จะชำระหนี้ให้ได้ ก็คงหนีไม่พ้นการออกพันธบัตรรัฐบาลมาขายแล้วนำเงินไปใช้หนี้นั่นเอง
ที่กล่าวมานี้ อาจพอที่จะอธิบายให้เพื่อนๆหรือนักลงทุนได้เห็นภาพกันมากขึ้น
การก่อหนี้เพื่อนำเงินมาแก้ไขข้อผิดพลาดของสหรัฐฯในวิกฤต Subprime ทำให้หลังจากนั้นหนี้ต่อ GDP ของสหรัฐฯสูงขึ้น 22% อย่างรวดเร็วภายในเวลาแค่ 3 ปี หน้ำซ้ำยังมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแทบจะกลายเป็นศูนย์
สิ่งเหล่านี้มันเหมือนเป็นการ "เหยียบคันเร่ง" ของรถยนค์ที่ชื่อว่า "หนี้" ให้เติบโตเร็วกว่ารายได้ที่พวกเขาหาได้
วิกฤต Subprime จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัฏจักรหนี้ของสหรัฐฯนั่นเอง
อีกทั้งการแทรกแซงระบบครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของรัฐบาลสหรัฐฯที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด Covid-19 ก็ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรหนี้นี้ชัดขึ้น
หากอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานงบประมาณรัฐสภา (CBO) ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและงบประมาณให้แก่รัฐสภาคองเกรสของสหรัฐฯ
เราก็จะเห็นได้ว่าแนวโน้มหนี้ของสหรัฐฯไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลงเลย เราจึงค่อนข้างที่จะมั่นใจได้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะต้องทำการแทรกแซงระบบหนี้ของประเทศตนเองแน่นอน
การแทรกแซงระบบครั้งใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมาทำให้วัฏจักรหนี้ที่ควรจะเป็น ไม่ได้เป็นอย่างที่ควรอีกต่อไป
กล่าวคือ วัฏจักรหนี้ของพวกเขาหลังจากนี้จะกลายเป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปโดยตัวพวกเขาเอง
บทความนี้เป็นเพียงแค่การยกข้อมูลปัจจัยบางส่วนในช่วงเวลาหนึ่งมานำเสนอเท่านั้น เพื่อนๆ หรือนักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ด้วยตนเอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา