14 ก.ย. 2023 เวลา 13:42 • ความคิดเห็น
ไม่รู้ตัวอย่างที่ยกมานั้นจะเกี่ยวข้องกับนิสัยการอ่านของคนไทยหรือเปล่า เพราะบางทีตัวเลขที่ระบุอาจไม่เท่าถามราคาคนขายจริงๆ เพราะบางทีเมื่อถามแล้วอาจหาทางต่อรองได้อีก ฯลฯ และเพราะบางทีชื่อของคลิปหนังก็อาจไม่ค่อยจะตรงกับชื่อหนังจริงๆ ก็ได้ แต่ไม่ว่าอะไร นั่งก็ยังแสดงว่าพวกเราชอบการสนทนาโต้ตอบมากกว่า เพราะมันมีชีวิตชีวากว่า
แต่นี่ก็ไม่ใช่คำตอบของคำถามล่ะนะ แล้วคำตอบของคำถามคืออะไรล่ะ เรามาลองคิดดูกันเล่นๆ ดีกว่า "ทำไมคนไทยไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ เกิน 1 บรรทัด?"
การจะตอบคำถามนี้ได้ บางทีอาจต้องกลับไปสู่ที่มาของวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยกันก่อน และเมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมการอ่าน ก็ต้องกล่าวถึงตัวอักษร ความรู้โดยทั่วไปในตอนนี้คืออักษรไทยถูกพัฒนาขึ้นมาครั้งแรกในอาณาจักรสุโขทัย(ลายสือไท)โดยพ่อขุนรามคำแหง แน่นอนเรื่องนี้ในแง่หนึ่งยังเป็นเพียงทฤษฎีที่เชื่อถือกันแพร่หลายที่สุดในเรื่องนี้ ฉะนั้น มันจึงอาจโต้แย้งได้ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องการกำเนิดตัวอักษรก็อาจไม่เกี่ยวข้องโดยตรงนักกับวัฒนธรรมการอ่าน
สิ่งที่ดูจะเกี่ยวข้องมากกว่าคือ "เราใช้อักษร หรือ "ภาษาอักษร" เพื่อเป้าหมายใดมากที่สุด?" มีความเห้นที่น่าจะได้ยินกันดีว่าตัวอักษรที่พ่อขุนรามประดิษฐ์ขึ้นนั้นเพื่อใช้เขียนเพื่อให้ "อ่าน" หมายถึงว่าให้คนทั่วๆ ไปได้อ่าน แต่แนวคิดนี้ก้ยังมีคนเห็นแย้งอยู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ถ้าผมจำไม่ผิด ได้เสนอความคิดหนึ่งขึ้นมาว่า ความจริงแล้วอักษร(หรือก็คือจารึกเหล่านั้น)มิได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อให้คน(สาธารณชน)อ่าน แต่เพื่อให้ "ผี" หรือเทวดาอ่าน หากแนวคิดนี้ถูกต้องอยู่บ้างจะเห็นได้ว่า
จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยนั้น ก็ไม่ใช่เพื่อการอ่านโดยทั่วไปแต่อย่างใด
ถัดมาอีก หากเราพิจารณากันที่วัฒนธรรมการเขียน (หมายความว่ามีตัวอักษรใช้แล้ว) ของคนไทยนั้น แรกเริ่มเราเขียน(จาร)กันในใบลาน(ใบไม้)และลักษณะของใบลานนี้เองก็ได้พัฒนาต่อมาเป็นสมุดไทย หากใครเคยเห็นใบลานจะต้องพูดทันทีว่า 1 บรรทัดของใบลานนั้นยาวมาก เมื่อเทียบกับ 1 บรรดทัดของสมุดฝรั่ง(สมุดหน้ายกแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้) และการเขียนของเราสมัยก่อนก็เน้นเพื่อ "รักษา" คำสอนทางศาสนาเพื่อมิให้หลงลืมจนเลอะลืนมากกว่าการอ่านเพื่อความบันเทิงแบบทุกวันนี้
ดังนั้นวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยจังเป้นวัฒนธรรม "ชั้นสูง" อยู่มาก หากใครที่เกิดทันคนที่มีความคิดโบราณๆ หน่อยๆ จะพบว่า คนโบราณมักเห็นว่า "สมุด" และ "หนังสือ" นั้นเป็น "ของสูง" อยู่มากทีเดียว คือเด็กๆ จะวางหนังสือไว้ในที่ต่ำก็ไม่ได้ จะข้ามหรือเหยียบสมุดก็ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ถือกันว่าเป็นการกระทำต้องห้าม หากทำเข้าจะถือว่าเป็นความผิดบาป (แม้บาปไม่มาก แค่อาจจะทำให้ "ขี้กลากกินหัว" ก็เท่านั้นเอง) ดังนั้นจะเห็นได้ว่า
ชาวไทยแต่ดั้งแต่เดิมนั้น "อ่าน" เพื่อความรู้ มากกว่าเพื่อความเพลิดเพลินหรือความสนุกสนาน หรือเพื่อการสื่อสารแบบสมัยปัจจุบัน
แน่นอนเมื่อเรามีเริ่มมี "เครื่องพิมพ์" แบบฝรั่งที่นำเข้ามาโดยฝรั่ง และตีพิมพ์ "หนังสือพิมพ์" แบบฝรั่งขึ้นมา (หากสนใจลองศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "ประวัติศาสตร์ของหนังสือพิมพ์ไทย", "ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย" หรือประวัติของ "หมอบรัดเลย์") นั่นล่ะชาวไทย หรือหากจะพูดให้เฉพาะกว่านั้นคือชาวสยามเราจึงได้รู้จักกับวัฒนธรรมการอ่านแบบสมัยใหม่เป็นครั้งแรก เริ่มมี "ข่าว" ลงในหนังสือพิมพ์ เริ่มมี "วรรณกรรม" (พระอภัยมณี) ออกมาให้สาธารณชนได้อ่านเพื่อความบรรเทิงเป็นเรื่องแรกๆ
หลังจากที่เราติดอยู่กับวัฒนธรรมการ "ฟัง" มาตั้งนานแสนนาน แต่หากจะว่าไปแล้วเมื่อเทียบกับการเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์ของ "กูเตนเบิร์ก" อย่างไรเสียวัฒนธรรมการอ่านของสาธารณชนชาวไทยก็ยังนับว่าอ่อนเตาะแตะอยู่ดี
ด้วยความที่ "บรรทัด" สมัยก่อนมันยาว และหน้าใบลานมันแคบ (ผมยังไม่เคยนับเหมือนกันว่าบรรทัดของใบลานนั้นมีเกินกว่า 7 บรรทัดหรือเปล่า?) การอ่านหลายๆ บรรทัด จึงอาจเป็นอะไรที่เราไม่ชอบนักก็ได้ ด้วยความที่เรายังไม่คุ้นชินกับการอ่านแบบสมัยใหม่ การอ่านเพื่อการสื่อสารและเพื่อนันทนาการ จึงยังทำให้เราไม่นิยมที่จะอ่านมากกว่าฟังก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงความเห็นหนึ่ง มันอาจจะมีเหตุผลมากกว่านี้ที่ทำให้ชาวไทยเราไม่นิยมการอ่าน จนไม่ชอบอ่านอะไรที่ยาวๆ เกินกว่า 1 บรรทัด
แต่บางทีสิ่งที่จะพิสูจน์เรื่องนี้ได้ว่า คนไทยชอบอ่านอะไรที่ยาวๆ มากกว่า 1 บรรทัดจริงหรือเปล่า อาจจะอยู่ที่บรรทัดนี้เอง ซึ่งเป็นบรรทัดสุดท้าย หากผู้ถาม อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็น่าจะเบาใจได้แล้วล่ะ เพราะยังไงซะก็ยังมีคนไทยที่อ่านอะไรยาวๆ มากกว่า 1 บรรทัดอยู่
1
โฆษณา