14 ก.ย. 2023 เวลา 16:36 • การศึกษา

โอกาส กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไทย

ความน่าสนใจของการพัฒนามนุษย์ (HD) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (HRD) ในไทย คือบริบทที่มีความแตกต่าง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า โอกาส (Opportunities) มีบทบาทอย่างมากภายใต้ระบบทุนนิยมไทย
เรื่องโอกาสกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไทยจะตีพิมพ์เป็นบทความเต็มเพื่อลงวารสารวิชาการต่อไป แต่ในบทความนี้ จะสรุปให้ฟังเป็นแนวคิดสำหรับผู้ที่สนใจพฤติกรรมศาสตร์ การเรียนรู้ และสังคมศาสตร์ครับ
หากศึกษาลงไปในทฤษฎีการพัฒนามนุษย์ที่เสนอ โดย Amartya Sen ในปี 1987 เกี่ยวกับขีดความสามารถในการเลือกเส้นทางความสำเร็จ ระบุว่า มนุษย์ควรมีขีดความสามารถในการเลือกชีวิตและเส้นทางบรรลุความสำเร็จของตนเอง และสิ่งนั้นเป็นสิ่งสะท้อนเสรีภาพของมนุษย์ ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 1998
อย่างไรก็ดี เมื่อมองมุมกลับของคำว่า ขีดความสามารถ สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภายใต้บริบทไทย คือ โอกาส ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน และโอกาสนั้นมาจากพื้นฐานของครอบครัวเป็นสำคัญ
ในที่นี้ ผมพูดถึง Family opportunities หรือ โอกาสจากการเกิดในตระกูลที่ดีนั่นเองครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มทุนธุรกิจครอบครัวชั้นนำของไทย ที่ถือครองทรัพยากรเต็มเปี่ยม
ซึ่งทรัพยากรครอบครัวบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ทรัพยากรรูปธรรม คือ ทรัพยากรที่อยู่ในบุคคล ทั้งคุณสมบัติ ความสามารถ ทัศนคติ เครือข่าย และ อื่น ๆ ที่พร้อมจะถ่ายทอดกันในตระกูล
2. ทรัพยากรนามธรรม คือ เงินทอง ทรัพย์สิน ที่จับต้องได้และสามารถตอบสนองความต้องการของคนในครอบครัวได้
จากการวิจัยลงลึกในกลุ่มทุนธุรกิจครอบครัวชั้นนำของไทยด้วยกัน ยังพบอีกว่า โอกาส เปิดกว้างสำหรับบุตรคนโต (ทั้งชายและหญิง) มากกว่า ทั้งโอกาสในการศึกษาต่อต่างประเทศ หรือโอกาสในการฝึกงานตั้งแต่เด็ก
ทรัพยากรของครอบครัว: เส้นทางโอกาส
ใครที่ไม่ได้เกิดในครอบครัวกลุ่มทุนธุรกิจชั้นนำ (ซึ่งมากกว่า 95% ของประชากรในประเทศ) ก็ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจไปนะครับ ลองดูโอกาสอีกประเภทหนึ่งคือ โอกาสที่ได้รับจากภายนอก (External opportunities) ครับ
ใช่ครับ โอกาสที่ได้รับภายหลัง และมาจากนอกครอบครัวและมักจะหยิบยื่นให้โดยกลุ่มสถาบัน องค์การ หรือรัฐบาล (หรือส่วนบุคคล) ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ครับ ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษา การเปิดโอกาสให้พัฒนาตนเอง การเปิดโอกาสให้ลงมือทำ
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยังวนเวียนไม่รู้จบเนื่องจาก โอกาสจากภายนอกเองต้องอาศัยพื้นฐานจากโอกาสจากครอบครัวตั้งต้นเสมอ ส่วนหนึ่งจึงต้องมอบหน้าที่แก่รัฐบาลของประเทศในการเพิ่มโอกาสภายนอก (external opportunities) สำหรับผู้ที่มีโอกาสจากครอบครัวน้อย เพื่อพัฒนาศักยภาพประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในระยะยาว
การขาดซึ่งโอกาส เป็นการตัดตอนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่ระยะต้น และสร้างปัญหาเรื้อรังจากการขาดแคลนทักษะในวิชาชีพ และอาชีพต่าง ๆ นับเป็นปัญหาระดับชาติ และอาจสร้างความเสียหายแก่ระดับนานาชาติในอนาคตเช่นกัน
บทความนี้มุ่งเน้นที่ โอกาสกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้บริบทไทย ที่เป็นจุดเริ่ม้ตนสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์ประกอบอื่นที่มีบทบาทเช่นกัน เช่น แรงจูงใจ คุณค่า ซึ่งจะพูดคุยกันในบทความต่อไปครับ.
โฆษณา