18 ก.ย. 2023 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

โมเดลธุรกิจโคคา-โคล่า ไม่สร้างโรงงานผลิตเอง

แต่เน้นขาย หัวเชื้อน้ำอัดลม ให้คนอื่น
รู้หรือไม่ว่า โคคา-โคล่า เจ้าของเครื่องดื่มที่ใคร ๆ ก็รู้จัก อย่างโค้ก สไปรท์ และแฟนต้า สามารถขายเครื่องดื่มได้วันละ 2,200 ล้านขวดทั่วโลก
ซึ่งหากเราลองสังเกตดู ก็จะพบว่า โค้กเป็นเครื่องดื่มเพียงไม่กี่ชนิด ที่สามารถวางขายได้ครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ในโลก ตั้งแต่บนเครื่องบินโดยสาร ไปจนถึงพื้นที่แถบชนบท
แล้วโคคา-โคล่า ทำอย่างไรถึงสามารถขายสินค้าครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกมุมโลกได้ ?
MONEY LAB จะเล่าเรื่องการเงิน ที่โรงเรียนไม่เคยสอนให้เข้าใจ
กลยุทธ์ที่โคคา-โคล่าใช้ เรียกว่า Asset Light Model หรือก็คือ การลดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารกิจการ
โดยนอกจากโคคา-โคล่าแล้ว ก็มีบริษัทชื่อดังอย่าง Apple
ที่ใช้กลยุทธ์นี้ด้วย
รู้หรือไม่ว่า Apple ไม่มีโรงงานผลิตสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง แต่อาศัยการจ้างผลิต ทำให้บริษัทไม่ต้องตั้งงบลงทุนที่สูง และไม่จำเป็นต้องเสียเวลาสร้างโรงงานของตัวเอง
เพราะจุดแข็งของ Apple ไม่ใช่การผลิต แต่เป็นการออกแบบนวัตกรรมให้ล้ำหน้ากว่าคนอื่น
กลับมาที่โคคา-โคล่า
โคคา-โคล่าก็เหมือน Apple ตรงที่ไม่ได้สร้างโรงงานผลิตน้ำอัดลมเอง เพียงแต่ขายวัตถุดิบสำคัญคือ หัวเชื้อ หรือ Syrups ให้พาร์ตเนอร์ผู้ผลิตขวดบรรจุน้ำอัดลมในแต่ละประเทศ
จากนั้นพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตขวดบรรจุน้ำอัดลมก็จะผลิตน้ำอัดลมจากหัวเชื้อ แล้วปรุงวัตถุดิบตามสูตรของบริษัทแม่
โดยในไทยก็มีบริษัท 2 แห่งที่รับจ้างผลิต และจัดจำหน่ายน้ำอัดลมให้โคคา-โคล่า นั่นก็คือบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)
ข้อดีของการทำแบบนี้คือ โคคา-โคล่าไม่จำเป็นต้องเตรียมงบลงทุนสูง ๆ ไว้สร้างโรงงานผลิตเอง แล้วก็ไม่ต้องเสียเวลารอโรงงานสร้างเสร็จ เพื่อเริ่มผลิตสินค้าด้วย
บริษัทเพียงแค่มองหาผู้ผลิตที่มีศักยภาพในแต่ละตลาด ก็สามารถผลิตสินค้า ป้อนเข้าตลาดได้ทันที
นอกจากกระบวนการผลิตแล้ว บริษัทท้องถิ่นที่โคคา-โคล่าไปจับมือด้วย ยังรู้จักช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าในระดับท้องถิ่นเป็นอย่างดี
ในขณะที่โคคา-โคล่าซึ่งเป็นบริษัทข้ามชาติ อาจจะไม่รู้จักช่องทางการจัดจำหน่ายในแต่ละประเทศ ดีเท่ากับบริษัทในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นกลยุทธ์นี้ จึงช่วยแก้จุดอ่อนให้กับโคคา-โคล่าได้เป็นอย่างดี
แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีผู้ผลิตที่เหมาะสม เช่น กัมพูชา และเวียดนาม ทางบริษัทจะเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตด้วยตัวเอง จากนั้นก็จะหาผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อโรงงานต่อ
นอกจากนี้ ถ้าน้ำอัดลมของโคคา-โคล่าขายดีในประเทศนั้น ๆ บริษัทท้องถิ่นที่รับจ้างผลิต และเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย ก็จะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นไปด้วย
และบริษัทท้องถิ่นเหล่านี้ ก็ไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการทำการตลาดด้วย เพราะบริษัทแม่จะเป็นผู้ทำการตลาดด้วยตัวเอง
พูดง่าย ๆ ก็คือ โคคา-โคล่าได้ดึงบริษัทท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการผลิตน้ำอัดลมมาเป็นพวกของตัวเอง แล้วจึงแบ่งงานกันทำตามสิ่งที่แต่ละคนถนัด
โคคา-โคล่ามีสูตรและเก่งเรื่องทำการตลาด ก็ขายหัวเชื้อ และทำการตลาด ส่วนบริษัทท้องถิ่นเก่งเรื่องผลิต และจำหน่าย ก็ผลิตและจัดจำหน่าย
ถ้าเราลองมาดูผลประกอบการของโคคา-โคล่า จะพบว่า
ปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขายหัวเชื้อ 860,000 ล้านบาท และมีรายได้จากการผลิตน้ำอัดลมขายเองที่ 675,000 ล้านบาท
ก็จะเห็นได้ว่าบริษัทสามารถสร้างรายได้จากการขายหัวเชื้อได้มากกว่า การผลิตน้ำอัดลมขายเองเลยเสียอีก..
โฆษณา