25 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

เบื้องหลังสองสัมพันธ์แห่ง “จักรี-โรมานอฟ”

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสยามของ “ซาเรวิช นิโคลัส อเล็กซานโดรวิช” มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2433 ถือเป็นเรื่องราวหนึ่งที่เลื่องลืออย่างมากสำหรับความกระตือรือร้นของสยามประเทศ ในการถวายการต้อนรับที่เต็มไปด้วยความอลังการงานสร้าง จนกลายเป็นวลีเด็ดที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นว่า “ราวกับรับซาเรวิช”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับซาเรวิช นิโคลัส อเล็กซานโดรวิช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยาม และคณะผู้ตามเสด็จของซาเรวิช เมื่อปี พ.ศ. 2433 (ภาพ: เพจ โบราณนานมา)
แล้วยังเป็นจุดกำเนิดของความสัมพันธ์อันแนบแน่น ยาวนานระหว่างประเทศไทยกับรัสเซีย ซึ่งในการเสด็จครั้งนั้น ได้มีตำนานอยู่องก์หนึ่งที่ “ว่ากันว่า” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรง “ทุ่มสุดพระองค์” อย่างมากในการผูกสัมพันธ์กับรัสเซีย ถึงขั้นจะยก “พระแก้วมรกต” พระราชทานแก่ซาเรวิช นิโคลัส เลยทีเดียว
เรื่องก็มีอยู่ว่า ซาเรวิช นิโคลัส มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย “ผู้มาจากแดนไกล” ทรงพอพระราชหฤทัยอย่างมากในการที่สยามถวายการต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ มีอยู่วันหนึ่งขณะประทับอยู่ในสยาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทำนองว่า เมื่อบ้านเมืองทั้งสองได้ดำเนินทางพระราชไมตรีมาด้วยดีเสมือน “ทองแผ่นเดียวกัน” แล้ว หากซาเรวิช นิโคลัส มีพระราชประสงค์หมายสิ่งใดในสยาม พระองค์ก็จะสรรหาและจัดมาพระราชทานให้อย่างไม่ขัดข้อง
การนี้ ซาเรวิช นิโคลัส คิดจะทดลองน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ไปประดิษฐานที่จักรวรรดิรัสเซีย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ถึงกับนิ่งไปช่วงหนึ่ง แล้วจึงมีพระราชดำรัสตอบตกลง
พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ในเวลาที่มิได้ทรงเครื่องตามฤดูกาล (ภาพ: หนังสือ ลักษณะไทย เล่ม ๑: พระพุทธปฏิมา อัตลักษณ์พุทธศิลป์ไทย)
ซาเรวิช นิโคลัส ก็ตกพระทัยไม่น้อยใน “ความกล้า” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะโดยส่วนพระองค์รงทราบดีอยู่แล้วว่า พระแก้วมรกต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่สำคัญของราชวงศ์ และประชาชนชาวสยามมากเพียงไหน
เป็นเช่นนี้แล้ว ซาเรวิช นิโคลัส ทรงสัมผัสได้ถึงความเป็นมิตรแท้ จึงกราบบังคมทูลขอบพระทัย พร้อมกับกราบบังคมทูลต่อไปทำนองว่า หากสยามจะต้องการสิ่งใดจากรัสเซีย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนบ้าง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งขอพระแก้วมรกตคืน เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับสยามประเทศดังเดิม ซาเรวิช นิโคลัส ก็เข้าพระทัย
ถึงอย่างนั้น สิ่งที่ซาเรวิช นิโคลัส ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากมิตรภาพแล้วก็คือ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเต็มใจที่จะยอมรับมกุฎราชกุมารผู้มาจากแดนไกลพระองค์นี้เป็นสมาชิกแห่งราชวงศ์จักรีเพิ่มอีกรายหนึ่ง
(ซ้าย) กล่องบรรจุสายสร้อย ตรามหาจักรี และดาราจักรี (ขวา) กล่องบรรจุสายสะพาย (ภาพ: Pinterest ของ Thomas Ghysdaël)
ในโอกาสเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้รับการถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนดรูว์ ชั้นที่ 1 (The Order of St. Andrew the Apostle the First-Called) ถือเป็นชั้นสูงสุดจากสมเด็จพระจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ผ่านซาเรวิช นิโคลัส ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสัมพันธ์อันแนบแน่นและยาวนานของไทยกับรัสเซีย
สายสร้อยและดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนดรูว์ ชั้นที่ 1 (The Order of St. Andrew the Apostle the First-Called) (ภาพ: Kunstsammlungen der Veste Coburg)
เมื่อลัทธิจักรวรรดินิยมได้แผ่ขยายเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสยามด้วยแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้เสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2440 โดยจุดหมายแรกที่เสด็จพระราชดำเนิน คือรัสเซีย เพื่อให้ช่วยเจรจากับฝรั่งเศส นำไปสู่การฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2440 (ภาพ: Wikipedia)
ในการนี้ พระองค์ได้ส่งพระราชโอรส “พระองค์โปรด” ที่สุด คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถไปศึกษาที่รัสเซีย โดยทรงฝากฝังไว้กับสมเด็จพระจักรพรรดินีโคไลที่ 2 อะเลคซันโดรวิช โรมานอฟ หรือสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ซึ่งก็ทรงรับไว้ประดุจพระราชโอรสของพระองค์เอง
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมขุนพิษณุโลกประชานาถ ทรงฉลองพระองค์สำหรับร่วมงานเลี้ยงที่พระราชวังฤดูหนาว ระหว่างประทับศึกษาวิชาการทหารในรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ. 2446 (ภาพ: Wikipedia)
จากจุดนี้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธสองราชวงศ์ที่นับวันผูกพันใกล้ชิดกันมากขึ้น ถึงกับมีการปรึกษาแลกเปลี่ยนและขอความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ทางราชการ ตลอดจนความเป็นอยู่ของ “ทูลกระหม่อมเล็ก” หรือเจ้าฟ้าจักรพงษ์ อยู่เสมอ รวมถึงปัญหาเรื่องสายพระโลหิตของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ยังหาพระราชโอรสสืบราชสมบัติไม่ได้ จนถึงกับต้องขอความช่วยเหลือในทางไสยศาสตร์ แต่กลับไม่เป็นผล จึงกลายเป็นอีกตำนานหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน
10 ปีให้หลัง ในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 1904 (พ.ศ. 2447) สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ก็ได้พระราชโอรสสมตามพระราชปรารถนา ทรงพระนามว่า “อเล็กเซย์” ถึงกับมีงานฉลองเป็นการใหญ่ ด้านสยามเมื่อได้รับทราบข่าวก็ได้มีการนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทราบในอีกเดือนต่อมา จึงได้มีพระราชสาส์นแสดงความยินดีไปทางราชสำนักโรมานอฟโดยทันที
สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 กับเซซาเรวิช อเล็กเซย์ นิโคลาเยวิช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย (ภาพ: evpatori.ru)
โอกาสนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หลวงโลกทีปทำการผูกดวงพระชะตาของ “เซซาเรวิช อเล็กเซย์ นิโคลาเยวิช” มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย เพียงผู้เดียว โดยอ้างจากวันเวลาและระบบปฏิทินที่รัสเซีย และให้ผูกตามวันเวลาของกรุงเทพมหานครเท่านั้นด้วย
ต่อมาในวันที่ 27 กันยายน 2447 กรมราชเลขานุการได้รับดวงพระชะตา 2 ฉบับ ซึ่งอีกฉบับหนึ่งเป็นของหลวงไตรเพท ที่ได้ทำนายไว้เป็นพิเศษ ตามเวลาของรัสเซีย หากแต่ดวงพระชะตาได้ระบุถึงลางดีลางร้ายในตอนท้ายไว้ว่า
...ตามพื้นแห่งชาตานี้ รวมใจความตามในคำพยากรณ์ว่า ตั้งแต่อุบัติ์คู่ครรภ์มารดามา กระทำให้บิดามารดาแลญาติสาโลหิต ทั้งข้าทาษกรรมกรมีความวิวาทพรัดพรากจากกันแลกันไม่ใคร่ขาด ทั้งสัตรูหมู่อมิตร์มีความหมิ่นประมาทโดยมาก ย่อมจะได้รับความทุกข์ยากก่อน จึงจะได้รับผลแห่งความศุขต่อภายหลัง
ส่วนของหลวงโลกทีป ได้ระบุตอนท้ายไว้ว่า
...พระเคราะห์ทั้ง 8 พระองค์ร่วมเอกราษี (ทำนายว่า) ในตอนต้นย่อมจะทุกข์ยากลำบากเสียก่อนให้จงได้ เมื่อชนมายุวัฒนาต่อ 25 ปีนั้นไปแล้ว ย่อมจะกลับจิตร์เห็นผิดแลชอบ เสมออนุชาตบุตร์ ดำเนินตามวงษ์ตระกูลสืบต่อไป
ล้วนแล้วแต่เป็นรางร้ายทั้งคู่ แม้จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันบ้าง ทำให้พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่โปรดให้มีการผูกพระชะตาเพื่อเป็นการแสดงความยินดี และสานสัมพันธ์ให้ยืนยาว ต้องเปลี่ยนไปเหลือเพียงรับสั่งถึงกรมราชเลขานุการว่า “เก็บไว้ให้ดี” เท่านั้น
เอกสารเรื่องดวงชะตาแกรนดุ๊กอาเล็กซิส โดยสำเนาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
แต่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม จากดวงพระชะตาที่กล่าวว่า มกุฎราชกุมารพระองค์นั้น จะได้รับความเดือนร้อนแต่วัยประถม ก็มีความสอดคล้องต้องกันอยู่ เพราะหลังจากที่ซาเรวิช อเล็กเซย์ ประสูติได้ไม่นานก็ประชวรด้วยพระโรคพระโลหิตไหลไม่หยุด หรือฮีโมฟีเลีย ที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ นายแพทย์ทั้งหลายต่างหมดความสามารถที่จะถวายการรักษา จึงเป็นการเปิดทางให้กับ “กริกอรี รัสปูติน” เข้ามามีบทบาท ด้วยการใช้พลังทางไสยศาสตร์เข้ารักษา จนทำให้พระอาการประชวรของซาเรวิช อเล็กเซย์ ทุเลาลงจนปกติ (แต่ไม่ถึงกับหายขาด)
สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา ขณะเฝ้าไข้เซซาเรวิช อเล็กเซย์ นิโคลาเยวิช เมื่อปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) (ภาพ: Russia Beyond)
นับแต่นั้น รัสปูตินจึงกลายเป็นที่ “โปรดปราน” ของราชสำนัก สามารถเข้านอกออกในพระราชวังได้ตามอัธยาศัย และยังกล่อมเกลาสมาชิกพระราชวงศ์ หมู่ผู้ดีชนชั้นสูงเกือบทั้งหมด รวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 ทำให้ราชสำนักปราศจากความเหลียมแลต่อความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นภายนอกรั้วอันสูงตระหง่านนั้น
ความวุ่นวาย ความอดอยากที่เกิดขึ้นในสังคมนอกพระราชวังกำลังกัดกินประชาชนอย่างอดรนทนไม่ไหวอยู่ทุกขณะและทุกหย่อมหญ้า
ภาพการ์ตูนล้อเลียนราชวงศ์โรมานอฟที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสปูติน จากนิยสาร Novyi Satirikon ของรัสเซีย ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460) (ภาพ: Church Times)
ประกอบกับอยู่ในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้ผู้คนทั้งหลายต่างมีความไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงมีการเรียกร้องให้กำจัดรัสปูติน ขณะเดียวกันเพื่อเป็นธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในความคิดของเหล่าเชื้อพระวงศ์ ตลอดจนพวกอนุรักษ์นิยม
ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) ได้มีกลุ่มพระญาติสนิทของสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 จำนวนหนึ่งได้ร่วมกันหลอกรัสปูตินมาสังหารด้วยการวางยาพิษและยิงด้วยปืนพก
ตรงนี้ แอดมินอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่า ในฐานะพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะทรงมีที่ปรึกษาในพระองค์หลายคนด้วยกัน ถ้ามีข้อเสนออะไรที่ไม่แน่แก่พระราชหฤทัยแล้ว ที่ปรึกษาในพระองค์ก็ย่อมมีบทบาทขึ้นมาทันที แต่ด้วยระบอบการปกครองที่ทุก ๆ อย่างขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ การตัดสินใจทุกอย่างย่อมมี “ราคา” ความเสี่ยงที่ต้องจ่ายมหาศาล
ดังนั้น ทุกอย่างไม่อาจขึ้นอยู่กับที่ปรึกษาอย่างเดียว “พระราชปรีชาญาณ” อันสุขุมและรอบคอบโดยส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินข้อชวนพินิจต่าง ๆ ด้วย
เพราะฉะนั้น รัสปูตินอาจไม่ได้มามีบทบาทจนกลายเป็นที่โปรดปราน ซึ่งนำไปสู่จุดจบที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ จนสามารถมองได้อีกนัยหนึ่งว่า รัสปูติน คือ “แพะ” ต้องรับกรรมก็ได้ หากบรรดาสมาชิกพระราชวงศ์โรมานอฟมีความหนักแน่นในพระทัยมากพอ โดยเฉพาะสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนการตายของรัสปูติน จะไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะขนาดสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 เองก็ยังคงทอดพระเนตรไม่เห็นว่า นี่คือสัญญาณแห่งความไม่พอใจของประชาชนที่มันมาถึงขีดสุดแล้วจริง ๆ เป็นเหตุให้พระองค์ถูกริบพระราชอำนาจ ต้องสละราชสมบัติและถูกควบคุมตัวไว้ พร้อมด้วยพระอัครมเหสี และพระราชโอรสธิดาทั้ง 5 พระองค์ โดยกลุ่มเสรีนิยมในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 (พ.ศ. 2460)
แต่ความรุนแรงก็ยังคงไม่คลี่คลายลง ทำให้ฝ่ายบอลเชวิค ที่นำโดยวลาดีมีร์ เลนิน ทำการยึดอำนาจจากกลุ่มเสรีนิยมในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน นำไปสู่การจัดตั้งเป็นรัฐสังคมนิยมสมัยใหม่แห่งแรกของโลกอย่าง “สหภาพโซเวียต”
ทว่าในปีถัดมา วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) สมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา และพระราชโอรสธิดาทั้งห้า ได้ถูกสังหารหมู่อย่างน่าสลดหดหู่และเป็นปริศนา เป็นอันจุดจบของราชวงศ์โรมานอฟที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซียมากว่า 3 ศตวรรษ
ภายในที่เกิดเหตุการสังหารหมู่ของสมาชิกพระราชวงศ์โรมานอฟ ของบ้านอิปาเทียฟ เมืองเยกาเทรินเบิร์ก ประเทศรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461) (ภาพ: Insider)
อ้างอิง:
  • ร.7 ไม่เคยประกาศขายพระแก้วมรกตให้ใคร มีแต่ ร.5 เคยยกพระแก้วมรกตถวายให้พระเจ้าซาร์! โดย ไทยโพสต์ (https://www.thaipost.net/main/detail/85597)
  • รัชกาลที่ 5 กับ ซาร์ องค์สุดท้าย การดำเนินวิเทโศบายข้างหลังภาพ โดย มิวเซียมสยาม (https://www.museumsiam.org/km-detail.php?CID=177&CONID=3775)
  • โหรไทยกับประวัติศาสตร์โลก : เมื่อโหรไทยทำนายดวงพระชะตามกุฎราชกุมารรัสเซีย โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_10033)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#ไทยรัสเซีย #ราชวงศ์จักรี #ราชวงศ์โรมานอฟ #HouseOfRomanov
#รัชกาลที่5 #ซาร์นิโคลัสที่2 #TsarNicholasII
โฆษณา