Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SPRiNG news
•
ติดตาม
16 ก.ย. 2023 เวลา 09:55 • การเมือง
ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน บอกเลยว่าสำคัญ!
SPRiNG เปิดรายชื่อผู้นำฝ่ายค้านในอดีตมีใครบ้าง ความสำคัญและคุณสมบัติตำแหน่งนี้ มีอะไรบ้าง ?
ประเด็นของตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน เริ่มถูกสปอร์ตไลท์จากสังคมสาดส่อง ทันทีที่ ก้าวไกลเดินเกม ด้วยการให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซึ่งยังติดพันอยู่กับคดี "หุ้นไอทีวี" ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดทำหน้าที่ สส. ซึ่งการเดินหมากแบบนี้ของก้าวไกล
หมายความว่า นี่อาจจะเป็นอีก 1 สเต็ปที่ทำให้ก้าวไกล จะยังมีสิทธิ์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านต่อไปได้ ท่ามกลางช่วงเวลาอันร้อนระอุขององศาทางการเมือง ณ เข็มนาฬิกาเดินอยู่ตอนนี้
เพราะเงื่อนไขของการเป็นผู้นำฝ่ายค้านนั้น ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้นำฝ่ายค้าน คือ
- ต้องเป็น สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาที่มีจำนวน สส.มากที่สุด
- สส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีรวมนายกฯ ประธานสภา หรือรองประธานสภา
- หรือกรณีที่เป็นพรรคมีสมาชิกเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
นี่คือคุณสมบัติ ของผู้นำฝ่ายค้าน ตามกรอบที่กำหนดไว้ และทันทีที่ พิธา ลาออกจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลไป นั่นทำให้ ก้าวไกล ยังมีโอกาส ในตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้าน อยู่ หาก มี หัวหน้าพรรคคนใหม่ , รวมถึงอีกเงื่อนไขหนึ่ง หมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ต้องออกจากพรรคก้าวไกล ไปก่อน และ คาดการณ์กันว่า ไปฝากลูกไว้กับ "พรรคเป็นธรรม"
เพียงเท่านี้ ก้าวไกล ก็จะยังสามารถ ครองตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ตามศักดิ์และสิทธิ์ที่พรรคตนเองมีแล้ว
มาถึงจุดนี้ SPRiNG อยากชวนย้อนอดีต มาทำความรู้จักกับตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้าน ทั้ง 9 คนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มาที่ไป จุดเริ่มต้นมาจากไหน
“...นับแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 9 คน คนแรก คือ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และคนล่าสุด คือ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย...”
ทั้งนี้ การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคการเมืองใดมีสมาชิกได้รับเลือกตั้งในครั้งหนึ่ง ครั้งใดเป็นจำนวนมากที่สุด ถือว่ามีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคการเมืองเดียว หรือร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ในกรณีที่มีจำนวนสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นมีไม่มากพอหรือไม่กึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภา โดยจัดตั้งในรูปแบบของรัฐบาลผสมก็ได้
ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลและมีเสียงสนับสนุนข้างน้อยจะทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้าน โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในซีกฝ่ายค้านหรือมิได้เข้าร่วมรัฐบาล ดำรงตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”
- บทบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2517 แล้ว ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไว้ ในมาตรา 126 ว่า
“...พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภา เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร...”
นับจากนั้นมา ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในรัฐธรรมนูญฉบับต่อ ๆ มา ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2521 และรัฐธรรมนูญ 2534 โดยมีบทบัญญัติระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติและการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านฯ ไว้ในลักษณะเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2517
ต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ได้แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่มีสมาชิกในพรรคน้อยกว่าหรือไม่ถึงหนึ่งในห้า หากได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน ก็สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ โดยเพิ่มในมาตรา 122 วรรคสอง ว่า
“ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนดไว้...ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร...”
ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมา ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติเกี่ยวกับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไว้ในลักษณะเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2534 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ในปี 2538
• รายชื่อผู้นำฝ่ายค้าน ในอดีต มีใครบ้าง
นับแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว 9 คน คนแรก คือ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
การแสดงบทบาทของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา ถือว่าได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นผู้นำและตัวแทนของพรรคการเมืองฝ่ายค้านในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารของประเทศแล้ว ในทางกลับกัน ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน ยังเป็นผู้ประสานแนวนโยบายโดยรวมของพรรคการเมืองฝ่ายค้านและควบคุมคะแนนเสียงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพของฝ่ายค้าน ในฐานะตัวแทนของประชาชนที่จะควบคุมตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง
โดยผู้นำฝ่ายค้านในอดีตมีดังนี้
1. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์
ช่วงเวลา 22 มี.ค. 2518 - 12 ม.ค. 2519
2. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร พรรคชาติไทย
ช่วงเวลา 24 พ.ค. 2526 - 1 พ.ค. 2529 และ 30 ต.ค. 2535 - 7 พ.ค. 2537
3. พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่
ช่วงเวลา 15 พ.ค. 2535 - 30 มิ.ย. 2535 , 26 พ.ย. 2540 - 2 มิ.ย. 2541, 2 ก.ย. 2541 - 27 เม.ย. 2542 และ 12 พ.ค. 2542 - 9 พ.ย. 2543
4. บรรหาร ศิลปอาชา พรรคชาติไทย
ช่วงเวลา 27 พ.ค. 2537 - 19 พ.ค. 2538
5. ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์
ช่วงเวลา 4 ส.ค. 2538 - 27 ก.ย 2539 , 21 ธ.ค. 2539 - 8 พ.ย. 2540 , และ 11 มี.ค. 2544 - 3 พ.ค. 2546
6. บัญญัติ บรรทัดฐาน พรรคประชาธิปัตย์
ช่วงเวลา 23 พ.ค. 2546 - 5 ม.ค. 2548
7. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์
ช่วงเวลา 23 เม.ย. 2548 - 24 ก.พ. 2549 , 27 ก.พ. 2551 - 17 ธ.ค. 2551 และ 16 ก.ย. 2554 - 9 ธ.ค. 2556
8. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย
ช่วงเวลา 17 ส.ค. 2562 - 26 ก.ย. 2563 และ 6 ธ.ค. 2563 - 28 ต.ค. 2564
9. ชลน่าน ศรีแก้ว พรรคเพื่อไทย
ช่วงเวลา 23 ธ.ค. 2564 - 20 มี.ค. 2566
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย