17 ก.ย. 2023 เวลา 04:34 • การเมือง

เงินเข้าถี่ๆ ดีต่อการเงินของพนักงานจริงมั้ย?

เป็นกระแสออกมาอย่างต่อเนื่องเมื่อรัฐบาลเศรษฐาประกาศเดินหน้านโยบายการปรับรอบจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 ครั้งต่อเดือน
ฝ่ายที่สนับสนุนมองว่าเป็นเรื่องดีที่คนทำงานจะได้มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น จัดการหนี้ง่ายขึ้น มีภาระในการจัดการเงินเพื่อให้ชักหน้าให้ถึงหลังน้อยลง ในขณะที่บางคนกลับมองว่ายิ่งเงินเข้าถี่ก็จะยิ่งใช้เก่ง เหลือเก็บน้อยลงอีก
วันนี้เราจะมาส่องกันเร็วๆ ว่าแล้วจริงๆ ในงานวิจัย เค้าว่ากันว่ายังไง…?
ก่อนอื่นขอเกริ่นก่อนว่า การเพิ่มความถี่ในการจ่ายเงินเดือนไม่ได้เป็นไอเดียใหม่ที่อยู่ๆ เกิดขึ้นที่นี่ที่แรก
ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการเงินที่เอื้ออำนวย และการแข่งขันแย่งพนักงานกันอย่างดุเดือดในยุคหลังโควิด 19 ในสหรัฐอเมริกา ผู้ว่าจ้างรายใหญ่อย่าง Walmart, McDonald’s และร้านอาหารเชนอื่นๆ หันมาใช้นโยบายการจ่ายเงินแบบ “on-demand pay” เพื่อช่วยดึงดูดแรงงาน
นโยบายนี้ทำให้พนักงานสามารถกดเงินค่าจ้างออกมาได้รายวันผ่านแอพ โดยไม่ต้องรอสิ้นเดือน (มีค่าธรรมเนียมต่อครั้งที่แพงใช้ได้อยู่)
ซึ่งถ้ามองในมุมพนักงานที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็น “homo economicus” คือเป็นพวกที่ทำตัวอย่างสมเหตุสมผล คำนวนทุกอย่างมาล่วงหน้าแล้ว รันโมเดลในหัวเรียบร้อยก่อนใช้จ่ายเงินทุกเม็ด …การได้เงินถี่ขึ้นก็ดีกว่าจริงๆ
สุดท้ายเราได้เงินเท่าเดิม เพิ่มเติมคือได้เร็วขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และสามารถเอาเงินไปลงทุน หรือฝากธนาคาร ได้ดอกเบี้ยอีก
แต่ปัญหาที่ behavioural scientist พูดซ้ำไปซ้ำมาก็คือ มนุษย์เราไม่ได้หัวดีพึ่งได้ขนาดนั้นไง…
ทุกคนต้องสร้างวิธีคิดง่ายๆ ขึ้นมาเพื่อลดภาระการคำนวนค่าใช้จ่ายระหว่างวัน ซึ่งมักเป็นวิธีคิดที่ oversimplify ความเป็นจริง และไม่ได้นำไปสู่ผลที่ดีที่สุดจริงๆ
หนึ่งตัวอย่างที่เจอบ่อยๆ คือ ถ้าเมื่อวานเผลอใช้เงินเยอะเกินไป คนบางคนจะลดโควต้าของวันนี้ลง ไม่ว่าวันนี้จะมีเหตุผลให้ใช้เงินมากแค่ไหนก็ตาม บางทีจนแทบยอมอดข้าว (เจอบ่อยๆ เวลานัดกินข้าวกับเพื่อน จนอยากบอกเพื่อนว่า วันหลังโทรมาเลื่อนนัดเป็นพรุ่งนี้ได้นะ)
เมื่อความถี่ของรายได้เปลี่ยน กฎง่ายๆ ที่พวกเราสร้างขึ้นมาเพื่อจัดการเงินเดือนพวกนี้ก็ต้องเปลี่ยนตาม
คำถามคือ แล้วมันดีขึ้นหรือมันแย่ลง?
…หรือมันคือประชานิยมตามอย่าง Walmart?
งานวิจัยของ De La Rosa และ Tully (2022) ศึกษาข้อมูลการใช้จ่ายของผู้บริโภค 30,000 คนแล้วได้ข้อสรุปว่า
ยิ่งเงินเข้าถี่ ยิ่งใช้จ่ายเยอะ
De La Rosa และ Tully (2022)
แม้จะควบคุมตัวแปรอย่างรายได้ ความแตกต่างเฉพาะบุคคล หรือเดือนที่ใช้จ่ายแล้ว (ควบคุมหมายถึง แม้จะเทียบระหว่างคนที่มีลักษณะแวดล้อมเหล่านี้คล้ายๆ กันแล้ว เราก็ยังเห็นแนวโน้มที่ชัดเจนและมีนัยสำคัญอยู่ดี)
พวกเค้าพบด้วยว่าความสัมพันธ์นี้ ชัดเจนมากกว่าในกลุ่มรายได้ต่ำ
โดยเหตุผลที่เค้าให้คือ การมีความมั่นใจว่าพรุ่งนี้ก็จะมีเงินเข้ามาอีก ทำให้ผู้บริโภครู้สึกรวย และมีความมั่นใจว่ามีเงิน “เพียงพอ”
งานวิจัยเรียกความรู้สึกนี้ว่า subjective wealth perception
ความไม่แน่นอนในอนาคตที่หายไป ทำให้เค้ารู้สึกว่าสามารถใช้เงินของวันนี้ได้ และทำให้ใช้มากกว่าปกติโดยเฉลี่ย
ในงานวิจัยเดียวกันมีการทำการทดลอง โดยให้ผู้เข้าร่วมราว 400 คนจำลองสถานการณ์การใช้จ่ายในชีวิตแบบสมจริง ผลการทดลองออกมาในทิศทางเดียวกับผลการวิเคราะห์ข้อมูล คือกลุ่มคนที่ได้รายได้ถี่กว่า มีแนวโน้มใช้เงินมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ถ้าอิงจากงานวิจัยนี้ นโยบายการจ่ายเงินเดือนถี่ขึ้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีต่อการเงินการทองของพนักงานเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม ที่ยกมาสรุปเป็นเพียงงานวิจัยชิ้นเดียว
ในอดีตก็มีงานวิจัยที่สนับสนุนการเพิ่มความถี่ของเงินเดือนโดยอ้อมอยู่บ้าง โดยบอกว่ามนุษย์เราตัดสินใจใช้จ่ายด้วยการแปลงปริมาณเงินที่จะจ่ายนั้นเป็นสัดส่วน เช่นเป็น % เทียบกับรายได้
หากเราได้เงิน เดือนละ 2 ครั้ง แทนที่จะเป็นเดือนละครั้ง เวลาที่จะซื้อตั๋วคอนเสิร์ตสักใบ แทนที่เราจะคิดว่า นี่เป็น 20% ของเงินเดือน เราจะคิดว่านี่เป็น 40% ของเงินที่เข้าแต่ละรอบ ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้วเป็นปริมาณเงินเท่ากัน 40% ก็รู้สึกแพงกว่า 20% และอาจเปลี่ยนให้เราตัดสินใจเป็นไม่ซื้อก็ได้
ในภาพรวม ผู้เขียนมองว่าการให้รายได้ถี่ขึ้น น่าจะเป็นผลเสียกับกลุ่มรายได้ต่ำที่ต้องคิดว่า “เงินจะมีพอใช้มั้ย” มากกว่ากลุ่มรายได้สูงที่รายได้เหลือในทุกๆ เดือน
สำหรับกลุ่มหลัง พลังการคิดเงินแบบเป็น % ของรายได้อาจจะแรงกว่าก็ได้ และอาจจะทำให้การได้รายได้ถี่ขึ้นกลับเป็นผลดี ซึ่งถ้าจะตอบให้ได้จริงๆ จะต้องมีการศึกษาที่เจาะดูรายกลุ่มเป้าหมายกว่านี้ (และควรศึกษากลุ่มผู้บริโภคไทยโดยเฉพาะ)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากนโยบายที่เน้นช่วยเพิ่มสภาพคล่อง ช่วยจัดการภาระหนี้แบบนี้ ดันเป็นนโยบายที่มีกลุ่มเป้าหมายหลัก เป็นผู้มีรายได้ต่ำมากกว่า เหมือนอย่างกลุ่มพนักงาน Walmart ผู้เขียนจึงขออนุญาต “เดาเอา” จากผลการวิจัยของ De La Rosa & Tully (2022) ว่านโยบายจะให้ผลเสียมากกว่าผลดีต่อระดับการออมของพนักงาน
ไม่ว่าคำตอบคืออะไร ผู้เขียนคิดว่าถ้านโยบายนี้เดินหน้าต่อ ไม่มี U-turn อีก ก็น่าจะมีนักวิจัยไทยกลุ่มนึงที่จะได้โอกาสงามๆ ตีพิมพ์งานวิจัย scale ใหญ่ๆ ออกมาสักเปเปอร์แหละ รออ่านค่ะๆ
References:
โฆษณา