20 ก.ย. 2023 เวลา 07:21 • ประวัติศาสตร์

หากว่า “ปฏิบัติการดีเดย์ (D-Day)” ล้มเหลว

“ปฏิบัติการดีเดย์ (D-Day)” เป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่สิ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงก็คือ “หากว่าปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว จะเกิดอะไรขึ้น?”
แน่นอนว่าผลที่ตามมาย่อมยิ่งใหญ่และเปลี่ยนประวัติศาสตร์ในทุกวันนี้ไปตลอดกาล
หากย้อนกลับไปในปีค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) หลายคนคาดว่าปฏิบัติการดีเดย์ต้องล้มเหลว
แม้แต่หัวเรือใหญ่ของปฏิบัติการนี้อย่าง “ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower)” ผู้ซึ่งเป็นผู้บัญชาการปฏิบัติการนี้ ก็ได้เขียนจดหมายเตรียมไว้เผื่อหากว่าปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ความว่า
“การยกพลขึ้นบกที่บริเวณแชร์บูร์ก-อาฟร์นั้นล้มเหลวในการยึดครองที่มั่น และผมได้ถอยทัพออกไปแล้ว”
“การตัดสินใจที่จะเข้าโจมตีในเวลานี้และสถานที่นี้มาจากข้อมูลที่ดีที่สุดที่มี ทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ต่างปฏิบัติการด้วยความกล้าหาญและทุ่มเทอย่างที่สุด”
“หากมีเรื่องให้ต่อว่าหรือความผิดใดที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการ นั่นคือความผิดของผมแต่เพียงผู้เดียว”
ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower)
ไอเซนฮาวร์เกรงว่าฝ่ายเยอรมนีจะต้านทานทัพอังกฤษบริเวณชายหาดไว้ได้ และสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร
และผู้หนึ่งที่ต่อต้านปฏิบัติการดีเดย์ ก็คือ “วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)” นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร
เชอร์ชิลล์นั้นเกรงว่าปฏิบัติการดีเดย์จะซ้ำรอยความล้มเหลวที่ผ่านมา และพยายามทำทุกทางเพื่อให้การยกพลขึ้นบกนั้นต้องยกเลิกหรือล่าช้า
วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)
ทางด้านสหภาพโซเวียต “โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)” ผู้นำสหภาพโซเวียต ได้จับตาดูว่าปฏิบัติการดีเดย์จะสำเร็จหรือไม่
นักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามว่าหากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว สตาลินจะทำอะไรต่อไป?
คาดว่าหากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว สตาลินน่าจะยกเลิกปฏิบัติการที่จะลงมือต่อไป และเริ่มเจรจาสันติภาพกับเยอรมนี เนื่องจากสตาลินก็ตระหนักว่าหากไม่มีความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา กองทัพโซเวียตคงไม่สามารถพิชิตเยอรมนีได้
ที่ผ่านมา กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตก็ต้องสูญเสียกำลังทหารไปเป็นจำนวนมากจากการรบกับกองทัพเยอรมัน และสตาลินก็ตระหนักดีว่ายังมีกองทัพเยอรมันอีกนับแสนทางตะวันตกซึ่งสามารถเดินทัพมาทางตะวันออกได้ทันที
โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)
ดังนั้นสิ่งที่พอจะเป็นไปได้ ก็คือสตาลินน่าจะลงนามสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี แต่คำถามที่น่าสนใจก็คือ เยอรมนีจะยอมรับข้อตกลงหรือไม่?
หากเยอรมนียอมตกลง ข้อตกลงนี้น่าจะทำให้ดินแดนจำนวนมากในยุโรปตะวันออกตกอยู่ในมือสตาลิน ส่วนเยอรมนีก็ได้ยุโรปตะวันตก
ข้อตกลงนี้น่าจะเป็นที่พอใจของสตาลินเป็นแน่ นักประวัติศาสตร์คาดว่าเขาน่าจะกลับคำและแทงข้างหลังพันธมิตรได้หากมีผลประโยชน์ที่มากพอ
สตาลินน่าจะแทงข้างหลังฝ่ายสัมพันธมิตรและทำข้อตกลงกับเยอรมนีเพื่อรักษาอำนาจของตนหากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว และผลที่ตามมาก็คือความล่มสลายของฝ่ายสัมพันธมิตรและเกิดความโกลาหลทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร
นอกจากนั้น หากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว การเมืองในสหรัฐอเมริกาก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง
ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) เป็นปีที่สหรัฐอเมริกามีการเลือกตั้ง และประธานาธิบดี “แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)” ก็คาดหวังกับการได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่สี่ ซึ่งนี่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt)
ที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตของรูสเวลต์นั้นก็อยู่ในภาวะที่ลำบาก ในขณะที่พรรครีพับลิกันเริ่มมีกระแสที่ดี บุคลากรจากรีพับลิกันก็ได้รับเลือกให้เข้าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นจำนวนมาก
แสดงให้เห็นว่าชาวอเมริกันเริ่มจะไม่ค่อยพอใจรัฐบาลของรูสเวลต์และสถานการณ์สงครามแล้ว
หากว่าปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ก็น่าจะยิ่งส่งให้พรรครีพับลิกันได้ประโยชน์ และทำให้ “โทมัส อี. ดิวอี้ (Thomas E. Dewey)” ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กและตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน กลายเป็นตัวเต็งที่จะเอาชนะรูสเวลต์
ในปีค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) นโยบายสำคัญของรูสเวลต์คือการชนะสงคราม สัญญาว่าจะต้องชนะแน่ๆ ดังนั้นหากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ความนิยมของรูสเวลต์จะหล่นฮวบแน่นอน
โทมัส อี. ดิวอี้ (Thomas E. Dewey)
และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คาดว่ารูสเวลต์คงจะถอนตัวไม่ลงเลือกตั้งเพื่อไม่ต้องอับอายกับความพ่ายแพ้ และพรรคเดโมแครตก็คงแทบไม่เหลือใครที่พอจะสู้ได้
ในเวลานั้น ดิวอี้เป็นผู้ว่าที่ยังหนุ่ม หัวสมัยใหม่ ฉลาด และได้รับความนิยม ในขณะที่รูสเวลต์นั้นอยู่ในวัยชรา สุขภาพไม่แข็งแรง ดูเหน็ดเหนื่อย ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับดิวอี้
ซึ่งแน่นอนว่าพรรคเดโมแครตคงต้องปาดเหงื่อแน่นอน โดยในเวลานั้น “แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)” สมาชิกพรรคเดโมแครตซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากรูสเวลต์ ก็ยังเป็นเพียงสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้รับความนิยมมากมาย ยังไม่สามารถเทียบบารมีรูสเวลต์ได้
ในปีค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) นี้เอง ชาวอเมริกันจำนวนมากต่างเบื่อหน่ายรัฐบาลเดโมแครต และต่างก็โทษรัฐบาลถึงความสูญเสียและวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดจากสงคราม
แฮร์รี เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman)
หากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ภายในต้นปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ดิวอี้ก็น่าจะได้เป็นประธานาธิบดี และหากลองพิจารณา ดิวอี้นั้นหัวก้าวหน้ากว่ารูสเวลต์ นโยบายหลายๆ ข้อของเขานั้นก็แตกต่างจากรูสเวลต์อย่างสิ้นเชิง
ความสัมพันธ์ระหว่างดิวอี้และสตาลินกับเชอร์ชิลล์ก็น่าจะต่างออกไป และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับชาติอื่นๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
นอกจากนั้น หากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะถูกกดดันให้ทำการโจมตียังจุดอื่นๆ ต่อไป เช่น ขึ้นบกที่นอร์เวย์หรือทางใต้ของฝรั่งเศส โดยจุดประสงค์เพื่อแยกกองทัพเยอรมันออกจากแนวหน้ารัสเซีย
และสิ่งที่ต้องทำอีกก็คือต้องโน้มน้าวให้สตาลินเชื่อว่าฝ่ายสัมพันธมิตรทางตะวันตกยังสามารถต่อสู้ได้ โดยเหตุผลหนึ่งของปฏิบัติการดีเดย์ก็เพื่อที่จะให้กองทัพแดงยังคงร่วมสู้รบในสงคราม และก็น่าจะมีแรงกดดันให้ทำการบุกโจมตีเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเสียหายให้ฝ่ายเยอรมนี แต่ขณะเดียวกันก็น่าจะมีแรงกดดันทางการเมืองที่ทำให้ไม่สามารถโจมตีเพิ่มเติมได้
และหากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว อีกสิ่งหนึ่งที่น่าจะเปลี่ยนแปลงก็คือ "ระเบิดปรมาณู"
ตามประวัติศาสตร์ เยอรมนีนั้นยอมแพ้สงครามก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะนำระเบิดปรมาณูมาใช้
แต่หากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ดิวอี้ซึ่งน่าจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็น่าจะดำเนินการพัฒนาระเบิดปรมาณูต่อไป และมีการใช้ระเบิดปรมาณู
1
และที่น่าสนใจก็คือนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในโครงการแมนฮัตตัน (Manhattan Project) ที่พัฒนาระเบิดปรมาณู ล้วนแต่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะพวกตนคาดว่าจะมีการใช้ระเบิดปรมาณูกับเยอรมนี ไม่ใช่ญี่ปุ่น
หากเยอรมนียังคงสู้ต่อไปในช่วงฤดูร้อนค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ก็คงมีการใช้ระเบิดปรมาณู และน่าจะมีแรงกดดันให้ทิ้งระเบิดลูกที่สองลงยังกรุงมอสโควหากสตาลินหันไปจับมือกับเยอรมนี
และการทิ้งระเบิดปรมาณูลงยังเยอรมนีก็ทำให้เกิดคำถามตามมาเช่นกัน เช่น หลังจากถูกโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูแล้วเยอรมนีจะยังคงสู้ต่อไปหรือไม่?
ในกรณีของเยอรมนีนั้นอาจจะแตกต่างจากญี่ปุ่น เนื่องจาก "จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito)" พระประมุขแห่งญี่ปุ่น ทรงมีอำนาจสั่งการกองทัพและยอมแพ้ได้
จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (Hirohito)
แต่ที่เยอรมนีนั้น นอกจากผู้นำสูงสุดแล้วก็ไม่มีใครที่มีอำนาจหรือบารมีมากพอ แต่ก็เป็นไปได้ว่าหากผู้นำรอดชีวิต อาจจะมีการพัฒนาอาวุธและเทคโนโลยีเพื่อหาทางแก้แค้น
ความเป็นไปได้ที่น่ากลัวอย่างหนึ่งคือเยอรมนีอาจจะตอบโต้ด้วยการใช้อาวุธเคมีโจมตีสหราชอาณาจักร โดยในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เยอรมนีมีการพัฒนาสารเคมีทำลายประสาท
ทั้งหมดนี้ก็เป็นความไปได้หากปฏิบัติการดีเดย์ล้มเหลว ซึ่งถ้าล้มเหลวจริงๆ ประวัติศาสตร์ก็น่าจะพลิกไปตลอดกาลอย่างแน่นอน
โฆษณา