19 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

“โคอินัวร์ ” “คัลลิแนน”: เพชรน้ำงาม กับตำนานที่ขุ่นมัว

นับตั้งแต่ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) เรื่อยมาจนถึงช่วงพระราชพิธีบรมศพ ระหว่างวันที่ 14 – 19 กันยายน 2022 นั้น
การประดิษฐานหีบพระบรมศพ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ภายในเวสต์มินส์เตอร์ฮอลล์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 14 - 19 กันยายน ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565, ภาพ: The New York Times)
นอกจากความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ รับราชสมบัติเป็น “สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3” แห่งสหราชอาณาจักร การสถาปนาเจ้าฟ้าชายวิลเลียม ขึ้นเป็น “เจ้าชายแห่งเวลส์” พระองค์ใหม่แล้ว
กระแสเรียกร้องที่ให้มีการนำเอาเพชรสำคัญอย่าง “โคอินัวร์ ” และ “คัลลิแนน” ซึ่งประดับอยู่กับเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร คืนให้ชาวอินเดียและแอฟริกาใต้ เพื่อ “ลบ” ภาพที่ตอกย้ำไปถึงความเป็นประวัติศาสตร์ในยุคอาณานิคม ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจอย่างมาก จนนำไปสู่การเปิดตำนานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอื้อฉาวมากมาย ตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
ภูผาแห่งแสง หรือโคอินูร์ หรือโคอินัวร์ (Kohinoor) คือชื่อเพชรรูปวงรีเม็ดหนึ่งที่มีขนาด 105.602 กะรัต ซึ่งประดับอยู่ใจกลางของกางเขน ยอดมงกุฎของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ (Crown Of The Queen Elizabeth) ที่สร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480) เพื่อเป็นพระมงกุฎประจำพระองค์สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี สำหรับมงกุฎองค์นี้
แบบจำลองของโคอินัวร์ ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าชายแห่งเวลส์ แห่งอินเดียตะวันตก เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย (ภาพ: Wikipedia)
เคยมีรายงานว่าจะมีการส่งต่อให้กับสมเด็จพระราชินีคามิลล่าแห่งสหราชอาณาจักร เมื่อพระองค์ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก่อนที่สมเด็จพระราชินีคามิลล่า มีพระราชประสงค์ที่จะทรงพระมงกุฎสมเด็จพระราชินีแมรี่ ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร แทนการสร้างใหม่โดยเฉพาะในภายหลัง
สมเด็จพระราชินีคามิลล่า กับพระมงกุฎสมเด็จพระราชินีแมรี่ ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 (ภาพ: Town&Country)
สำหรับโคอินัวร์ มีตำนานที่น่าสนใจถึง 6 ตำนานด้วยกัน ซึ่งเรื่องนี้ วิลเลียม ดัลริมเปิล กับอนิตา อานันท์ ได้รวบรวมเอาไว้ในหนังสือเรื่องมหากาพย์โคอินัวร์ ดังนี้
ตำนานที่ 1 กล่าวว่า โคอินัวร์ เป็นเพชรที่มีขนาดถึง 190.3 กะรัต และมีขนาดไล่เลี่ยกับโคอินัวร์ อีก อย่างน้อย 2 เม็ด ได้แก่ ดาเรียอินัวร์ ประเมินว่าในปัจจุบันมีขนาด 175 – 195 กะรัต และออลอฟ ซึ่งมีขนาด 189.9 กะรัต อยู่ในฐานะ “ยอดเพชรแห่งราชวงศ์โมกุล” ของอินเดีย
จนนาดีร์ชาห์ ผู้ปกครองอิหร่านได้ยกทัพมาบุกถึงอินเดียและปล้นสะดมภ์สมบัติในท้องพระคลัง เมื่อปี ค.ศ. 1739 (พ.ศ. 2282) สันนิษฐานว่าโคอินัวร์ น่าจะถูกนำออกไปในช่วงนั้น กระทั่งเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 โคอินัวร์ เริ่มกลายเป็นเพชรที่โด่งดัง เมื่อตกไปอยู่ในมือของผู้ครองครอบในรัฐปัญจาบ
ภาพจิตรกรรม นาดีร์ชาห์ ผู้ปกครองอิหร่าน ขณะประทับอยู่บนบัลลังก์นกยูง (ภาพ: Wikimedia)
ตำนานที่ 2 กล่าวว่า โคอินัวร์ เป็นเพชรที่เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย โปรดให้มีการเจียระไน ราวปี ค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) เนื่องจากมีการอ้างว่า เป็นเพชรที่มีตำหนิ ในตัวเพชรมีรอยด่างออกสีเหลืองหลายรอย บางรอยมีขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มันไม่สะท้อนแสง จึงทำให้โคอินัวร์ เป็น “เพชรน้ำงามไร้ตำหนิ” แต่ยังไม่ใช่เพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 90 เท่านั้นเอง
พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ซึ่งทรงประดับโคอินัวร์ไว้กลางพระอุระ (อก) (ภาพ: The Royal Collection Trust)
ตำนานที่ 3 กล่าวว่า โคอินัวร์ เป็นเพชรที่มีประวัติเป็นปริศนา ไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจน โดยบางคนเชื่อว่า เป็นอัญมณีของพระกฤษณะตามคัมภีร์ภควัทปุรณะ มีการสกัดขึ้นมาในสมัยพระกฤษณะ ราวศตวรรษที่ 13 และไม่ได้พบในเหมือง แต่ถูกขุดขึ้นมาจากร่องแม่น้ำที่แห้งขอด น่าจะเป็นทางตอนใต้ของอินเดีย
ตำนานที่ 4 กล่าวว่า โคอินัวร์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งในบรรดาทรัพย์สมบัติและอัญมณีที่ล้ำค่าของแห่งจักรวรรดิโมกุล แต่ยังไม่ใช่ที่โปรดปรานที่สุด เพราะจักรวรรดิโมกุลและเปอร์เชียชื่นชอบหินที่มีสีสันสดใสขนาดใหญ่และยังไม่เจียระไน เช่น ชุดอัญมณีสีแดงที่มีชื่อว่า “สปิเนล” จากบาดัคชาน อัฟกานิสถาน และชุดทัมทิมจากพม่า
ตำนานที่ 5 กล่าวว่า โคอินัวร์ เป็นเพชรที่จักรพรรดินาดีร์ ชาห์ ผู้ปกครองอาณาจักรเปอร์เซีย ทรงชิงมาจากจักรพรรดิแห่งโมกุล โดยการซ่อนไว้ในผ้าโพกพระเศียร ผ่านกลการแลกเปลี่ยนผ้าโพกพระเศียรอย่าง “แยบยล” แต่ก็ได้มีการออกมาแย้งในประเด็นดังกล่าว โดยมาร์วี นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียว่า จักรพรรดิมูฮัมหมัด ไม่ทรงสามารถที่จะซ่อนอัญมณีไว้ในผ้าโพกพระเศียรได้ เพราะว่าโคอินัวร์ ถูกประดับเอาไว้ที่ยอดพระราชบัลลังก์นกยูงของพระเจ้าชาห์จาฮาน
และตำนานที่ 6 กล่าวว่า โคอินัวร์ เป็นเพชรที่มีขนาดลดลงอย่างมาก เนื่องจากช่างเจียระไนแห่งจักรวรรดิโมกุลทำงานพลาด
รวมถึงตามตำนานพื้นบ้านของชาวฮินดู “ว่ากันว่า” โคอินัวร์ เป็นเพชรที่ “ต้องคำสาป” จะนำมาซึ่งความโชคร้ายให้แก่ผู้ที่ได้ครอบ โดยเฉพาะผู้ชาย ซึ่งจะต้องมีการต่อสู้ ขัดแย้งกัน จนนำไปสู่การนองเลือด มีเพียงแค่พระเจ้า หรือผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถครอบครองโคอินัวร์ไว้ได้โดยปราศจากเภทภัยต่าง ๆ
จากที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะตำนานใด ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้ว ซ้ำเป็นเพียงแค่ข้อเท็จจริงไม่อาจให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือลงไปในตำนานใดตำนานหนึ่งได้ คงได้แต่สันนิษฐานไปในแนวทางต่าง ๆ เท่านั้น เช่นเดียวกับการที่คนอินเดียส่วนใหญ่เชื่อว่า โคอินัวร์ คือเพชรที่ “ถูกขโมย” ไป โดยชาวอังกฤษที่สร้างความมั่งคั่งจากความตาย ความอดอยากในช่วงการล่าอาณานิคม
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโคอินัวร์ ได้มาสู่ “อ้อมมือ” ของราชวงศ์อังกฤษแล้ว ก็ได้มีการนำไปประดับบนพระมงกุฎ รวมถึงเครื่องประดับส่วนพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
จนเมื่อพระองค์สวรรคตในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) แล้ว สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา ในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ก็โปรดให้ย้ายโคอินัวร์ ไปประดับไว้บนยอดมงกุฎของพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงมงกุฎนั้นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชสวามีเป็นครั้งแรก
จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการสวมมงกุฎยอดประดับเพชรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สืบทอดต่อมาจนถึงสมัยสมเด็จพระราชินีแมรี่ และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระบรมราชชนนี
(จากซ้ายไปขวา) พระมงกุฎสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา ในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7, พระมงกุฎสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และพระมงกุฎสมเด็จพระราชินีแมรี่ ในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 (ภาพ: The Royal Collection Trust)
ส่วนคัลลิแนน (Cullinan) หรือเพชรคัลลิแนน ประกอบด้วย คัลลิแนนที่ 1 และคัลลิแนนที่ 2 คือชื่อของเพชรที่มีขนาด 530.4 กะรัต หนัก 106.1 กรัม ถูกค้นพบในเหมืองของประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) จากนั้นรัฐบาลอาณานิคมแห่งทรานส์วาล (Transvaal Colony) ได้ติดต่อขอซื้อ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
เพชรทั้ง 9 เม็ด ซึ่งได้รับการตัดมาจากเพชรคัลลิแนน อัญมณีที่ใหญ่ที่สุด 2 ชิ้น ได้แก่ คัลลิแนนที่ 1 และคัลลิแนนที่ 2 (ภาพ: The Royal Collection Trust)
ซึ่งในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ได้มีการนำคัลลิแนนมาประดับไว้ที่ยอดของพระคทาประดับกางเขน (Sceptre with the Cross) หรือพระคทาเซนต์เอ็ดเวิร์ด (St. Edward's Sceptre) ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) สมัยสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ มีความยาวกว่า 92 เซนติเมตร หนัก 1.17 กิโลกรัม
พระคทาประดับกางเขน ซึ่งได้มีการประดับเพชรคัลลิแนนที่ 1 ไว้บนยอดสุดก่อนถึงกางเขน (ภาพ: The Royal Collection Trust)
นอกจากนั้น ยังได้มีการนำคัลลิแนนอีกส่วนหนึ่งไปประดับบนเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรที่สำคัญคือ พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท (The Imperial State Crown)
พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท เฉพาะองค์ที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงสวมหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) และทรงสวมเป็นประจำในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (State Opening of Parliament) ณ สภาขุนนาง พระราชวังเวสต์มินสเตอร์ เรื่อยมาจนสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงได้รับต่อจากพระราชมารดาของพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566) นั้น
ได้สร้างขึ้นใหม่ในปี 1937 พร้อมกับพระมงกุฎของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ สำหรับการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร โดยออกแบบตามต้นแบบเดิมที่ใช้ในการพระราชพิธีบรมราชินยาภิเษก สมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ในปี ค.ศ. 1838 (พ.ศ. 2381) ประกอบด้วย แซฟไฟร์สจ๊วต 104 กะรัต ซึ่งเป็นแซฟไฟร์ที่สมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ทรงนำติดพระองค์ไปด้วยเมื่อคราวเสด็จลี้ภัยหลังการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ เมื่อปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231)
ต่อมา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงรับซื้อไว้จากทายาทราชวงศ์สจ๊วตที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ยังมีแซฟไฟร์เซนต์เอ็ดเวิร์ด ประดับบนกางเขนฝังอัญมณีบนยอดพระมหามงกุฎ รวมทั้งทับทิมเจ้าชายดำ (สีแดง) 170 กะรัต ที่พระราชทานโดยเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ, เพชรคัลลิแนนที่ 2 ขนาด 317 กะรัต โดยรวมแล้วมีทั้งเพชรพลอย อัญมณี ไข่มุก มรกต รวมแล้วกว่า 3,000 ชิ้น
พระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ซึ่งได้มีการประดับเพชรคัลลิแนนที่ 2 ไว้ตรงฐานใต้กางเขน ซึ่งอยู่ใต้ทับทิมเจ้าชายดำอีกทีหนึ่ง (ภาพ: The Royal Collection Trust)
ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างร้อนแรงอย่างมาก ภายหลังที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคต ได้มีผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชาวอินเดียรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความลงบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า
ในเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต พวกเราสามารถทวงคืนเพชร #โคอินัวร์ กลับมาได้รึยัง เพชรถูกชาวอังกฤษขโมยไปจาก #อินเดีย โดยพวกเขาสร้างความมั่งคั่งบนความตายและความอดอยาก ได้มันมาจากการปล้นของของคนอื่น
แม้ความเป็นไปได้ที่สหราชอาณาจักรจะคืนอัญมณีทั้งสองให้กับอินเดียและแอฟริกาใต้มีน้อยมากก็ตาม แต่ถือเป็นโอกาสอันดีที่หมู่ชนทั้งหลาย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสศึกษาและเข้าถึงเรื่องราวที่เต็มไปด้วยข้อสันนิษฐานต่าง ๆ อย่างเข้าถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีอันทันสมัย และถือเป็นส่งที่สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ต้องทรงยอมรับให้ได้ถึง “ทุกด้าน” ถึงความเป็นมาของอัญมณีที่ประดับอยู่บนสัญลักษณ์แห่งการมอบสิทธิในการครองราชบัลลังก์เหล่านั้น
อนึ่ง นอกจากพระคทาประดับกางเขน อันเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงพระมหันตเดชานุภาพบพิตรของพระมหากษัตริย์เจ้า และพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือแล้ว ก็ยังมีลูกโลกทองคำประดับกางเขน เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่สำคัญด้วย
สำหรับลูกโลกทองคำประดับกางเขน (The Sovereign’s Orb) สร้างขึ้นในปี 1661 เพื่อการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ประดับด้วยไข่มุกกว่า 375 เม็ด, เพชร 365 เม็ด, ทับทิม 18 เม็ด, มรกต และแซฟไฟร์อย่างละ 9 เม็ด, อเมทิสต์และผลึกแก้ว 1 ชิ้น โดยแถบของลูกโลกแบ่งเป็น 3 ส่วน ตามความเชื่อของอังกฤษในยุคกลางที่มีการแบ่งทวีปในโลกออกเป็น 3 ทวีป ประกอบด้วยยุโรป เอเชีย และแอฟริกา
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการเป็นองค์ผู้แทนพระผู้เป็นเจ้าบนโลกใบนี้ โดยในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์จะทรงถือลูกโลกทองคำประดับกางเขนไว้ในพระหัตถ์ขวา เสมือนว่าทรงถือครองโลกไว้ในพระหัตถ์
ลูกโลกทองคำประดับกางเขน (ภาพ: The Royal Collection Trust)
แล้วโดยปกติ ทั้งพระคทา ลูกโลกทองคำ และพระมหามงกุฎอิมพีเรียลสเตท รวมถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรองค์ต่าง ๆ ได้ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่หอคอยลอนดอน ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเทมส์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร
หอคอยลอนดอน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: London Tickets)
อ้างอิง:
  • อินเดียทวงคืนเพชรประดับมงกุฎ ‘โคอินัวร์’ จากราชวงศ์อังกฤษ หลังควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต โดย The Matter (https://thematter.co/brief/185262/185262)
  • อินเดียทวงคืนเพชรประดับยอดมงกุฎ หลังสิ้นควีนเอลิซาเบธ โดย MGR Online (https://mgronline.com/around/detail/9650000087122)
  • อินเดีย-แอฟริกาใต้ จุดกระแสทวงคืนเพชร หลังควีนอลิซาเบธที่ 2 สิ้นพระชนม์ โดย ข่าวสดออนไลน์ (https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_7259246)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#โคอินัวร์ #คัลลิแนน #QueenElizabethII #KingCharlesIII
โฆษณา