Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
21 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
บลูไดมอนด์: เพชรพลิกสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ
เมื่อวันที่ 25 – 26 มกราคม พ.ศ. 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ได้เดินทางไปเยือน “ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย” อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ขณะหารือกับเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย (ภาพ: Ministry of Foreign Affairs, Kingdom of Thailand)
นับว่าเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย อยู่ในฐานะที่ “คลอนแคลน” ซึ่งสืบเนื่องจาก “คดีเพชรซาอุ” เมื่อปี พ.ศ. 2532
คดีสุดฉาว จนนำซึ่งการ “ลดระดับ” ความสัมพันธ์ทางการทูตจากเอกอัครราชทูต เหลือเพียงแค่อุปทูตนั้น ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2532 โดยชายชาวจังหวัดลำปางที่มีชื่อว่า “เกรียงไกร เตชะโม่ง” ได้เดินทางไปเป็นหนึ่งในคนงานของบริษัทรับเหมารักษาความสะอาดให้กับพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย
เกรียงไกร เตชะโม่ง บนหน้าหนังสือพิมพ์ (ภาพ: postjung)
ซึ่งในขณะที่เจ้าชายไฟซาล พร้อมด้วยครอบครัว กำลังอยู่ในช่วงของการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับตากอากาศที่เมืองท่าริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เกรียงไกรได้ทำการโจรกรรมของมีค่าต่าง ๆ ทั้งเพชรนิลจินดา สร้อย แหวน นาฬิกา รวมถึง “บลูไดมอด์” เพชรอันเก่าแก่ของราชวงศ์ออกไปจากพระราชวัง
เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด (ภาพ: ประชาชาติธุรกิจ)
สื่อไทยในขณะนั้นได้รายงานว่า เขาขโมยเครื่องเพชรออกมาได้นับร้อยชิ้น น้ำหนักรวมกันกว่า 90 กิโลกรัม หลังจากเกิดเหตุ ทางการซาอุฯ ได้ติดต่อให้ไทยดำเนินการจับกุมผู้ก่อเหตุ พร้อมกับส่งคืนทรัพย์สินทั้งหลายคืนมาให้หมด
โดยพลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ได้รับมอบหมายให้สอบสวนคดีนี้ จนสามารถจับกุมนายเกรียงไกร ซึ่งนายเกรียงไกรรับสารภาพ ศาลตัดสินจำคุกนายเกรียงไกรเป็นเวลา 3 ปี และติดตามเครื่องเพชรซาอุฯ จนสามารถนำส่งคืนแก่รัฐบาลซาอุฯ ได้สำเร็จ
ขณะจับกุมเกรียงไกร เตชะโม่ง พร้อมกับของกลางที่ได้โจรกรรมออกมาจากพระราชวังของเจ้าชายไฟซาล ที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย (ภาพ: BBC)
เรื่องราวเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่แล้ว เมื่อทางการซาอุฯ ได้ตรวงสอบบัญชีทรัพย์ที่คืนมา กลับพบว่า เกินครึ่งเป็นของปลอม และไม่พบว่ามีบลูไดมอนด์ถูกส่งคืนมาด้วย เป็นเหตุให้พลตำรวจโท ชะลอ เริ่มสืบหาเพชรที่หายไปอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้มุ่งเป้าหมายไปที่นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ พ่อค้าเพชรย่านสะพานเหล็ก กรุงเทพมหานคร
ในระหว่างการสืบหาเพชรที่หายไป
ปรากฏว่าเหมือน “ผีซ้ำด้ำพลอย” ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุฯ มีความไหวติง นั่นก็คือ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 ได้เกิดเหตุนักการทูตของซาอุฯ 3 คนถูกลอบสังหารในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้น นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ และสมาชิกพระราชวงศ์ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ในเวลาต่อมาก็สามารถจับกุมผู้กระทำการได้เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ซึ่งนำโดยพลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม ในข้อหาอุ้มและฆ่านายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ เพื่อไปเค้นสอบ เพราะเชื่อว่าเขาอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนั้น
นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ และสมาชิกพระราชวงศ์ที่ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อปี พ.ศ. 2533 (ภาพ: Khaosod English)
เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้วกวนเวียนรอบไทยและซาอุฯ อยู่ตลอดเวลา จนถูกจับตามองถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า อนาคตจะเป็นไปในทางไหน เพราะคดีเพชรที่หายไปก็ยังตามหาไม่พบ ซ้ำยังมาเกิดการลอบสังหารนักการทูต อุ้มนักธุรกิจที่มีเชื้อสายราชวงศ์ขึ้นอีก
แล้วก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 เอง ก็มีเหตุที่เจ้าหน้าที่ทูตของซาอุฯ ถูกลอบสังหารใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งตำรวจก็ยังไม่สามารถหาผู้กระทำผิดมารับโทษได้ สภาวการณ์เช่นนี้ช่างน่าคับอกคับใจยิ่ง เพราะนอกจากจะเสียความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ผลประโยชน์ต่าง ๆ อันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ต้องพลอยได้รับความกระทบกระเทือนตามไปด้วย
จนในปี พ.ศ. 2537 ก็ได้เกิดเหตุที่แสนจะอุอาจขึ้น เมื่อพลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ได้ทำการลักพาตัวและเรียกค่าไถ่นางดาราวดี และด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและลูกชายของนายสันติ เพื่อบีบบังคับให้นายสันตินำเพชรที่ถูกขโมยไปคืนมา แต่สุดท้าย ชะตากรรมของแม่ลูกคู่นี้ได้จบลงด้วยการถูกฆาตกรรมและอำพรางศพให้ดูเหมือนว่าประสบอุบัติทางรถยนต์เสียชีวิต จากการใช้วิธีการสอบสวนนอกระบบเช่นนี้ เป็นผลให้ในเวลาต่อมา พลตำรวจโท ชลอ เกิดเทศ ถูกจับกุมในฐานะคนร้าย พร้อมพวกอีก 9 คน
รถเบนซ์คันเกิดเหตุลักพาตัวและเรียกค่าไถ่นางดาราวดี และด.ช.เสรี ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและลูกชายของนายสันติ เมื่อปี พ.ศ. 2537 (ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
แล้วเพชาล้ำค่าของราชวงศ์ที่หายไป เป็นอย่างไรต่อ…ก็ยังคงไร้วี่แววต่อไปจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้หลายแนวทางด้วยกัน บ้างก็ว่าได้รับคืนแล้วแต่ไม่ได้มีการเปิดเผย หรือไม่ก็ถูกนำไปขายต่อเป็นหลาย ๆ ทอด หรือมีผู้ที่ถือครองเอาไว้ ซึ่งในประเด็นนี้มีผู้ถูกพาดพิง กล่าวหาว่า เป็นผู้ถือครองเพชรบลูไดมอนด์ไว้โดยไม่มีการส่งคืน ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
หนึ่งในพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีผู้คนบางกลุ่มอ้างว่า อัญมณีสีน้ำเงินที่ทรงประดับนั้น เป็นบลูไดมอนที่ได้ถูกโจรกรรมมา (ภาพ: Pinterest ของ Charin)
กระแสดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นได้แต่เพียงข้อเท็จจริง แม้จะมีการนำพระฉายาลักษณ์องค์ต่าง ๆ ที่ทรงประดับอัญมณีสีน้ำเงินมาทำการเปรียบเทียบโดยกลุ่มคนบางกลุ่ม
ในขณะเดียวกันก็คนอีกกลุ่มหนึ่งพยายามชี้แจงข้อเท็จจริง โต้กลับว่า เพชรที่ทรงประดับในแต่ละครั้งไม่ใช่บลูไดมอนด์ที่ถูกขโมยมาจากซาอุฯ หากแต่เป็นพระราชมรดกที่ตกทอดมาแต่ครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 แล้ว
ตามที่มี “กล่าวอ้าง” จากการเปิดข้อมูลที่เป็นเอกสารลับ ซึ่งพิสูจน์ว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” นั้น “ไม่ได้มีส่วนเกี่ยว” แต่อย่างใดกับบลูไดมอนด์ เป็นเอกสารลับ (โทรเลข) จากสถานเอกอัครทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เรื่อง “คำสาปแห่งเพชรบลูไดมอนด์” (THE CURSE OF THE BLUE DIAMOND) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยระบุว่า
1. สื่อไทยยังคงเชื่อมั่นว่า “คดีเพชรซาอุฯ ที่ถูกขโมยมา” กับ “การฆาตกรรมนักการทูตซาอุดิอาระเบีย” เป็นเรื่องเดียวกัน แต่ทางสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าเป็นคนละเรื่อง (Separate Story) และยังให้น้ำหนักว่า คดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯ ในไทยนี้ น่าจะเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายฮิซบุลลอฮ์ (Hezbollah) ของเลบานอนมากกว่า ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีความอาฆาตมาดร้าย (Feud) กันอย่างรุนแรง
2. มีการอ้างว่าได้พบเห็นภริยาของตำรวจไทยระดับสูงสวมใส่เครื่องประดับที่มีความละม้ายคล้ายกับเพชรซาอุฯ ที่หายไป แต่ทั้งนี้ น่าสนใจว่ารายงานเหล่านั้นสามารถเชื่อถือได้แค่ไหนว่าเครื่องประดับนั้น คือ บลูไดมอนด์ จริง เนื่องจากจนปัจจุบัน ยังไม่มีการนำภาพที่แท้จริงของเพชรบลูไดมอนด์ก่อนถูกขโมย มาเผยแพร่เพื่อให้เทียบลักษณะกันเลย
3. ข้อนี้สำคัญมาก เพราะสถานทูตได้รายงานอย่างตรงไปตรงมาว่า ตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เว็บบอร์ดของพวกต่อต้านราชวงศ์ (Anti-Monarchy) รวมถึงพวกนักกิจกรรมเคลื่อนไหวต้านราชวงศ์ เริ่มต้นปล่อยข่าวลือ “กล่าวหา” (Allegedly) ว่า “เพชรบลูไดมอนด์ อยู่กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครรู้ ใครเห็นว่า สรุปแล้วบลูไดมอนด์อยู่ที่ไหน หรือมี “ใคร” เป็นคนครอบครองเอาไว้ หรือว่า…บลูไดมอนด์อาจไม่มีจริงตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เหลือไว้แต่ปริศนาเต็มไปหมด พร้อมกับคดีลอบสังหารนักการทูต อุ้มนักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ที่ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย
และจากเหตุการณ์สุด “สะบั้นหั่นแหลก” นี้เอง ทำให้ซาอุฯ ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตจาก “เอกอัครราชทูต” มาอยู่ที่ระดับ “อุปทูต” พร้อมกับยกเลิกการทำวีซ่าทำงานให้กับคนไทย และประกาศเตือนคนในประเทศไม่ให้เดินทางมายังกรุงเทพมหานคร ทำให้จำนวนคนงานไทยในซาอุฯ ลดลงจาก 150,000 คน ในปี พ.ศ. 2532 เหลือเพียง 10,000 คน ในปี พ.ศ. 2549
หลังจากนั้นผ่านไปถึงหลายสิบปี ในปี พ.ศ. 2552 ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำตัดสินศาลอุทธรณ์ให้ประหารชีวิต พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ พร้อมกับถอดยศและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์
พลตำรวจโทชลอ เกิดเทศ ในสภาพของนักโทษ (ภาพ: teenee)
ปี พ.ศ. 2556 ชลอ เกิดเทศได้รับการปล่อยตัว หลังถูกจำคุกมาอย่างยาวนานถึง 19 ปี พร้อมกับได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ธัชพล เกิดเทศ” หลังจากนั้นได้ลาอุปสมบทเป็นพระที่วัดแพร่ธรรมาราม ตำบลเด่นชัย อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ได้รับฉายาทางธรรมว่า “อิสสโร“ ก่อนจะไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา
พระธัชพล อิสสโร ภายหลังที่ได้อุปสมบทแล้ว (ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
ส่วนนายเกรียงไกร หลังจากพ้นโทษออกมาก็ได้เปลี่ยนนามสกุลจาก “เตชะโม่ง” เป็น “มงคลสุภาพ” เพื่อไม่ให้คนรอบข้าง โดยเฉพาะลูกชายของตนต้องมาพลอยรับผลกระทบจากสิ่งที่ตนเองก่อไว้ในอดีต
แล้วในปี พ.ศ. 2559 นายเกรียงไกรได้เข้าอุปสมบทและรับฉายาทางธรรมว่า “วชิรญาโณ” แปลว่า ผู้มีญาณแกร่งดุจเพชร ตั้งใจที่จะครองสมณเพศตลอดชีวิต เพื่อชดใช้กับสิ่งที่ตนเองก่อไว้ในอดีต แต่ด้วยสภาวะทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว จึงได้ตัดสินใจสึกออกมาช่วยหาเลี้ยงครอบครัวและใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในปี พ.ศ. 2562
พระเกรียงไกร วชิรญาโณ ภายหลังที่ได้อุปสมบทแล้ว (ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
ในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน ศาลอาญาได้ยกฟ้องในชั้นฎีกา พลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจ และอดีตผู้บัญชาตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5) กับพวกในคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ชาวซาอุฯ ชี้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน้อย จึงว่านับเป็นอันสิ้นสุดคดี
พลตำรวจโท สมคิด บุญถนอม ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้องคดีตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอุ้มฆ่านายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก (ภาพ: มติชนออนไลน์)
จากเหตุการณ์ทั้งหมด แลดูว่าจะยังไม่คลี่คลายในหลาย ๆ ประเด็นอยู่ดี แต่แล้วก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญจนกลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับ ซาอุฯ นั่นก็คือ การที่พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ได้รับการเชื้อเชิญจากเจ้าชาย มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย ให้เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 – 26 มกราคม 2565
เหตุใดซาอุฯ ถึงได้ (กลับมา) ให้ความสนใจทางการไทยในยามนี้ ประหนึ่งว่าจะเป็นการกลับมา “คืนดี” ในขณะที่ยังสรุปไม่ได้ว่า บลูไดมอนด์อยู่ที่ไหน!?
มีผู้ให้ความเห็นกับประเด็นดังกล่าวว่า อาจมีปัจจัยมาจากความเปลี่ยนแปลงภายใน ทั้งด้านผู้นำซาอุฯ รุ่นใหม่ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างอย่างชัดเจน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา จึงยังผลให้เกิดการไม่ "ติดใจ" กับเรื่องราวในอดีต โดยเฉพาะกรณีการโจรกรรมทรัพย์สิน ที่เป็นผลให้บลูไดมอนด์ต้องสูญหาย เพราะมองว่าผู้ลงมือเป็นเพียงแค่แรงงานไทย ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับทางรัฐบาล
ในขณะเดียวกันก็เข้าใจว่า เกิดจากความหละหลวมของทางการซาอุฯ เองด้วย ส่วนการลอบสังหารนักการทูตและนักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ แม้จะเป็นสิ่งที่ยังคงค้างคาใจของซาอุฯ ก็ตาม แต่จะทำอย่างไรได้เมื่อไม่สามารถทำอะไรได้แล้วในตอนนี้ เพราะอายุความทางคดีก็สิ้นสุดไปแล้วประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งจำเลยในคดีส่วนใหญ่ได้ถูกยกฟ้องไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่พอทำได้ในปัจจุบัน คือการมองอนาคต มองถึงเรื่องของผลประโยชน์ต่าง ๆ
อีกปัจจัยมาจากนโยบาย "วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย 2030" (Saudi Vision 2030) ที่ต้องการสานสัมพันธ์กับทุกประเทศในโลก เกิดจากการที่ซาอุฯ เกิดประสบปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วง 5 – 6 ปีก่อนหน้านั้น เป็นผลให้ราคาน้ำมันตกต่ำ ขาดดุลบัญชีงบประมาณ จึงต้องมีการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ
และเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของซาอุฯ ให้ดีขึ้นหลังจากถูกมองว่า มีท่าทีทางการทูตค่อนข้างจะก้าวร้าว จึงมีความพยายามในการเปิดกว้างทางความคิดและสานสัมพันธ์กับทุกประเทศในโลก ด้วยการใช้อุดมการณ์ทางศาสนาและการเคลื่อนไหวด้านองค์กรการกุศลเป็น “อำนาจอย่างอ่อน” หรือ ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ที่สำคัญ
อนึ่ง ไทยเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งซาอุฯ ก็เป็นหนึ่งในประเทศตะวันออกกลางที่ขาดความสมบูรณ์ทางด้านอาหาร จึงน่าจะเป็นที่มาในการทบทวนความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งหนึ่งที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559
ขณะเดียวกันก็มีผู้ชี้ให้เห็นว่า ไทยเองก็มีความพยายามในการเพิ่มระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯ มาโดยตลอด นับแต่ครั้งศาตราจารย์พิเศษ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่จังหวะช่วงเวลายังไม่เหมาะสม เพราะยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารภายในของซาอุฯ และคดีความยังอยู่ในกระบวนการศาล จึงทำให้การขับเคลื่อนตอนนั้นเป็นเรื่องยาก
ด้านหนึ่งก็มีผู้ให้ความเห็นว่า การเดินทางไปเยือนครั้งนี้ค่อนข้างที่จะกะทันหัน แล้วยังไม่ทราบสาเหตุแท้จริง แต่ดูเหมือนจะมาจากการตัดสินใจของทางซาอุฯ เอง จนทำให้ผู้ที่ได้รับทราบข้อมูลต้องประหลาดใจไปเป็นแถว ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้มีอำนาจในซาอุฯ ขณะนี้เป็นเชื้อพระวงศ์อีกสายหนึ่งกับทางเจ้าชายไฟซาล ผู้ถูกโจรกรรมทรัพย์สิน ซึ่งบัดนี้ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542)
อีกส่วนหนึ่งมาจากการปรากฏภาพของนายกรัฐมนตรีไทย (ในขณะนั้น) ยกมือไหว้เจ้าชายโมฮัมเหม็ดที่เป็นทั้งมกุฎราชกุมารและสมาชิกพระราชวงศ์ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย แลดูไม่ค่อยมีความเหมาะสมเท่าไร แต่สามารถอนุมานได้ว่า น่าจะเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดการสัมผัสตามจุดต่าง ๆ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย ไหว้แทนการสัมผัสพระหัตถ์ของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อัลซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดีอาระเบีย (ภาพ: Al Arabiya)
ที่สำคัญ...แม้จะเป็นการเยือนระดับรัฐบาลก็ตาม แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ได้มีการจัดให้นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดี หรือแม้แต่นายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดิอาระเบีย แลดูไม่ค่อยสมศักดิ์ศรีเท่าไรนัก ทำไมถึงไม่มีการเจรจาเพื่อขอเข้าเฝ้าฯ และขอเข้าพบเพื่อกระชับความสัมพันธ์เลยสักนิด
แต่ก็ถือว่า ภาพรวมทั้งหมดที่เกิดขึ้น คงจะเป็น “นิมิตหมาย” อันดี (ไม่มากก็น้อย) ในการจะปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกันใหม่อีกครั้ง จนนำไปสู่ “มิตรภาพและความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศและประชาชนของเราทั้งสองจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปในภายภาคหน้า”
อ้างอิง:
●
"คดีเพชรซาอุ" ย้อนรอยจอมโจรบันลือโลก ทำไทย-ซาอุฯร้าว 30 ปีก่อนฟื้นสัมพันธ์ โดย กรุงเทพธุรกิจ (
https://www.bangkokbiznews.com/news/984902
)
●
15 ปี อุ้มฆ่าสองแม่ลูก “ศรีธนะขัณฑ์” ปิดฉากประหาร “ชลอ เกิดเทศ” โดย MGR Online (
https://mgronline.com/crime/detail/9520000128581
)
●
เปิดเอกสารลับสหรัฐฯ! บลูไดมอนด์คือเรื่องหลอกลวงของฝ่ายล้มล้างสถาบันกษัตริย์ โดย ฤา (
https://www.luehistory.com/เปิดเอกสารลับสหรัฐฯ-บลู/
)
●
เพชรซาอุฯ : 30 ปี ของ เกรียงไกร เตชะโม่ง จากวังสู่เรือนจำ แก้กรรมในวัดก่อนกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด โดย BBC News ไทย (
https://www.bbc.com/thai/49821635
)
●
เพชรซาอุฯ: ยังไม่พบ “บลูไดมอนด์” คดีอื่นก็ไม่จบ เหตุใดซาอุดีอาระเบียกลับมาฟื้นสัมพันธ์กับไทย โดย BBC News ไทย (
https://www.bbc.com/thai/thailand-60111503
)
●
ย้อน 3 ทศวรรษ ปมร้าว‘ไทย-ซาอุฯ’ โดย มติชนออนไลน์ (
https://www.matichon.co.th/politics/news_3154634
)
●
ย้อนรอยเพชรซาอุฯ จาก “เกรียงไกร” ถึง “ประยุทธ์” 30 ปี ฤาจะสิ้นอาถรรพ์ “บลูไดมอนด์” โดย MGR Online (
https://mgronline.com/crime/detail/9650000008162
)
●
ย้อนคดีเพชรซาอุฯ สู่ อุ้มฆ่าแม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ และ "ชลอ เกิดเทศ" โดย PPTVHD 36 (
https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/57187
)
●
ประยุทธ์ ถึงซาอุฯ เข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร หารือสัมพันธ์ 2 ประเทศ โดย ประชาชาติธุรกิจ (
https://www.prachachat.net/politics/news-850677
)
●
ป๋าลอ ลาบวช ทำพิธีอุปสมบทที่แพร่ ก่อนไปจำวัดในวังน้ำเขียว (
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/975272
)
●
เปิดปมคดีสังหาร นักการทูต นักธุรกิจซาอุฯ ก่อนฟื้นสัมพันธ์ 33 ปี โดย ประชาชาติธุรกิจ (
https://www.prachachat.net/general/news-850313
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#บลูไดมอนด์ #เพชรซาอุ
คดีเพชรซาอุฯ
ไทย
ซาอุดีอาระเบีย
บันทึก
3
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย