20 ก.ย. 2023 เวลา 13:13 • ท่องเที่ยว
ปราสาทเขาพระวิหาร

ตีตั๋วรถขึ้นเขาพระวิหาร 🇰🇭 เดินเท้าผ่านเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ขึ้นปราสาทพระวิหาร

การเดินทางไปจังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา เป็นการเดินทางต่อจากเกาะแกร์ (ติดตามบทความเรื่องพีระมิด ที่เกาะแกร์ มหาศิวลึงค์ที่ใหญ่ที่สุดได้ตามลิ้งค์ที่ท้ายบทความนะคะ)
เผื่อใครยังไม่ได้อ่านบทความเรื่องพีระมิด ที่เกาะแกร์ เลยขอเท้าความสั้นๆ ว่า
การเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางช่วงเดือนตุลาคม เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ (เสียมราฐ) ประเทศกัมพูชา
และใช้รถบัสในการเดินทางไปเที่ยวที่เกาะแกร์ และเข้าพัก 1 คืนที่ โรงแรมในจังหวัดพระวิหาร (Preah Vihear) น่าจะเป็นโรงแรมที่ดีที่สุดในเขตนี้แล้ว
เขตพื้นที่นี้อาจจะทุรกันดารหน่อย น้ำอาบจะไหลเบาบางมาก แต่เพราะการเดินทางครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังความสะดวกสบายเท่าไรนัก เป็นการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาอยากเรียนรู้ จึงเป็นการเที่ยวที่สนุกและรับได้กับทุกสภาวะ
โรงแรมที่พัก
วันนี้คณะผู้ใฝ่รู้ในประวัติศาสตร์ขอมโบราณ ตื่นแต่เช้าเพื่อออกเดินทางไปยังเขาพระวิหาร และเราจะใช้เวลาเที่ยวเขาพระวิหารประมาณ 4-5 ชั่วโมง (รถที่นี่เป็นพวงมาลัยซ้ายนะคะ)
รถบัสขับผ่านเส้นทางโบราณ มองเห็นทิวเขาพนมดงรัก และที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร
ทิวเขาพนมดงรัก
รถบัสนำคณะของเรามาลงที่ลานจอดรถ เพื่อเปลี่ยนรถเตรียมขึ้นเขาพระวิหาร มองเห็นเขาพระวิหารอยู่ข้างหน้าโน้น เตรียมตัวให้พร้อม
ไกด์นำเที่ยวของคณะเราแนะนำให้เข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อน เพราะข้างบนเขาห้องน้ำอาจจะไม่ค่อยสะดวกเท่าไรนัก
เราได้รับแจกตั๋วขึ้นเขาพระวิหาร ในราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐ ที่กัมพูชาเราใช้เงินดอลลาร์ในการใช้จ่ายได้ ควรแลกแบงค์ย่อยเล็กๆไว้ เพื่อที่จะไม่ต้องโดนทอนเป็นเงินเรียลของกัมพูชาเขา
เราเหมารถกระบะ คันละ 25 ดอลลาร์ นั่งคันละ 4-5 คน สบายๆ ถ้าพร้อมก็ปีนขึ้นกันเลย
หลังจากมีข้อพิพาทกับทางประเทศไทย บันไดทางขึ้นเขาพระวิหาร (ที่อยู่ฝั่งประเทศไทย) ถูกปิดกั้นห้ามขึ้น ทางการของกัมพูชาต้องหาทางออกโดยการสร้างถนนคอนกรีต เพื่อเอารถขึ้นเขาพระวิหารได้สะดวก
เส้นทางขึ้นเขา
นั่งรถกระบะมาซักพัก ก็ถึงด่านตรวจตั๋ว นับจำนวนคนขึ้นด้วย อากาศบนเขายามเช้าเย็นสบายดี
ด่านตรวจบัตร นับจำนวนคน
ทางขึ้นค่อนข้างชัน ต้องจับให้มั่น น่าจะประมาณ 20 กว่านาที เราก็ขึ้นมาถึงปลายเขาพระวิหาร
คณะของเราน่าจะเป็นกลุ่มแรกเลย เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋ว เขาก็นั่งมากับรถกระบะคันเดียวกับเรา ลงจากรถมาด้วยกัน ก็รีบมายืนตรวจตั๋วเลยทันที ยังขำอยู่ว่าเจ้าหน้าที่ดูแลดีจัง
ฝั่งซ้ายเป็นประเทศไทย
เราเดินไปตามเส้นทาง ซึ่งมีบังเกอร์ เป็นแนวของทหารที่ดูแลชายแดน เพราะด้านล่างก็คือประเทศไทยนั่นเอง ไกด์บอกให้พวกเราเดินตามทางนะ อย่าออกนอกเส้นทาง เพราะเกิดทางฝั่งไทยเห็นพวกเราเข้าใจผิด อาจโดนยิงขู่ขึ้นมาได้
จุดเริ่มต้น ทางขึ้นเขาพระวิหาร
🏵️จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นเส้นทางศักดิ์สิทธิ์
เราเดินมาถึงบันไดนาค หรือ บันไดนาคราช เป็นทางเข้าโบราณเพื่อเดินขึ้นสู่ปราสาทพระวิหาร
สุดบันไดเป็นฝั่งประเทศไทย จังหวัดศรีสะเกษ (น่าจะตั้งแต่บันไดลงไปเป็นของไทยนะ แต่ไม่มีป้ายบอกเขตแดน) ไกด์ของเราบอกให้ถ่ายรูปได้จากตรงนี้ ห้ามลงไป เพราะอาจไม่ปลอดภัย
ขอบคุณแผนผังจาก เพจบ้านจอมยุทธ
ขึ้นบันไดมาจะพบกับ นาคราช 7 เศียร 2 ตัว ซ้ายขวา (ถ่ายเก็บไม่หมด)เป็นศิลปะขอมโบราณ แบบปาปวน (เป็นลักษณะน่าตาเหมือนงูตามธรรมชาติ)
เห็นแบบนี้บันไดชันมาก ตามแบบฉบับของศาสนาฮินดู ที่ให้เหมือนคลานขึ้นมาเคารพเทพเจ้า พวกเราจึงต้องโน้มตัวลงโดยปริยาย
เมื่อมองย้อนลงไปจะเห้นเป็นสะพานนาคราช มีลำตัวทอดยาว เหมือนเรากำลังเดินขึ้นสู่สรวงสวรรค์
โคปุระชั้นที่ 1
🏵️โคปุระชั้นที่ 1
ขึ้นมาก็ถึงโคปุระชั้นที่ 1 ซึ่งกำลังบูรณะซ่อมแซม ต้องทำการเรียงหิน เหมือนเล่นจิ๊กซอว์ ต้องหาหินที่ถูกต้องมาเรียงใหม่
จากนั้นไต่บันไดหินกันต่อ ตอนนี้แดดเริ่มมาแล้ว แต่อากาศข้างบนไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนในเมืองนะ
เส้นทางศักดิ์สิทธิ์ช่วงตรงนี้ มีระยะประมาณ 800 เมตรได้ ด้านซ้ายขวามีเสานางเรียงที่ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ บางเสาก็ล้มไปตามกาลเวลา ยังไม่ได้บูรณะ
ช่วงตรงนี้เดินถ่ายรูปกันไป คุยกันไป ไม่ต้องรีบ ระยะทางอีกยาวไกล
หยุดพักบ้าง
ระหว่างทางมีหยุดพักฟังเรื่องราวประวัติความเป็นมา ว่าชื่อของปราสาทพระวิหารตามศิลาจารึก นั้นชื่อ ศีรศิขเรศวร ที่หมายถึงพระอิศวรผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขา
พระวิหารแห่งนี้สร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 ในสมัยพระเจ้ายโศวรมัน และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมเรื่อยมา จนถึงสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1-2 ที่ตั้งใจทำให้เขาพระวิหารนั้นเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของผู้คนในแถบนั้น
ระหว่างนั่งพัก ไกด์บอกว่าห้ามนั่งทับเสานางเรียงเด็ดขาด ถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์
บาราย
ไม่ไกลจากจุดที่เรานั่งพักจะเห็นบาราย หรือ สระน้ำ ที่ให้อาบหรือชำระร่างกายก่อนการขึ้นบูชาเทพเจ้า หรือได้อาบน้ำก่อนการเข้าปราสาท
สมัยก่อนเข้าใจได้นะ เราไม่มีรถ คงจะขี่ช้าง เดินเท้ากันมาระยะทางยาวไกล อากาศก็ร้อน มาถึงก็ได้อาบน้ำ ให้ชื่นใจ เนื้อตัวสะอาด จะเดินขึ้นไปบูชาเทพเจ้า ก็จะได้สบายตัวสบายใจ สะอาดสะอ้านกัน
หายเหนื่อยก็เดินเท้ากันต่อ เราจะเห็นหลุมบ่อ มีรูปทรงต่างกันไป เข้าใจว่าน่าจะเป็นที่ปักเสาไม้ หรืออาจเป็นที่วางหินรูปทรงเป็นสัตว์ต่างๆ เพื่อทำพิธีทางศาสนา
ปีนป่ายกันต่อ
โคปุระชั้นที่ 2
🏵️ โคปุระชั้นที่ 2
เราไต่ทั้งบันไดไม้และหิน ขึ้นมาพบกับโคปุระที่ 2
โคปุระชั้นที่ 2 นี้เป็นการเล่าเรื่องของพระกฤษณะ ในเรื่องมหาภารตะ (หากใครมาเที่ยวควรได้อ่านหรือฟังเรื่องราว "มหาภารตะ" มาก่อนจะเที่ยวสนุกขึ้นมาก)
อธิบายให้เข้าใจว่าอยู่ตรงไหนของเขาพระวิหาร
หน้าบันนี้เป็นภาพของพระกฤษณะ ปราบนาคกาลียะ ที่พระกฤษณะต้องมาปราบพญานาค เพราะพญานาคไม่พอใจพ่นพิษใส่ทะเลสาบ ทำให้คนตายไปมาก พระกฤษณะจึงต้องมาช่วยปราบ
ภาพพระศิวะทรงโคอุ้มพระแม่อุมาเทวี
จุดนี้น่าจะเป็นพระเอกของประสาทพระวิหารแล้วหละ เด่นที่สุด สวยที่สุด
หน้าบันชิ้นเอกของปราสาทพระวิหาร เป็นภาพกวนเกษียรสมุทร และมีทับหลังเป็นภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ (อยู่ด้านล่าง) เป็นภาพที่สมบูรณ์มากๆ งดงามมาก
พวกเราหยุดพักชมกันอยู่พักใหญ่ มีชาวบ้านนำน้ำใส่กระติกน้ำแข็งมาให้เลือกซื้อ ในราคาเดียวกันหมด คือ $1 เหรียญ ก็ทำให้ได้ชื่นใจ เดินต่อกันไปไหว
ไปกันต่อ
ระหว่างทาง มีเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย
หันกลับไปมอง เส้นทางศักดิ์สิทธิ์ที่เราเดินผ่านมา ทำให้ต้องนึกไปในอดีตเวลาที่ทำพิธีทางศาสนาคงจะยิ่งใหญ่ไม่น้อยเลย
โคปุระชั้นที่ 3
🏵️ โคปุระชั้นที่ 3
โคปุระชั้นที่ 3 นี้มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้านในมีแบ่งเป็นหลายห้อง เดินเลี้ยวไปมา อ้าวกลุ่มหายไปไหน
โคปะรุชั้นที่ 4
🏵️ โคปะรุชั้นที่ 4
ขอบคุณภาพจาก วารสารสยามสมาคม
ศิลาจารึก
ด้านในของกรอบประตูมีศิลาจารึก ได้ใจความว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1
ในชั้นที่ 4 นี้มีห้องสมุดขนาดซ้ายขวาอีกด้วย
โคปุระชั้นที่ 5 ระเบียงคต
🏵️ โคปุระชั้นที่ 5
โคปุระชั้นที่ 5 จะเป็นส่วนของระเบียงคต กับ ประสาทประธาน ซึ่งตัวปราสาทประธานด้านหลังพังทะลายไปมาก
ภายในปราสาทประธานมีเทวรูป ที่ชาวบ้านเข้าไปพิธีกราบไหว้บูชา (เลยไม่ได้เข้าไปรบกวนถ่ายรูปเขา) ภายในมีขนาดค่อนข้างเล็กแคบ
เราเดินไปตามระเบียงคต และมีทางออกไปผาเป้ยตาดี (ตรงนี้สนุกน่าค้นหามาก)
ทะลุประตูหินออกมา ก็เจอกับผาเป้ยตาดี "เป้ย" ภาษาเขมร แปลว่าชะง่อนผา มีพระภิกษุชื่อ "ดี" มาพำนักที่นี่จนมรณภาพไป เลยมีชื่อว่า "ผาเป้ยตาดี"
เราเดินไปชมชะง่อนผา ซึ่งต้องอาศัยความกล้าเล็กน้อย คนกลัวความสูงก็ถอยห่างออกหน่อย มีลิงมารวมตัวแถวหน้าผาหลายตัวรออาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายสักการะเทพเจ้า
เป้ยตาดี เป็นชะง่อนผาที่มองเห็นทั้งเมือง ในอดีตฝรั่งเศสต้องมายึดผาเป้ยตาดีเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่ดีที่สุด มองเห็นทุกจุดของเมือง
ไกด์เตือนให้ระมัดระวังกันนะ อย่าหันหลังถ่ายรูปเพลิน
เดินออกมาหน่อย พบกับบันไดไม้ ที่ว่าทางฝั่งกัมพูชาไม่มีทางขึ้น...มีแต่บันไดทางหน้าผา อยู่ตรงจุดนี้นี่เอง
บันไดค่อนข้างชัน เหมือนไม่ได้ใช้งานนานแล้ว ไม่ได้ลงไปสำรวจนะ...
ได้เวลาเดินกลับ ลงไปที่จอดรถกระบะของพวกเราแล้ว
ตอนเดินลงอีกทาง ไม่ได้กลับไปทางปราสาทพระวิหารแล้ว แต่ก็หันไปมองปราสาทพระวิหารจนลับตา
ทางเดินกลับ
มาดูภาพทางอากาศ ความยิ่งใหญ่ของปราสาทพระวิหาร
ขอบคุณภาพจากเพจ Audley Travel
ไม่ว่าปราสาทพระวิหารจะตกอยู่ในเขตของประเทศใด ไม่ว่าใครจะตัดสินอย่างไร ปราสาทพระวิหารยังคงเป็นศูนย์รวมแห่งความเชื่อ ศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมที่นับถือของบรรพบุรุษในเขตพื้นที่นั้นไปตลอดกาล
ติดตามเรื่องพีระมิด ที่เกาะแกร์ ได้ที่นี่
เครดิตภาพ : TANTAWAN
โฆษณา