18 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ธุรกิจ

Vivienne Westwood แฟชั่นจากหญิง ‘หัวขบถ’ สู่การได้รับ

พระราชทานยศ ‘ท่านผู้หญิง’ แห่งอังกฤษ
ใครที่ตามวงการแฟชั่น หรือพอผ่านตาต้องรู้จัก Vivienne Westwood
แบรนด์เครื่องประดับที่เหล่า Celebrity สวมใส่กันจนแฟนคลับต้องไปตามรอย ซึ่งภาพคุ้นตาคงเป็นสร้อยคอดาวเสาร์ โลโก้แบรนด์อันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน
ความน่าสนใจของวิเวียน เวสต์วู้ด (Vivienne Westwood)
ไม่ใช่แค่ความสวยงามถูกอกถูกใจบรรดาผู้คน แต่เป็นความขบถ ความกล้าหาญที่จะสวนกระแสนิยมของสังคมที่ร้อยเรียงเป็นเรื่องเล่าผ่านเจ้าของแบรนด์อย่าง ‘วิเวียน เวสต์วู้ด’
วิเวียน เวสต์วู้ดเกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1941 ที่เมือง Derbyshire ประเทศอังกฤษ เธอเติบโตมากับครอบครัวชนชั้นกลาง จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับวงการแฟชั่นที่เป็นเรื่องของชนชั้นสูง หากแต่แม่ของเธอทำงานในโรงงานทอผ้า และมีฝีมือพอที่จะตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับลูก ๆ ใส่ จึงทำให้วิเวียนซึมซับเรื่องเกี่ยวกับการตัดเย็บมาตั้งแต่เล็ก
จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของวิเวียนครั้งแรก คือหลังจากย้ายเมืองมาที่ Harrow ทำงานเป็นคุณครูอนุบาล เธอก็ได้พบรักกับสามีคนแรกคือ Derek Westwood ผู้มอบนามสกุลเวสต์วู้ดให้กับเธอ และเธอก็ใช้ชื่อ ‘วิเวียน เวสต์วู้ด’ มาเป็นชื่อตัวเองและชื่อแบรนด์จนถึงปัจจุบันนี้
ไม่นานนักเธอก็หย่ากับสามี ไม่ใช่เพราะมีปัญหาครอบครัว หากแต่เธอไม่อาจละทิ้งความฝันที่อยากทำอะไรสักอย่างเป็นของตัวเอง เธอไม่เคยเข้าเรียนในโรงเรียนสอนออกแบบ แต่เธอคือครูของตัวเธอเองจากการทดลอง คิดค้น กล้าออกนอกกรอบ ท้ายที่สุดเธอจึงได้เริ่มเส้นทางในวงการแฟชั่น
ในปี 1965 วิเวียนได้พบกับ Malcolm McLaren แฟนหนุ่มผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่นของเธอ แถมพ่วงตำแหน่งศิลปินและนักร้องนำวง Sex Pistols ซึ่งเป็นวงดนตรีสไตล์พังก์หัวขบถ มีเพลงดังอย่าง God Save The Queen ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างรุนแรง ในขณะที่วิเวียนทำหน้าที่เป็นสไตล์ลิสต์ออกแบบชุดให้กับศิลปินในวง ทำให้ชื่อของวิเวียนโลดแล่นอยู่ในวงการพังก์นับแต่นั้น
หลังปี 1988 แฟชั่นพังก์เป็นที่นิยมจนกลายเป็นกระแสหลักของสังคม ตอนนั้นวิเวียนตัดสินใจเปลี่ยนแนวทางการดีไซน์ไปเป็น ‘Tatler’ ซึ่งเป็นการแต่งตัวล้อเลียนคนชนชั้นสูงของสังคม
วิเวียนไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ เธอมุ่งมั่นที่จะเคลื่อนไหวสังคมผ่านแฟชั่นต่อไป และในปี 1989 เธอได้ขึ้นปกนิตยสาร Tatler ด้วยการสวมชุดแบบเดียวกับ Margaret Thatcher นายกรัฐมนตรีหญิงของอังกฤษในขณะนั้น พร้อมคำโปรยว่า ‘ผู้หญิงคนนี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นพังก์มาก่อน’ ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับสังคมอังกฤษอย่างมาก และติดอันดับปกนิตยสารที่ดีที่สุดในอังกฤษ
ปี 1992 ถือเป็นเกียรติสูงสุดครั้งใหญ่ในชีวิตของวิเวียน เมื่อเธอได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ชั้น OBE จากพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ณ พระราชวังแบกกิงแฮม
ซึ่งคนดังที่เคยได้รับยศนี้ก็คือ superstar ระดับโลกอย่าง ‘วิคตอเรีย แบคแฮม’ ในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศทั้งในด้านแฟชั่นและทำงานเพื่อสังคมมากมาย
เมื่อก้าวเข้าสู่ปี 2000 วิเวียน เวสต์วู้ดไม่ได้เป็นเพียงแค่ดีไซเนอร์ที่ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น แต่เธอยังเป็นนักกิจกรรมขับเคลื่อนทางสังคม การเมือง และนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเธอได้ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Gaurdian ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดของฉันในตอนนี้ไม่ใช่แฟชั่น แต่คือ Climate change”
วิเวียนแสดงออกทางการเมืองและเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งผ่านงานแฟชั่นของเธอและบนท้องถนน อย่างในปี 2006 งานแฟชั่นโชว์ชื่อ Spring 2006 show “AR” คอปเซนคือการต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อ มีสโลแกนบนเสื้อยืดว่า “I am not a terrorist” หรือ ฉันไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย
ในปีเดียวกัน วิเวียนได้เลื่อนตำแหน่งจาก OBE เป็น CBE หรือ ‘ท่านผู้หญิง’ แห่งอังกฤษ
แต่ที่บ่งบอกว่าแฟชั่นของวิเวียน เวสต์วู้ดล้ำหน้ากว่าใครไปหลายก้าว คือการจัดงาน Fall-Winter 2015 “Unisex” ถือเป็นหนึ่งใน catwalk ที่นำเสนอ ‘แฟชั่นไร้เพศ’ สู่กระแสหลักที่ไม่ว่าชายหรือหญิงสามารถแต่งตัวอย่างไรก็ได้ไม่จำกัดแล้วแต่ความพอใจ สะท้อนว่าวิเวียนคือ ‘ผู้นำเทรนด์’ ไม่ใช่ผู้ตามเทรนด์อย่างแท้จริง
วิเวียนเคยกล่าวไว้ว่า..
ฉันไม่รู้เลยว่าผู้หญิงจากชนชั้นแรงงานแบบฉันจะสามารถหาเลี้ยงชีพในโลกแห่งศิลปะได้อย่างไร
แต่วันนี้เธอทำสำเร็จและกลายเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นที่ถูกวางขายไปทั่วโลก
ผู้เขียน: ขัตติยาภรณ์ ด้วงแก้ว Political Analyst, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา