19 ก.ย. 2023 เวลา 16:46 • สุขภาพ

ว่าด้วยเรื่องนมแม่บริจาคกับการใช้เลี้ยงลูก

จากข่าวที่มีการซื้อขายนมแม่จากแม่คนอื่นเพื่อใช้เลี้ยงลูกเราปลอดภัยและทำได้หรือไม่ ?
จากประสบการณ์ส่วนตัวและบทบาทในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในแผนก “แม่และเด็ก” ( Women and Infants service ) ของโรงพยาบาลระดับแนวหน้าของรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ และ เป็นโรงเรียนแพทย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง อีกทั้งโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่มีนโยบายการดูแลให้การรักษาพยาบาลที่มีแพทย์และพยาบาลของแต่ละแผนกคิดร่วมกันกลั่นกรองแนวทางการรักษาออกมาเป็นนโยบายระดับสากลเพื่อความปลอดภัยและเป็นประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาคนไข้ให้ได้มาตราฐาน ขอแบ่งปันประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับนมแม่บริจาคดังนี้
  • นมแม่จากแม่คนอื่นที่บริจาคสามารถนำไปให้ลูกคนอื่นกินได้ แต่ต้องผ่านการตรวจฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อ HIV, Hepatitis B, C , ซิฟิลิส และโรคติดเขื้อต่างๆที่สามารถติดต่อผ่านทางสิ่งคัดหลั่ง และแม่ผู้บริจาคต้องมีสุขภาพสมบูรณ์ไม่เสพสารเสพติด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ จะมีการตรวจเช็คสุขภาพร่างกาย สอนสุขอนามัยการล้างมือและกรรมวิธีบีบเก็บรักษาน้ำนมก่อนนำส่ง
  • มีเด็กแรกเกิดจำนวนมากที่ต้องแอดมิทใน NICU ( หน่วยงานวิกฤตสำหรับดูแลทารกแรกเกิด ) เนื่องจากคลอดก่อนกำหนด หรือ แม่มีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างคลอด หรือ แม่มีการใช้สารเสพติด หรือ ปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ทารกไม่สามารถกลับบ้านพร้อมแม่ได้ ทารกต่างๆเหล่านี้ไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะต่อสู้กับเขื้อโรค บางรายต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ดังนั้นอาหารที่ดีที่สุดเมื่อทารกรับอาหารได้คือ “นมแม่” หรือ “นมแม่บริจาค-Donor Breat Milk ( DBM )”
  • การให้น้ำนมที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ชนิดอื่นๆ หรือนมผงชงสำเร็จ( Formula ) จะไม่มีโปรตีนชนิดพิเศษเหมือนที่นมแม่มี( Oligosaccharides, lactoferrin, and immunoglobulins )ที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหารและลำไส้ ( Gut microbiome ) ของทารก เน้นย้ำว่าระบบนี้สำคัญมากเพราะจะช่วยพัฒนาระบบต่างๆ ภูมิคุ้มกันต่างๆของร่างกายทารกทำให้ไม่เจ็บป่วยง่ายเมื่อโตขึ้น นั้นคือหนึ่งในหลายๆเหตุผลที่สนับสนุนให้มารดาหลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือ นมแม่บริจาค
  • นโยบายของรพ.ที่ทำอยู่พยาบาลหลังคลอดมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยในการจัดท่าในการให้นมลูก( positioning) การเอาลูกเข้าเต้าให้ถูกวิธี( latching )และการให้ความรู้และประโยชน์ของนมแม่ หากแม่มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด เช่น ภาวะผ่าตัดคลอดบุตร, ตกเลือดหลังคลอด, ภาวะครรภ์เป็นพิษ ฯลฯ ไม่สามารถผลิตน้ำนมได้ทัน พยาบาลจะแนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่บริจาค( DBM )ก่อนนมผงชงสำเร็จรูปเสมอ และส่งต่อ Lactation consultation หากแม่ยินยอมจะมีการเซ็นต์เอกสารยินยอม( consent form ) เป็นลายลักษณ์อักษร
  • กลุ่มแม่ในบางวัฒนธรรมปฏิเสธการให้นมลูกด้วยน้ำนมจากแม่คนอื่นๆ เนื่องด้วยความเชื่อ มีแผนเลี้ยงลูกด้วยนมผงชงสำเร็จรูป,หน้าที่การงาน, และความสะดวกสบาย แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีการใด บทบาทของพยาบาลคือสนับสนุนเป็นกำลังใจในสิ่งที่แม่ได้เลือก ทารกแรกเกิดจากแม่กลุ่มนี้จะได้นมผงชงสำเร็จรูปแทน ส่วนแม่ที่เลือก DBM บันทึกทางการพยาบาลของทารกจะมีการสแกนเข้าระบบโยงเชื่อมกับธนาคารนม(Milk Bank )ในการสแกน DBM บาร์โค้ดที่พยาบาลให้ต่อมื้อ/วัน และเพื่อให้ neonatologist, nurse practitioner, และ พยาบาลในเวรอื่นๆรับทราบด้วย
  • ทำไมต้องมีเอกสารแสดงความยินยอมและสแกนแฟ้มบันทึกการรักษาลูกเข้าระบบเชื่อมต่อกับธนาคารน้ำนม เพื่อเตรียมพร้อมในการจัดการบริหาร milk supply ให้เพียงพอต่อจำนวนทารก และป้องการความสับสนของพยาบาลในแต่ละเวร จะไม่มีการให้ DBM และ formula สลับกันไปมาแก่ทารกแรกเกิด แม่ทุกคนหลังคลอดจะถูกส่งต่อให้กับ Lactation Consultant(s) เพื่อสอนให้ความรู้ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และช่วยเหลือการจัดท่า การใช้ hand expression การบีบเก็บ ฯลฯ ไม่ว่าแม่จะเลือกวิธีการเลี้ยงลูกด้วยแบบไหนก็ตาม
  • ไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของการใช้ Donor Breast Milk ขณะอยู่โรงพยาบาล พยาบาลและ Lactation consultant(s) จะช่วยสอน และช่วยกระตุ้น(ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยมือ หรือใช้เครื่องปั๊ม) เพื่อให้แม่เริ่มผลิตน้ำนมสำหรับเลี้ยงลูก หากแม่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองแต่ปริมาณน้ำนมยังไม่เพียงพอสามารถสั่งซื้อน้ำนมบริจาคได้จากธนาคารนมส่วนกลาง
อยากให้กระทรวงสาธารณสุข ณ ประเทศไทยรณรงค์ให้แม่หลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่านมชงสำเร็จรูปตามสื่อต่างๆ เช่น ทีวี วิทยุ โทรทัศน์ และ สิ่งพิมพ์ ส่งเสริมการทำระบบธนาคารน้ำนม ทำการจัดเก็บรักษาน้ำนม และให้ความรู้แก่ผู้บริจาคและผู้ที่ต้องการรับบริจาคอย่างเป็นระบบระเบียบและมีมาตราฐาน เด็กๆของประเทศไทยจะได้เติบโตแข็งแรงไม่เจ็บป่วยง่าย
***ข้อมูลความรู้ที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือจะทำให้ประชากรไม่ตกเป็นเหยื่อของความเขลาเบาปัญญาอันนำไปสู่ปัญหาและความเดือดร้อนทางทรัพย์สินและอันตรายแก่ชีวิต***
โฆษณา