21 ก.ย. 2023 เวลา 01:00 • ข่าวรอบโลก

ทำไมคิชิดะจึงต้องปรับคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น

นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ทำการปรับคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา
การปรับ ครม. ของคิชิดะครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2021โดยเมื่อคิชิดะชนะการเลือกตั้งในปีนั้น เหล่านักวิเคราะห์การเมืองญี่ปุ่นก็ได้กล่าวว่า คิชิดะได้รับ ‘สามปีทอง’ (three golden years) ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีการเลือกตั้งระดับชาติใด ๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงสามารถเดินหน้าทำงานได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่มีข้อจำกัดทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม สามปีทองของคิชิดะก็กำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว เพราะในปีหน้า วาระการเป็นหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ของคิชิดะจะจบลง และหากเขายังต้องการเป็นนายกฯ ต่อ เขาก็จะต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบ ดังนั้น คิชิดะจึงต้องรีบสร้างความมั่นใจให้กับสมาชิกพรรคว่า เขายังสมควรที่จะเป็นหัวหน้าพรรคต่อ และยังมีความนิยมมากเพียงพอที่จะชนะการเลือกตั้งต่อไป
ปัจจัยเรื่องความนิยมเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคิชิดะ นักวิเคราะห์มักกล่าวว่าหากคะแนนนิยมของรัฐบาลญี่ปุ่นตกลงต่ำกว่า 30 เปอร์เซนต์ ก็นับว่ารัฐบาลกำลังอยู่ใน ‘โซนอันตราย’ ที่จะทำให้นายกฯ อาจโดนขับออกจากตำแหน่งได้ และในระยะหลัง โพลบางสำนักชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลคิชิดะมีคะแนนนิยมที่ดิ่งลงจนอยู่ในโซนอันตรายแล้ว​ โดยมีเหตุผลหลักมาจากการออกบัตรประชาชนดิจิทัลของญี่ปุ่น ที่มีการโยงข้อมูลส่วนตัวผิดจนทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง
1
จึงไม่น่าแปลกใจว่าคิชิดะจะเลือกการปรับ ครม. ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือโปรดของผู้นำญี่ปุ่นในการ ‘เปลี่ยนลุค’ ให้กับรัฐบาลของตนเมื่อคะแนนนิยมตกต่ำลงอย่างมาก
ทั้งนี้ ครม. ‘นิวลุค’ ของคิชิดะมีประเด็นที่น่าสนใจหลายข้อ
สิ่งที่สื่อให้ความสนใจมากที่สุดคือ คิชิดะได้แต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงถึงห้าคน ซึ่งนับว่าเยอะที่สุดในรอบเกือบสิบปี และรวมถึงการแต่งตั้งรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนที่สอง คือนางคามิกาวา โยโกะ ก่อนหน้านี้คามิกาวาเคยมีชื่อเสียงในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่เป็นผู้สั่งให้ประหารชีวิตสมาชิกลัทธิโอมชินริเกียว ลัทธิที่ใช้สารซารินโจมตีรถไฟใต้ดินโตเกียวเมื่อปี 1995
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคิชิดะจะแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ถึง 11 คน แต่สมาชิกหลัก ๆ ของ ครม. ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก และสมาชิกหลักของคณะกรรมการบริหารพรรค LDP ก็ยังคงไว้เหมือนเดิมเกือบทั้งหมด ดังนั้น จึงสามารถตั้งคำถามได้ว่า ครม. ใหม่ของคิชิดะ จะทำให้ประชาชนเคลิ้มว่าเป็นครมโฉมใหม่ ได้จริงหรือไม่
สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าคือ ประชาชนคงมองว่า การปรับ ครม. ของคิชิดะมีเป้าหมายในการบริหารการเมืองภายในพรรคอย่างชัดเจน คิชิดะตั้งใจรักษาสมดุลของการแบ่งโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีให้กับก๊กต่าง ๆ ภายในพรรคอย่างระมัดระวัง (แต่ก็ได้เพิ่มเก้าอี้ในกลุ่มของตัวเองด้วย และไม่ได้เพิ่มให้กับกลุ่มอาเบะ ทั้งที่กลุ่มดังกล่าวมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น)
นอกจากนี้ คิชิดะเลือกที่จะเก็บนายโคโนะ ทาโร รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไว้ในตำแหน่งเดิม ทั้งที่กระทรวงของเขาเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเรื่องบัตรประชาชนดิจิทัลผิดพลาดจนทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลร่วงลงเท่านี้ คิชิดะอาจทำเช่นนี้เพราะโคโนะเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่าคิชิดะเองเมื่อมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งที่แล้ว
ในลักษณะเดียวกัน คิชิดะก็ได้ตั้งนางทาคาอิจิ ซานาเอะ มาเป็นรัฐมนตรีดูแลเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ทาคาอิจิเคยวิจารณ์นโยบายคิชิดะระหว่างที่เป็นรัฐมนตรี แม้แต่ทาคาอิจิก็นึกว่าจะโดนปรับออกจาก ครม. อย่างแน่นอน ถึงขั้นทวีตว่าแปลกใจที่ตัวเองได้เป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง เพราะเก็บของออกจากห้องทำงานไปหมดแล้ว ทาคาอิจิเคยได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกฯ อาเบะ ชินโซะ เป็นหัวหน้าพรรค คิชิดะจึงคงอยากเก็บศัตรูคนนี้ไว้ใกล้ตัวเช่นกัน จะได้เขย่าเก้าอี้นายกฯ​ ได้ไม่สะดวก
คิชิดะคงตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะยุบสภาฯ ในอีกไม่ช้า เพื่อที่จะได้ต่ออายุให้กับรัฐบาล และใช้ผลเลือกตั้งเป็นเหตุผลเพื่อโน้มน้าวให้สมาชิกพรรคเลือกเขาเป็นหัวหน้าพรรคต่ออีกสมัยในปีหน้า แต่ดูแล้ว การปรับ ครม. ครั้งนี้เพียงลำพัง ไม่น่าเพียงพอที่จะทำพาคะแนนนิยมของรัฐบาลคิชิดะออกจากโซนอันตรายได้
แหล่งข้อมูล
โฆษณา