21 ก.ย. 2023 เวลา 12:47 • สิ่งแวดล้อม

รมว.ธรรมนัส ห่วงสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ

เร่งติดตามแก้ปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง จากผลกระทบเอลนีโญ
รมว.ธรรมนัส ห่วงสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ ทั้งฝนตกหนักและน้ำท่วมหลายจังหวัด ขณะบางพื้นที่ฝนต่ำกว่าปกติ จากภาวะเอลนีโญ สั่งเตรียมมาตรการรับมืออย่างทันท่วงที ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่ห่วงใยประชาชนและเกษตรกร
วันที่ 21 กันยายน 2566 เวลาประมาณ 8.30 น.ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในภาพรวมทั้งประเทศ โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ชั้น 3 อาคาร 99 ปี ม.ล.ชูชาติ กำภู กรมชลประทาน กรุงเทพฯ
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวภายหลังการประชุม ว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกิดฝนตกหนักและมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในหลายจังหวัด แต่ในบางพื้นที่ยังคงมีฝนตกต่ำกว่าปกติ เนื่องมาจากสถานการณ์เอลนีโญ ประกอบกับช่วงฤดูฝน
ของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม
2566 นั้น
ท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเป็นห่วงประชาชนและเกษตรกรเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ จึงได้กำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมมาตรการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยและบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่และทั่วประเทศ
"กระทรวงเกษตรฯ เล็งเห็นแล้วว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและภาคเกษตรในวงกว้าง จึงได้ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นการเร่งด่วน เพื่อเตรียมมาตรการรับมือกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่น ตั้งแต่การป้องกัน การเผชิญกับสถานการณ์ และการแก้ไขฟื้นฟูตามนโยบายที่ได้มอบไว้
ทั้งนี้ ได้มอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูล
ข่าวสารไปยังประชาชนและเกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องและให้สามารถเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที" รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 21 ก.ย. 2566 )มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด อุตรดิตถ์
พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุดรธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม จันทบุรี
ลพบุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และอ่างทอง
ซึ่งกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 4 ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในพื้นที่ เร่งดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง บริเวณชุมชนหมู่ 1 ตำบลปากแควและสะพานพระร่วง แม่น้ำยมฝั่งซ้ายในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัยด้วย
เวลา 12.30 น.ร้อยเอก ธรรมนัส นำคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจราชการการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และด้านการเกษตร ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยมี สส.ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ได้แก่ สส. บุญยิ่ง นิติกาญจนา เขต 2 สส. จตุพร กมลพันธ์ทิพย์ เขต 3 สส. ชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ เขต 5 จากพรรคพลังประชารัฐ และ สส.กุลวลี นพอมรบดี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นต้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำจังหวัดราชบุรีมีปริมาณน้อย แต่ยังสามารถบริหารจัดการได้ โดยประมาณกลางเดือนตุลาคม ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าจะมีพายุเข้ามาอีกหลายลูก จึงเชื่อว่าจะทำ
ให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละที่จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีน่าจะสามารถบริหารจัดการได้จนถึงฤดูฝนปีหน้า แต่สิ่งสำคัญคือเกษตรกรในอำเภอโพธารามและอำเภอใกล้เคียง ที่กระทรวงเกษตรฯ จะต้องบริหารจัดการในเรื่องการส่งน้ำไปสู่แปลงเกษตร จึงได้มอบหมายให้มีการปรับปรุงคลองส่งน้ำ อีกทั้งยังมอบหมายกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องของปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เดินทางมารับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรโดยตรง และพร้อมทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อนำไปจัดทำแผนการดำเนินงาน
ในเบื้องต้น ได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) รวมทั้งได้มอบหมายรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้ง Mr.สินค้า ขับเคลื่อนสินค้ามะพร้าวน้ำหอม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดราชบุรี และมอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาแนวทางการดำเนินงานการพัฒนาแหล่งน้ำ และนำเสนอผลให้พิจารณาโดยด่วน
โฆษณา