22 ก.ย. 2023 เวลา 03:39 • ข่าวรอบโลก

Elon Musk เนื้อหอมแค่ไหน ทำไม เศรษฐา และผู้นำทั่วโลก ต่างหมายปองจะเข้าหา

เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวถึง อีลอน มัสก์ ว่า “เป็นบุคคลที่น่าประทับใจมาก” ส่วนนายกรัฐมนตรีอินเดีย นาเรนทรา โมดี มองตนเองเป็น “แฟนคลับ” ของอีลอน มัสก์
บรรดาผู้นำต่างชาติที่กำลังเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กในช่วงสัปดาห์นี้ หรือไม่ก็กำลังเดินทางเยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของทำเนียบขาว ล้วนมีกำหนดการนั่งหารือกับ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเทสลา และสเปชเอ็กซ์ ทั้งสิ้น รวมถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ที่จะหารือกับมัสก์ผ่านระบบวิดีโอด้วย
ตลอดปีที่ผ่านมา อภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้พบกับผู้นำฝรั่งเศส อิตาลี อินเดีย เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ แค่ช่วงสองวันมานี้ เขาได้พบกับผู้นำถึงสองประเทศ นั่นคือตุรกีและอิสราเอล
ตอนนี้ดูเหมือนอำนาจทางธุรกิจของมัสก์กำลังขยายไปถึงการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์โลก จนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลชั้นนำ ที่ผู้นำโลก รวมถึงไทย ต่างหาโอกาสเข้าพบ
ตัวต่อตัวกับผู้นำโลก
ผู้นำต่างชาติบางคนต้องการพบกับอีลอน มัสก์ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะชักชวนให้มาตั้งโรงงานเทสลาในประเทศ ไปจนถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม “สตาร์ลิงค์” ของบริษัท สเปซเอ็กซ์
มาครง พบมัสก์มาแล้ว 3 ครั้ง นับแต่ ธ.ค. ปีที่แล้ว
ในขณะที่ผู้นำโลกคนอื่น ๆ ก็จะมาพบเพื่อหารือถึง “เอ็กซ์” (อดีตทวิตเตอร์) ซึ่งมัสก์เข้าเป็นเจ้าของ รวมไปถึงพูดคุยเรื่องอนาคตของปัญญาประดิษฐ์
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เข้าพบอีลอน มัสก์ มาแล้ว 3 ครั้ง นับแต่ ธ.ค. ปีที่แล้ว เพื่อหวังชักชวนให้เทสลา มาเปิดโรงงานขนาดยักษ์แห่งใหม่ในฝรั่งเศส
นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี ของอิตาลีเอง ก็พยายามขายจุดเด่นของประเทศให้มัสก์เช่นกันเมื่อทั้งสองพบกันในเดือน มิ.ย. เช่นเดียวกับประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี ที่ได้พบกับมัสก์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.) ในนครนิวยอร์ก
และแม้ อีลอน มัสก์ จะเดินทางมานิวยอร์กล่วงหน้าก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ แต่นั่นก็เพียงพอจะทำให้นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ของอิสราเอล บินมาสหรัฐฯ เพื่อหารือกับเขาเมื่อวันจันทร์ (18 ก.ย.) ก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติจะเริ่ม เพื่อหารือเรื่องปัญญาประดิษฐ์
ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ 18-24 ก.ย. ระบุว่า จะร่วมประชุมกับอีลอน มัสก์ และเทสลา แบบประชุม 3 ฝ่าย ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
สิ่งที่ เศรษฐา ต้องการหารือกับอีลอน มัสก์ และเทสลา คือการ ขาย ให้เทสลา เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย "เขาเลือกระหว่างอินเดีย มาเลเซีย และเรา หน้าที่ของเรา หน้าที่ของผมคือไปขาย ประเทศเรามีอะไรดี ๆ หลายอย่าง ไม่ต้องพูดถึง น้ำไฟครบ อินเทอร์เน็ต 5G"
ประธานาธิบดีตุรกีบินตรงมาสหรัฐฯ เพื่อพบมัสก์
อิทธิพลการเมืองที่เพิ่มขึ้น
แม้การหารือเหล่านี้จะเน้นหนักไปที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลของอีลอน มัสก์ ต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
คำกล่าวหลายครั้ง หรือการโพสต์ของอีลอน มัสก์ กลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ และหลายครั้งอาจตีความได้ว่า ขัดผลประโยชน์กับรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงชาติตะวันตกในภาพรวม
ยกตัวอย่างเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักธุรกิจอเมริกันที่เกิดในแอฟริกาใต้ผู้นี้ สร้างความไม่พอใจให้รัฐบาลไต้หวัน จากการแสดงความเห็นถึงนโยบาย “จีนเดียว” ของจีน ด้วยการกล่าวว่า เกาะไต้หวัน “ก็เหมือนฮาวาย หรืออะไรที่คล้ายกัน เป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ถูกทำให้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของจีน”
รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวัน โจเซฟ หวู ตอบโต้กลับผ่านเอ็กซ์ว่า “ฟังนะ ไต้หวันไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจีน และไต้หวันไม่ได้มีไว้ขาย”
ความขัดแย้งนี้ ตอกย้ำคำกล่าวของผู้สังเกตการณ์หลายคนว่า อีลอน มัสก์ ดูจะโอนอ่อนต่อความต้องการของประเทศอื่น แม้ประเทศเหล่านั้นจะเป็นอริกับสหรัฐฯ
“หวังว่าอีลอน มัสก์ จะขอให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนยอมให้ประชาชนเล่นเอ็กซ์ได้” หวู เขียน “หรือไม่มัสก์ก็คิดว่าการแบนเป็นนโยบายที่ดี อย่างการปิดดาวเทียมสตาร์ลิงค์ เพื่อขัดขวางปฏิบัติการตอบโต้ของกองทัพยูเครนต่อรัสเซีย”
คำกล่าวถึงดาวเทียมสตาร์ลิงค์นั้น มาจากรายงานข่าวว่า อีลอน มัสก์ “ลอบบอกวิศวกรของเขาให้ปิดสัญญาณดาวเทียม” เพื่อขัดขวางปฏิบัติการโจมตีโดยละม่อมของยูเครน ต่อกองทัพเรือรัสเซียในแคว้นไครเมีย จนสร้างความวิตกกังวลต่อบรรดาพันธมิตรของสหรัฐฯ
วอลเตอร์ ไอแซคสัน ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของมัสก์ได้ระบุผ่านเอ็กซ์ (อดีตทวิตเตอร์) ว่าจริง ๆ แล้ว สัญญาณดาวเทียมสตาร์ลิงค์เหนือพื้นที่แคว้นไครเมีย ไม่เคยถูกเปิดใช้งานเลย แต่ในหนังสือชีวประวัติของมัสก์ที่เขาเขียน กลับมีเนื้อหาที่อ้างว่า ก่อนที่มัสก์จะตัดสินใจเกี่ยวกับดาวเทียมสตาร์ลิงค์ เอกอัครราชทูตรัสเซียได้บอกกับมัสก์ว่า “หากยูเครนโจมตีไครเมีย ก็อาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยนิวเคลียร์ได้”
โมดี มาหารือกับมัสก์เช่นกัน
ข่าวถึงความสัมพันธ์และฝักใฝ่รัสเซียของมัสก์ ทำให้ตอนที่มัสก์โพสต์ถึงข้อเสนอสันติภาพ เจ้าหน้าที่ยูเครนถึงกับตั้งคำถามว่า บัญชีของมัสก์ถูกรัสเซียแฮกไปหรือไม่
เดือนต่อมา ผู้สื่อข่าวได้ถามประธานาธิบดีไบเดนว่า อีลอน มัสก์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือไม่ ไบเดนกล่าวว่า “ความร่วมมือกับความสัมพันธ์ของมัสก์กับประเทศอื่น ๆ เป็นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจ”
นั่นดูเหมือนจะเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง ของความสัมพันธ์ในเชิงบาดหมางระหว่างมัสก์กับรัฐบาลไบเดน ที่เริ่มชัดขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าทำเนียบขาวจะพยายามไม่กล่าวถึงเทสลาในที่สาธารณะ เวลาพูดถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ขณะที่มัสก์เอง ก็เคยกล่าวผ่านออนไลน์กับสมาชิกระดับสูงของพรรคเดโมแครตว่า เขา “ไม่สามารถสนับสนุน” เดโมแครตได้อีกต่อไป และเริ่มแสดงออกเชิงสนับสนุนบุคคลที่หวังชิงประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันแทน
แอชลี แวนซ์ ผู้เขียนชีวประวัติของมัสก์ ที่ติดตามมัสก์มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวว่า มัสก์รู้สึกขุ่นเคืองและเหมือนไม่ถูกเห็นค่ามาโดยตลอด
“นี่คือชายที่อยากทำหลาย ๆ อย่างให้สำเร็จ เขาคิดว่าเขาทำถูกแล้ว และไม่ชอบที่จะมีอะไรมาขวางทางเขา” แวนซ์ บอกกับบีบีซี
“มัสก์เป็นตัวละครที่ควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว แล้วรัฐบาลไบเดนก็ราดน้ำมันเข้ากองเพลิง จนตอนนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เหลือความปรารถนาดีใด ๆ ที่จะพยายามชักจูงมัสก์กลับมาร่วมมือกันอีก”
ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไป
ความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของบริษัทเทสลา และสเปซเอ็กซ์ ช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอีลอน มัสก์ จากผู้คิดค้นนวัตกรรมอัจฉริยะ สู่บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับเซเลบริตี
“ในช่วงเวลา 25 ปี คุณกล่าวได้ว่า อีลอน มัสก์ ประสบความสำเร็จมากกว่ามนุษย์คนใดก็ตามในโลก” แวนซ์ กล่าว
“เขาโดดเด่นมากในเชิงประวัติศาสตร์ จากการประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ในระดับที่ไม่มีใครเทียบได้”
แต่ความมั่งคั่งที่เพิ่มมากขึ้น และทัศนคติทางการเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาพลักษณ์ต่อสาธารณะของเขา สร้างความแตกแยกและแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่วนหนึ่งขับเคลื่อนมาจากการแสดงความเห็นบน “เอ็กซ์” ของเขาเอง
“เขาเป็นคนที่มั่นใจในความคิดของตนเองมาโดยตลอด และไม่กลัวที่จะแสดงความเห็นออกมา” แวนซ์ กล่าว
มัสก์ เปลี่ยนทัศนคติทางการเมืองไปมาก
“เขาเคยเข้าหาทั้งสองฝ่าย เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทของเขา เขาเน้นเรื่องกระบวนการ ไม่ค่อยพูดเรื่องการเมืองมากนัก เวลาคุยจริง ๆ ก็จะเป็นเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”
ทั้งนี้ นับแต่ปี 2017 หรือ 2018 อีลอน มัสก์ เริ่มทำให้ภาพลักษณ์ในพื้นที่สาธารณะของเขา กลายเป็นเรื่องล้อเลียนและเสียดสี
“เขาจะกล่าวทุกอย่างที่คิด แบ่งแยกคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล เขาเหมือนบั่นทอนตัวตนของตัวเอง ทั้งที่บริษัทของเขากำลังไปได้สวย”
โนม โคเฮน อดีตคอลัมนิสต์สายเทคโนโลยีของนิวยอร์ก ไทมส์ และผู้เขียนหนังสือ “The Know-It-Alls: The Rise of Silicon Valley as a Political Powerhouse and Social Wrecking Ball” มองต่างออกไปเล็กน้อย
เขาเชื่อว่า ความทะเยอทะยานและวิสัยทัศน์อย่างเป็นเอกเทศของมัสก์ ทำให้เขากลายเป็นนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง และมีพลังอำนาจกึ่ง ๆ จะเหมือนรัฐบาล
มัสก์ ได้ผสมผสาน “กายภาพ” คือ โรงงานใหญ่ ๆ พนักงานมากมาย ผลิตภัณฑ์ทรงคุณค่า เข้ากับ “ดิจิทัล” ว่าด้วยการควบคุมการกระจายข้อมูล
ไม่มียักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีคนไหน ไม่ว่าจะมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือเจฟฟ์ เบซอส จะเทียบได้ ในมุมมองของโคเฮน
“ถ้าเขาไม่ซื้อทวิตเตอร์ เราจะยังพูดถึงเขาไหม ถ้าเขาเป็นผู้บริหารบริษัทระหว่างประเทศ มันก็ปกติที่ถ้าเขาอยากสร้างโรงงานในจีน เขาก็จะพบกับจีน”
อย่างไรก็ดี โคเฮนมองว่า ข้อเท็จจริงว่ามัสก์และมหาเศรษฐีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้ถึงการกระทำที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก เป็นสิ่งย้ำเตือนถึงปัญหาจากการสะสมความมั่งคั่ง และปัญหาด้านประชาธิปไตยที่ควรถูกจับตา
“แค่เพราะคุณเก่งเรื่องโปรแกรมมิง หรือธุรกิจ มันไม่ได้หมายความว่า คุณจะเก่งในการสร้างกฎว่าโลกควรเดินไปในทิศทางใด”
โฆษณา