22 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ปรัชญา

One Piece : รู้จัก “Self-fulfilling prophecy” เมื่อความคาดหวังสร้างความจริง

“ฉันจะเป็นราชาโจรสลัดให้ได้” ประโยคง่ายๆ ที่ไม่ว่าคุณจะเคยหรือไม่เคยอ่าน One Piece ก็น่าจะคุ้นหู เรื่องราวในยุคทองของโจรสลัด ลูฟี่ เด็กหนุ่มสวมหมวกฟางคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดให้ได้ และด้วยความมุ่งมั่นกับความเชื่อนั้น เขาฝ่าเรื่องราวมากมายจนกลายเป็นเจ้าแห่งโจรสลัดที่ถูกตั้งค่าหัวขึ้นมาจริงๆ
มันทำให้ผู้เขียนนึกถึงทฤษฎี Self-fulfilling prophecy ขึ้นมา ที่ว่าเมื่อเราคาดหวังอะไรอย่างจริงจังแล้ว จะกลายเป็นสิ่งที่สร้างความจริงขึ้นมา
📌 รู้จัก “Self-fulfilling prophecy” เมื่อความคาดหวังสร้างความจริง
Self-fulfilling prophecy หรือปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง พูดง่ายๆ คือการที่เราไปตั้งความคาดหวังบางอย่างกับใครสักคน ว่าเขาจะต้องเป็นแบบนั้น (ทั้งที่จริงๆ อาจจะไม่เป็นก็ได้) จนสิ่งที่เราคิดมันกลายเป็นความจริงขึ้นมา
ตัวอย่างสุดคลาสสิคที่วิชาเศรษฐศาสตร์มักจะยกขึ้นมาบ่อยๆ คือเรื่องการล้มละลายของธนาคารในช่วง The Great Depression ที่แม้แต่ธนาคารที่แข็งแกร่งมากๆ ก็ล้มละลายได้ จากการที่มีข่าวลือกันว่าธนาคารจะล้มละลาย ไม่มีเงินพอคืนเงินที่เราฝากไว้ (ทั้งที่อาจจะไม่จริงก็ได้ แต่คนเชื่อข่าวลือ) ด้วยความตื่นตระหนกคนก็แห่กันไปถอนเงินเต็มไปหมดจนธนาคารไม่มีเงินให้ถอน ทำให้สุดท้ายแล้วธนาคารเกิดล้มละลายขึ้นมาตามข่าวลือจริงๆ
📌 คนอื่น หรือ ตัวฉัน ใครกันที่ทำให้ความคาดหวังสร้างความจริง?
โดยทั่วไปแล้วปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริงนั้นเกิดขึ้นได้จากทั้ง 2 แบบ คือ
Self-Imposed Prophecies ความคาดหวังของเราเองสร้างความจริงขึ้นมา ตัวอย่างง่ายๆ คือการพูดในที่สาธารณะ คนที่รู้สึกประหม่า เขินอาย ก็จะเต็มไปด้วยความกังวลว่าจะพูดออกมาไม่ดี พอถึงตอนที่ต้องไปพูดก็ลืมทุกอย่างที่เตรียมไว้จริงๆ แล้วก็ยิ่งประหม่า พูดตะกุกตะกัก จนทำให้พูดออกมาไม่ดีอย่างที่คาดไว้จริงๆ
Other-Imposed Prophecies ความคาดหวังจากคนอื่นสร้างความจริงขึ้นมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับคนไทยอย่างเราก็คือ “หมอดู” บางคนที่หมอดูทำนายไว้ว่าจะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แล้วสุดท้ายก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เนื่องจากเขาเชื่อคำทำนายอย่างมาก และความเชื่อนั้นไปส่งผลกับการกระทำของเขาโดยที่เขาไม่รู้ตัว
งานวิจัยแรกๆ เลยเกี่ยวกับ Self-fulfilling prophecy คืองานของ Rosenthal และ Jacobsen (1968) ได้ทำการวิเคราะห์ความคาดหวังของครูต่อนักเรียน ว่าท้ายที่สุดแล้วผลการเรียนของนักเรียนจะเป็นไปตามที่ครูคาดหวังไว้จริงหรือไม่
โดยวัด IQ เด็กแล้วบอกครูว่าเด็กคนไหนเป็นเด็กทั่วๆ ไป และเด็กคนไหนฉายแววความฉลาดกว่าคนอื่น (แต่ครูไม่รู้ว่าผล IQ ที่ได้รับแจ้งนั้น เป็นการสุ่มขึ้นมาเฉยๆ) ซึ่งผลปรากฎว่าหลังจากนั้นครูไม่ค่อยใส่ใจเด็กทั่วไป แล้วไปทุ่มความสนใจให้เด็กที่มีแววความฉลาดแทน แล้วเมื่อทดสอบ IQ อีกครั้งใน 8 เดือนต่อมา พบว่าผลการทดสอบ IQ สอดคล้องกับสิ่งที่ครูคาดไว้จริงๆ คือเด็กที่ครูคาดว่ามีแววฉลาด ก็มีผลการทดสอบ IQ ที่สูงขึ้นกว่าเด็กที่ครูคาดว่าเป็นเด็กทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ
หลายงานวิจัยก็มองว่าเรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมทางสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจ เพราะจุดตั้งต้นที่ครูมักจะคาดหวังเชิงบวกต่อนักเรียนที่มีพื้นฐานดี และคาดหวังเชิงลบกับเด็กที่มีพื้นฐานไม่ค่อยดีนัก จนทำให้ความคาดหวังนั้นส่งผลกับตัวนักเรียนขึ้นมาจริงๆ และยังส่งผลยาวไปถึงการทำงาน การใช้ชีวิตในระยะยาว
นอกจากนี้อีกตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องของลักษณะภายนอกที่มีเสน่ห์ จากการทดสอบโดยการสัมภาษณ์แบบไม่เห็นหน้ากัน และใช้รูปปลอมขึ้นมา เมื่อผู้ชายได้พูดคุยกับผู้หญิงที่พวกเขาเชื่อว่ามีเสน่ห์ดึงดูด ผู้ชายจะปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็จะปฏิบัติอย่างเป็นมิตรเช่นกัน
ซึ่งประเด็นนี้เองที่ได้กลายเป็นต้นตอของปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ เพราะเมื่อเราไปคาดว่าคนนี้น่าจะมีลักษณะแบบนี้ตามภาพจำอย่างเหมารวม ก็จะทำให้แสดงพฤติกรรมตามที่เราคิดว่าคนแบบนี้ควรได้รับการปฏิบัติแบบไหน
แล้วทำให้เขากลายเป็นแบบนั้นจริงๆ เหมือนในอดีตที่คนขาวมองคนดำว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำกว่า ต้องเป็นทาสคนขาว ทำให้คนดำก็เข้าใจและคิดว่าตัวเองเป็นแค่ทาสจึงแสดงท่าที่ว่าตนเองคือชนชั้นที่ต้อยต่ำกว่าจริงๆ
ความคิด ความคาดหวัง เป็นเครื่องมือทรงพลังที่ชี้นำการดำเนินชีวิตของเราเป็นอย่างมาก
ไม่ว่าคุณกำลังมีเป้าหมายอยากทำอะไร ขอให้คาดหวังและตั้งเป้าให้ตัวเองสูงๆ อย่าปล่อยให้ใคร หรืออะไรมาบอกว่าเราเป็นไม่ได้ เราทำไม่ได้ เมื่อเราเชื่อมั่นในความคาดหวัง ความความหวังจะสั่งให้เราลงมือทำ จนเปลี่ยนจากความคาดหวังเป็นความจริงขึ้นมาสักวัน…
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา