25 ก.ย. 2023 เวลา 14:00 • การ์ตูน

Life D:Fine Read | นิยามชีวิตของ “นพ ธนพ” และโลกดิจิทัลของเขา

“ธนพ ตันอนุชิตติกุล”
หากจะบอกว่าชีวิตของ “ธนพ ตันอนุชิตติกุล” หรือ “(น้อง)นพ ช่อง 9 การ์ตูน” นั้นหายใจเข้า - ออกเป็นการ์ตูนที่ชื่อว่า “ดิจิทัล มอนสเตอร์” หรือที่เรา ๆ รู้จักกันในนาม “ดิจิมอน” นั้นก็คงไม่ผิดจากที่คุณคิดสักเท่าไหร่นัก เพราะ 1 ในสิ่งที่ทำให้นพนั้นเป็นที่รู้จัก 1 ในนั้นก็มาจากการเป็นตัวแทนของการ์ตูน “ดิจิมอน” ในใจเด็ก ๆ ที่เคยได้ดูรายการช่อง 9 การ์ตูนมาไม่มากก็น้อย และน่าจะเป็นศิลปิน Anisong เพียงไม่กี่คนในไทยที่สร้างปรากฏการณ์ “ล้านตลับ” มาแล้ว ในยุคที่การสร้างยอดขายล้านตลับนั้นเริ่มจะเป็นเรื่องยาก
ยิ่งในช่วงที่อีกไม่กี่เดือน(เผลอ ๆ จะไม่ถึงแล้ว) ที่ภาพยนตร์ “Digimon Adventure 02 THE BEGINNING” กำลังจะเข้าสู่โรงภาพยนตร์ในอีกไม่ช้านี้ ซึ่งนพใช้คำว่านี่เป็นครั้งแรกที่ Toei Animation ยอม “ใจอ่อน” ให้ฉาย(รอบพิเศษ)พร้อมกันกับทางญี่ปุ่น จึงไม่แปลกนักหากเขาจะนิยามชีวิตว่า “นพ ธนพ และโลกดิจิทัลของเขา”
2 ปีหลังจากการสัมภาษณ์ครั้งล่าสุดของผม และพี่นพ เกิดอะไรหลาย ๆ อย่างขึ้นในชีวิตของธนพ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน มีทายาท(ซึ่งกว่าจะมีทายาทตัวน้อยได้ ก็ลำบากอยู่พอสมควร) และยังต้องมาสูญเสียพี่นัท (ธนัท ตันอนุชิตติกุล) พี่ชายของนพด้วยวัยเพียง 38 ปี
ชีวิตในวัย 34 ปีของนพนั้น จึงมีทั้งเรื่องดี และเรื่องร้ายในเวลาเดียวกัน
ชีวิตในช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
From : Toonhirunkupt Owner
ต้องยอมรับว่านี่อาจจะเป็นคำถามที่ยังคง ‘ไม่น่าถาม’ สำหรับบางคน แต่เราเลือกที่จะถามเพราะอยากรู้เพียงแค่ว่าสภาพจิตใจในช่วงนี้เป็นอย่างไร?
ก็ดีขึ้น เพราะจะตอบว่ารู้สึกดีก็คงยังไม่ใช่ เพราะเนื่องจากเกิดเหตุการณ์ที่ค่อนข้างกะทันหันเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
นพตอบผมด้วยความรู้สึกที่ค่อนข้างจะกลาง ๆ
นพยังคงเชื่อว่าทุกสิ่งที่ได้ทำในฐานะน้องชาย และผู้รับไม้ต่อจากพี่นั้นเขาทำดีที่สุดแล้ว
“คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้ทำในฐานะน้อง และผู้ที่รับไม้ต่อจากพี่นัท ก็คิดว่าผมได้ทำทุก ๆ ทางที่ผมทำได้ดีที่สุดในฐานะน้องคนนึงแล้ว ทุก ๆ อย่างก็ต้องดำเนินต่อไปเนาะ เลยรู้สึกว่าเวลาก็ทำให้หลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่างมันดีขึ้นจากเดิม”
เกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะสูญเสียพี่นัท?
Facebook : Niruit Tananuchittikul (คุณพ่อของนพ)
จริงอยู่ที่เราไม่เคยได้ทราบถึงข่าวคราว หรืออาการป่วยของพี่นัทเลยแม้แต่น้อย น้อยครั้งมากที่ข่าวแนว ๆ นี้จะปรากฏให้เห็น และการเสียชีวิตของพี่นัทก็ช่างกะทันหันเหลือเกินจนแฟนคลับ และผู้ใหญ่ที่เคยโตมาด้วยกันไม่ทันได้เตรียมใจ และถ้าเปรียบโลกดิจิทัลเป็นโลกแห่งความฝัน การที่เราจะบอกว่าพี่นัท และน้องนพนั้นเป็นเด็กผู้ถูกเลือกจากโลกดิจิทัลให้ลงมาใช้ชีวิต และเติมเต็มความสดใสให้กับโลกมนุษย์ก็คงไม่ผิดนัก
เป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างกะทันหันเนาะ เราก็พยายามจะให้ทุก ๆ คนเข้าใจเคสของพี่นัท และตระหนักถึงความอันตรายของโรคหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน เพราะด้วยความที่พี่นัทอาจจะไม่ได้ทราบว่าถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็สามารถทำให้เสียชีวิตได้เลย (หรือที่ใช้กันบ่อย ๆ ว่า ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’) คือคิดว่าไม่เป็นไร แล้วก็ใช้ยาพ่นอะไรตรงนี้ได้เอง ก็ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น - นพว่า
อยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่ามันเป็นโรคที่รักษาได้นะ ถ้าเราตระหนักถึงมัน อะไรที่มันไม่แน่ใจก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
การที่พี่นัทเป็นคนที่รักการทำงานมาก ตรงนี้มีผลด้วยหรือเปล่า? - เราคิด
“ก็เป็นส่วนหนึ่งแหละเนาะ พี่นัทเองก็อาจจะไม่ได้เป็นหอบหืดมาตั้งแต่เด็กนะครับ ก็สันนิษฐานว่ามาเป็นช่วงหลังที่ตอนนั้นเขาติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 แล้วเชื้อลงปอด ก็คิดว่าน่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจ” เขากล่าวถึงปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่นัทต้องกลับโลกดิจิทัลก่อนกำหนด
“พี่นัทเองก็อาจจะคิดว่าไม่เป็นไร แล้วก็ซื้อยามาพ่นเอง รักษาเองได้ มันก็ดูไม่ได้มีอะไรมาก ก็อยากให้เข้าใจว่าถ้ามีปัญหาทางเดินหายใจต่าง ๆ ก็ควรจะรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะการใช้ยาพ่นมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราก็มาทราบ ณ วันที่เกิดเหตุว่าก็มีส่วนที่เป็นไปได้” นพเองก็กล่าวในฐานะที่เขาก็เพิ่งรู้สาเหตุ
ความผูกพันที่มีกับพี่นัท?
From : Sanook.com
ในมุมของครอบครัวผมที่ร่วมก่อตั้งช่วงเวลาช่อง 9 การ์ตูนมา ย้อนไปตั้งแต่รุ่นคุณอา จนมาถึงยุคที่ผมกับพี่นัทได้เป็นพิธีกร 2 พี่น้อง เป็นพี่ชายคนเดียวของผม นอกจากพี่น้อง ก็ได้เป็นเพื่อนร่วมงานกัน ในฐานะพี่ ในฐานะที่พี่นัทเป็น CEO และผมก็เป็นประธานกรรมการบริหาร ก็คิดว่ามีโอกาสได้ร่วมงานกับพี่นัทในหลาย ๆ เหตุการณ์ ใช้คำว่าเราโตมาด้วยกันเลยดีกว่า น่าจะเหมาะที่สุดแล้ว
เราผ่านมาทุกเหตุการณ์ด้วยกัน ด้วยวัยที่ห่างกันประมาณ 5 ปี พี่นัทก็เป็นเหมือนพี่ที่ดูแลผมตอนที่เป็นเด็ก จนเราต่างคนก็เติบโตมาเป็นพิธีกร มาเป็นนักธุรกิจ แล้วก็เปลี่ยนมาทำงานเบื้องหลัง ก็คิดว่าผมมีเขาอยู่ในแทบจะทุกช่วงเวลาของชีวิตผมครับ
แล้วเกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากที่พี่นัทเสียชีวิต?
“คือตอนแรกองค์กรของเราก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรก็คือผมจะดูด้านการซื้อคอนเทนต์เข้ามาในนาม บจก.เอฟฟ์ ส่วนคุณนัทจะดูด้านแผนงานการตลาดต่าง ๆ ดูแลงานของลูกค้า ก็จะเป็น CEO กันคนละบริษัท ซึ่งเราได้มีการปรับองค์กรของเราก่อนที่จะเกิดเหตุแล้ว” นพกล่าว
ก็คือพี่นัททำบริษัทนึง พี่นพทำอีกบริษัทนึง? - เราคิด
“ใช่ครับ” เพื่อการคล่องตัวในการบริหารแต่ละด้าน ตอนแรกก็มีการปรับในโครงสร้างขององค์กรตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว(2565)ครับ ตอนนั้นเนี่ยผมก็เป็น CEO ของ บจก.เอฟฟ์ ที่ซื้อและดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูน รวมถึงดูแลช่องการ์ตูนคลับ ส่วนคุณนัทก็เป็น CEO บจก.การ์ตูน คลับ มีเดีย ดูแลในส่วนของงานโปรโมต งาน Sponsorship ต่าง ๆ ของลูกค้า
พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น ผมก็มา Assume ตำแหน่ง CEO ของการ์ตูนคลับมีเดียด้วย รวมถึงมีการโปรโมตภายในของทีมงาน มาดูแลในส่วนการตลาด เป็น Chief Marketing Officer (CMO) เพิ่มเติมด้วย
ชีวิตในวัยเด็ก และจุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นพิธีกรของ(น้อง)นพ?
From : eff.co.th (เว็บไซต์เก่าของ บจก.เอฟฟ์)
ครอบครัวของนัท และนพล้วนแต่คลุกคลีมากับวงการการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ความเชี่ยวชาญที่ครอบครัวเขามี คือการเป็นเอเจนซี่โฆษณาที่เชี่ยวชาญถึงการดูแลลูกค้าที่อยู่ในวงการขนมเด็ก(โดยเฉพาะเครือยูโร่) และครอบครัวของเขาก็เป็นผู้ร่วมบุกเบิกช่วงเวลาแอนิเมชั่นที่เป็น Top Of Mind ของเด็กยุคนั้น
ความเชี่ยวชาญในวงการการ์ตูนนั้นยิ่งทำให้เขาหลงรักวงการนี้
ต้องย้อนไปช่วงเกือบจะ 25 ปีก่อนเลย ณ เวลานั้นทีวีมี 4 ช่อง (ที่สามารถสร้างรายได้จากการโฆษณาได้) 3/5/7/9 ตอนนั้นช่วงเวลาการ์ตูนญี่ปุ่นที่คลาสสิก และริเริ่มมาก็เป็น ‘ช่อง 9 การ์ตูน’ แหละที่ได้รับความนิยมสูงสุด ที่รุ่นคุณพ่อและคุณอาผมได้ร่วมก่อตั้งกับทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. แล้วก็ได้ร่วมกับนักพากย์ระดับตำนานอย่างน้าต๋อย (นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์) ที่ดูแลงานพากย์ งานโปรโมตต่าง ๆ ด้วย หลาย ๆ เรื่อง รวมถึงนักพากย์ระดับอาวุโสหลาย ๆ ท่าน
ณ ตอนนั้น ทางช่อง 9 และเอฟฟ์ก็มองหาเด็กที่อยู่ในวัยที่ดูการ์ตูน มาเป็นเหมือนภาพนำเสนอของ 2 พี่น้องที่ดูการ์ตูนกัน ก็มีเคสแบบ แล้วทำไมนัทกับนพเขาก็อยู่ในวัยที่ดูการ์ตูนนะ เป็นพี่น้อง 2 คนที่อินกับการ์ตูน โตมากับการ์ตูนอยู่แล้วเนี่ย น่าจะเหมาะกับการเป็นพิธีกรที่นำเสนอในสิ่ง ๆ นี้ ก็ได้มีโอกาสมาแคสต์กับทาง อ.ส.ม.ท. แล้วผมกับคุณนัทก็ทำผลงานได้ค่อนข้างดี ก็เป็นเด็กที่ไม่ได้อายหน้ากล้อง บางทีก็จะมีเคสนั้นบ้าง แต่ผมกับคุณนัทก็ทำได้ดี ก็เลยเริ่มต้นบทบาทในการเป็นพิธีกรช่อง 9 การ์ตูน - นพกล่าว
แล้วตอนที่ออกกล้องครั้งแรกเราตื่นเต้นไหม? - เราถาม
จำได้คลับคล้ายคลับคลานะ แต่เชื่อว่าตื่นเต้น ตื่นเต้นมาก ๆ อยู่แล้ว เพราะจำได้ว่าเทปแรกเนี่ยถ่ายนานมากกว่าจะทำตัวเองให้เป็นธรรมชาติต่อหน้ากล้องมากที่สุด แน่นอนว่าวันที่เรามาเทสหน้ากล้อง เหมือนเวลาเราลงสนามซ้อม กับวันที่ถ่ายทำจริงมันต่างกันแหละ
แต่ก็ต้องขอบคุณผู้กำกับหลาย ๆ ท่าน และขอบคุณทีมงานหลาย ๆ ท่านที่ช่วยซัพพอร์ตกันอย่างเต็มที่ จากเทปแรก ๆ ที่มีความตื่นกล้องเป็นธรรมดา ก็พัฒนามาเรื่อย ๆ จนคุ้นเคยชิน แล้วก็สามารถนำเสนอบทบาทของสองพี่น้องที่นำเสนอวัยที่รับชมการ์ตูนออกมาได้ดีครับผม
เหนื่อยไหมกับการที่เราต้องเรียนไป และทำงานไป?
“ยอมรับครับว่าเหนื่อยกว่าปกติแน่นอน” มีความคิดที่คิดว่าแบบทำไมเราต้องทำในสิ่ง ๆ นี้ไหม ยอมรับว่ามันมีโมเมนต์ที่ฉุกคิดเล็กน้อยว่าเราเหนื่อยกว่าคนอื่น - นพกล่าว
แต่อันนี้ก็ต้องให้เครดิตทั้งคุณพ่อและคุณอาที่บอกว่าสิ่งที่เราทำในอนาคต นอกจากจะทำให้เราได้มีบทบาทในการหารายได้ตั้งแต่เด็กแล้วเนี่ย ในสิ่ง ๆ นี้จะทำให้เราเข้าใจในบทบาทของเบื้องหน้า และในอนาคตที่เรา 2 พี่น้องจะมาทำในส่วนของเบื้องหลังเนี่ยจะทำให้เราทำเบื้องหลังได้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่ง ได้เข้าใจใน Background อะไรต่าง ๆ และจะทำสิ่ง ๆ นี้ได้ดีขึ้น
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน(ณ วันที่สัมภาษณ์) ผมอายุ 34 ปี แต่ผมเป็นคนอายุ 34 ที่มีประสบการณ์การทำงานมา 25 ปีละ ได้เริ่มประสบการณ์ทำงานเร็ว ได้สร้างสรรค์ประสบการณ์อะไรต่าง ๆ ให้เราได้เร็ว ยิ่งเป็นโอกาส และต้องขอบคุณที่ได้มีโอกาสทำสิ่ง ๆ นี้ ได้ริเริ่มการทำงานจริงในวัยที่เด็ก ก็ทำให้เราได้มีประสบการณ์เตรียมพร้อมให้เราเข้ามาในวงการเบื้องหลัง และบริหารลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้นในอนาคต
ซึ่งที่เห็นได้ชัดเลยในปัจจุบัน ยกตัวอย่างดิจิมอน ผมก็คลุกคลีกับดิจิมอนมาเกือบจะ 25 ปีละ ตั้งแต่วันที่เราเป็นพิธีกร ตั้งแต่ดิจิมอนเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก สิ่ง ๆ นี้ทำให้เราได้เข้าใจถ่องแท้ถึงความเป็นแฟนของดิจิมอนคนนึงที่เติบโตกับสิ่ง ๆ นี้มา และได้นำเสนอสิ่ง ๆ นี้ในรูปแบบของคนไทย แล้ววันที่ได้มาทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ณ วันนั้นผมเองก็ไม่มีประสบการณ์ในการทำภาพยนตร์เลยครับ แต่ประสบการณ์ที่ผมสั่งสมมา 20 กว่าปีเนี่ยครับ ก็ทำให้เราได้ทำโปรเจ็กต์นี้ออกมาสำเร็จได้ด้วยดี
แล้วก็ได้รับความไว้วางใจในการมาทำภาค 2 ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ในการเข้าฉายในประเทศไทยเช่นกัน รวมถึงได้รับความไว้วางใจจาก Toei ให้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของค่าย Toei Animation เลยที่ได้ฉายพร้อมกับประเทศญี่ปุ่นครับผม ก็คิดว่ามันคือสิ่งที่ผมพิสูจน์มาตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีตลอดการทำงานมาทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังครับผม
ปกติเวลาหนังกลางแปลงเขามี “หนังขายยา” ที่เวลาฉายไปได้สักพักนึงจะตัดเข้าโฆษณายา ถ้าเป็นช่อง 9 การ์ตูนก็มี “การ์ตูนขายขนมเด็ก” ใช่ไหมฮะ? - ผมคิด
คือขนมมองว่าผู้ชมส่วนใหญ่ของการ์ตูน ก็แน่นอน เป็นเด็กและเยาวชนเนาะ สินค้าที่จะมาโปรโมตในรายการส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าที่เหมาะกับกลุ่มผู้ชมนะครับผม
ซึ่งแน่นอน ตอนแรกคนก็มีคำถามมาว่า ‘แล้วการ์ตูนมอมเมาเยาวชนหรือเปล่า?’
แต่สิ่งนี้เราก็พิสูจน์เรียบร้อยแล้ว สินค้า สปอนเซอร์เราต่าง ๆ แน่นอนว่าต้องผ่านกระบวนการโฆษณาอาหาร ผ่าน Censorship อย. ต่าง ๆ อย่างเช่นสินค้าที่เป็นผู้สนับสนุนเรามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคที่เราเริ่มต้นมาทำช่อง 9 การ์ตูนร่วมกันเลย อย่างเช่นสินค้าเครือ บมจ.ยูโรเปี้ยนฟู้ด ยกตัวอย่างปีโป้, ปักกิ่ง, ยูโร่เค้ก สินค้าเหล่านี้เราโตมาเป็นผู้ใหญ่ ก็เป็นสินค้าที่เราบริโภคกันจนเคยชิน ก็ต้องขอบคุณลูกค้าเหล่านี้นะครับ ที่ร่วมสนับสนุนกันมาตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งจนถึงยุคปัจจุบันมาอย่างยาวนานครับผม
จุดเริ่มต้นของช่อง 9 การ์ตูน ที่อื่นเขาถามบ่อยแล้ว อยากถามที่มาของ “ไอทีวี การ์ตูนคลับ” เพราะไม่เคยมีใครเล่าถึงที่มาเลย ซึ่งในตอนนั้นไอทีวีถือว่าเป็นช่องที่ค่อนข้างใหม่มาก?
Facebook : Nat Tanat Tananuchittikul Fc
ตอนนั้นทางไอทีวีก็มีนโยบายจะขยายช่วงเวลาการ์ตูนเพิ่มเติมขึ้น ประกอบกับการที่ตอนนั้น ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ก็มีนโยบายที่จะทำช่วงเวลาของการ์ตูนโดยการคัดหาเนื้อหาการ์ตูนเองมากขึ้นด้วย เราก็เลยมีนโยบายที่ ณ ตอนนั้นไปร่วมมือกับไอทีวี ในการบริหารช่วงเวลา 8 โมงถึง 10 โมงตอนนั้นที่เราไปเริ่มไอทีวีการ์ตูนคลับครับผม
แล้วที่มาของการทำเป็นช่องการ์ตูนคลับ?
Facebook : Au Acl
ก็ถ้าจะย้อนไปจริง ๆ อันนี้อาจทำการบ้านมาให้เพิ่มเติมก่อนคือ ยุคที่เราเริ่มก่อตั้งช่องการ์ตูนคลับจริง ๆ คือยุคที่ตอนนั้นผมไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็เลยจะเป็นยุคที่คุณพ่อ คุณอา ทีมงานต่าง ๆ รวมถึงพี่นัทที่อยู่ที่ไทยได้ริเริ่มมา
ซึ่งต้องย้อนไปว่าช่วงเวลานั้นมันคือยุคเปลี่ยนถ่ายจาก Analog มา Digital Satellite ก่อนที่ดิจิทัลทีวีจะเกิดขึ้นเนี่ยครับ โทรทัศน์ดาวเทียมเป็นระบบดิจิทัลอยู่แล้ว มันเป็นยุคบูมของโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่ง ณ ตอนนั้น หลาย ๆ ช่องรายการ หลาย ๆ คอนเทนต์ จากที่ช่องทีวีที่สร้างรายได้จากการโฆษณาได้มีจำกัด ณ ตอนนั้นก็ 5 ช่องเนาะ 3/5/7/9/itv
ย้อนไปช่วงเวลาเมื่อ 15 ปีก่อนเนี่ยอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (internet penetration) ในไทยยังไม่ได้มากขนาดนั้น น่าจะหลักไม่กี่สิบเปอร์เซ็นต์ แล้วการเสพข่าว ความไวของอินเทอร์เน็ต ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเราสามารถมีแอปพลิเคชันดูทีวีผ่านมือถือ ผ่านแท็บเล็ตอะไรต่าง ๆ ได้
ยุคนั้นเนี่ยเทคโนโลยีที่เติบโตมาเร็วที่สุด ณ ตอนนั้นก็คือการรับชมเนื้อหารายการต่าง ๆ ผ่านช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และ/หรือเคเบิลทีวี รวมถึงยุคที่ต้องเรียกว่ายุคบูมของ Cable/Satellite TV ซึ่งการ์ตูนคลับเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่มีคอนเทนต์เนื้อหาการ์ตูนค่อนข้างเยอะ ก็เป็นจุดที่ทำให้เราได้ริเริ่มการทำช่องการ์ตูนคลับ ซึ่งชื่อการ์ตูนคลับก็มาจากช่วงเวลาสล็อตไอทีวีการ์ตูนคลับที่เราก่อตั้งมาในตอนนั้น
มันจะมีช่วงเปลี่ยนผ่านมาเป็นทีไอทีวีการ์ตูนคลับ และรายการหยุดทำไปก่อนช่อง TITV หยุดออกอากาศไป 2 สัปดาห์? - เราถาม
ก็มาเป็นทีไอทีวีการ์ตูนคลับอยู่พักนึง แล้วสักพักนึงก่อนเป็นไทยพีบีเอส แต่ว่านโยบายของไทยพีบีเอสกับเราอาจจะไม่ได้ตรงโจทย์กัน ซึ่งส่วนตัวผมไม่ได้มีปัญหาใด ๆ เลย แต่นโยบายทีวีสาธารณะ(ซึ่งไทยพีบีเอสไม่สามารถมีโฆษณาได้) แต่ว่านโยบายของการ์ตูนคลับ เราทำธุรกิจโดยการให้รับชมฟรี และหารายได้ผ่านการโฆษณาเชิงพาณิชย์ ทำให้ตอนนั้นเราอาจจะไม่ได้ไปต่อด้วยโมเดลทางธุรกิจครับผม
ช่วงที่หายหน้าหายตาไปจากหน้าจอทีวี อันนี้เนี่ยมีอะไรที่อยากเล่าบ้าง?
Facebook : Nop Tananuchittikul
ก็เป็นเวลาประมาณ 5 ปีที่ผมไปเรียนต่อต่างประเทศ เวลาเราไปโฟกัสอะไรสักอย่าง ผมก็อยากจะทำส่วนนั้นให้ดีที่สุดเนอะ ช่วงนั้น คือช่วงที่ผมอาจจะเฟดตัวจากการทำงานไปโฟกัสการเรียนอย่างเต็มที่
ก็คิดว่าทุก ๆ นาที ทุก ๆ เวลา เราพยายามจะใช้เวลาให้มีค่ามากที่สุด
การเรียนปริญญาตรีที่อเมริกา ปกติจะใช้เวลาเรียนประมาณ 4 ปี ผมก็เรียนจบภายในเวลา 3 ปี รวมถึงปริญญาโทที่สนใจทั้งในด้านบริหารและการตลาด ทำให้ผมไปเลือกเรียนปริญญาโท 2 ใบ ใบละ 1 ปีที่ columbia business school ที่นิวยอร์ก แล้วก็ london business school ที่ลอนดอนอีกใบละปี ทำให้ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปีในการไปศึกษาต่อ ก็ได้เรียนรู้เนื้อหาที่ถือว่าเชิงลึกประมาณนึง ตลอดเวลา 5 ปีใน 3 เมือง ก็จะมีอิลลินอยส์ นิวยอร์ก แล้วก็ลอนดอน
แล้วงานแรกที่ทำหลังจากกลับมาไทย?
“ก็กลับมาที่องค์กรของเราเลย” ตำแหน่งแรกก็คือดูด้าน Business Planning ก็ได้นำความรู้ที่เรียนมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางผังรายการต่าง ๆ, การบริหารผังรายการ รวมถึงเนื้อหาต่าง ๆ ก็มาเริ่มต้นในตำแหน่ง Business Planning ในการ์ตูนคลับนี่แหละครับ
ก่อนที่จะมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาเป็น Executive Director และล่าสุดก็รับตำแหน่ง CEO ซึ่งรับไม้ต่อจากรุ่นคุณพ่อ คุณอา และพี่นัทครับ
มันจะมีช่วงนึงที่มีคอร์สพากย์ 2 คอร์ส คอร์สนึงคือ Cartoon Club Academy อีกคอร์สนึงคือ Jumper Talent (ของพี่นัท) เรามีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า?
ก่อนที่พี่นัทจะกลับโลกดิจิทัลไป แฟนคลับการ์ตูนคลับบางคนอาจจะงงงวยถึง “Jumper Talent” หลักสูตรนักพากย์ที่บริษัทส่วนตัวของนัทร่วมทำกับพาร์ทเนอร์อีกคน ซึ่งทำให้แฟนคลับที่ติดตาม และรอคอยหลักสูตร Cartoon Club Academy นั้นงงตาแตก
ด้วยราคาที่ถูกกว่าหลักสูตรของ Cartoon Club ก็อาจจะทำให้คนลังเลได้
นพตอบกับผมว่า “ ก็เป็นยูนิตที่คุณนัทร่วมกับพาร์ทเนอร์เขาอีกยูนิตนึง ซึ่งตอนนั้นคอร์สของ Cartoon Club Academy เนี่ยก็เป็นคุณนัทที่ดูแลตรงนี้อยู่แล้ว อาจจะเป็นอีกคอร์สนึง ที่เขาร่วมกับอีกพาร์ทเนอร์นึง แต่ทุกวันนี้ในส่วนของเราก็มาดูแลในการรับไม้ต่อ Cartoon Club Academy ครับผม”
ที่ผ่านมาการ์ตูนคลับเป็นค่ายที่จริงจังมากกับเรื่องของ “หายนะเว็บเถื่อน” จนมีวลีว่า “ดูลิงก์เถื่อน = สนับสนุนโจร” อยากให้เล่าถึงปัญหานี้หน่อย?
ภาพจากงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566
ณ ตอนนี้มองว่าการทำงานของทีมเบื้องหลังต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมงานพากย์, ทีมงานลิขสิทธิ์ที่ดูแลเพื่อพัฒนาวงการนะ เราคิดว่าเราพยายามจะดันวงการของเราให้ไปสู่แถวหน้า ยกตัวอย่างงานพากย์ Simulcast หรือว่างานทำซับ Simulcast เราเห็นกันหลาย ๆ งานละ ก็คือออกพร้อมญี่ปุ่นเลย มีซับไทยให้รับชม ซึ่งเชื่อว่าไม่แพ้ลิงก์เถื่อนละ หรืองานพากย์ซึ่งเราก็พากย์กันหลักสัปดาห์ หลาย ๆ เรื่องอาจจะดีเลย์กว่าญี่ปุ่นแค่หลักวัน ซึ่งวงการของเราได้ปรับตัวให้มาทันกับความต้องการของผู้รับชมอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
คือพอทุกฝ่ายพยายามจะดันวงการออกไปให้ดีที่สุด แต่เจอปัญหาลิงก์เถื่อนที่นับวันผมมองว่าหนักขึ้นตรงที่ว่ามันเกิดปรากฏการณ์ ‘เถื่อนในแท้’ ขึ้น
ซึ่งสิ่ง ๆ นี้ผมรู้สึกว่าแบบทำไมเราในแอปแท้ต้องมาผจญกับเคสที่มีผู้ที่วางตัวเองเป็นผู้ประกอบการลิขสิทธิ์ แต่ดันตั้งใจปล่อยปละละเลยให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นหละ ซึ่ง ณ ตอนนี้ ทางสำนักงานทนายความที่เป็น Partner ทาง Avanta & Co ก็ได้ดำเนินการตรงนี้เรียบร้อยแล้ว
มันถึงจุดที่เราพยายามจะรณรงค์มาโดยตลอด แต่วันนี้คำว่ารณรงค์ก็ไม่เพียงพอแล้ว ทำให้เราเริ่มดำเนินการทางด้านกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
อย่างที่บอกครับ การดำเนินการในด้านกฎหมายมันไม่ใช่เรื่องที่เร็วหรอก 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์คงยังไม่จบ จากแถลงการณ์มายังแค่ประมาณ 2 เดือนเอง น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักพักนึง แต่ผมไม่ได้นิ่งนอนใจ รวมถึงพาร์ทเนอร์เราได้กระบวนการในส่วนนี้ไปเรียบร้อยแล้วครับ ก็คิดว่าน่าจะเป็นเคสที่นอกจากรณรงค์แล้วเนี่ย เราได้ดำเนินการด้านกฎหมายควบคู่ไปด้วยกัน นพกล่าว
ที่นพนิยามไว้ว่า “นพ ธนพ และโลกดิจิทัลของเขา” เราก็อยากให้เล่าถึงความผูกพันกับ “ดิจิมอน”
Froom : Toonhirunkupt Owner
ความผูกพันของนพ และดิจิมอนนั้นอยู่ในระดับที่สามารถเรียกได้ว่า “โตมาด้วยกัน” เหมือนพี่น้องในครอบครัว
ดิจิมอน(หรือชื่อเต็ม ๆ คือ ‘ดิจิทัล มอนสเตอร์’) ที่หลาย ๆ คนโตมาด้วยกัน ณ ปัจจุบัน ผมชอบคำ ๆ นี้
เนื่องจากว่าวันที่ผมกลับมาทำงานปีแรก ๆ เมื่อปี 2013 (2556) ก็ 10 ปีละที่กลับมาจากการศึกษาต่อที่ต่างประเทศ ปีถัดมาก็มีการประมูลดิจิทัลทีวี นอกจากดิจิทัลทีวีแล้วมันก็มี Digital Wave ครั้งใหญ่ที่เข้ามาในการพัฒนาสื่อออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ เราเข้าสู่ยุค 3G, 4G, 5G มาถึงยุคที่เรารับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่านทางดิจิทัลละ ผมรู้สึกว่าผมได้เติบโตมาในยุคทำคอนเทนต์
“คอนเทนต์ที่ดังที่สุดของผมก็คือดิจิมอน” ก็คือนิยามของคำว่า “Digital World” รวมถึงวันที่กลับมาทำงาน Full Time ก็เป็นยุคเริ่มต้นของทั้งดิจิทัลทีวี และมี Digital Wave Economy ครั้งใหญ่เกิดขึ้น เลยรู้สึก ๆ ว่าคำ ๆ นี้มันเหมาะกับนิยามของผมมากที่สุด ก็คือโลกดิจิทัลในมุมของธุรกิจ และโลกดิจิทัลในมุมของคอนเทนต์ซึ่งคอนเทนต์ที่ผมผูกพันที่สุดก็คือดิจิมอนครับ
มี Anisong เพลงไหนที่เราชื่นชอบมากที่สุดบ้าง?
ผมว่าคุณการ์ตูนเดาได้อยู่แล้วแหละ(หัวเราะเล็กน้อย)
เพราะยังไงผมก็ต้องให้เพลง Butterfly ของคุณ Kouji Wada หรือว่า “ปีกรัก” ที่ผมกับคุณนัทได้มีโอกาสนำเสนอ เป็นเพลงที่ผูกพันมากที่สุด เพราะเพลงนี้คือจุดเริ่มต้นตำนาน “ล้านตลับ” ในกลุ่มเพลง Anisong และตำนานดิจิมอนในประเทศไทย
และก็ขออุทิศเพลงนี้ให้กับทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วม อย่างคุณ Kouji Wada(หรือว่า ‘ป๋าวาดะ’ ที่แฟนดิจิมอนเรียกกัน) ซึ่งท่านเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ท่านได้เปิดตำนานในนามเพลง Original ฉบับภาษาญี่ปุ่น, ผู้ประพันธ์ อาจารย์เสกสรร สอนอิ่มสาตร์ ที่ประพันธ์เนื้อเพลงในรูปแบบภาษาไทย ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงพี่นัทอีกคนนึง
ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเราบางทีมันก็สั้นกว่าที่เราคิดในหลาย ๆ เหตุการณ์ ป๋าวาดะแกก็เสียในวัยที่ไม่ได้มากเลย คุณลุงเสกสรรอาจจะเป็นวัยชราก็จริง แต่แกก็ได้สร้างตำนานต่าง ๆ มากมาย รวมถึงผลงานของทางการ์ตูนคลับมีเดียด้วย น่าจะเป็นผลงานสุดท้ายของแกเลยตอนที่ท่านแต่งเพลงไอทีวีการ์ตูนคลับ รู้สึกว่าเรามีความผูกพันกับเพลงนี้ ในมุมที่ได้สร้างตำนานด้วย และในมุมที่อยากอุทิศให้ทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในการสร้างตำนานในครั้งนี้ครับ
ถ้าต้องร้องเพลงสักเพลงนึง(ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น Anisong) จะเป็นเพลงอะไร?
ถ้าเพลงแรกก็คงเป็น “ปีกรัก” แต่ถ้าวันนี้ เพลงที่น่าจะรู้สึกผูกพันอีกเพลงนึง อีกคำนึงที่นิยาม ถ้าพูดถึงดิจิมอน แอดเวนเจอร์ ซีโร่ทู คำว่า “ออกอาวุธ” ผมเชื่อว่าแฟน ๆ คนไทยทุกคนรู้จัก คือคำที่ถ้าไปถามคนญี่ปุ่น “Break Up!” คือคำที่เขาใช้หมายถึงคำว่า “ออกอาวุธ”มันมีความหมายที่ต่างกัน
แล้วก็ต้องขอบคุณคุณลุงเสกสรร ที่ช่วยบัญญัติคำ ๆ นี้ขึ้นมา อีกเพลง ๆ นึง ยิ่งนับจากวันที่ออกอากาศ อีกไม่ถึงเดือนก็จะเป็นวันฉาย Digimon Adventure 02 THE BEGINNING ความรู้สึกผูกพันกับเพลงนี้มันยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ กับเพลงออกอาวุธครับ - ธนพกล่าวไว้
ยิ่งมาก ยิ่งผูกพัน? - สิ่งที่เราคิด
ใช่ครับ คือยังไงเพลงไม่ว่าจะเป็นปาร์ตี้การ์ตูนดังหรือว่าชุดดิจิมอนผูกพันกับผมอยู่แล้วแหละ แต่ถ้าเราได้มีเวลาย้อนวันวานไป ยิ่งวันที่อัดผมก็เพิ่งประกาศว่าเรากำลังเคาท์ดาวน์ไปอีก 3 เดือน ถ้าวันที่ออกอากาศก็ประมาณเดือนนึง เรารู้สึกว่าช่วงนี้แทบจะทุก ๆ วัน มีเรื่องราว มีโปรเจ็กต์ให้ทำเกี่ยวกับดิจิมอน รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่ผูกพันกับผมและทุ่มเทกับสิ่ง ๆ นี้มากที่สุดในช่วงนี้ครับ
โฆษณา