19 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

Blue blood เลือดแห่งขัตติยา

เมื่อกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากจะหมายถึง “ชนวนเหตุ” ทางการเมืองระหว่างคนที่มีความเห็นต่างกัน หรือ “แบบแผน” ราชประเพณีต่าง ๆ แล้ว ยังหมายถึง “สัญญะ” ที่เมื่อกล่าวออกไปแล้ว รู้ได้ทันทีว่านี่คือพระมหากษัตริย์ เช่น สมมติเทพ โอรสแห่งสวรรค์ รวมถึง “เลือดสีน้ำเงิน”
เลือดสีน้ำเงิน หรือ Blue Blood ในภาษาอังกฤษ เป็นศัพท์ที่มีรากฐานมาจากภาษาสเปน คือ Sangre azul ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 สันนิษฐานว่าเป็นสำนวนที่ใช้เรียกลุ่มคนที่มีผิวขาว บอบบาง จนเห็นเส้นเลือดดำที่สะท้อนผ่านผิวหนังออกมาดูคล้ายกับสีน้ำเงิน เริ่มต้นจากตระกูลที่ร่ำรวยและทรงอำนาจแห่งแคว้นกัสติยา ที่อ้างตนว่าเป็นเชื้อสายอันบริสุทธิ์ ต่างจากพวกแอฟริกาและอาหรับที่มีผิวสีเข้ม
ในเอกสารภาษาอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1811 (พ.ศ. 2354) ระบุว่า ได้มีการแบ่งชั้นของชาวบาเลนเซีย (ชาวสเปน) ออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย เลือดเหลือง เลือดแดง และเลือดน้ำเงิน ซึ่งเลือดน้ำเงิน “จำกัดเฉพาะครอบครัวที่ถูกทำให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้น” แล้วยังมีรายงานอีกว่า ในช่วงศตวรรษที่ 9 ได้มีการใช้แนวคิดเลือดสีน้ำเงินนั้น เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างขุนนาง ทหารชาวสเปน กับศัตรูชาวมัวร์ที่มีผิวสีเข้ม
(ภาพ: History Extra)
นับแต่นั้นมา เลือดสีน้ำเงิน จึงกลายเป็นสัญญะที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้นสูงและชนชั้นล่างทั่วทั้งยุโรป นอกจากยุโรปแล้ว ทางฟากฝั่งสหรัฐอเมริกา ได้มีการนำแนวคิดดังกล่าวไปใช้อ้างถึงความเป็นชนชั้นสูง อภิสิทธิ์ชน หรือความสูงส่งในตัวของพวกเขาเอง
หากพิจารณาจากคำว่า “เลือดสีน้ำเงิน” ที่นอกจากจะหมายถึง ความเป็นชนชั้นสูงหรือเชื้อพระวงศ์แล้ว ยังสามารถสื่อได้ถึงความเป็น “เลือดบริสุทธิ์”
เหตุใดจึงเป็นเลือดบริสุทธิ์!? เพราะชนกลุ่มนี้ มักมีการสืบสายโลหิตผ่านการแต่งงานกับกลุ่มที่มีความเป็นเลือดบริสุทธิ์ด้วยกัน การที่ในแต่ละราชวงศ์จะดำรงความบริสุทธิ์ ความมั่นคงของบ้านเมืองและราชบัลลังก์ได้นั้น “การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์” จึงถือเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งของระบอบราชาธิปไตย ในการรักษาผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงการรักษามิตรไมตรีผ่านสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ
การแผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั้งในและนอกประเทศ และการมีสิทธิ์ในอำนาจการปกครองของแต่ละดินแดนที่ครอบครองอยู่ แนวคิดนี้แพร่หลายอย่างมากในยุโรป ตั้งแต่ช่วงยุคกลาง (หรือไกลสุดตั้งแต่ยุคสำริด จากหลักฐานเท่าที่มีการสอบค้นย้อนหลังได้)
สำหรับการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ มองผิวเผินแล้ว เหมือนจะไม่มีอะไรที่เชื่อมโยงกัน แต่หากได้มีการสืบสายไล่เรียงและสังเกตดูดี ๆ แล้ว จะพบว่า ส่วนใหญ่ต่างฝ่ายต่างเป็นพระญาติกัน แต่จะใกล้หรือห่างไกลกันก็อีกเป็นเรื่องหนึ่ง แล้วแต่กรณีไป
เช่น ในกรณีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น “เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ” ซึ่งทรงอภิเษกสมรสกับเรือเอก เซอร์ฟิลิป เมานต์แบตเทน ที่เดิมเป็นเจ้าชายแห่งกรีซและเดนมาร์ก และต่อมาเป็น “เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ” ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) นั้น เมื่อได้มาสืบสายไล่เรียงไปถึงสายพระโลหิตของแต่ละพระองค์ดูแล้วจะพบว่า
พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ ระหว่างสมาชิกพระราชวงศ์วินเซอร์ กับราชวงศ์อื่น ๆ ของทวีปยุโรป หลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ กับเรือเอก เซอร์ฟิลิป เมานต์แบตเทน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) (ภาพ: Tatler)
  • สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 กับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ
  • สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 กับสมเด็จพระราชินีแมรี่
  • สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 กับสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดรา
  • สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย กับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี
ในขณะที่เจ้าชายฟิลิป
  • ทรงเป็นพระโอรสในเจ้าชายแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก กับเจ้าหญิงอลิซ เจ้าหญิงแอนดรูว์แห่งกรีซและเดนมาร์ก
  • เจ้าหญิงอลิซ ทรงเป็นพระธิดาในเจ้าชายลูทวิชแห่งบัทเทินแบร์ค กับเจ้าหญิงวิกตอเรีย เมานต์แบตเทน มาร์เชอเนสแห่งมิลด์ฟอร์ดเฮเวน
  • เจ้าหญิงวิกตอเรีย ทรงเป็นพระธิดาในลูทวิชที่ 4 แกรนด์ดยุคแห่งเฮสส์และริมไรน์ กับเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร
  • เจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย กับเจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี
ราชสกุลวงศ์ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร กับเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ
เท่ากับว่า ทั้งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กับเจ้าชายฟิลิป ทรงเป็น “พระญาติ” กัน และยังเป็นพระราชวงศ์ที่ทรงสืบสายพระโลหิตมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงมีพระราชโอรสธิดาถึง 9 พระองค์ด้วยกัน โดย 2 ใน 9 พระองค์นั้นก็มีสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ผู้เป็นสมเด็จพระปัยกา (ปู่ทวด) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงอลิซแห่งสหราชอาณาจักร ผู้เป็นพระมาตามหัยกา (ยายทวด) ของเจ้าชายฟิลิป รวมอยู่ด้วย
นอกจากการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์แล้ว ก็ยังมีการเสกสมรสภายในราชวงศ์ ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยครั้ง ดังจะเห็นได้จากกรณีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระมเหสีเทวี ตลอดจนพระภรรยาเจ้าส่วนหนึ่ง มีศักดิ์เป็นพระขนิษฐา (น้องสาว) เช่น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นต้น
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ภาพ: มติชนออนไลน์)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่แน่ชัดว่าได้มีการรับเอาแนวคิดเลือดสีน้ำเงินมาใช้ในราชสำนักสยามช่วงใดหรือไม่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติอย่างมาก ในการที่มนุษย์ทั้งหลายต่างคิดว่าตนเองมีความวิเศษและสูงส่ง ดังนั้นการรักษาเผ่าพงศ์ของตนไว้ให้มีความบริสุทธิ์จึงเป็นเรื่องที่ชนชั้นสูงต่างให้ความสำคัญ จนบางครั้งละเลยเรื่องของความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไป
ฉะนั้นเมื่อมาไล่เรียงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่นอกจากจะเป็นคู่ราชาภิเษกสมรสกันแล้ว ยังทรงเป็น “พระญาติ” กัน ทั้งในชั้นพระราชนัดดา หรือหลาน (กรณีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช) และชั้นพระปนัดดา หรือเหลน (กรณีของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสองพระองค์ นั่นก็เป็นเพราะว่า
พระบรมฉายาลักษณ์ หลังพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 (ภาพ: หน่วยราชการในพระองค์)
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • ทรงเป็นพระธิดาในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร
  • พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ ทรงเป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ที่ประสูติแต่หม่อมเจ้าอับษรสมาน กิติยากร
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาอ่วม
หรือจะเป็นในกรณีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร” ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร ซึ่งต่อมาเป็น “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” แล้วได้ประสูติกาลพระราชธิดาเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา” นั้น ก็จะพบว่า
พระฉายาลักษณ์ หลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร กับหม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2520 (ภาพ: Pantip หัวข้อ “๑๓ กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ”)
  • พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ส่วนพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
  • ทรงเป็นธิดาในหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร
  • หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร เป็นพระโอรสในพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร
และในขณะเดียวกันหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร ก็เป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงด้วย
ราชสกุลวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
เท่ากับว่าทั้งสองพระองค์ นอกจากจะเป็น (อดีต) คู่อภิเษกสมรสกันแล้ว ยังทรงเป็น “พระญาติ” กันโดยตรง ไม่มีเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด หรือสระบุรีเลี้ยวขวา ทั้งในชั้นพระราชโอรส (กรณีของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว) และชั้นพระราชนัดดา หรือหลาน (กรณีของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ) ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยกันทั้งสองพระองค์
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดานั้น ทรงมีสายพระโลหิตแห่งความเป็นพระบรมราชวงศ์จักรีโดยแท้
แต่การเสกสมรสระหว่างระหว่างราชวงศ์ไม่ค่อยปรากฏในสังคมไทย เนื่องจากมาตรา 11 แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ได้ระบุไว้ว่า พระราชวงศ์ผู้ที่มีพระชายาเป็นชาวต่างประเทศ ให้เว้นจากลำดับการสืบราชสันตติวงศ์
เช่น ในกรณีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงเสกสมรสกับหม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก ชาวรัสเซีย (แต่ปัจจุบัน เมืองลุตสก์ อันเป็นที่เกิดของหม่อมคัทรินนั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูเครน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) และมีพระโอรสด้วยกันเพียงพระองค์เดียวคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
(จากซ้ายไปขวา) หม่อมคัทริน ณ พิศณุโลก, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (ภาพ: Facebook Fanpage ของ นิทรรศกาล)
แม้จะเป็นการรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือดไว้ก็ตาม แต่ผลเสียที่ตามมาก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ทำให้ยีนด้อยปรากฎออกมาได้ง่ายขึ้น เช่น การเกิดโรคเลือดไหลไม่หยุด หรือฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 – 20 กับบรรดาสมาชิกพระราชวงศ์ที่เป็น “ลูกหลาน“ ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย อันเกิดจากการที่พระองค์ทรงมียีนโรคดังกล่าวแฝง ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเอง
พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณจักร พร้อมด้วยบรรดาพระราชโอรสธิดา พระราชนัดดา (หลาน) รวมทั้งพระราชปนัดดา (เหลน) ที่ได้สืบสายพระโลหิตมาแต่พระองค์โดยตรง ในคราวฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1887 (ปี พ.ศ. 2430) (ภาพ: The Royal Collection Trust)
รวมถึงภาวะการสบฟันผิดปกติ หรือขากรรไกรฮับสเบิร์ก (Habsburg jaw) ที่เกิดขึ้นในหมู่เชื้อสายราชวงศ์ฮับส์บวร์ก ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (The Holy Roman Empire) และมีอำนาจในหลายแว่นแคว้นของยุโรปกลางและตะวันออก รวมทั้งสเปนและออสเตรีย อันเป็นผลมาจากยีนด้อยที่สืบทอดภายในสายเลือดเดียวกัน นอกจากนั้น ยังส่งผลให้พระราชโอรสธิดาที่ประสูติมาต้องสิ้นพระชนม์ไปก่อนวัยอันควร บางครั้งก็ยังไม่เป็นพระองค์แล้วตก หรือแท้งในพระครรภ์
พระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าการ์โลสที่ 2 แห่งสเปน ผู้ปกครองราชวงศ์ฮับส์บวร์กพระองค์สุดท้ายของจักรวรรดิสเปน ซึ่งมีภาวะการสบฟันผิดปกติ หรือขากรรไกรฮับสเบิร์ก (ภาพ: Wikipedia)
แล้วผลจากการที่บรรดาพระราชวงศ์ซึ่งประสูติมาแล้ว ต้องประชวรด้วยพระโรคอันเกิดจากการสมรสทั้งระหว่างและภายในราชวงศ์นั้น บางครั้งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บางราชวงศ์ต้องล่มสลายหายไป เหลือเพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ เฉกเช่นราชวงศ์โรมานอฟแห่งจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อครั้งเซซาเรวิช อเล็กเซย์ นิโคลาเยวิช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ทรงพระประชวรเป็นพระโรคฮีโมฟีเลีย
เซซาเรวิช อเล็กเซย์ นิโคลาเยวิช มกุฎราชกุมารแห่งรัสเซีย ขณะประทับบนพระแท่บรรทม ในระหว่างที่ทรงพระประชวรเป็นพระโรคฮีโมฟีเลีย (ภาพ: Nicholas II)
เมื่อแพทย์ทั่วประเทศไม่อาจรักษาได้ ทำให้เกเกอรี รัสปูตินขึ้นมามีบทบาท พร้อมกับการที่ราชสำนักมีความห่างเหิน ไม่แยแสต่อกระแสสังคมภายนอกที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การยึดอำนาจ แล้วจัดตั้งเป็นสหภาพโซเวียต โดยฝ่ายบอลเชวิค และสุดท้ายสมเด็จพระจักรพรรดินิโคลัสที่ 2 พร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดรา และพระราชโอรสธิดาทั้งห้าได้ถูกสังหารอย่างน่าสลดหดหู่และเป็นปริศนา ในวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 (พ.ศ. 2461)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 บรรดาราชวงศ์ก็หันมาเสกสมรสกับสมาชิกตระกูลขุนนางท้องถิ่น เช่น การอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ กับเลดี้ไดอาน่า ฟรานเซส สเปนเซอร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) หรือเสกสมรสกับสมาชิกตระกูลขุนนางที่ถูกล้มเลิก รวมถึงการเสกสมรสกับสามัญชนคนธรรมดา เช่น การเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียม พระโอรสในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับแคทเธอรีน เอลิซาเบธ มิดเดิลตัน เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554)
พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ ระหว่างสมาชิกพระราชวงศ์วินเซอร์ กับราชวงศ์อื่น ๆ ของทวีปยุโรป หลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ กับเลดี้ไดอาน่า ฟรานเซส สเปนเซอร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) (ภาพ: Cotilleando)
พระบรมฉายาลักษณ์หมู่ หลังพระราชพิธีอภิเษกสมรส เจ้าชายวิลเลียม พระโอรสในเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ กับแคทเธอรีน เอลิซาเบธ มิดเดิลตัน เมื่อวันที่ 29 เมษายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) (ภาพ: Town & Country Magazine)
ส่วนการเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ยังคงเกิดขึ้นอยู่ แต่ก็อาจไม่ได้มากมายเช่นในอดีตแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ในบางประเทศอาจมีการแปรเปลี่ยนนโยบายทางการเมือง การปฏิวัติระบอบการปกครอง และขนบธรรมเนียมในแต่ละประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรือแม้แต่การลดจำนวนลงของสมาชิกพระราชวงศ์ในแต่ละประเทศทั่วโลก
แต่ไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตามที่จะทำให้สายเลือด หรือวงศ์ตระกูลของตนนั้น มีความบริสุทธิ์ ยิ่งใหญ่สักเพียงไหน ก็ไม่เท่ากับการที่รู้จักทำหน้าที่ของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ตลอดจนประเทศชาติเป็นสำคัญ ไม่ใช่เกิดมาเพื่ออยู่นานโดยเสียเปล่า
เพราะตราบใดที่คนเราทุกคนรู้จักการทำคุณความดีเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมแล้ว ไม่เฉพาะกับตัวเองเท่านั้น แต่สกุลที่เราฝากชื่อไว้ก็จะพลอยได้รับความเจริญ และความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีที่สูงส่งขึ้นไปอย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย ดังอักษรทองในขอบลงยาสีขาบบนดวงตรา ดารา และสายสร้อยของเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าทุกลำดับชั้นที่ว่า “เราจะบำรุงตระกูลวงษให้เจริญ” นั่นแล
(ภาพ: invaluable)
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#เลือดสีน้ำเงิน #Blueblood #ชนชั้นสูง #สถาบันพระมหากษัตริย์
โฆษณา