Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Anontawong's Musings
•
ติดตาม
24 ก.ย. 2023 เวลา 10:56 • ความคิดเห็น
คิดอย่างไรถึงจะไม่อิจฉาคนที่ชีวิตดีกว่าเรา
เคยมีการทดลองหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์เรานั้นช่างเปรียบเทียบแค่ไหน
ต้องขออภัยที่ผมจำแหล่งข้อมูลไม่ได้แล้ว เลยขอยกตัวอย่างเนื้อหาที่น่าจะช่วยให้เห็นภาพตามได้
สมมติให้เลือกระหว่าง
A เราได้รับเงินเดือน 100,000 บาทเท่าเพื่อนทุกคนในทีม
B เราได้รับเงินเดือน 110,000 บาท โดยที่เพื่อนคนอื่นๆ ในทีมได้เงินเดือน 120,000 บาท
ข้อไหนที่จะทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน?
1
แม้ว่าการเลือกข้อ B จะทำให้เรามีเงินมากกว่าข้อ A ถึง 10,000 บาท แต่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่ลังเล บางคนอาจจะเลือกข้อ A ด้วยซ้ำ
"ความสุข" หรือ "ความสำเร็จ" ของปุถุชนจึงไม่ได้วัดจากค่าสัมบูรณ์ในตัวมันเอง แต่ต้องดูที่ค่าสัมพัทธ์ด้วย เผลอๆ ค่าสัมพัทธ์นี่เป็นตัววัดหลักเลยด้วยซ้ำ
เมื่อมนุษย์นั้นช่างเปรียบเทียบและขี้อิจฉา โซเชียลมีเดียก็เหมือนถูกสร้างมาเพื่อจี้จุดอ่อนนี้
ไม่ว่าชีวิตเราจะก้าวหน้าไปแค่ไหน มันจะมีคนที่การงานดีกว่าเรา ได้ไปเที่ยวบ่อยกว่าเรา ขับรถหรูกว่าเรา แฟนสวยกว่าเราโผล่ขึ้นมาในฟีดให้ "ความสุขสัมพัทธ์" ของเราลดลงเสมอ
วิธีแก้อย่างหนึ่งก็คือเล่นโซเชียลให้น้อยลง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้หรืออดไม่ได้ ก็อาจจะมีวิธีคิดที่ช่วยให้เราสบายใจขึ้น
จากการสังเกตของผมเอง คนรอบตัวผมที่ทำงานเก่งระดับเทพนั้นไม่ค่อยโพสต์เรื่องงานลงโซเชียลเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะโพสต์เรื่องสัพเพเหระหรือเรื่องครอบครัว
และหลายคนที่แสดงตนในโลกโซเชียลว่าเก่งมาก จัดการชีวิตได้ดีมาก เมื่อเจอตัวตนจริงๆ กลับพบว่าเขาก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ต่างจากศิลปินหลังเดินลงจากเวที
Morgan Housel ผู้เขียนหนังสือ The Psychology of Money เคยเขียนไว้ว่า
"Social media makes more sense when you view it as a place people go to perform rather than a place to communicate."
1
เราจะเข้าใจโซเชียลมีเดียมากขึ้นหากเรามองว่ามันคือพื้นที่เพื่อการแสดง ไม่ใช่พื้นที่เพื่อการสื่อสาร
1
หนึ่งในสิ่งที่มีอานุภาพที่สุดของโซเชียลมีเดียคือ validation หรือความยอมรับ
1
สมัยก่อนถ้าเขียนบล็อกลงในเว็บเฉยๆ ผมไม่มีทางรู้เลยว่าคนที่เข้ามาอ่านนั้นชอบรึเปล่า แต่หากผมโพสต์บทความนี้ลงในเพจ Facebook แล้วมีคนกดไลค์กดแชร์เยอะ ผมก็ใจฟู เพราะแสดงว่ามีคนชอบและยอมรับบทความของผม
ผมจึงมีสมมติฐานอย่างหนึ่งว่า คนที่โพสต์ลงโซเชียลบ่อยๆ บางคนก็ทำไปเพราะต้องการ validation หรือการแสวงหาความยอมรับว่าตัวเขามีความสำคัญ
1
ขณะที่บางคนที่ได้รับการเติมเต็มจากโลก offline ไปเรียบร้อยแล้ว ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องโพสต์ลงโซเชียลเพื่อแสวงหาความยอมรับจากใคร
เมื่อห้าปีที่แล้วผมเคยเขียนไว้ในบทความ "ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์"
2
"คนที่หน้าตาดีจริงๆ ไม่ต้องพิสูจน์ว่าตัวเองหน้าตาดี คนที่มีฐานะจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตัวเองมีฐานะ และคนที่มีบารมีจริงๆ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตัวเองมีบารมี
2
การที่เราต้องพิสูจน์ อาจแปลว่าเรายังขาดสิ่งนั้นอยู่ก็ได้
3
ในทางกลับกัน การเติบโตอย่างแท้จริง หรือการประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง อาจหมายถึงการไปถึงจุดที่ไม่มีอะไรต้องพิสูจน์อีกต่อไป
1
ไม่ใช่เพราะว่าเก่งทุกอย่าง แต่เพราะเข้าใจแล้วว่าเราไม่ต้องเก่งไปเสียทุกอย่าง
2
ถ้าทำได้ เราก็แค่รู้ตัวว่าทำได้ ไม่จำเป็นต้องอวดใคร
ถ้าทำไม่ได้ ก็แค่ยอมรับว่าเราทำไม่ได้ ไม่จำเป็นต้องอายใคร
ถ้าเราสามารถใช้ชีวิตแบบนี้ ผมว่ามันก็น่าจะดีนะครับ"
ดังนั้น ถ้ากลับมาที่โจทย์หลักของบทความนี้ ว่าในเมื่อเราเป็นมนุษย์สัมพัทธ์โดยกำเนิด เราควรจะมีความคิดเห็นอย่างไรถึงจะไม่อิจฉาคนที่(ดูเหมือน)ชีวิตดีกว่าเรา
ก็คือการตระหนักว่า snapshot บนโซเชียลที่แสดงถึงชีวิตดีๆ นั้น บางทีมันเป็นเพียงแค่ performance พอวางกล้องลงแล้วเขาก็เป็นคนธรรมดา เผลอๆ จะมีบางมุมที่เขาขาดแคลนกว่าเราด้วยซ้ำ
ฟังดูเหมือนนิทานองุ่นเปรี้ยว แต่ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่าการมองเห็นแต่มุมสวยงามแล้วเผลอคิดว่าชีวิตเราควรจะเป็นแบบนั้นบ้างครับ
17 บันทึก
36
10
17
36
10
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย