7 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

โพชฌังคปริตร นวัคคหายุสมธัมม์: การบำบัดโรคภัยด้วยธรรมะรักษา

ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงความจริงแห่งชีวิต ซึ่งพุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรนำมายึดถือและปฏิบัติตามว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อมีเกิดขึ้นก็ย่อมมีความเสื่อมและสลายไปเป็นธรรมดา ซึ่งในความเสื่อมที่ว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปุถุชนหรืออริยชนก็ตาม ย่อมเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้การเจ็บไข้ได้ป่วย ต่อให้วันนี้ไม่เป็น วันหน้าก็ต้องเป็น เมื่อทุกคนเจ็บป่วย ย่อมต้องหาทางรักษาเพื่อบรรเทาอาการ ดังนั้นเราจึงมีแพทย์ พยาบาล ยารักษาโรค ตลอดจนสถานพยาบาลรูปแบบต่าง ๆ เพื่อรองรับสิ่งนี้
แต่สำหรับบางคน เมื่อการรักษาแบบแผนปัจจุบันไม่อาจจะทำให้โรคภัยที่เป็นอยู่หายได้ ก็พากันไปพึ่งการรักษาแบบอื่น เช่น การรักษาแบบแผนโบราณ หรือแม้แต่การรักษาโดยธรรมะรักษา คือ การรักษาโรคโดยใช้ธรรมะ เพื่อคลายความเจ็บปวด
ซึ่งการใช้ธรรมะรักษานั้น อาจมีทั้งการทำบุญ อ่านหนังสือธรรมนะ นิมนต์พระมาเทศนา รวมถึงการเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์ด้วยตนเอง หรือคนรอบข้างของผู้ป่วย ซึ่งบทที่มักใช้ในการสวดยามเจ็บป่วยมักจะเป็นบทที่มีชื่อว่า “โพชฌังคปริตร”
การเจริญพระพุทธมนต์ และเจริญจิตภาวนา ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม (ภาพ: มติชนออนไลน์)
โพชฌังคปริตร เป็นพระปริตรที่ว่าด้วยธรรมเพื่อการตรัสรู้ ปรากฏอยู่ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ของพระไตรปิฎก เล่มที่ 19 โดยกล่าวถึงครั้งพุทธกาลว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ เวฬุวันวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระได้เกิดอาพาธเป็นไข้หนักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา พระพุทธองค์จึงเสด็จไปเยี่ยม และตรัสถึงโพชฌงค์ 7 ประการประทานแก่พระมหากัสสปะ ทำให้พระมหากัสสปะหายจากการอาพาธ
ครั้นมาถึงกาลที่พระมหาโมคคัลลานเถระอาพาธเป็นไข้หนักอยู่บนเขาคิชฌกูฏ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยม และตรัสโพชฌงค์ 7 ประการประทานอีกเช่นกัน ทำให้พระมหาโมคคัลลานะหายจากอาพาธ แล้วจนถึงคราวที่พระพุทธเจ้าได้ประชวรเป็นไข้หนัก พระมหาจุนทเถระเข้าไปเฝ้าเยี่ยมพระอาการ พระพุทธองค์ก็จึงโปรดให้พระมหาจุนทเถระสวดโพชฌงค์ถวาย พอได้ทรงสดับโพชฌงค์ที่พระมหาจุนทเถระถวายแล้ว พระองค์ก็หายจากพระอาการประชวร
สำหรับโพชฌงค์ หรือ “สัมโพชฌงค์” นั้น มีทั้งหมด 7 ประการ ประกอบด้วย
  • สติ (ความระลึกได้)
  • ธัมมวิจยะ (ความสอดส่องธรรม)
  • วิริยะ (ความเพียร)
  • ปีติ (ความอิ่มเอมใจ)
  • ปัสสัทธิ (ความสงบใจ)
  • สมาธิ (ความตั้งใจมั่น)
  • อุเบกขา (ความวางเฉย)
เมื่อผู้ใดได้รู้และทำถึงซึ่งธรรมอันปรากฏในโพชฌังคปริตร ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ไว้ด้วยดีแล้ว ผู้ที่ได้รู้และทำถึงซึ่งธรรมนั้นก็จะบังเกิดแต่ความสุขสวัสดี ตลอดกาลทุกเมื่อ ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับผู้ที่ป่วย เมื่อได้มีโอกาสสดับถึงธรรมที่เรียกว่า “โพชฌังคปริตร” นั้นแล้ว ก็จะประสบพบแต่ความเกษมเปรมปรีดิ์ ฟื้นตัวจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่โดยเร็ววัน
ภาพจิตรกรรม พระพุทธเจ้าทรงพยาบาลภิกษุอาพาธ (ภาพ: ข้อคิดดีดี2)
จึงเป็นที่มาว่าทำไมเมื่อใครต่อใครเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ถึงต้องมีการสวดบทโพชฌังคปริตร รวมถึงการเจริญพระพุทธมนต์ในโอกาสต่าง ๆ หนึ่งในบทสวดสำคัญก็จะต้องมีโพชฌงคปริตรรวมอยู่ด้วย นอกจากการสวดหรือการเจริญพระพุทธมนต์ด้วยบทโพชฌังคปริตรแล้ว ก็ยังมีการเจริญพระพุทธมนต์อีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “นวัคคหายุสมธัมม์”
นวัคคหายุสมธัมม์ (นะ-วัก-คะ-หา-ยุ-สะ-มะ-ทำ) คือ ธรรมที่เสมอด้วยอายุแห่งการกำหนดด้วยองค์เก้า หรือธรรมเป็นเครื่องเสมออายุด้วยนพเคราะห์ เป็นพระนิพนธ์ที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงรวบรวมพระธรรมต่าง ๆ ในหลายพระสูตรไว้ อันมีข้อธรรมเท่าจำนวนกำลังของเทวดานพเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ไทย
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (ภาพ: มติชนออนไลน์)
แล้วได้ทรงพระนิพนธ์บทขัดตำนานสำหรับพระธรรมบทนั้น ในคราวบำเพ็ญพระกุศล ฉลองพระชันษาครบ 50 ปี ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2412 ซึ่งส่วนใหญ่ นวัคคหายุสมธัมม์จะใช้เจริญพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา โดยให้โหรบูชาเชิญเทวดานพเคราะห์มาฟังสวดพระพุทธมนต์ทีละองค์ และให้พระสงฆ์ 5 รูป สวดพระธรรมสำหรับเทวดาองค์นั้น สวดสลับกันไปกับโหรบูชา มีข้อความเป็นภาษาบาลี เมื่อแปลแล้วจะได้หัวข้อธรรม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนที่หน้าอาสนสงฆ์ สำหรับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอุโบสถวัดศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่12 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (ภาพ: มติชนออนไลน์)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนบูชาเทพดานพเคราะห์ ในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอุโบสถวัดศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่12 สิงหาคม พ.ศ. 2565 (ภาพ: มติชนออนไลน์)
อนึ่ง นวัคคหายุสมธัมม์ตามที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทว) สมเด็จพระสังฆราช ทรงพระนิพนธ์ขึ้นมา มิได้มุ่งหวังให้ใช้บทสวดมนต์ถอดถอนพระเคราะห์ตามโหราศาสตร์อย่างเดียว แต่มุ่งให้นำธรรมะที่อยู่ในบทสวด มาเป็นข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อกำจัดเคราะห์ และเสริมมงคลด้วยการประพฤติปฏิบัติเสียมากกว่า ถ้าจะสะเดาะเคราะห์ให้หมดโดยสิ้นเชิงเหมือนกับการชำระสิ่งสกปรกออกจากภาชนะนั้น ก็ควรนำหลักธรรมะไปปฏิบัติชำระล้างจิตใจอีกชั้นหนึ่ง ตามข้อความที่มีจำนวนข้อธรรมเท่ากับจำนวนกำลังวันของดาวแต่ละดวง
แต่อย่างไรก็ตาม การใช้ธรรมะรักษา เป็นเพียงแค่การผ่อนคลายความเจ็บปวดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น ไม่อาจจะทำให้โรคภัยที่เป็นอยู่หายได้ขาด เพราะความเจ็บไข้ได้ป่วยคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาแล้วแต่โอกาส เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า โรคภัยจะมาหาเราเมื่อใด สิ่งที่พอทำได้ในยามที่เราปกติ คือ การรู้จักรักษาสภาพกายและใจให้จงดี หมั่นตรวจสุขภาพให้บ่อย ๆ อย่าได้ใช้ร่างกายอย่างหนักหน่วงจนเกินไป
แล้วเมื่อใดที่เราเจ็บป่วยก็ควรใช้เวลาตรงนี้พักผ่อนให้มาก ๆ อย่าได้อาจหาญใช้ร่างกายจนเกินตัวไปอีก เพราะไม่แน่ว่า การป่วย อาจทำให้ตัวเราไม่ได้มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่เป็นแล้วก็ได้ และที่สำคัญควรจะพิจารณาอยู่เสมอว่า ธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นย่อมมีความเสื่อมและสลายไปเป็นธรรมดา แม้แต่ความเจ็บไข้ได้ป่วย คือเรื่องธรรมดาไม่มีใครที่จะหนีพ้นไปได้
และถ้าคนเราจะสามารถรักษาโรคภัยต่าง ๆ ได้ด้วยการสวดมนต์แล้ว แพทย์ พยาบาลทั่วทั้งประเทศไทย เผลอ ๆ อาจจะทั่วทั้งโลกคงต้องตกงานกันเป็นระนาว ยารักษาทุกขนาน ไม่ว่าน้ำหรือเม็ดคงต้องถูกเททิ้งกันอย่างเกลื่อนกลาด และสถานพยาบาลต่าง ๆ คงต้องพาปิดตัวกันเป็นว่าเล่นอย่างแน่นอน
ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อ้างอิง:
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#โพชฌงคปริตร #นวัคคหายุสมธัมม์
โฆษณา