Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
10 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
“การบวช” ที่แท้จริงคืออะไร!? (ภาคเท้าความ)
การจะจรรโลงพระพุทธศาสนาเพื่อให้ดำรงอยู่คู่สังคมได้อย่างเจริญมั่นคงสืบต่อไปได้นั้น การปฏิบัติตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการดำรงชีวิต ก็ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้
แต่การจะเข้าถึงหลักธรรมต่าง ๆ นอกจากการศึกษาด้วยตัวเองแล้ว ศาสนทายาท หรือพุทธบริษัท จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการนำพาให้ปุถุชนทั้งหลายได้เข้าถึงพระธรรม เสมือนหนึ่งการได้มีโอกาสเข้าถึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ” ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นเราตถาคต
หนึ่งในพุทธบริษัทที่ทุกคนคงคุ้นเคยและชินตามากที่สุด ก็คือ พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วทุกที่ที่มีวัดวาอาราม หรือสำนักปฏิบัติธรรมตั้งอยู่ และได้รับการเคารพนบน้อมอย่างสูงจากพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่ได้มีโอกาสพบเจอ เพราะถือเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า เป็น “เนื้อนาบุญ” อันประเสริฐ มีศีลาจารวัตรปฏิบัติที่ต้องรักษามากกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว เช่นนั้นแล้ว การจะดำรงความเป็นสมณเพศ อาศัยอยู่ภายใต้ร่มกาสวพัสตร์อันเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์ได้ จึงต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมทั้งกาย วาจา และใจจริง ๆ ถึงจะสามารถบวชได้
พระภิกษุสงฆ์ ถือเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า เป็น “เนื้อนาบุญ” อันประเสริฐ มีศีลาจารวัตรปฏิบัติที่ต้องรักษามากกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว (ภาพ: สำนักข่าวอิศรา)
แต่แล้วทำไม…การบวชเป็นพระถึงเป็นสิ่งที่ง่ายดาย ไม่เคร่งครัดเช่นแต่ครั้งโบราณแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดมุ่งหมายของการบวช ที่เห็นได้ชัดเลย คือการบวชเพื่อไถ่บาป หรือที่บางคนอ้างในบางกรณีว่า เพื่ออุทิศเป็นบุญกุศล อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง
เช่น กรณีของสิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ขี่รถจักรยานบิ๊กไบค์พุ่งชนแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย แพทย์ผู้ชำนาญด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2565
ภายหลังทางผู้ก่อเหตุได้ทำการบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่หมอกระต่าย พร้อมกับผู้เป็นพ่อ ด้วยเหตุผลที่ว่า คดีนี้เป็นเพียงการกระทำโดยประมาท ไม่ใช่คดีที่เกี่ยวกับการฆ่าบุพการี หรือไม่ใช่นักโทษหนีหมายจับ
การอุปสมบทพระของสิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก และพ่อ ณ พระอุโบสถวัดปริวาสราชสงคราม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2565 (ภาพ: sanook)
หรือแม้แต่กรณีของแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ ที่เสียชีวิตจากการพลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตลงแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ทำให้เกิดการสำลักน้ำเป็นจำนวนมากในระหว่างที่ยังมีชีวิตและขาดอากาศหายใจ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
ภายหลังได้มีผู้ร่วมเหตุการณ์ในวันนั้น อย่างปอ ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และโรเบิร์ต ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ สองไฮโซได้ตัดสินใจจะบวชเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ท่ามกลางกระแสการติดตามคดีความของประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงประเด็นเรื่องศาสนาที่นับถือของไฮโซปอและเบนซ์ ซึ่งอาจจะขัดต่อการบวช
สุดท้ายทั้งคู่ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นการบวชพราหมณ์กึ่ง ๆ อุปสมบทพระแทน ที่ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย สถานปฏิบัติธรรมในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสาขาของวัดท่าไม้ โดยมีพระญาณวิกรม (อุเทน สิริสาโร) หรือพระอาจารย์อุเทน เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ เป็นผู้ปลงผมและทำพิธีให้ มีเพียงเฉพาะบุคคลใกล้ชิดร่วมพิธี
การบวชพราหมณ์กึ่ง ๆ อุปสมบทพระของปอ ตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ และโรเบิร์ต ไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ ที่ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย สถานปฏิบัติธรรมในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 (ภาพ: มติชนออนไลน์)
จากตัวอย่างที่ได้ยกมา จึงกลายมาเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาและทำความเข้าใจร่วมกันว่า สรุปแล้ว…จุดมุ่งหมายของการบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนานั้น คืออะไรกันแน่!?
การบวช หรือบรรพชาอุปสมบท เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เป็นขั้นตอนที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาบุคคลที่มีความประสงค์จะเข้ามาบวชเป็นพุทธสาวก มีทั้งภิกษุ และภิกษุณี (ปัจจุบันนี้ไม่มีภิกษุณีแล้ว) แล้วได้มีการสืบทอดประเพณีดังกล่าวกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ที่ได้สดับพระปฐมเทศนา หรือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เกิดดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทูลขอบวชต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันอาสฬหบูชานั้น เป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม ประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนาแล้ว พระอัญญาโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม จึงได้ทูลขอบวชต่อพระพุทธองค์ พร้อมด้วยสาวกคนอื่น ๆ ดังนั้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จึงถือเป็นวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นในโลก (ภาพ: พิพิธภัณฑ์จรรโลงพระพุทธศาสนา)
ส่วนภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือ พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้เป็นพระมาตุจฉา (น้า) ของพระพุทธเจ้า ด้วยการรับครุธรรม 8 ประการ อันเป็นกฎเหล็กที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้
แท้ที่จริงแล้ว พระพุทธองค์ไม่มีพุทธประสงค์ที่จะให้สตรีบวช โดยทรงคำนึงถึงความปลอดภัยของสตรี ความซับซ้อนเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของสตรี รวมถึงเรื่องของพรหมจรรย์ หากภิกษุและภิกษุณีที่มีความหักหามใจไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะเผลอไผลละเมิดสิกขาบทได้ ซึ่งพระนางก็ยินปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม 8 ประการ แล้วหลังจากอุปสมบทได้ไม่นาน พระนางก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระนางปชาบดีโคตมี นำเหล่าข้าหลวงและนางพระกำนัลไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อพระพุทธเจ้า (ภาพ: พิพิธภัณฑ์จรรโลงพระพุทธศาสนา)
นอกจากภิกษุและภิกษุณีแล้ว ก็ยังมีสามเณร ซึ่งสามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือ พระราหุล พระราชโอรสของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ กับเจ้าหญิงยโสธรา (พิมพา) โดยคราวที่พระพุทธองค์ เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระประยูรญาติ ขณะนั้น เจ้าหญิงยโสธรา (พิมพา) มีรับสั่งให้พระราหุลไปทูลขอราชสมบัติจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าจึงทรงดำริว่า พระราหุลยังไม่ประสีประสาเท่าไร ประกอบกับทรัพย์ภายนอกไม่ปลอดภัย อาจพิบัติฉิบหายไปต่าง ๆ พระองค์จึงโปรดประทานอริยทรัพย์แทน อันเป็นทรัพย์ภายในที่ประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์ใด ไม่มีทางสูญหายไป จึงรับสั่งให้พระสารีบุตร อัครสาวกของพระองค์ทำการบวชให้กับพระราหุล
พระพุทธเจ้าโปรดประทานอริยทรัพย์ด้วยการบวชสามเณรให้แก่พระราหุล (ภาพ: พิพิธภัณฑ์จรรโลงพระพุทธศาสนา)
สำหรับจุดประสงค์ของการบวช หรือบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนานั้น มีทั้งการบวชเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรและเพื่อเชิดชูความรุ่งเรือง การบวชเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่ ตลอดจนผู้มีพระคุณ ซึ่งจะเป็นกุศโลบายในการชักชวนให้ครอบครัวของผู้ที่บวชได้เข้าวัดทำบุญ เข้าถึงพระธรรม และได้บุญกุศลตามกันไป
การบวชเพื่อเป็นการสืบสานประเพณี ซึ่งโดยส่วนมากจะนิยมนำบุตรหลานที่เป็นชายมาบวช เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หรืออายุครบบวช รวมถึงการนิยมส่งบุตรหลานที่มีอายุครบบวช อุปสมบทในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เพราะเชื่อกันว่าจะมีโอกาสได้บุญมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พระสงฆ์ต้องจำพรรษาอยู่ในอาวาสของตนเป็นเวลาถึง 3 เดือน ตามพุทธบัญญัติ จึงน่าจะมีเวลาในการศึกษาพระธรรม ตลอดจนวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ต่าง ๆ อย่างเต็มที่ ประกอบกับตรงกับช่วงฤดูฝน ถือเป็นสภาพอากาศที่ค่อนข้างจะเป็นใจ คือไม่ร้อนไป ไม่หนาวไป
(ภาพ: Manasikul Online)
หรือแม้แต่การบวชเพื่ออุทิศเป็นส่วนกุศล อันเกิดจะความศรัทธาอยากจะอุทิศผลบุญจากการบวชให้ เป็นทักษิณานุปทานอย่างหนึ่ง รวมถึงอย่างที่กล่าวไปว่า บวชเพื่อได้ศึกษาพระธรรม สำหรับผู้ที่มีฐานะอัตคัดขัดสน การบวชจึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่ง ในการได้รับโอกาสทางการศึกษา จึงเกิดเป็นคำว่า “บวชเรียน” ส่วนใหญ่จะให้ตั้งแต่อายุยังน้อย คือ การบรรพชาเป็นสามเณร แล้วค่อยมาอุปสมบทเป็นพระเมื่อครบอายุบวช ควบคู่ไปกับการเรียนทางโลก
(ภาพ: สำนักทะเบียนและวัดผล มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย)
แล้วการบวชก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้เป็นพ่อแม่ ตลอดจนผู้มีพระคุณเกิดเป็นความสบายใจ ก่อนการออกไปมีเหย้ามีเรือน ตามภาษาชาวบ้านที่ว่า “บวชก่อนเบียด” หรือจะเป็นการบวช เพียงแค่อยากจะบวช เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เพราะมีความศรัทธา ความเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาอยู่ในส่วนลึกของจิตใจ
นอกจากจุดประสงค์การบวชที่กล่าวไป ยังมีการบวชอีกจำพวกหนึ่ง ที่ถือเป็นการบวชแบบ “ไร้ประโยชน์” มีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ
1.
อุปมุยหิกา คือ ผู้ที่สักแต่ว่าจะบวชตามคนอื่น โดยปราศจากซึ่งความศรัทธา
2.
อุปชีวิกา คือ ผู้ที่บวชหวังจะหาเลี้ยงชีพ โดยปราศจากซึ่งความสนใจในพระธรรมวินัยทั้งปวง
3.
อุปกีฬิกา คือ ผู้ที่บวชเพื่อหาเรื่องเล่นสนุกไปวัน ๆ
4.
อุปทูสิกา คือ ผู้ที่บวชแล้วมาทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย
ประกอบกับทางมหาเถรสมาคม ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะบวชในข้อ 14 หมวด 3 หน้าที่พระอุปัชฌาย์ ของ กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ที่ว่า
พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้
1.
คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
2.
คนหลบหนีราชการ
3.
คนต้องหาในคดีอาญา
4.
คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
5.
คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
6.
คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย และ
7.
คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้
(ภาพ: MoNWIC)
อ้างอิง:
●
‘เบนซ์’ เปิดใจ ‘ไฮโซปอ’ สามี บวชพราหมณ์ ยันไม่ใช่ลบกระแสสังคม แต่เพื่ออุทิศส่วนกุศล โดย ศิลปวัฒนธรรม (
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3236736
)
●
‘ภิกษุณีรูปแรก’ ในพระพุทธศาสนา | เสฐียรพงษ์ วรรณปก โดย มติชนสุดสัปดาห์ (
https://www.matichonweekly.com/column/article_218163
)
●
"พระนรวิชญ์" บวชให้ "หมอกระต่าย" มีคดี-คนตาย บวชได้ยังไง? โดย กรุงเทพธุรกิจ (
https://www.bangkokbiznews.com/news/news_update/984458
)
●
กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ. ๒๕๓๖) โดย วัดโมลีโลกยาราม (
https://www.watmoli.com/wittaya-one/1316/
)
●
ชายไทย ทำไมต้องบวช โดย คมชัดลึกออนไลน์ (
https://www.komchadluek.net/scoop/445641
)
●
ชีวิตเฮงซวย 'บวชพระดีกว่า' เรื่องกล้วยๆ ของผู้ชายเหลวแหลก โดย MGR Online (
https://mgronline.com/live/detail/9580000013606
)
●
ประเพณีการบวชช่วงเข้าพรรษา โดย sanook (
https://www.sanook.com/horoscope/31905/
)
●
สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา | สามเณรรูปแรก โดย มติชนสุดสัปดาห์ (
https://www.matichonweekly.com/column/article_215692
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#บวชพระ #นาค
พระสงฆ์
พระพุทธศาสนา
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย