16 พ.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

“การบวช” ที่แท้จริงคืออะไร!? (ภาคว่าความ)

เมื่อมาพิจารณากับเรื่องราวที่ได้ยกมาในครั้งก่อน ประกอบกับตัวอย่างของการบวชหลังเกิดคดีความทั้ง 2 กรณีนั้น แม้จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่คนบางกลุ่มก็ได้ตัดสินกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามไปแล้วว่า พวกเขาบวชเพื่อให้มีการลดหย่อนโทษ บวชเพื่อลบกระแสสังคม หรืออาจจะเป็นการบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลจริง ๆ ไม่ก็เป็นการบวชเพื่อไถ่บาป
ซ้ำยังจะโดนกระแสสังคมตีกลับด้วยซ้ำว่า เป็นการนำผ้าเหลือง ซึ่งถือเป็นธงชัยแห่งพระอรหันต์มาบังหน้า เพื่อหลบเลี่ยงความผิดที่ตนก่อไว้ แล้วยังเป็นเหตุที่ทำให้พระพุทธศาสนามีความสั่นคลอนมากไปกว่าที่เป็นอยู่อีก
นอกจากการบวชด้วยเหตุที่ยกมาแล้ว ในปัจจุบันก็ปรากฏการบวชที่เป็นในลักษณะของอาชีพ ๆ หนึ่ง เพื่อแสวงหาความศรัทธาจากผู้คนผ่านการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อันเป็นการอวดอุตริมนุสธรรม การช่วงชิงเส้นสายเพื่อให้มาได้ซึ่งสมณศักดิ์ที่สูงส่ง การเรี่ยรายปัจจัย ตลอดจนอาหารบิณฑบาตจากความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อสร้างฐานะให้กับตัวเอง
ยังไม่รวมกับการที่พระอุปัชฌาย์อนุญาตให้คนไม่มีสติสมประกอบ อย่างนายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือเค ร้อยล้าน มาบวชอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์อีก ซึ่งไม่แน่ใจพระอุปัชฌาย์ได้ทำการอย่างนั้นไปได้อย่างไร
นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือเค ร้อยล้าน ผู้มีพฤติกรรมสุดแปลก และสร้างวีรกรรมไว้พอสมควร ในคราวอุปสมบทเป็นพระ (ภาพ: 3plus)
แม้ในบทอันตรายิกธรรมจะไม่มีข้อใดที่ถามว่า “คุณเป็นบ้าหรือเปล่า?” แต่การที่พระคู่สวดถามว่า “มนุสฺโสสิ” (มะนุสโสสิ) แล้วผู้ขอบวชตอบว่า “อามะ ภันเต” ก็เพียงพอต่อการยืนยันแล้วว่า คุณเป็นมนุษย์ หมายถึงผู้มีความพร้อมทั้งกายและใจ แต่เท่าที่เห็นมา นายเคได้ก่อความวุ่นวายอย่างมากมาตั้งแต่ก่อนและระหว่างบวช เป็นที่ประจักษ์ได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ควรให้มีการลาสิกขาบทเสีย ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะมัวหมองไปมากกว่านี้
แต่ยังโชคดีที่ว่า...เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายเคได้ทำการลาสิกขาบทออกไปแล้วที่วัดตะกรบ ตำบลตะกรบ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือเค ร้อยล้าน ผู้มีพฤติกรรมสุดแปลก และสร้างวีรกรรมไว้พอสมควร ในคราวลาสิกขาบทจากความเป็นพระ (ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
รวมถึงการนำภาพพจน์ของการบวชมาชูโรงว่า เป็นเครื่องหมายของความเป็น “คนดี” ทั้งที่ตัวตนแท้จริงกลับเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ต่างไปจากพวก “มือถือสาก ปากถือศีล” ละเลยในแก่นแท้ หรือสาระสำคัญของการบวชไป
การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น แม้จะมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่ล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการหลุดพ้นจากโลกิยทุกข์ อันประกอบด้วย ความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลง เหตุนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งปวงและความชั่วทั้งหลาย เมื่อขาดความยับยั้งชั่งใจ
การบวชจึงเป็นหนทางหนึ่งในการได้ศึกษาพระสัทธรรมต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท การเข้าใจถึงเหตุและผลของสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องมีเกิดและแตกดับไปตามสภาวะ การรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมชาติแห่งชีวิต เพื่อสร้างสิ่งดีงามให้คงอยู่ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคมส่วนรวม มากกว่าการนำตัวเข้าไปเจอปนกับสิ่งเลวร้าย อันจะนำมาซึ่งภัยตัวรอบด้าน และทุกช่วงขณะที่เราทั้งหลายยังมีลมหายใจ
ฉะนั้นแล้ว การบวชจึงไม่ใช่หนทางของ “การไถ่บาป” หรืออะไรทั้งนั้น เพราะบุญก็ส่วนบุญ บาปก็ส่วนบาป ไม่อาจจะหักล้างกันได้ ซึ่งจะให้ผลต่างกันไปตามสิ่งที่ตนเองก่อ ดั่งการหว่านโปรยพืชผลเช่นไรลงดินไป ก็จะได้พืชผลตามที่ได้หว่านโปรยลงดินไปเช่นนั้น
(ภาพ: ไทยรัฐออนไลน์)
จึงอยากให้พุทธบริษัททั้งหลาย คิดทบทวนกันเสียใหม่ เพื่อดำรงไว้ซึ่งแก่นแท้แห่งหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เพราะถ้ายังคงยึดถือกับสิ่งที่พูด สิ่งที่ทำ สิ่งที่คิดอยู่เช่นนี้ต่อไป ความรู้แจ้งเห็นจริงคงไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์อย่างแน่นอน...
อนึ่ง แต่ก่อนที่จะได้รับการบวชจากพระอุปัชฌาย์ ท่ามกลางคณะสงฆ์ที่ร่วมนั่งหัตถบาสภายในพระอุโบสถนั้น ผู้ที่จะบวชก็จะต้องมาอาศัยอยู่ที่วัดกับพระพี่เลี้ยง ซึ่งพระอุปัชฌาย์ตั้งให้ ร่วมกับพระภิกษุสงฆ์รูปต่าง ๆ ก่อนวันบวช เป็นเวลา 7 วัน 15 วัน 30 วัน หรือเห็นแต่สมควร เพื่อปรับพฤติกรรมให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ศึกษาวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ของพระสงฆ์ รวมถึงซักซ้อม และเตรียมรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ เกี่ยวกับงานบวช ซึ่งในระหว่างที่อยู่ที่วัด ผู้ที่จะมาบวชก็จะได้รับการสมมติตนว่าเป็น “นาค”
จิตรกรรมฝาผนัง ขบวนแห่เพื่อนำนาคไปอุปสมบทที่วัด ภายในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร (ภาพ: X ของ ขุนเดชวิทยายุทธ)
สำหรับคำว่า นาค มีที่มาจากนิทานปรัมปราเรื่องหนึ่งซึ่งได้มีการเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้มีพญานาคตนหนึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงได้เนรมิตกายเป็นมนุษย์ แล้วมาขอบวชเป็นพระสงฆ์ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งนาคตนนั้นก็ปฏิบัติศาสนกิจทุกอย่างเช่นพระทั่วไป
แต่อยู่มาวันหนึ่ง นาคตนนั้นก็ถูกจับได้ว่าไม่ใช่มนุษย์ พระพุทธเจ้าจึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ แล้วตรัสว่า นาคไม่สามารถเจริญธรรมได้ หากปรารถนาจะเป็นมนุษย์ ขอให้รักษาศีล 8 ไว้ แล้วผลบุญแห่งศีลจะส่งผลให้นาคได้เกิดเป็นมนุษย์ในชาติถัดไป
นาคเมื่อรู้ว่า ตนไม่สามารถเจริญธรรมได้ก็บังเกิดความเสียใจ พญานาคจึงขอร้องต่อพระพุทธเจ้าว่า ต่อไปในภายหน้า แม้นาคจะบวชไม่ได้ ก็ขอให้ผู้ที่กำลังเตรียมตัวเพื่อจะบวชนั้นมีชื่อเรียกว่า “นาค”
ภาพวาดที่พยายามสื่อถึงเรื่องราวของนาคผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่ไม่สามารถบวชได้ เพราะไม่ใช่มนุษย์ (ภาพ: Pantip)
จากเรื่องราวดังกล่าว จึง (น่าจะ) เป็นที่มาของการเรียกผู้ที่จะบวชว่า นาค รวมถึงประเพณีต่าง ๆ เช่น การทำขวัญนาค การบวชนาค การขานนาค และหนึ่งในบทอันตรายิกธรรม ที่พระกรรมวาจารย์ หรือพระคู่สวด ใช้สวดเพื่อซักถามและโต้ตอบกันกับนาค เกี่ยวกับความพร้อมของคุณสมบัติของผู้บวชที่ว่า “มนุสฺโสสิ”
ในขณะเดียวกัน ก็มีบางแหล่งข้อมูลที่ระบุว่า การบวชนาค ไม่มีอยู่ในพระวินัยของพระพุทธเจ้า ฉะนั้นการบวชนาคจึงไม่มีในชมพูทวีป (คืออินเดียโบราณ) แต่เป็นประเพณีพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยเฉพาะบริเวณผืนแผ่นดินที่เป็นเมียนมา (มอญ) กัมพูชา ลาว และไทย ส่วนหนึ่งมาจากรากฐานทางภาษาเดิมของคำว่านาค ในภาษาตระกูลอินโด-ยุโรป ที่มาจากคำว่า “นอค” (Nog) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า
ทว่าภาษาตระกูลไทย-ลาว กับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่างู เพราะงูเป็นสัตว์เปลือยไม่มีขนปกปิด เมื่อมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิมจนกลายเป็นชื่อเรียกของงูใหญ่ที่มีถิ่นอาศัยใต้ดินเรียกว่าบาดาล อย่าง “พญานาค”
นอกจากนั้น คำว่านาค ยังสื่อความหมายเชิงเหยียดถึงพวกที่มีวัฒนธรรมต่ำกว่า คือยังไม่รู้จักทอผ้านุ่งห่ม ยังเป็นคนเปลือย หรือคนแก้ผ้า อย่างดีได้แค่เอาใบไม้มามัดผูกเป็นเครื่องนุ่งห่ม เช่น ในอุรังคนิทาน หรือตำนานพระธาตุพนม ที่ระบุว่าคนพื้นเมืองบริเวณสองฝั่งโขง ซึ่งยังไม่รู้จักศาสนาจากชมพูทวีปล้วนเป็นนาค
คัมภีร์ใบลาน เรื่อง อุรังคธาตุ อยู่ในความดูแลของกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (ภาพ: หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม)
แล้วนาคมาอยู่ในเรื่องของการบวชได้เช่นไร…สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการประนีประนอมในทางพิธีกรรมระหว่างพระพุทธศาสนา กับศาสนาผี เพราะคนพื้นเมืองไม่ยอมเลิกนับถือผีไปเป็นพุทธอย่างชมพูทวีป จึงกลายเป็นลักษณะของการบวชนาคให้เป็นพระ ไม่ใช่การบวชคนให้เป็นพระ ประกอบกับนิทานเรื่องพญานาคปลอมตัวมาบวชพระ เป็นเรื่องที่ผูกขึ้นมาใหม่ ภายหลังที่คำว่านาค ได้เปลี่ยนความหมายกลายเป็นงูใหญ่ไปแล้ว
จึงทำให้คนทั่วไปเข้าใจไปว่า การเรียกผู้ที่จะบวชว่านาค นั้นเป็นเพราะอิงมาจากนิทานปรัมปราดังกล่าวสืบทอดต่อกันมา โดยพิธีบวชนาคยุคแรกเริ่มเดิมทีมีร่องรอยเหลืออยู่ที่เมียนมา ตามที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เล่าไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพม่าว่า นาค คือคนธรรมดาที่ยังไม่ได้รับการปลงผม แต่เมื่อจะเข้าไปขอบวชในพระอุโบสถจึงค่อยโกนหัว ซึ่งต่างจากคนไทยทุกวันนี้ที่ให้นาคโกนหัวก่อนแล้วค่อยแห่นาค
หน้าปกหนังสือเรื่อง เที่ยวเมืองพม่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) เมื่อปีจอ พ.ศ. 2489 (ภาพ: Wikipedia)
จึงเป็นกุศโลบายประการหนึ่งให้เราทั้งหลายได้คิดว่า นาคที่แปลว่าเปลือยนั้น อาจหมายถึงการเปลือยแล้วซึ่งทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสมบัติพัสถาน ความอยากได้ใคร่มีต่าง ๆ รวมถึงเส้นผมขนคิ้ว ตลอดจนความงดงามต่าง ๆ บนร่างกาย เพราะทุกอย่างล้วนมีขึ้นมาแล้ว ย่อมต้องมีหมดไปเป็นธรรมดา จึงไม่มีความจำเป็นอันใดต่อไปอีก
ป.ล. การบวช ต้องเกิดความสมัครใจและความตั้งใจที่แท้จริงเท่านั้น อย่าไปบังคับกันเชียว เดี๋ยวจะกลายเป็นการบวชแบบไร้ประโยชน์ไป นอกจากบุญจะไม่เกิดแล้ว แต่บาปจะถามหาแทนอีก ด้วยประการฉะนี้ ฯ
อ้างอิง:
  • "เค ร้อยล้าน" สึกแล้วกลับมาบวชใหม่ได้ ไม่ผิดปาราชิก เตือนอุปัชฌาย์กวดขันพระใหม่ (คลิป) โดย ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2721582)
  • ‘เบนซ์’ เปิดใจ ‘ไฮโซปอ’ สามี บวชพราหมณ์ ยันไม่ใช่ลบกระแสสังคม แต่เพื่ออุทิศส่วนกุศล โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.matichon.co.th/entertainment/news_3236736)
  • "พระนรวิชญ์" บวชให้ "หมอกระต่าย" มีคดี-คนตาย บวชได้ยังไง? โดย กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/news/news_update/984458)
  • บทความวิจัย เรื่อง รูปแบบประเพณีการบวชนาคช้างของชุมชนชาวกวยในจังหวัดสุรินทร์ โดย พระอธิการสายแพร กตปุญฺโญ, พระมหามิตร ฐิตปญฺโญ และพระโสภณพัฒนบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น (https://so03.tci-thaijo.org/index.php/journal-peace/article/download/240407/164496/835746)
  • พระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ โดย 84000.org (https://84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=04&A=3517&Z=3550)
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ : นาคไม่ใช่คน พุทธปะทะผี แล้วต่อรอง ในพิธีบวชนาค โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.matichon.co.th/columnists/news_216181)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#บวชพระ #นาค
โฆษณา