21 ธ.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

จาก “บางกอก” สู่ “กรุงเทพมหานคร”

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างมากในช่วงเวลาหนึ่ง เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเมืองหลวงของประเทศไทย “กรุงเทพมหานคร” จาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakorn แล้วให้คำว่า Bangkok อยู่ในวงเล็บต่อท้าย เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ก่อนที่ทางราชบัณฑิตยสภาจะออกมาชี้แจงในเวลาต่อมาว่าสามารถใช้ทั้ง 2 ชื่อ จึงเป็นคำถามที่ค้างขาใจใครหลาย ๆ คนว่าทำไมอยู่ ๆ ถึงจะมาเปลี่ยนกันง่าย ๆ แบบนี้
นอกจากนั้น จากที่ได้มีการศึกษาพบว่า เมืองหลวงของประเทศไทยมิได้มีแต่ “กรุงเทพมหานคร” อย่างเดียวนับตั้งแต่ที่มีการสถาปนาเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2325
ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยอยุธยา กรุงเทพมหานคร เมื่อก่อนนี้มีความสำคัญอย่างมากในฐานะเส้นทางออกสู่ทะเลและสถานีการค้าขนาดเล็กที่เอาไว้ติดต่อค้าขายกับอาณาจักรต่าง ๆ แล้วยังเป็นเมืองหน้าด่านขนอน คอยดูแลเก็บภาษีกับเรือสินค้าทุกลำที่ผ่านเข้าออก ซึ่งชาวต่างประเทศจะเรียกพื้นตรงนั้นว่า “บางกอก” สันนิษฐานว่า มาจากลักษณะของความคดเคี้ยวไปมาของแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทำให้บางพื้นที่มีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกรวมกันว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก”
หรือไม่ก็เป็นเพราะบริเวณนี้มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า “บางมะกอก” ซึ่งบางมะกอกนี้ ก็เดิมเป็นชื่อของวัดอรุณราชวราม และต่อมาก็ได้มีการกร่อนคำลงเหลือแต่ “บางกอก” (หรือก็คือ Bangkok ในทางภาษาอังกฤษ)
พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (ภาพ: Wikipedia)
ส.พลายน้อย ได้กล่าวถึง “บางกอก” ว่า เป็นคำที่ชาวบ้านเรียกติดปากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นเพียงตำบลที่มีหมู่บ้านใหญ่แห่งหนึ่งเท่านั้น ตำบลบางกอกที่กล่าวนี้ เป็นตำบลที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาเดิม ก็ลำน้ำเจ้าพระยาเดิมนั้นไม่ตรงเหมือนเช่นทุกวันนี้
อนึ่ง นาม “อยุธยา” เป็นนามที่ได้รับการตั้งใหม่ หลังจากที่กาฬโรคระบาดได้สิ้นฤทธิ์หมดแล้วตามธรรมชาติ ในปี พ.ศ. 1893 เพื่อเป็นการแก้อาถรรพ์ จึงได้มีการอาศัยนามอันศักดิ์สิทธิ์ว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” แปลว่า เมืองอันเป็นที่สถิตของเทวดาและนางฟ้า ซึ่งมีประตูนับไม่ถ้วนเป็นกำแพงและไม่มีผู้ใดเอาชนะได้ นอกจากนั้นยังมีนามอื่น ๆ ที่พยายามสื่อถึงความเป็นอาณาจักรของเหล่าทวยเทพ มีความงามอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ รวมถึงการเป็นอาณาจักรที่ไม่มีผู้ใดสามารถเอาชนะได้ ประกอบด้วย
  • กรุงเทพมหานครบวรทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานี บุรีรมยอุดมมหาสถาน
  • กรุงศรีอโยธิยามหาดิลกนพรัตนบุรีศรีมหานครบวรณราชธานีบุรีเลิงรม
  • กรุงเทพมหานครทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์
นอกจากนั้น ยังมีอีกนามหนึ่งที่เรียกขานกัน และปรากฏอยู่ตามพงศาวดารต่าง ๆ ว่า “กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร” โดยนำเอาชื่อและความหมายให้มีความสอดคล้องกับพระราม ซึ่งเป็นทั้งอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ และความเป็นสมมติเทพตามคติเทวราชาของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา โดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2209 (ภาพ: Wikipedia)
จะเห็นได้ว่า “กรุงเทพ” เป็นนามที่ปรากฏมาตั้งสมัยอยุธยาแล้ว
หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้กอบกู้อิสรภาพคืนจากพม่า และปราบชุมนุมต่าง ๆ สิ้นลงแล้ว มีพระราชประสงค์ที่จะย้ายราชธานี โดยให้มาตั้งแห่งใหม่ที่ตำบลบางกอก แล้วสถาปนาเป็น “กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร” พร้อมกับโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้นทางทิศใต้ของกรุงธนบุรี ขนาบข้างด้วยวัดแจ้ง หรือวัดมะกอก (วัดอรุณาราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2313
พระราชวังกรุงธนบุรี หรือพระราชวังเดิม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้สร้างขึ้นในเขตที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์ (ภาพ: ประชาชาติธุรกิจ)
พอสิ้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 สมเด็จพระเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบดาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ปฐมกษัตริย์พระบรมราชวงศ์จักรี จึงโปรดให้ย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันออกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยทรงพระราชดำริว่า กรุงธนบุรีมีลักษณะเป็นเมืองอกแตก ชัยภูมิไม่เหมาะสมแก่การป้องกันข้าศึกศัตรู ประกอบพื้นที่กรุงธนบุรีมีลักษณะเป็นท้องคุ้ง น้ำเซาะตลิ่งอยู่เสมอ และตั้งอยู่ในพื้นที่อุปจารระหว่างวัดมะกอกกับวัดท้ายตลาด ไม่เหมาะแก่การขยายพระราชอาณาเขตและพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน
ด้วยเหตุนั้น จึงโปรดให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น พร้อมกับการสร้างพระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระยาธรรมาธิกรณ์และพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองงานควบคุมไพร่พลในการกะวัดที่ดินและก่อสร้าง และประกอบพิธียกเสาหลักเมืองตามราชประเพณี เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2325
พร้อมพระราชทานนามราชธานีแห่งนี้ว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” เพื่อเป็นการรื้อฟื้นบรรยากาศและจะได้สืบมรดกความรุ่งเรืองต่อมา จนได้ชื่อว่าเป็น “อยุธยาแห่งใหม่”
แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกั้นระหว่างพื้นที่ฝั่งธนบุรี (ตะวันออก) และพระนคร (ตะวันตก) (ภาพ: TDRI)
หลังจากนั้น ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2328 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้พระราชทานนามแก่พระนครแห่งใหม่อย่างเป็นทางการว่า
“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้เปลี่ยนจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์” ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้
พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร เป็นที่สถิตของพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นนครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมันคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้
นอกจากกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ แล้ว ยังมีอีกนามหนึ่ง เช่นที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดี ศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมพระราชนิเวศน์มหาสถาน”
พระบรมมหาราชวัง และศาลเมืองกรุงเทพมหานคร (ภาพ: blankcanvas.travel)
แล้วราชธานีแห่งนี้ก็ได้ตั้งมั่นเรื่อยมา จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชประสงค์ที่จะนำการปกครองแบบคณะกรรมการมาใช้ช่วงหนึ่ง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้เปลี่ยนฐานะกรมเวียงขึ้นเป็นกระทรวงเมือง แล้วมาเป็นกระทรวงนครบาลตามลำดับ
ทำหน้าที่ในการปกครองกรุงเทพมหานครและธนบุรี รวมทั้งหัวเมืองใกล้เคียง เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครเขื่อนขันธ์ (อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) สมุทรปราการ ธัญญบุรี (อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี) และมีนบุรี (หนึ่งในเขตกรุงเทพมหานคร) เรียกรวมกันว่า “มณฑลกรุงเทพ”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำการปกครองแบบสุขาภิบาล มาทดลองใช้เพื่อเป็นพื้นฐานในการปกครองตนเองสำหรับประชาชนในอนาคต จนในปี พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดให้มีการรวมกระทรวงนครบาลกับกระทรวงมหาดไทย แล้วจัดตั้งเป็นตำแหน่ง “สมุหพระนคร” ทำหน้าที่ในการปกครอง ดูแลรับผิดชอบมณฑลกรุงเทพมหานคร ที่ประกอบด้วย จังหวัดพระนครธนบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ
แล้วในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกเลิกมณฑลกรุงเทพมหานคร พร้อมกับแยกจังหวัดพระนครธนบุรีออกจากกัน เป็นจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี จากนั้นในปี พ.ศ. 2476 ได้มีการยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลไป เป็นผลให้การบริหารของแต่ละจังหวัดขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย
(ซ้าย) ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดธนบุรี รูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (ขวา) ตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดพระนคร รูปพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ภาพ: Wikipedia)
ถึงในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 ระหว่างการรัฐประหาร (รัฐบาลตัวเอง) ของจอมพลถนอม กิติขจร ได้มีการออกประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 24 ให้รวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเป็นจังหวัดเดียวกัน โดยเรียกว่า “นครหลวงกรุงเทพธนบุรี” (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2514/A/144/816.PDF)
จากนั้น ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ให้รวมกิจการการปกครองทั้งหมดในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เป็นหน่วยการปกครองเดียวกัน คือ “กรุงเทพมหานคร” โดยรวมการบริหารส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน แต่ยังคงมีฐานะเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร และสภากรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้ง (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่: https://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/190/187.PDF)
ทำให้กรุงเทพมหานคร กลายมาเป็นเขตการปกครองพิเศษ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดโครงสร้างการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น จึงกลายมาเป็น “กรุงเทพมหานคร” จนทุกวันนี้
ธงประจำกรุงเทพมหานคร (ภาพ: Wikipedia)
ส่วนชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร ในทางภาษาอังกฤษ (ตัวอักษรโรมัน) คือ
“Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit”
(City of Angels Great City of Immortals, Magnificient City of the Nine Gems Seat of the King, City of Royal Palaces Home of Gods Incarnate, Erected by Visvakarman at Indra’s Behest.)
ซึ่งชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร ได้รับการบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ค โดย กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ (Guinness World Records) ว่า เป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลกถึง 169 ตัวอักษร
ส่วนคำว่า “บางกอก” มาจากการทับศัพท์คำว่า “Bangkok” เป็นภาษาฝรั่งเศส โดยวิศวกรชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอ ลามาร์ (De Lamar) ผู้ควบคุมการก่อสร้างป้อมบางกอก ซึ่งเป็นป้อมดาวขนาดใหญ่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปัจจุบันถูกแปรสภาพกลายมาเป็นโรงเรียนราชินี, มิวเซียมสยาม และบางส่วนของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
เป็นภาพวาดแสดงการปิดล้อมทหารฝรั่งเศสโดยทหารสยามที่บางกอกเมื่อปี พ.ศ. 2231 โดยลูกศรชี้ขึ้นไปทางเรือสำเภาเป็นทิศเหนือ ดังนั้น ตัว M ที่เป็นหมู่บ้าน สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งของกรุงธนบุรีในเวลาต่อมา ส่วนป้อมที่คล้าย ๆ รูปดาวใหญ่ฝั่งตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็น ป้อมวิไชยเยนทร์ หรือ “ป้อมบางกอก” ซึ่งได้ถูกรื้อลงในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ไม่ก็ในสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพ: Wikipedia)
แล้วยังเป็นคำที่สังฆราชฝรั่งเศสใช้เขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีสเป็นประจำ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงชาวต่างประเทศก็ทรงใช้คำนี้ จึงได้ถือเป็นคำทางการตลอดมาด้วย
สำหรับประเด็นของเรื่องราวการเปลี่ยนชื่อนั้น สืบเนื่องจากเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ตามวิวัฒนาโดยราชบัณฑิตยสภาดังนี้
(ภาพ: สำนักงานราชบัณฑิตยสภา)
ทั้งนี้ ราชบัณฑิตยสภาได้ออกมายืนยันว่า สามารถใช้ได้ทั้ง Krung Thep Maha Nakorn และ Bangkok แต่ที่มีการเสนอให้เปลี่ยนแปลงนั้น ก็เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของทางราชการเท่านั้น
อนึ่ง ตามธรรมเนียมที่ทุกจังหวัดของประเทศไทยก็ต้องมีก็คือ “คำขวัญประจำจังหวัด” เพื่อบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และความโดดเด่นที่มีอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งคำขวัญของกรุงเทพมหานคร เผื่อใครหลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบ โดยก่อนหน้านั้น เป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่กรุงเทพมหานครเป็นจังหวัดหนึ่งที่ยังไม่มีคำขวัญอย่างเป็นทางการเฉกเช่นจังหวัดอื่น ๆ คงจะมีแต่ประโยคที่ว่า “ช่วยชุมชนแออัด ขจัดมลพิษ แก้ปัญหารถติด ทุกชีวิตรื่นรมย์” เป็นคำขวัญไปพลางก่อน
จนในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554 ทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีโครงการประกวดคำขวัญกรุงเทพมหานครขึ้น หลังจากนั้นก็ได้มีการเฟ้นหาคำขวัญที่แสดงออกถึงความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกรุงเทพมหานครได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมที่สุดจนเหลือเพียง 5 คำขวัญสุดท้าย ประกอบด้วย
• คำขวัญที่ 1 “พระแก้วมรกตล้ำค่า เสาชิงช้าคู่เมือง พระมหาราชวังลือเลื่อง เมืองน่าท่องเที่ยวอันดับโลก”
• คำขวัญที่ 2 “กรุงเทพมหานครเมืองฟ้า ความก้าวหน้ารุ่งเรือง ฟูเฟื่องวัฒนธรรม เลิศล้ำความเป็นไทย”
• คำขวัญที่ 3 “พระราชวังสง่างาม พระอารามเพริศแพร้ว พระแก้วมรกตคู่เมือง ที่ท่องเที่ยวลือเลื่อง นามกระเดื่องเมืองหลวงไทย”
• คำขวัญที่ 4 “วัดเวียงวังงามเลิศล้ำ วัฒนธรรมงามเสริมส่ง ราชธานีงามยืนยง สืบธำรงความเป็นไทย”
• คำขวัญที่ 5 “กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัด วัง งามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”
กระทั่งวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 คำขวัญที่มีผลการคัดเลือกมากที่สุดถึง 42,514 คะแนน คือ
“กรุงเทพฯ ดุจเทพสร้าง เมืองศูนย์กลางการปกครอง วัดวังงามเรืองรอง เมืองหลวงของประเทศไทย”
ภาพประชาสัมพันธ์ คำขวัญกรุงเทพมหานคร (ภาพ: Twitter ของ กรุงเทพมหานคร)
จึงกลายเป็นคำขวัญประจำกรุงเทพมหานครมาจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิง:
  • ประวัติศาสตร์การระบาดของโรคร้ายแรงในสยาม (ตอนที่ 1) กาฬโรคและอหิวาตกโรค โดย Hfocus.org (https://www.hfocus.org/content/2020/03/18680)
  • พัฒนาการ “กรุงเทพฯ” เมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก โดย มติชนออนไลน์ (https://www.silpa-mag.com/history/article_38554)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#กรุงเทพมหานคร #บางกอก
โฆษณา