13 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

ถ้าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรม ราษฎรทั้งปวงก็เป็นสุข

แม้ว่าปัจจุบันนี้ สิ่งต่าง ๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายก็ตาม แต่จะมีอยู่สิ่ง ๆ หนึ่งที่ยังคงตั้งตระหง่านเคียงคู่มากับสังคมไทยจนกลายเป็นที่ชินหูและคุ้นตาทุก ๆ คนสืบมาหลายชั่วอายุคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์
สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำหลักนั้น เกิดจากแนวคิดเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยสี่ขั้นพื้นฐานไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน การต่อสู้แย่งชิง จึงเป็นทางออกในการแก้ปัญหา
แต่การใช้กำลังก็ไม่ใช่ทางออกเสมอไป ผู้คนทั้งหลายจึงต้องมีการพิจารณา เพื่อคัดเลือกบุคคลผู้ที่มีความแข็งแกร่งทั้งกายใจ เปี่ยมไปด้วยสติปัญญาและภูมิธรรมอย่างสูงมาทำหน้าที่ในการพิจารณาตัดสิน เมื่อเกิดกรณีปัญหาต่าง ๆ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และเป็นที่น่าพึงพอใจของผู้คนในสังคม
จึงกลายเป็นทั้งที่มา สถานะ ตลอดจน “สัญญะ” ที่สื่อถึงความเป็นพระมหากษัตริย์ในรูปแบบต่าง ๆ ดังที่ปรากฏในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น
พระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “พระเจ้าแผ่นดิน” หรือผู้นำทางการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลจัดสรรที่ดิน และเป็นผู้นำในการลงมือไถนาและหว่านพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยมีรากศัพท์ทางภาษาสันสกฤตมาจากคำว่า เกษตร และภาษาบาลีมาจากคำว่า เขตฺต ที่แปลว่า ที่ดิน ท้องไร่ทุ่งนา
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งพระมหากษัตริย์ ทรงมุ่งหมายให้เป็นตัวอย่างและชักนำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย (ภาพ: มติชนออนไลน์)
พระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “นักรบผู้ยิ่งใหญ่” หรือจอมทัพ ซึ่งมีหน้าที่ในการบัญชาการรบ เพื่อขยับขยายและผนวกดินแดนให้มีความเป็นปึกแผ่นและมั่นคง และยังทรงเป็นมิ่งขวัญให้กับเหล่าทหารหาญทั้งหลาย ทั้งในยามที่บ้านเมืองเป็นปกติสุขและในยามที่บ้านเมืองเกิดภัยสงคราม โดยมีรากศัพท์ทางภาษาสันสกฤตมาจากคำว่า กฺษตฺริย และภาษาบาลีมาจากคำว่า ขตฺติย ที่แปลว่า นักรบ
พระมหากษัตริย์ ทรงอยู่ในฐานะจอมทัพไทย แม้จะมิได้มีหน้าที่ในการบัญชาการรบเช่นในสมัยโบราณแล้ว แต่พระองค์ก็ยังทรงเป็นมิ่งขวัญของเหล่าทหารหาญทั้งหลายทั้งปวง (ภาพ: สำนักงานเลขานุการกองทัพอากาศ)
พระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “พ่อขุน” ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองอย่างใกล้ชิดกับประชาชน ผ่านการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย
การรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย สะท้อนให้ถึงความเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูก (ภาพ: sahavicha.com)
พระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “ธรรมราชา” และ “พระจักรพรรดิราช” ตามคติของพระพุทธศาสนา ฝ่ายเถรวาท ที่ถือกันว่า ผู้คนทั้งหลายจะสามารถอาศัยอยู่ในแผ่นดินภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารโดยปกติสุขได้ ก็ด้วยเพราะพระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระองค์ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา อันประกอบด้วยทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชสังคหวัตถุ รวมถึงการสั่งสมบุญญาธิการมามากพอสำหรับการบรรลุถึงอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเสมอด้วยพระพุทธเจ้า ผู้เป็นใหญ่ในทางธรรม นับเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
การสถาปนาพระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบและดำรงมั่นอยู่ในสมณเพศ ให้มีสมณศักดิ์สูงขึ้นนั้น ถือเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ให้มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นไปโดยเรียบร้อย ตามแนวทางแห่งธรรมราชา (ภาพ: มติชนออนไลน์)
พระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “เทวราชา” หรือสมมติเทพ ตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่ถือกันว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพที่จุติลงมายังมนุษยโลก ซึ่งมีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระราชอำนาจอย่างสูงสุด ผ่านการปกครองที่ได้รับการสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปจนกลายมาเป็น “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์”
ซึ่งต้องมีการรับราชสมบัติผ่านการสืบราชสันตติวงศ์ ดังที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของพระปรมาภิไธยที่ได้จารึกในพระสุพรรณบัฏของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ที่ว่า “บรมชนกาดิศรสมมต” อันแปลว่า พระราชบิดาทรงตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์ ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และ “บรมเชษฏโสทรสมมต” อันแปลว่า พระบรมเชษฐาทรงตั้งให้เป็นพระมหากษัตริย์ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
นอกจากนั้น ยังต้องเป็น “ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากหมู่ชนเป็นอันมาก” ดังส่วนหนึ่งในพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก (รวมถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช) เป็นพระราชพิธีที่แสดงถึงความสมบูรณ์ในฐานะพระมหากษัตริย์ ผ่านพิธีที่สำคัญต่าง ๆ เช่น การสรงพระมุรธาภิเษก (ภาพ: https://www.vajiravudh.ac.th/OVtoVC/OVtoVC_137.htm) การรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระแสงสำคัญ และเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศต่าง ๆ (ภาพ: https://www.matichon.co.th/entertainment/news_1428797) เป็นต้น
พระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “ศูนย์รวมจิตใจของประชาชน” ที่ได้มีความพยายามถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวเรื่อยมาจนทุกวันนี้ ตามแนวพระราชดำริการสร้าง “ชาตินิยม” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ่านบทพระราชนิพนธ์ปลุกใจต่าง ๆ เช่น เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ซึ่งได้กล่าวเอาไว้ว่า
ขอร่ำรำพันบรรยาย ความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน และธรรมคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษะชาติศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธวิชัย วิชิตชูเกียรติสยาม
หรือแม้แต่ “ความเป็นชาติโดยแท้จริง” ความตอนหนึ่งที่ว่า
...ชาติใดเมืองใด มีพระราชาธิบดีครอบครองอยู่โดยมั่นคง จึงนับได้ว่ามีพยานแน่ชัดอยู่ว่ามีอำนาจเต็มบริบูรณ์ มีอิสรภาพเต็มที่ ตั้งอยู่มั่นคง ก็นับว่าเป็นชาติที่มีสง่าราศี เป็นที่นับถือยำเกรงแก่ชาติอื่น ๆ พระราชาธิบดีเป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจ โบราณท่านจึงกล่าวเป็นคำภาษิตว่า “พระราชาเป็นเครื่องปรากฏของแว่นแคว้น…
การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อยังประโยชน์และความเจริญอย่างยั่งยืนมาสู่ประเทศชาติและประชาชน มิได้เป็นการอยู่ในฐานะพระมหากษัตริย์เพื่อทรงดำรงในราชสมบัติอย่างยาวนานโดยเสียเปล่า (ภาพ: สำนักพระราชวัง)
รวมถึงพระมหากษัตริย์ ที่หมายถึง “พระประมุขแห่งรัฐ” ในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีหน้าที่ในการเป็น “ตัวแทน” ของผู้คนในชาติ มีอำนาจเฉพาะในพิธีการ แต่ไม่มีอำนาจในทางการเมืองการปกครอง ดังนั้น สิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติต่าง ๆ ล้วนอยู่ภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คอยถวายการแนะนำและรับรองพระองค์ ตามหลักการ “พระมหากษัตริย์กระทำผิดไม่ได้” (The King Can Do No Wrong)
การเสด็จพระราชดำเนินไปในรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (รวมถึงรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญในฐานะพระประมุข ตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ภาพ: The Cloud)
แต่ไม่ว่าที่มา หรือสถานะ ตลอดจนสัญญะที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในสังคมไทยจะเป็นอย่างไรก็ตามแต่ ย่อมไม่สำคัญเท่ากับการที่จะทำอย่างไรให้สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น สามารถดำรงอยู่คู่สังคมไทยได้ต่อไปตราบนานเท่านาน
เพราะโลกทุกวันนี้หมุนเปลี่ยนผันแปรไปอย่างรวดเร็วมากเหลือเกิน จึงจำอย่างยิ่งที่ทาง “เบื้องบน” ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้มีความทันสมัยเฉกเช่นนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร อย่างเสมอต้นเสมอปลาย และเพื่อความถูกต้องเหมาะสม “ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ด้วยการรับฟังความคิดเห็นจาก “ทุกฝั่งฝ่าย” อย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง พยายามวางพระองค์ให้อยู่เหนือการเมืองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตามภาษิตที่ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” อันจะเป็นการลบล้างข้อกังขาและคำครหาที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ว่า ทรงพยายามใช้พระราชอำนาจในการแทรกแซงการเมือง
ที่สำคัญ พระมหากษัตริย์ควรจะปฏิบัติพระองค์ตามครรลองแห่งทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตร และราชสังคหวัตถุ เพื่อให้พระองค์ทรงได้รับการยกย่องนับถืออย่างเต็มอกเต็มใจของคณาประชาชนทั้งหลายว่า ทรงเป็น “พระราชาผู้ทรงธรรม” โดยแท้
และยังเป็นพลวปัจจัยที่จะเกื้อหนุนให้พระราชปณิธานของพระองค์ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไปนั้น สามารถสัมฤทธิผลดังพระราชหฤทัยปรารถนาได้ทุกประการต่อไป ดังพุทธภาษิตที่ว่า
สพฺพํ รฏฺฐํ สุขํ เสติ ราชา เจ โหติ ธมฺมิโกติ ฯ
ถ้าพระราชาเป็นผู้ทรงธรรม ราษฎรทั้งปวงก็เป็นสุข
พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 19 สุตฺต. ขุ. ชาตกํ (1): เอก-จตฺตาลีสนิปาตชาตกํ
(ภาพ: guideglai.com)
ด้วยประการฉะนี้ฯ
  • “ราชบัลลังก์ของกษัตริย์เมืองไทยเป็นของประชาชนเสมอมา”: ใครทรงไว้ซึ่งอำนาจสถาปนาพระเจ้าแผ่นดิน โดย The 101.World (https://www.the101.world/who-choose-the-kings/)
  • คติความเชื่อเรื่องกษัตริย์คือสมมติเทพ โดย คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (http://kingrama9.th/Crematory/Detail/3)
  • ม.112 : กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ชาติไหนใช้ ชาติไหนเลิก โดย BBC News ไทย (https://www.bbc.com/thai/international-59236360)
  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2560) โดย ราชกิจจานุเบกษา (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2103519.pdf)
  • ราชาชาตินิยมกับการเขียนประวัติศาสตร์ชาติไทย และประวัติศาสตร์กระแสอื่นในฐานะเชิงอรรถ โดย ประชาไท (https://prachatai.com/journal/2020/02/86456)
  • สถานะของกษัตริย์ในสังคมไทย จากพ่อขุนสู่สมมติเทพ มาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรัชกาลที่ ๙ !!! โดย MGR Online (https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000109202)
  • สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ชุด ในหลวงของเรา ตอน จอมทัพไทย (https://www.youtube.com/watch?v=nRAxUkEP2kQ)
  • สารคดีเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดลุยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ชุด เย็นศิระเพราะพระบริบาล ตอนที่ 3 (https://www.youtube.com/watch?v=w43CYKu5KgU&t=3s)
  • เหตุใดต้องยกเลิกอำนาจของกษัตริย์ ในการแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองในที่สาธารณะ โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (https://tlhr2014.com/archives/23454)
  • หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) ตามรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ โดย iLaw (https://www.ilaw.or.th/node/5785)
  • อุดมการณ์ “ชาติ-ศาสน์-กษัตริย์” ของไทย มีที่มาจากอะไร ? โดย มติชนสุดสัปดาห์ (https://www.matichonweekly.com/column/article_350324)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#พระมหากษัตริย์ไทย
โฆษณา