Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
24 ก.ย. 2023 เวลา 20:05 • ประวัติศาสตร์
พระศิวะนาฏราช ปางร่ายรำเพื่อกำเนิดและทำลายทุกสิ่งในจักรวาล
พระศิวะนาฏราช เป็นปางหนึ่งของพระศิวะ (พระอิศวร) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบรมครูแห่งด้านศิลปะการร่ายรำและดนตรี ด้วยจังหวะลีลาการรำของพระศิวะที่งดงามอ่อนช้อย สร้างสรรค์ และน่าเกรงขาม
เหตุที่พระศิวะต้องร่ายรำ มีบันทึกไว้หลายตำนาน เช่นพระศิวะร่ายรำเพื่อสั่งสอนฤาษีในป่าตารกะที่ฝ่าฝืนเทวบัญญัติ ในตำนานโบราณของลัทธิไศวะนิกายกล่าวว่า พระศิวะร่ายรำเพื่อปราบยักษ์มุละกะละ หรืออีกตำนานกล่าวอีกว่า พญาอนันตนาคราชประทับใจในการร่ายรำของพระศิวะเป็นอย่างมาก เมื่อพญาอนันตนาคราชเข้าเฝ้าพระศิวะที่เขาไกรลาสแล้ว พระศิวะได้ตรัสว่าพระองค์จะไปร่ายรำที่โลกมนุษย์ เชื่อกันว่าสถานที่ที่พระศิวะร่ายรำในโลกมนุษย์นั้นอยู่ที่เมืองจิทัมพรัม รัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย
เทวสถานพระศิวะนาฏราช (Nataraja Temple) เมืองจิทัมพรัม รัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย เมืองที่เชื่อกันว่าพระศิวะเสด็จลงมาร่ายรำในโลกมนุษย์
เมื่อพระภรตมุนีได้เห็นท่ารำของพระศิวะ จึงไปทูลพระคเณศ พระโอรสของพระศิวะเพื่อเชิญพระบิดาให้มาร่ายรำเพื่อจดบันทึก "บทนาฏยศาสตร์" โดยท่าฟ้อนรำทั้ง 108 ท่าของพระศิวะ ได้ยึดถือเป็นท่ารำพื้นฐานของบทนาฏยศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นแบบของนาฏศิลป์อินเดีย และแพร่หลายมายังดินแดนต่างๆ รวมถึงไทย
เทวรูปพระศิวะนาฏราช ศิลปะสมัยราชวงศ์โจฬะ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ Los Angeles County Museum of Art สหรัฐอเมริกา (ภาพจากวิกิพีเดีย)
ส่วนกลองที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระศิวะมีชื่อว่า "ทมรุ" มีลักษณะเป็นกลองใบเล็กสองหน้า มีลูกตุ้มยืดสำหรับตีกระทบทั้งสองด้าน ใช้ในการตีให้จังหวะในพิธีมงคล ซึ่งมีอีกชื่อคือ "บัณเฑาะว์" มาจากคำภาษาบาลีคำว่า "ปณวะ" ในประเทศไทยก็ยังได้ใช้บัณเฑาะว์ในการให้จังหวะในพระราชพิธีต่างๆ
ทมรุ หรือ บัณเฑาะว์
สำหรับเทวลักษณะของพระศิวะนาฏราชในศิลปะอินเดีย ประกอบไปด้วย
• พระหัตถ์ขวาบน ถือกลองเล็กๆ หมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในจักรวาล
• พระหัตถ์ซ้ายบน ถืออัคนี (ไฟ) หมายถึงการทำลายล้าง
• พระหัตถ์ขวาล่างแบออก แสดงปางอภัยมุทรา หมายถึงการปกป้อง
• พระกรซ้ายด้านล่าง มีลักษณะคล้ายงวงช้าง เชื่อกันว่าสื่อถึงพระคเณศ ปลายนิ้วที่เป็นงวงช้างจะที่ชี้ไปพระหัตถ์ซ้าย ซึ่งอาจจะสื่อถึงการหลุดพ้นวัฎสงสาร
• พระบาทขวาเหยียบยักษ์มุละกะละ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอวิชชา เป็นการสื่อถึงวิชชา (การรู้แจ้ง)
• วงกลมที่อยู่ล้อมรอบพระศิวะ หมายถึงจักรวาลต่างๆ ทั้งมวล โดยขอบวงกลมด้านนอกจะเป็นเปลวไฟ ขอบวงกลมด้านในจะเป็นน้ำในมหาสมุทร สิ่งที่พระองค์ได้ร่ายรำสื่อได้ว่าการกำเนิดและดับสูญเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พระเกษาที่ยาวสลวยสื่อได้ถึงการละทิ้งทางโลก
ส่วนศิลปะขอมหรือเขมรโบราณ จะสลักรูปพระศิวะนาฏราชไว้ที่ทับหน้าของปราสาทหิน ส่วนทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์
พระศิวะนาฏราช ภายในเทวาลัยสวนลุมไนท์บาซาร์ แยกรัชดา-ลาดพร้าว สถานที่เดียวกันกับที่ตั้งรูปปั้นครูกายแก้วที่เป็นข่าวดัง
ทับหน้าพระศิวะนาฏราช และทับหลังพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
เราทราบกันดีกว่า "พระศิวะ" เป็นหนึ่งในสามมหาเทพสูงสุดที่เรียกว่า "ตรีมูรติ" โดยพระศิวะเป็นมหาเทพแห่งการทำลายล้าง ดังนั้นที่สำนักงานองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเทวรูปพระศิวะนาฏราชที่ได้รับมอบจาก Department Of Atomic Energy (DAE) หรือกระทรวงพลังงานปรมาณูของอินเดียเมื่อปี 2004 ประดิษฐานอยู่ด้วย
2
ซึ่งนั่นก็พอจะเปรียบเทียบให้เห็นถึงอานุภาพของพลังงานนิวเคลียร์กับอานุภาพของพระศิวะนาฏราช ที่สามารถชี้ชะตาพร้อมกำเนิดและทำลายล้างทุกสรรพสิ่งในโลกกับจักรวาลได้อย่างน่าเหลือเชื่อ!
5
องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) รับมอบเทวรูปพระศิวะนาฏราช จาก Department Of Atomic Energy (DAE) หรือกระทรวงพลังงานปรมาณูของอินเดีย ประดิษฐานขึ้นหน้าอาคารสำนักงานฯ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2004 (พ.ศ.2547)
ศาสนา
เรื่องเล่า
ความเชื่อ
บันทึก
5
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย