26 ก.ย. 2023 เวลา 11:27 • ประวัติศาสตร์

วัคซีนแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตจากโรคระบาดโควิด-19 "วัคซีน" คือสิ่งที่จำเป็นและหลายคนพูดถึง
แต่หากพูดถึงประวัติศาสตร์ของวัคซีนนั้นเป็นอย่างไร เราลองมาดูกันครับ
ต้องบอกว่าโรคร้ายแรกๆ ในประวัติศาสตร์อย่างไข้ทรพิษนั้น กว่าจะมีการกำเนิดของวัคซีนก็หลังจากที่ไข้ทรพิษเกิดมาแล้วหลายพันปีเลยทีเดียว
มีบันทึกถึงเรื่องราวของไข้ทรพิษครั้งแรกเมื่อหลายพันปีก่อน โดยมาจากบริเวณแอฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ โดยผู้ที่ป่วยด้วยไข้ทรพิษจะส่งผลให้ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก และเซลล์ผิวหนังเสียหาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการคือมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง มีไข้ และอาเจียน และหากรอดชีวิตก็มักจะมีรอยแผลและสะเก็ดแผลติดตัวไปตลอดชีวิต
1
หากติดไข้ทรพิษนั่นหมายถึงโอกาสเสียชีวิตมีสูงถึง 30% เลยทีเดียว ซึ่งก็เรียกได้ว่าร้ายแรงกว่าโควิด-19 ซะอีก
1
สงครามระหว่างฮิตไทต์และอียิปต์เมื่อ 1,350 ปีก่อนคริสตกาลเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ไข้ทรพิษแพร่ไปทั่ว
กองทัพฮิตไทต์ได้จับตัวเชลยชาวอียิปต์ ซึ่งเชลยเหล่านั้นล้วนป่วยด้วยไข้ทรพิษ และในไม่ช้า ไข้ทรพิษก็ได้ติดต่อกันไปทั่วเมือง ทำให้ผู้คนเสียชีวิตจำนวนมากรวมถึงองค์ฟาโรห์ก็สวรรคตจากไข้ทรพิษ
1
ต่อมาไข้ทรพิษก็ได้แพร่ไปทั่วโลกผ่านพ่อค้าชาวอียิปต์ กองทัพครูเสด และนักล่าอาณานิคมจากสเปนและโปรตุเกส ซึ่งในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ก็มีผู้คนเสียชีวิตจากไข้ทรพิษนับพันล้านคน โดยในสมัยศตวรรษที่ 20 ก็มีผู้เสียชีวิตจากไข้ทรพิษไปกว่า 400 ล้านคน
1
ในสมัยโบราณยังไม่มีวัคซีน แต่ก็มีความพยายามที่จะทำให้คนมีภูมิคุ้มกันโรค
เมื่อปีค.ศ.1022 (พ.ศ.1565) มีบันทึกว่าแม่ชีซึ่งอาศัยอยู่บนเขาในแถวตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้คิดหาวิธีจะป้องกันผู้คนจากไวรัสนี้
แม่ชีรูปนี้ได้นำสะเก็ดแผลของผู้ที่รอดจากไข้ทรพิษ นำมาบดรวมกันเยอะๆ ก่อนจะให้คนนำไปสูดดมโดยเชื่อว่าจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากฟังอย่างนี้อาจจะดูบ้า แต่ไม่น่าเชื่อว่ามันได้ผล
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 แพทย์ก็ได้กระทำด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน คือนำสะเก็ดแผลของผู้ป่วยไข้ทรพิษ นำมาแปะลงบนแผลของผู้ที่ไม่ได้เป็นไข้ทรพิษ ซึ่งวิธีการนี้เรียกว่า "Variolation"
แต่ถึงแม้วิธีการนี้จะได้ผล แต่ด้วยความที่ในเวลานั้นยังไม่มีการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ ทำให้ผู้ที่รับสะเก็ดแผลมาต่อก็มีโอกาสเสียชีวิตประมาณ 3% และก็ต้องรออีกประมาณกว่า 90 ปีต่อมา วัคซีนแรกในประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก "วัว" และ "หญิงรีดนมวัว"
"เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner)" เป็นแพทย์ชาวอังกฤษผู้เกิดในปีค.ศ.1749 (พ.ศ.2292) โดยเขานั้นเคยฝึกงานกับแพทย์ชนบท และในช่วงที่ฝึกงานนี้เอง เขาเกิดไปได้ยินหญิงรีดนมวัวรายหนึ่งกล่าวว่า
"ฉันจะไม่มีวันเป็นไข้ทรพิษ เนื่องจากฉันเป็นไข้ฝีดาษวัวแล้ว ดังนั้นฉันจะไม่มีวันมีใบหน้าที่หน้าเกลียด มีจุดเต็มหน้าไปได้"
ไข้ฝีดาษวัวเป็นโรคที่เกิดในผิวหนังวัว มีลักษณะคล้ายกับไข้ทรพิษ และเจนเนอร์ก็สังเกตได้ว่าหญิงรีดนมวัวนั้นได้รับไวรัสไข้ฝีดาษวัว และไม่เคยติดไข้ทรพิษเลย และไข้ฝีดาษวัวนั้นก็ร้ายแรงน้อยกว่าไข้ทรพิษมาก
1
เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner)
เจนเนอร์ได้ทดลองเอาตัวอย่างไวรัสไข้ฝีดาษวัว นำไปฉีดให้แก่ลูกชายวัยแปดขวบของคนสวนของตน ก่อนที่ในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เขาก็ได้นำไวรัสไข้ทรพิษไปฉีดยังเด็กชายคนเดิม ซึ่งถึงแม้การกระทำของเขาจะไม่ถูกต้องนัก แต่ทฤษฎีที่เขาคิดไว้ก็ถูกต้อง เด็กชายไม่ติดไข้ทรพิษ
จากนั้นเจนเนอร์ก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่คนอื่นๆ และผลก็เป็นอย่างเดียวกัน
เจนเนอร์ได้ตั้งชื่อสิ่งที่ตนเพิ่งคิดค้นว่า “วัคซีน (Vaccine)” ซึ่งมาจากภาษาละติน “วัคคา (Vacca)” ซึ่งแปลว่า “วัว”
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของวัคซีน
ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) องค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศถึงการสูญสิ้นไข้ทรพิษอย่างเป็นทางการ ซึ่งวัคซีนนั้นก็เป็นส่วนสำคัญเลยทีเดียว
กว่าวัคซีนจะถือกำเนิดขึ้นได้ก็ต้องใช้เวลาหลายพันปีเลยทีเดียว โดยทั้งหมดก็มีจุดเริ่มต้นจากวิทยาศาสตร์ วัว และหญิงรีดนมวัว
1
โฆษณา