26 ก.ย. 2023 เวลา 08:00 • สิ่งแวดล้อม

ไทยติดอันดับ 43 โลก ประเทศที่มีการพัฒนายั่งยืน (SDGs) ผลคะแนนอยู่ใน 'ระดับดี'

การจัดอันดับ SDGs ล่าสุดปี 2023 ไทยติดอันดับที่ 43 จากทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่ง SDGs (Sustainable Development Goals) คือ เป้าหมายในการ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติ (UN) เพื่อทำให้โลกดีขึ้นภายในปี 2030
ดร.ลัษมณ อรรถาพิช กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล เล่าผ่านบทความของกรุงเทพธุรกิจว่า ตนมีโอกาสได้ไปสนทนาแลกเปลี่ยนกับ SDG Lab (Sustainable Development Goals Lab) หน่วยงานที่ตั้งอยู่ในสำนักงานสหประชาชาติ นครเจนีวา โดยได้พูดคุยกับ SDG Lab ใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่
📌ประเด็นแรก คือ สถานะการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบของ SDGs 2030 ณ จุดที่เดินมาถึงครึ่งทาง นับแต่วันที่สหประชาชาติประกาศ Agenda 2030 เมื่อปี 2015
📌ประเด็นที่สอง คือ หลังจากปี 2030 แล้ว ประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศต่างๆ ในโลกนี้จะขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป ควรจะมีหน้าตาอย่างไร
จากรายงาน The Sustainable Development Goals Report 2023 พบว่า จาก Goal หรือเป้าหมาย 17 ข้อหลัก อันประกอบด้วย Target หรือเป้าประสงค์ 169 ข้อย่อยนั้น กว่าครึ่งหนึ่งของเป้าประสงค์ยังไม่บรรลุตามกำหนด ตัวอย่างเช่น
⚠️ เป้าหมายด้าน “การยุติความอดอยากหิวโหยและการมีความมั่นคงด้านอาหาร” พบว่าในปัจจุบันราคาอาหารพุ่งขึ้นสูงกว่าช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินการตาม SDGs
⚠️ เป้าหมายด้าน “การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม” คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี 2030 โลกเราจะมีเด็กที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาถึง 84 ล้านคน ในขณะที่นักเรียน 300 ล้านคน จะไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ในระดับที่พึงจะเป็น และนี่ยังไม่ต้องพูดถึง
⚠️ เป้าหมายด้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งความพยายามที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกที่ 1.5 องศาเซลเซียส ยังคงเป็นไปได้ยาก
สาเหตุที่ทำให้ SDGs ขับเคลื่อนไปได้ยากกว่าที่คิดไว้ ก็เนื่องจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าประสงค์หลายๆ ข้อเป้าหมาย
ดังนั้น ในที่ประชุมจึงหารือกันและได้ข้อสรุปว่า ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเร่งรัด จริงจัง และมีนโยบายภาครัฐที่เหมาะสมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้นแล้ว การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมในภารกิจนี้เ โดยจากการประเมินผลการดำเนินงานตามรายงาน “Rankings
The overall performance of all 193 UN Member States” พบว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศ ในการดำเนินการตาม SDGs 2030 โดยประเทศไทยมีผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนอยู่ใน “ระดับดี”
ทั้งนี้เป็นผลมาจากการทีประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจตาม 2 หลักแนวคิดคือ 1.หลักการเศรษฐกิจพอเพียง และ 2. แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ทาง SDG Lab จึงได้ให้ความสนใจกับทั้ง 2 แนวคิดของไทยดังกล่าว นำไปสู่การพูดคุยกันถึงทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก ภายหลัง SDGs 2030 ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในอีก 7 ปีข้างหน้า ซึ่ง SDG Lab เห็นว่า ประเทศไทยสามารถมีบทบาทในการช่วยกำหนดทิศทางของ “SDGs 2.0” ได้
ด้วยเหตุที่แนวคิด Beyond GDP นี้ มีความสอดคล้องกับแนวคิดของประเทศไทยที่โลกได้รู้จักอยู่บ้างแล้วไม่มากก็น้อย ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ ว่าหากประเทศไทยมุ่งมั่นและจริงจังในเรื่องนี้ การที่ไทยจะมีบทบาทสำคัญในก้าวต่อไปจาก SDGs 2030 คงจะดีเป็นอย่างยิ่ง
*หมายเหตุ: SDG Lab ตั้งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงและรวบรวมความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน Sustainable Development ของหน่วยงานภายใต้ร่มสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรพันธมิตร เพื่อช่วยประชาคมโลกในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs (มี 17 ข้อ) ภายในปี 2030 นอกจากนี้ SDG Lab ยังเป็นหน่วยงานที่ช่วยขบคิดในภาพอนาคตของการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายหลังจากปี 2030 อีกด้วย
โฆษณา