27 ก.ย. 2023 เวลา 12:45 • ข่าว

‘หนุ่ม คงกะพัน’ ยืนยัน ‘เพชรบลูไดมอนด์’ ไม่มีอยู่จริง

แค่กระแสข่าวที่ตีแผ่ จนทำให้เกิดการเข้าใจผิด
เมื่อไม่นานนี้ ‘พี่หนุ่ม คงกะพัน แสงสุริยะ’ นักแสดงและพิธีกรชาวไทย ได้ออกมาเล่าย้อนความคดีดังในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ‘คดีเพชรซาอุฯ’ ผ่านรายการ ‘แฉ’ ตอน ความลับ 30 ปี ‘เพชรซาอุฯ บลูไดมอนด์’ โจรกรรมสะท้านโลก ออกอากาศเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 66 ดำเนินรายการโดย มดดำ คชาภา, ดีเจดาด้า และ น็อต วรฤทธิ์
โดยพี่หนุ่มได้เล่าว่า เรื่องราวทั้งหมดนั้น ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2532 หรือเมื่อ 34 ปีก่อน ‘นายเกรียงไกร เตชะโม่ง’ (ปัจจุบันเปลี่ยนนามสกุลเป็น ‘เกรียงไกร มงคลสุภาพ’) อดีตคนงานไทย ตำแหน่งพนักงานทำความสะอาดประจำพระราชวังของ ‘เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาฮัด อัล ซะอูด’ แห่งซาอุดีอาระเบีย ได้ทำการขโมยเพชรและเครื่องประดับ โดยเริ่มจากการฉกฉวยของมีค่าเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น ช้อนส้อมที่ทำจากทองคำขาว ซึ่งก็นับว่ามีมูลค่ามากแล้ว
หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ขโมยของชิ้นใหญ่มากขึ้น จนกลายเป็นการโจรกรรมเครื่องเพชรกว่า 4 กระสอบ น้ำหนักรวมกันกว่า 91 กิโลกรัม หอบหนีกลับประเทศไทย โดยสาเหตุของจุดเริ่มต้นเกิดจากการที่นายเกรียงไกรเสพติดการเล่นพนัน และต้องหาเงินมาจ่ายเจ้าหนี้ จนนำไปสู่การโจรกรรมเพชรล็อตใหญ่จากราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย
หลังโจรกรรมสำเร็จ นายเกรียงไกรได้กระจายเพชรที่ขโมยมาได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ไปยังร้านค้าเพชรและตลาดเพชรพลอยทั่วประเทศ โดยรายงานของตำรวจพบว่า ร้านของ ‘นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์’ พ่อค้าเพชรย่านบ้านหม้อ เป็นแหล่งใหญ่สุดในการรับซื้อเพชรจากเกรียงไกร และขายต่อไปยังพ่อค้ารายย่อย-กลุ่มบุคคลต่างๆ นายสันติจึงเป็นผู้กุมความลับเรื่องการกระจาย ‘เพชรซาอุฯ’
ต่อมา ได้มีการอุ้มหายภรรยาและลูกชายของนายสันติ จากการวิธีการเค้นสอบนอกรีตด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจคนสนิทของ ‘พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ’ ผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจในเวลานั้น ที่ต้องการจะไล่ล่าหาเครื่องเพชรส่งคืนซาอุฯ เพื่อกู้หน้าและเรียกคืนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยและวงการตำรวจ
จนในที่สุด ‘พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์’ อดีตผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 นักสืบมือฉกาจ ผู้ได้รับฉายา ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เมืองไทย’ ได้ตามสืบจนสามารถนำส่งคืนราชวงศ์ซาอุฯ ได้จำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ พี่หนุ่มได้เล่าว่า ‘เพชรบลูไดมอนด์’ ในตำนานนั้น ‘ไม่มีอยู่จริง’ แต่เพชรที่ทางราชวงศ์ซาอุฯ ต้องการได้รับคืน คือ ‘สร้อยพลอยสีแดงเม็ดใหญ่’ ที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งใช้ประกบพิธีละหมาด รวมถึงสร้อยไข่มุก โดยข้อเท็จจริงนี้ ทางการของประเทศซาอุดีอาระเบียก็ได้มีการออกมายืนยันแล้วเช่นกัน ว่าไม่ได้มี ‘เพชรบลูไดมอนด์’ ปรากฎอยู่ในรายชื่อของมีค่าที่ถูกขโมยแต่อย่างใด เรื่องราวและตำนานอาถรรพ์ทั้งหมดนั้น ถูกนำเสนอโดยสื่อในขณะนั้น ที่ต้องการจะตีกระแสข่าวจนทำให้เกิดการเข้าใจผิด
อีกทั้ง พล.ต.ต.วีระศักดิ์ ยังได้เคยออกมาเปิดเผยว่า สิ่งที่ราชวงศ์ซาอุฯ ต้องการมากที่สุด คือ ‘อัลบั้มภาพถ่ายครอบครัวของราชวงศ์’ ซึ่งเป็นความทรงจำที่สามารถประเมินค่าได้ และหาสิ่งใดมาทดแทนไม่ได้ เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีพัฒนาการในการเก็บไฟล์ภาพแบบดิจิทัล การจะเก็บรักษาภาพถ่าย คือต้องนำภาพถ่ายมาอัดล้าง และเก็บรักษาไว้ในอัลบั้มเท่านั้น
1
โดยอัลบั้มภาพถ่ายแห่งความทรงจำของราชวงศ์ซาอุฯ นั้น ได้ถูกนายเกรียงไกรขโมยติดมือมาพร้อมกับเครื่องเพชรด้วย และต่อมา นายเกรียงไกรหวาดระแวง กลัวจะถูกตามรอยสืบสวนสาวเบาะแสมาถึงตนได้ จึงทำการ ‘เผา’ อัลบั้มภาพถ่ายเป็นการทำลายหลักฐานจนสิ้นซาก
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นการโจรกรรมสะท้านโลก สะเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย จนเกิดเป็นรอยร้าวฉานยาวนานกว่า 30 ปี ก็ได้จบลง ภายใต้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ค่อยๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยฝีมือการบริหารของรัฐบาลในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หรือ ‘ลุงตู่’ ที่พยายามติดต่อ เจรจาในทุกมิติกับทางซาอุฯ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถฟื้นสายใยสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้อีกครั้ง
โฆษณา