27 ก.ย. 2023 เวลา 11:52 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

การใช้เทปปิดปากของ ฮาลันด์ ช่วยให้โชว์ฟอร์มเทพได้จริงไหม? | Main Stand

นับตั้งแต่ย้ายมาร่วมทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ทำประตูในพรีเมียร์ลีกไปแล้ว 44 ลูก จากการลงสนามเพียง 41 เกม และยังไม่มีวี่แววว่าศูนย์หน้าวัย 23 ปีรายนี้จะหยุดโชว์ฟอร์มเก่งในเร็ววัน
มีหลายปัจจัยอยู่เบื้องหลังฟอร์มการเล่นระดับสิบล้อเบรกแตกของฮาลันด์ แต่หนึ่งในนั้นคือ “การหายใจผ่านจมูก” โดยที่ศูนย์หน้าชาวนอร์เวย์จะลงฝึกซ้อมด้วยการใช้เทปปิดปากตัวเอง รวมถึงในช่วงเวลาที่นอนหลับ
การนอนหลับนั้นสำคัญไฉน และการใช้เทปปิดปากของฮาลันด์ช่วยให้เขาระเบิดฟอร์มเก่งออกมาได้จริงหรือ ร่วมไขคำตอบผ่านหลักทางวิทยาศาสตร์ไปพร้อมกับ Main Stand
หลับดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
การหลับพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับนักกีฬาอาชีพ ถึงระดับที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน อดีตกุนซือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องมาเฝ้าจับตามองนักเตะขณะขับรถเข้ามายังสนามซ้อม โดย ไมเคิล เคล็กก์ โค้ชด้านพละกำลังและความแข็งแกร่ง เปิดเผยว่า “เขาทำแบบนี้ทุกวันเพื่อดูว่าใครดูอ่อนล้าหรือทะเลาะกับแฟนผ่านมือถือระหว่างขับรถมา เพราะผลลัพธ์ที่ได้เมื่อเทียบกับคนที่เข้ามาอย่างผ่อนคลายนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง”
หลายสโมสรก็ให้ความสำคัญกับการนอนหลับ โดย เบรนท์ฟอร์ด ถึงขั้นจ้าง แอนนา เวสต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ พักผ่อน และฟื้นฟูร่างกาย เข้ามาทำงานร่วมกับสโมสรตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ เบรนท์ฟอร์ด เลื่อนชั้นขึ้นมาสู่ลีกสูงสุดและยังโชว์ฟอร์มได้ค่อนข้างน่าประทับใจในปัจจุบัน
งานวิจัยของเวสต์ พบว่า “การนอนหลับไม่เพียงพอสามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ลดลงในสนาม มีสภาพจิตใจที่แย่ลง รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ดำเนินการได้น้อยกว่าปกติ นำไปสู่ความสามารถในการเพ่งสมาธิและให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ ได้น้อยลง พร้อมกับทำให้รู้สึกอ่อนล้าและเจ็บปวดได้ง่ายกว่าเดิม”
สโมสรต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนของนักเตะตนเอง อาทิ โมนาโก ที่ทั้งทุ่มงบประมาณ 55 ล้านปอนด์ไปกับศูนย์พัฒนาศักยภาพ เพื่อให้นักฟุตบอลฟื้นฟูร่างกายและพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับการปรับตารางซ้อมของวันรุ่งขึ้นหลังจบการแข่งขัน เพื่อให้นักเตะสามารถใช้เวลากับตัวเองและหลับอย่างเต็มที่
ขณะที่ ฮัดเดอร์สฟิลด์ สโมสรในระดับแชมเปียนชิพของอังกฤษ ที่มีตารางแข่งขันค่อนข้างแน่นก็จะเรียกนักเตะเข้ามาฝึกซ้อมตั้งแต่เช้าอยู่ตามเคย แต่จะสิ้นสุดการซ้อมในช่วงบ่ายโมงครึ่ง เพื่อให้ผู้เล่นกลับบ้านไปนอนกลางวันต่อได้ รวมถึงวันก่อนแข่งที่จะมีการเว้นช่วง 13:00 - 16:00 น. เพื่อให้นักเตะได้นอนหลับพักผ่อน
เทปปิดปากช่วยอะไร ?
กลับมาที่การเตรียมร่างกายเพื่อนอนหลับของฮาลันด์ ผู้เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาใส่แว่นกรองแสงสีฟ้าในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน พร้อมกับปิดสัญญาณเชื่อมต่อ (ของอุปกรณ์สื่อสาร) ทุกอย่างในห้องนอนตัวเอง เพื่อช่วยให้เขานอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือการใช้เทปปิดปากตัวเองตอนนอน
ในที่นี้ฮาลันด์ไม่ได้พยายามจะโคฟเวอร์เพลง “รักคุณยิ่งกว่าใคร” ของ ก๊อท จักรพันธ์ แต่อย่างใด ทว่านี่คือสิ่งที่นักกีฬาบางคนเริ่มนำไปใช้ในการฝึกซ้อม และมีโค้ชด้านการหายใจอย่าง แพทริค แมคคีน ออกมาเปิดเผยว่า “การใช้เทปปิดปากระหว่างฝึกซ้อมมีมานานกว่า 25 ปีแล้ว”
ทั้งนี้การนำเทปไปปิดปากนั้นไม่ควรแปะไปตรงกลางโดยตรง จากคำแนะนำเรื่องความปลอดภัยของแมคคีน โดยเขาแนะว่าควรนำเทปแปะรอบริมฝีปากบนและล่างให้แนบติดกันแทน
ปัญหาจากการหายใจทางปากนั้นมีตั้งแต่การได้รับฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากไม่มีขนจมูกที่คอยดักกรองไว้ ความเสี่ยงเกิดกลิ่นปาก เกิดการสูญเสียน้ำมากกว่า ไปจนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดกระดูกสันหลังส่วนล่างมากกว่าการหายใจผ่านจมูก
1
แมคคีน ระบุว่า “ถ้าคุณอ้าปากหายใจระหว่างนอนหลับ คุณจะใช้เวลาไปกับการหลับตื้นเป็นส่วนมาก และมีช่วงเวลาหลับลึกน้อยเกินไป ซึ่งช่วงหลับลึกเป็นเวลาที่ร่างกายและสมองได้ฟื้นฟูตัวเอง”
“จมูกคืออวัยวะเดียวในร่างกายของมนุษย์ที่ทำหน้าที่หายใจเข้าออก ปากไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อสิ่งนั้น มันมีไว้เพื่อกิน พูด ดื่ม ส่วนจมูกมีไว้เพื่อดมกลิ่นและหายใจ”
ด้าน เจฟฟ์ คาห์น ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เปิดเผยว่า “การหายใจทางปากระหว่างนอนหลับทำให้ปากและคอแห้ง จนอาจนำไปสู่การนอนกรนและปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา ในขณะที่การหายใจผ่านจมูกนั้นช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในเลือด และนำไปสู่การนอนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
เมื่อการเอาเทปปิดปากนอนดูจะช่วยให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นขนาดนี้ แล้วคืนนี้เราควรเอาเทปมาแปะปากตัวเองเลยหรือไม่ ?
ช่วยจริงใช่ไหม ?
เรื่องแรกที่ถูกนำมาโต้แย้งคือยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่นำเอาประเด็นของเทปปิดปากไปศึกษาผลกระทบที่มีต่อการนอนหลับอย่างจริงจัง เพราะข้อมูลที่เราได้รับในข้างต้นต่างเป็นข้อดีของการหายใจผ่านจมูก ซึ่งการใช้เทปปิดปากเป็นหนึ่งในวิธีบังคับให้ร่างกายหายใจผ่านจมูกได้เช่นกัน
ดร. โทนี่ โกเลน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชวิทยา และอาจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ตอบคำถามในประเด็น ‘การปิดปากช่วยบรรเทาการนอนกรนได้หรือไม่ ?’ ไว้ว่า “น่าเสียดายที่โซเชียลมีเดียเต็มไปด้วยคำแนะนำทางการแพทย์ที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และประเด็นนี้ก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน”
“แม้การหายใจผ่านจมูกในระหว่างตื่นนอนจะมีข้อดีมากมาย ทั้งการหายใจช้าลง ช่วยป้องกันเชื้อเข้าร่างกาย และลดอาการตื่นตระหนกลงได้ แต่การนำเทปปิดปากตอนนอนอาจมีความเสี่ยงต่อการหายใจติดขัด ตื่นกลางดึก หรือระคายเคืองทางผิวหนังได้ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยมารองรับ (การนำเทปปิดปากตอนนอน) และอาจมีความเสี่ยงเรื่องการลดปริมาณความเข้มข้นของออกซิเจนในร่างกายอีกด้วย”
กลับมาที่ แมคคีน ผู้ฝึกสอนนักเทนนิส นักจักรยาน นักฟุตบอล และนักสู้ MMA กับเทคนิคการใช้เทปปิดปากระหว่างลงซ้อม บอกว่าการหายใจผ่านจมูกสามารถช่วยรีดศักยภาพ 1% ที่นักกีฬาอาชีพต่างพยายามเค้นฟอร์มออกมาให้ได้ แต่ก็เน้นย้ำว่า “เราไม่ได้ต้องการให้นักกีฬาหายใจผ่านจมูก 100% มันคงโง่มาก ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมต้องการแค่ประมาณ 50% จากการฝึกซ้อมในช่วงที่ร่างกายต้องการการหายใจอย่างยิ่ง”
นั่นคือแมคคีนต้องการให้นักกีฬารีดฟอร์มการเล่นที่ดีออกมาและสามารถทนทานอาการเหนื่อยล้าได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อพวกเขาลงสนามจริง ๆ ก็ไม่มีนักกีฬาคนใหม่แปะเทปลงไปแข่ง แค่พวกเขาสามารถหายใจได้ดีขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจไม่ดีดเกินไป และสามารถเรียกหาอีก 1% ในผลงานของตนเองออกมา เพื่อพลิกสถานการณ์ให้กับผลการแข่งขันในสนามได้
ดังนั้นสำหรับบุคคลธรรมดาอย่างเรา การนำเทปปิดปากตามรอยฮาลันด์อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่จำเป็นมากนัก เพราะนอกจากคุณจะไม่ได้ตื่นมากลายร่างเป็นดาวยิงพรีเมียร์ลีก และถ้าคุณมีปัญหาเรื่องการหายใจก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสียก่อนเป็นตัวเลือกต้น ๆ
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา