Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หงส์ปีกหัก
•
ติดตาม
27 ก.ย. 2023 เวลา 14:19 • ประวัติศาสตร์
อยุธยา
ระบบไพร่ โครงสร้างและรากฐานอยุธยา
ความรุ่งเรืองจนถึงการล่มสลายตลอด 417 ปี
คำสำคัญ ระบบไพร่ อยุธยา รากฐานของโครงสร้าง
บทนำ
ระบบไพร่หรือประชาชนทั่วไปถือเป็นชนชั้นทางสังคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในสมัยอยุธยาซึ่งไพร่ถือเป็นกลุ่มฐานันดรที่ 3 ของโครงสร้างทางชนชั้นทางสังคม ถือเป็นฐานของสังคมที่เป็นผู้แบกรับและค้ำชูโครงสร้างต่างๆของอยุธยาให้สามารถดำเนินกระบวนการต่างๆทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่ว่าการพัฒนาสิ่งต่างๆเช่น การสร้างจำนวนกองทัพ การเก็บเกี่ยวทรัพยากร การพัฒนาเมือง การค้าขายหรือแม้แต่การรัฐประหาร
ระบบไพร่มักจะมีส่วนในการเข้าไปมีบทบาทในสิ่งต่างๆซึ่งถือว่าเป็นระบบไพร่จึงเป็นสิ่งที่ชนชั้นปกครองให้ความสำคัญในฐานะทรัพยากรบุคคลที่มีประโยชน์หลากหลายด้าน ดังนั้นชนชั้นปกครองจึงจำเป็นต้องบริหารจัดการเพื่อเข้าควบคุมระบบไพร่ให้อยู่ในการควบคุมของตนเองเพื่อใช้เป็นฐานทางสังคมของตนเอง ระบบไพร่จึงถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำในฐานะทรัพยากรทางอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นผู้ปกครอง
กล่าวได้ว่าระบบไพร่เป็นฐานรากของอำนาจและขุมกำลังทางทรัพยากรบุคคลที่บรรดาเหล่าชนชั้นนำผู้เป็นชนชั้นปกครอง ใช้เป็นเครื่องมือในการแผ่อิทธิพลหรือสถาปนาอำนาจของตนเอง ไพร่เป็นปัจจัยที่ถูกใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์หรือใช้เพื่อเพิ่มพูนอิทธิพลให้กับตนเองในการเสริมสร้างบารมี
แต่การที่จะใช้ระบบไพร่ให้มีประสิทธิภาพจำเป็นเข้าไปควบคุมระบบโครงสร้างของไพร่ให้ได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในสมัยการเสียกรุงศรีอยุธยาจะพบว่า เมืองต่างๆซึ่งมมีขุมกำลังไพร่เป็นของตนเองได้แยกตัวเองออกจากการเป็นปริมณฑลอำนาจของกรุงศรีอยุธยาหรือส่วนกลาง
เนื่องจากอยุธยาไม่มีเรี่ยวแรงที่จะไปควบคุมเมืองต่างๆนั่นเพราะกำลังไพร่พลส่วนใหญ่ของกรุงศรีถูกนำไปใช้ในการสงครามหมดซึ่งกำลังพลเหล่านี้ก็มาจากการเกณฑ์ไพร่มาเป็นทหาร ไพร่บางคนก็ไม่ได้อยากที่จะเข้าไปเป็นทหาร บ้างก็บวชเป็นพระเพื่อพึ่งผ้าเหลืองหนีทหาร บ้างก็หนีออกจากกรุงศรีบ้าง ทำให้ทรัพยากรหลักสำคัญอย่างทรัพยากรบุคคลของอยุธยาลดลง การป้องกันเมืองจึงล่มสลายนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด
แสดงให้เห็นว่าระบบไพร่เมื่อสูญเสียการควบคุมของชนชั้นปกครองหรือหลุดจากการควบคุม ไพร่ต่างๆก็แตกกระจายเนื่องจากชนชั้นปกครองควบคุมไพร่ไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงจัดการรวบรวมไพร่พลเป็นอย่างแรกแล้วจึงสถาปนากรุงธนบุรี คำจำกัดความของระบบไพร่จึงสามารถกล่าวได้ว่า “ไพร่สร้างเมืองได้ ไพร่ก็ทำให้เมืองล่มสลายได้เช่นกัน”
1
1.ระบบไพร่ช่วงตั้งต้น
การสร้างเมืองในความคิดหรือทัศนคติของผู้คนมักจะเข้าใจว่าเป็นการสร้างบ้านแปลงเมือง วางผังเมือง ปราสาทราชวัง แต่หากเราพิจารณาด้วยกระบวนทัศน์นั้นจะไม่สามารถเข้าใจกระบวนการการสร้างกรุงศรีอยุธยาหรือเมืองต่างๆในยุคจารีตเลยหรือแม้แต่ในปัจจุบัน โดยแท้จริงแล้วการสร้างเมืองแล้วมันคือการรวบรวมผู้คนหรือประชากรไพร่ โดยความเข้าใจผ่านการศึกษาค้นคว้าจะพบว่าในเอกสารจีน บริเวณนี้มีนครรัฐ 4 แห่งประกอบไปด้วย ละโว้ สุพรรณภูมิ อโยธยาและเพชรบุรี
ซึ่งจากการค้นคว้าทางเอกสารสามารถคาดการณ์ได้ว่าในบริเวณนี้มีการเกิดโรคระบาดขึ้น โดยอ้างอิงจากพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งเมือง การเกิดโรคระบาดเป้นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เมืองทั้ง 4 เข้ามารวมตัวกันสถานาเป็นอาณาจักรอยุธยาขึ้น สาเหตุเกิดจากความเปราะบางของเมืองทั้ง 4 เนื่องจากการเกิดโรคระบาดมันจะนำพาไปสู่การเสียชีวิตของประชากรในเมือง ทำให้ทรัพยากรบุคคลลดลง เมืองต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากการโรคระบาดจึงมีสภาวะที่อ่อนแอ ซึ่งสภาวะอย่างนี้อาจก่อให้เกิดการถูกรุกรานจากเมืองข้างเคียงได้
ทำให้ทั้ง 4 เมืองจำเป็นจะต้องรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐแบบหลวมๆเป็นอาณาจักรอยุธยาขึ้นเพื่อทั้งรักษาผลประโยชน์ของตนเองและรวบรวมทรัพยากรบุคคลที่เหลือน้อยลงและมีอยู่อย่างจำกัด
ด้วยการเกิดใหม่ของอาณาจักรซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของเมืองต่างๆซึ่งมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ชนชั้น ภาษาทำให้มีการจัดระบบระเบียบ โดยมีการกำหนดระบบไพร่ขึ้นเพื่อบริหารจัดการและควบคุมประชากรให้มีประสิทธิภาพในการสร้างเมืองและถือเป็นการระเบียบชนชั้นทางสังคม
การจัดระเบียบด้วยระบบไพร่ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ขุนนางถูกกดลงให้อยู่ในสถานะชนชั้นใต้ปกครองและเป็นชนชั้นที่เป็นฐานรากสุดของสังคมซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มฐานันดรที่ 1 คือเชื้อพระวงศ์และกลุ่มฐานันดรที่ 2 ขุนนางและนักบวช ทำให้ระบบไพร่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบไพร่ให้อยู่ในอาณัติ
หลังการควบรวมอำนาจด้วยระบบไพร่สำเร็จแล้วก็ทำให้ชนชั้นปกครองควบคุมและจัดการบ้านเมืองโดยการจัดแจงสร้างโครงสร้างทางสังคมให้ซับซ้อนโดยการจัดลำดับชั้นยศของขุนนางให้ฐานันดรที่ 2 ซึ่งเป็นมือเป็นไม้ให้กับกษัตริย์ในการควบคุมคนที่เป็นกลุ่มไพร่ ซึ่งเริ่มมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น ระบบโครงสร้างเหล่านี้จึงทำให้กลุ่มชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองสามารถใช้ประโยชน์จากไพร่ได้ถึงที่สุด
ไพร่ในช่วงตั้งกรุงศรีถูกใช้ประโยชน์ในฐานะกำลังทางการทหาร เนื่องจากอยุธยาเพิ่งก่อตัวขึ้นกำลังทางอำนาจและอิทธิพลจึงยังไม่มี กลุ่มชนชั้นปกครองจึงได้มีนโยบายที่จะแผ่อิทธิพลควบคู่กับการทลายอิทธิพลอำนาจเดิมออกไป ซึ่งเช่นเดียวกับอาณาจักรต่างๆเมื่อแรกเริ่มสร้างนั่นคือ การทำสงคราม อดีตตั้งแต่เอเชียใต้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงเอเชียตะวันออกเราไม่ได้มีแนวคิดรัฐชาติ ยังไม่มีระบบทหารแห่งชาติ
การทำสงครามทุกครั้งจึงจำเป็นต้องมีการเกณฑ์ไพร่พลมาเป็นทหารเพื่อใช้ในการทำสงครามเพื่อขยายและแผ่อิทธิพลทางอำนาจให้อาณาจักรได้เข้าควบคุมบริเวณของตนเพื่อดูดทรัพยากรต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรบุคคล
นอกจากนี้ไพร่ยังเป็นปัจจัยการผลิตทรัพยากรหรือหาทรัพยากรต่างๆเพื่อใช้ทั้งการพัฒนาอาณาจักร ใช้ในทางเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากไพร่เป็นกลุ่มคนชั้นล่างที่ถูกนำมาใช้ในการเกษตร การเพาะปลูก การหาของป่า แล้วนำผลผลิตดังกล่าวนำไปขายให้กับต่างชาติเพื่อการค้าขาย ทำให้ไพร่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจให้กับอยุธยาทำให้ในเวลาต่อมาอยุธยามีเศรษฐกิจที่เจริญจนกลายเป็นเมืองท่านานาชาติที่มั่งคั่ง
เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอยุธยาจึงไม่ได้ยึดโยงกับตัวชนชั้นปกครองแต่ยึดโยงที่ตัวระบบไพร่ซึ่งเป็นฐานการผลิตทรัพยากรที่เป็นสินค้า นอกจากเป็นฐานผลิตทางเศรษฐกิจภายนอกประเทศแล้ว ไพร่ยังถือเป็นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศในด้านการคลังในฐานะผู้แบกรับภาษีที่เก็บโดยราชสำนักด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าในช่วงการสถาปนากรุงศรีอยุธยาระบบไพร่เกิดขึ้นโดยชนชั้นปกครองเพื่อใช้ควบคุมบรรดาไพร่ซึ่งจำนวนมากในการจัดสรรหน้าที่ของไพร่แต่ละคนและบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากการตั้งเมืองเกิดขึ้นหลังการลดลงของทรัพยากรบุคคลทำให้เกิดการตั้งเมืองใหม่โดยการร่วมมือกันของเมืองเดิมในการรวบรวมทรัพยากรบุคคล
โดยชนชั้นปกครองได้แสวงหาผลประโยชน์จากระบบไพร่เพื่อใช้ในการสร้างเมืองใหม่และตอบสนองความต้องการของชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองซึ่งต้องการแผ่อิทธิพลอำนาจทางการเมืองไปยังเมืองอื่นๆโดยการทำสงคราม นอกจากนี้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองโดยการใช้แรงงานทรัพยากรบุคคลในการผลิตสินค้าหรือแสวงหาผลผลิตต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยน ค้าขายระหว่างประเทศและเรียกเก็บภาษีอากรจากไพร่กลุ่มคนผู้แบกรับภาระการจ่ายภาษี
ดังนั้นจะกล่าวได้ว่า การเจริญเติบโตของอยุธยาเกิดจากไพร่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของชนชั้นปกครอง
2.ไพร่เครื่องมือทางอำนาจของกลุ่มชนชั้นปกครอง
เมื่อระบบไพร่ได้ลงหลักปักฐานในฐานะชนชั้นทางสังคมของอยุธยาเรียบร้อยแล้ว โครงสร้างทางสังคมจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แต่ในทางกลับกันระบบไพร่ก็มีส่วนในเกมทางเมืองของชนชั้นปกครองเช่นกัน อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ชนชั้นปกครองได้ใช้ระบบไพร่ในการควบคุมไพร่หรือประชาชนทั่วไปให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตนเอง
แต่ด้วยเหตุที่ชนชั้นปกครองไม่ได้มีเพียงบุคคลคนเดียว แต่เป็นกลุ่มคนซึ่งก็มีหลายกลุ่มเช่นกัน เช่น กลุ่มวงศ์อู่ทอง กลุ่มวงศ์สุพรรณภูมิ กลุ่มขุนนาง ซึ่งในบรรดากลุ่มชนชั้นปกครอง กลุ่มขุนนางถือว่ามีอิทธิพลมากที่สุด
สาเหตุที่กลุ่มขุนนางถือว่ามีอิทธิพลมากที่สุด เนื่องจากขุนนางมีความใกล้ชิดกับกลุ่มไพร่ซึ่งเป็นขุมกำลังที่สามารถใช้ในการแสดงอิทธิพลและเป็นฐานการผลิตทรัพยากรอันเป็นสินค้าในการค้าขาย ซึ่งสาเหตุที่กลุ่มขุนนางถึงได้ควบคุมกลุ่มไพร่ต่างๆนั้น เกิดจากระบบศักดินาอันเป็นสิ่งที่กำหนดสถานะของขุนนางที่มีการลดหลั่นลงมา นอกจากศักดินาเป็นตัวกำหนดชนชั้นของขุนนางแล้วยังเป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้ขุนนางมีหน้าที่ในการดูแลและควบคุมบรรดาไพร่
โดยมีการจัดสรรแบ่งไพร่ตามศักดินาที่ตนถือครอง ด้วยเหตุนี้ทำให้ขุนนางจึงเป็นผู้กุมอำนาจในฐานะผู้ควบคุมระบบไพร่ จึงจะสังเกตได้ว่า เชื้อพระวงศ์เมื่อต้องการที่จะทำการรัฐประหารจำเป็นต้องหยั่งเชิงเพื่อดูแรงสนับสนุนจากขุนนาง เพราะเพียงแค่ไพร่พลของตนเองไม่ได้มากพอที่จะสามารถก่อรัฐประหารได้ จึงจำเป็นต้องได้แรงสนับสนุนจากขุนนางซึ่งมีกำลังพลมหาศาล
ในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาไม่ได้ระบุว่าใครจะเป็นผู้ได้ขึ้นครองราชย์บัลลังก์สืบต่อไป ระบุเพียงแต่เป็นพระราชวงศ์ที่เป็นพระราชโอรสหรือพระญาติวงศ์ที่มีความใกล้ชิดกับกษัตริย์ ทำให้เหล่าเชื้อพระวงศ์ผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์ต่างก็พากันเสริมสร้างอำนาจให้กับตนเองโดยการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับเหล่าขุนนางหรือผูกสัมพันธ์กับบรรดาขุนนางเพื่อให้ตนได้มีฐานเสียงการสนับสนุนจากขุนนางซึ่งถือครองไพร่จำนวนมาก
เมื่อบรรดาเหล่าผู้มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อย่างเชื้อพระวงศ์ได้สะสมเสียงสนับสนุนจากขุนนางได้เท่าๆกัน สงครามการแก่งแย่งอำนาจในบรรดาชนชั้นปกครองอย่างเหล่าเชื้อพระวงศ์จึงเริ่มขึ้น
ระบบไพร่จึงถูกใช้งานในด้านการเมืองการปกครองในฐานะเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจของบรรดากลุ่มชนชั้นปกครองและไพร่ก็ยังเป็นสิ่งที่บรรดาชนชั้นปกครองมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ในทุกๆด้านเพื่อเสริมสร้างอำนาจบารมีให้กับกลุ่มตนเอง ไพร่จึงไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องแค่ชนชั้นทางสังคมแต่ยังเข้าไปพัวพันกับระบบการเมือง
การแย่งชิงอำนาจในกลุ่มชนชั้นปกครองผู้ซึ่งถือครองและมุ่งหาอำนาจเพื่อสร้างอิทธิพลให้กับตนเอง แต่อำนาจในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่อำนาจในที่นี้หมายถึงไพร่ที่เป็นรูปธรรมที่เป็นกำลังให้กับชนชั้นปกครองที่มุ่งแต่จะแก่งแย่งอำนาจและแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การเมืองอยุธยาจนถึงไทยในปัจจุบันแม้ว่าอำนาจจะถูกถือครองโดยชนชั้นปกครองก็ตาม แต่อำนาจที่กล่าวถึงคือการมีอิทธิพลหรือการมีผู้คนที่เป็นไพร่หรือชนชั้นกลางในปัจจุบันเป็นคนอยู่ภายใต้การควบคุมซึ่งก็คือ อำนาจในรูปแบบที่ยึดโยงที่ตัวบุคคลซึ่งเป็นกำลังอำนาจหลักที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งระบบนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นส่วนสร้างระบบอุปถัมภ์ที่มีอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบันขึ้น
ซึ่งเป็นระบบที่ผู้ด้อยอำนาจต้องพึ่งอิทธิพลอำนาจของผู้มีอำนาจมากกว่าเพื่อความอยู่รอดและตอบสนองความต้องการของตนเองกลายเป็นระบบอิงอาศัยที่ต่างฝ่ายต่างก็แสวงหาประโยชน์ต่อกัน เช่นเดียวกับสมัยอยุธยาที่ไพร่ต้องอยู่ในสังกัดของขุนนาง ชนชั้นปกครองเพื่อความอยู่รอดและอยู่ภายใต้การคุ้มครองของผู้มีอำนาจ
3.ระบบอุปถัมภ์ การคงอยู่ที่ยังไม่หายไป
การปฏิรูปในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนอกจากจะสร้างระบบทางสังคมให้มีความเป็นระบบระเบียบให้มากขึ้นโดยไพร่จะต้องมีสังกัดเป็นของตนเองโดยขึ้นตรงกับชนชั้นปกครองทำให้ชนชั้นไพร่อยู่ภายใต้การควบคุมของขุนนางและชนชั้นปกครอง นอกจากนี้ยังเป็นการลดทอนอำนาจของขุนนางไม่ให้มีอำนาจมากจนสามารถท้าทายอำนาจของกษัตริย์โดยการจำกัดอำนาจขุนนางไม่ให้ขุนนางมีไพร่ในสังกัดของตนเองมากจนเกินไปโดยมีเลขศักดินาเป็นตัวกำกับจำนวนไพร่ในสังกัดของตนเอง
แต่ในทางกลับกันระบบดังกล่าวก็สร้างปัญหาด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะเป็นการจัดระเบียบทางสังคมและเป็นการป้องกันการแย่งชิงกันทางอำนาจ ซึ่งเป็นไปในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแล้วระบบนี้ถือเป็นระบบที่มีความล้มเหลวในตัวของมันเองและคอยกัดกินอยุธยาจนไปถึงการล่มสลาย
สิ่งหนึ่งเป็นรากฐานและเกิดขึ้นจากการแบ่งชนชั้นนั้นคือ "การที่ผู้น้อยจะต้องเข้าเคารพผู้ใหญ่" ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยึดถือ ซึ่งก็ถูกใช้ในทุกๆระบบแม้กระทั่งระบบขุนนาง ขุนนางที่เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็จะมีขุนนางชั้นผู้น้อยอยู่ภายใต้การดูแลและการคุ้มครองของตนเอง ถือเป็นสะสมอำนาจในรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นการอิงอาศัยไปเป็นทอดๆโดยไพร่จะต้องอยู่ในสังกัดของขุนนางเพื่อให้ตนเองมีผู้มีอิทธิพลคุ้มครองตนเองและทำตามคำสั่งจากราชสำนัก
ในขณะเดียวกันขุนนางชั้นผู้น้อยก็ต้องเข้าหาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลอำนาจมากกว่าตนเอง ทำให้แม้ระบบของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้นจะเป็นระบบที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด แต่ด้วยสังคมมีการคงอยู่ของระบบการเคารพผู้ใหญ่ทำให้ในทางปฏิบัติแล้วระบบนี้จึงล้มเหลว
ทำให้การสะสมอำนาจของขุนนางและชนชั้นปกครองก็ยังมีอยู่เพียงแต่เปลี่ยนจากการสะสมอำนาจทางตรงเป็นการสะสมไพร่ทางอ้อมโดยผ่านบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่สะสมไพร่โดยการมีขุนนางชั้นผู้น้อยอยู่ในการดูแลของตนเอง ทำให้เกิดเป็นรูปแบบการอุปถัมภ์ขึ้นซึ่งกลุ่มขุนนางแทนที่จะถูกจำกัดหรือลดทอนอำนาจจากระบบกลับกลายเป็นเพิ่มพูนอำนาจและสร้างความขัดแย้งให้มากขึ้นจนก่อให้เกิดการรัฐประหารขึ้นโดยที่เชื้อพระวงศ์หรือขุนนางที่ต้องการรัฐประหารจำเป็นจะต้องพึ่งพิงการผูกสัมพันธ์อันดีกับขุนนางหลายกลุ่ม
โดยเฉพาะขุนนางฝ่ายกลาโหมซึ่งมีอำนาจมากกว่าบรรดาขุนนางทั้งหมดและเป็นที่เคารพนับถือของขุนนางต่างๆสังเกตจากการรัฐประหารช่วงหลัง เช่น การรัฐประหารของพระเฑียรราชาหรือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งแม้พระองค์ไม่ได้รัฐประหารด้วยพระองค์เอง แต่ทรงได้ยืมมือขุนพิเรนทราเทพและบรรดาขุนนางที่ให้การสนับสนุนรัฐประหารชิงราชบัลลังก์มาจากขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์
การรัฐประหารของพระพิมลธรรมหรือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่พระองค์ต้องพึ่งพิงการสนับสนุนจากบรรดาขุนนางเพื่อรัฐประหารสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ การรัฐประหารของเจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์หรือสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเดิมทรงเป็นสมุหกลาโหมซึ่งถือครองอำนาจฝ่ายกลาโหมและมีขุนนางต่างๆให้การเคารพนับถือจึงทำให้พระองค์สามารถขึ้นมารัฐประหารได้ ถือเป็นกษัตริย์องค์แรกที่มาจากสามัญชน
และการรัฐประหารของพระเพทราชาซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยขุนนางชั้นปกครองซึ่งไม่พอใจสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งให้การสนับสนุนขุนนางชำนาญการหรือขุนนางต่างประเทศและกลุ่มบรรดาพระสงฆ์ซึ่งได้รับผลกระทบในการสร้างป้อมของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาระบบอุปถัมภ์ในไทยจึงจำเป็นต้องศึกษาตั้งแต่ต้นกำเนิดความเป็นมาของระบบซึ่งเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา ซึ่งเกิดจากการปฏิรูปของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถซึ่งบังคับให้ไพร่ต้องมีสังกัด และจำกัดไพร่ในสังกัดขุนนาง ทำให้ขุนนางจำเป็นต้องเกาะกลุ่มเพื่อให้ไพร่ที่เป็นอำนาจถูกรวมตัวให้เป็นกลุ่มก้อนใหญ่
อำนาจของขุนนางจึงยังคงเป็นกลุ่มๆอยู่และเหล่าเชื้อพระวงศ์ก็ยังต้องพึ่งกลุ่มขุนนางสนับสนุน การแก่งแย่งอำนาจยังคงมีอยู่และสืบทอดต่อกันมาเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันซึ่งเปลี่ยนจากการรัฐประหารจากขุนนางเป็นการรัฐประหารโดยทหารซึ่งก็ยังคงหลักการการสะสมไพร่พลในสังกัดของตนเองเพื่อเป็นอำนาจในการรัฐประหาร
4.ระบบไพร่ ผู้ได้รับผลกระทบจากสงครามโดยตรง
การแก่งแย่งอำนาจลงเอยด้วยการทำสงครามซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเกณฑ์ไพร่ผลในสังกัดเพื่อนำมาใช้ในการแย่งชิงอำนาจของบรรดาชนชั้นปกครอง
การทำสงครามสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างอันมหาศาลให้กับอาณาจักรโดยผลกระทบแรกตกไปอยู่กับกลุ่มชนชั้นไพร่ซึ่งต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อทำสงครามการแย่งชิงอำนาจของเหล่าชนชั้นปกครองซึ่งในการทำสงครามไม่ได้รับประกันว่า เหล่าไพร่ที่ถูกเกณฑ์ไปนั้นจะรอดกลับมาจากสงครามและจะได้รับการชดเชยจากกลุ่มชนชั้นปกครองที่ตนเองสังกัดอยู่ นำไปสู่ความอ่อนแอของอาณาจักรที่สร้างผลกระทบในทุกด้าน
การตายของไพร่ในสงครามทำให้ประชากรลดลงซึ่งสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยในด้านการเมืองการตายของไพร่จำนวนมากทำให้บรรดาขุนนางและชนชั้นปกครองสูญเสียอิทธิพลอำนาจของตัวเองเป็นจำนวนมาก สร้างความบอบช้ำให้กับชนชั้นปกครองและลดจำนวนกลุ่มอำนาจในอาณาจักรให้ลดลงอย่างมหาศาลซึ่งเกิดจากการพ่ายแพ้ในสงครามแล้วถูกประหารชีวิตหรือตายในสงคราม
การตายของกลุ่มอำนาจทำให้อิทธิพลอำนาจของอาณาจักรลดลงจนไม่อาจสามารถแผ่อิทธิพลไปยังเมืองต่างๆซึ่งเป็นปริมณฑลอำนาจของอาณาจักร ทำให้เมืองต่างๆที่อยู่ก็ต่างพากันก่อกบฏบ้างเพื่อตั้งตนเองเป็นอิสระ แยกตัวไปสวามิภักดิ์กับอาณาจักรอื่น แสดงให้เห็นว่า หากอำนาจของอาณาจักรต่างๆสูญเสียอำนาจหรือไพร่ซึ่งเป็นกำลังในการแผ่อิทธิพล เมืองต่างๆที่เป็นปริมณฑลอำนาจของอยุธยาซึ่งก็มีอำนาจเป็นของตนเอง เพราะเมืองต่างๆก็มีไพร่พลในเขตเมืองของตนเองทำให้สามารถสั่งสมอำนาจในการตั้งตัวและแยกตัวออกมาในที่สุด
นอกจากนี้ด้วยจำนวนไพร่ที่ลดลงทำให้การเกณฑ์ไพร่พลในการปกป้องอาณาจักรมีจำนวนลดลง การป้องกันตนเองจึงลดลงเป็นอย่างมาก ด้วยปัจจัยทั้งการสูญเสียเมืองปริมณฑลอำนาจของตนเองประกอบกับการป้องกันตนเองที่ลดลงซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากการลดลงของประชากรไพร่ทำให้อาณาจักรอยู่ในสภาพล่อแหลม
ซึ่งทำให้อาณาจักรอื่นๆที่อยู่โดยรอบที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวก็ต่างพากันจ้องจะเข้ามาทำสงครามเพื่อเข้ามาควบคุมอยุธยาให้เป็นเขตปริมณฑลอำนาจของตนเองเนื่องจากอยุธยาอยู่ในเขตการค้าฝั่งตะวันออกที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียง การที่เข้าควบคุมอยุธยาได้จะสามารถสร้างกำไรให้กับตนเองและยังเป็นการผูกขาดทางการค้าในภูมิภาคนี้และพยายามทำลายอำนาจอยุธยาให้ล่มสลายเพื่อย้ายศูนย์กลางทางการค้าต่างประเทศมาสู่เมืองของตนเอง
ในด้านของเศรษฐกิจการยุบตัวลงของระบบไพร่ส่งผลอย่างมากเนื่องจากไพร่เป็นฐานการผลิตสินค้าต่างๆเพื่อค้าขายกับต่างประเทศ ซึ่งการที่ฐานการผลิตลดลงทำให้กระบวนการผลิตผลิตสินค้าได้ลดลง การค้าจึงได้กำไรจึงได้ในจำนวนที่น้อยจึงส่งผลต่อความมั่งคั่งของอยุธยาเป็นอย่างมาก
นอกจากส่งผลกับเศรษฐกิจภายนอกแล้วในด้านเศรษฐกิจภายในก็ส่งผลเช่นกันเนื่องจากการลดลงของไพร่ทำให้การเก็บภาษีลดลง ทำให้การเติบโตของเงินในคลังลดลงและเกิดการชะงักงันทางเศรษฐกิจในอยุธยาเป็นอย่างยิ่งหากจะกล่าวก็หมายถึง เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจเนื่องจากในการเกิดสงครามทำให้การค้าระหว่างประเทศเกิดการหยุดตัวลงในหลายๆส่วน มีเพียงการค้าอาวุธสงครามที่รุ่งเรือง แต่การค้าอาวุธสงครามไม่ใช่ผลดีกับอยุธยา
แต่เป็นผลเสียกับอยุธยาเนื่องจากอยุธยาจำเป็นต้องจ่ายเงินออกนอกอาณาจักรเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้ออาวุธสงครามจากโปรตุเกสหรือสเปน และค่าจ้างในการจัดจ้างทหารอาสาซึ่งอาสาช่วยงานสงครามของอยุธยาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่ได้หลังการทำสงคราม เช่น การลดภาษีปากเรือ
ดังนั้นการทำสงครามมีแต่ผลเสียกับอยุธยาเป็นอย่างมากเนื่องจากอยุธยาต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล เศรษฐกิจ การเมือง ทำให้อยุธยาอยู่ในสถานะความตกต่ำทางการเมืองจนนำไปสู่การเข้ามามีอิทธิพลโดยการทำสงครามเพื่อครอบครองอยุธยาซึ่งทำให้อาณาจักรอยุธยาตกต่ำกลายเป็นรัฐบริวารเป็นปริมณฑลอำนาจของจักรวรรดิตองอู ระบบไพร่จึงเป็นจุดอ่อนที่สร้างทั้งความรุ่งเรืองถึงขีดสุดให้กับอยุธยา แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสร้างความตกต่ำถึงขีดสุดให้กับอยุธยาได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งระบบไพร่ก็เป็นตัวการสำคัญที่นำไปสู่การเสียกรุงครั้งที่ 1
5.ระบบไพร่ เป็นทั้งมิตรแท้และศัตรูถาวรของอยุธยา
หลังการเสียกรุงครั้งที่ 1 สร้างความปั่นป่วนให้กับการเมืองและอำนาจของอยุธยาเป็นอย่างมากมายมหาศาล โดยแรงกระแทกที่โดนกระทำการเหตุนี้คือ ไพร่ หลังการเข้ามามีอิทธิพลของหงสาวดีนั้นได้มีการกวาดต้อนไพร่ที่มีอยู่ในอยุธยาไปจำนวนมาก โดยเหลือประชากรในเมืองเพียงแค่ 1,000 คน ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำขึ้นเนื่องจากไพร่เป็นปัจจัยในหลายๆอย่างซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการฟื้นตัวเพื่อประกาศอิสรภาพของอาณาจักรต่างๆ
ซึ่งการลดกำลังของอยุธยาโดยการกวาดต้อนผู้คนไปจำนวนมากทำให้อยุธยาฟื้นตัวได้ช้าลงและยากขึ้น เพื่อไม่ให้อยุธยาฟื้นตัวได้ทันตามความก้าวหน้าของหงสาวดีที่ได้ไพร่พลไปพัฒนาเมืองของตน
การกระทำดังกล่าวทำให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาต้องเกณฑ์ไพร่พลหัวเมืองเหนือ ทั้งขุนนาง 100 คนและไพร่พล 10,000 คน การกระทำนี้ยิ่งเป็นสิ่งตอบย้ำว่า ไพร่เป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการพัฒนาอยุธยาทั้งในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ เพราะหากไม่สำคัญหงสาวดีจะไม่ให้ความสำคัญกับไพร่ในอยุธยาโดยการกวาดต้อนกลับไป และสมเด็จพระมหาธรรมราชาคงไม่อพยพคนจากหัวเมืองเหนือลงมาป้องกันเมืองที่อยุธยา และในขณะเดียวกันไพร่ก็ยังเป็นจุดอ่อนที่หากถูกทำลายหรือถูกบั่นทอนก็ย่อมสร้างความพินาศให้กับอยุธยาด้วยเช่นกัน
สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของอยุธยาที่เกิดจากการสูญเสียไพร่คือ การที่พระยาละแวกส่งทหารเข้ามาปล้นเมืองในปริมณฑลอำนาจของอยุธยาช่วง พ.ศ.2100 ซึ่งอยุธยาทำได้เพียงแต่ตั้งรับที่เมืองอยุธยา ไม่สามารถยกทัพไปช่วยเมืองต่างๆได้ แสดงถึงการสูญเสียไพร่ของอยุธยาทำให้อยุธยาไม่สามารถปกป้องตนเองได้ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระมหาธรรมราชาเห็นถึงความสำคัญของระบบไพร่ จึงได้ตั้งให้สมเด็จพระนเรศวร พระราชโอรสขึ้นไปฟื้นฟูหัวเมืองเหนือเพื่อให้มีประชากรที่มากขึ้น
ซึ่งหัวเมืองเหนือเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันอยุธยาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งการเสียกรุงศรีครั้งที่ 2 ดังนั้นกษัตริย์ทุกพระองค์ของอยุธยาจึงให้ความสำคัญกับหัวเมืองเหนือ
การประกาศอิสรภาพของสมเด็จพระนเรศวรนั้นเป็นจุดสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เห็นอีกครั้งว่า ไพร่เป็นแกนกลางสำคัญในการก่อร่างสร้างเมืองและกระบวนการต่างๆของอยุธยา เนื่องจากในการในการประกาศอิสรภาพในครั้งนั้นมีการกวาดต้อนผู้คนชาวมอญมายังอยุธยา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไพร่มีความสำคัญอย่าง โดยไพร่ไม่ได้จำกัดเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ขอเพียงเป็นไพร่ที่สามารถแสวงหาประโยชน์ได้
ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ประชากรที่มีมากที่สุดกลับเป็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอยุธยาคนไทยกลายเป็นชนกลุ่มน้อย เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่กระจายตัวไปอยู่ในบริเวณหัวเมืองซึ่งไม่ใช่ศูนย์กลางของวงสงครามในทุกๆครั้ง จึงทำให้หัวเมืองมีความปลอดภัยมากกว่าเมืองหลวงอย่างอยุธยา
หลังการประกาศอิสรภาพของอยุธยาจะสังเกตว่า อยุธยาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะจำนวนประชากรไพร่ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการกวาดต้อนมี การประเมินว่า ราว พ.ศ. 2143 กรุงศรีอยุธยามีประชากรประมาณ 300,000 คน และอาจสูงถึง 1,000,000 คน ราว พ.ศ. 2243 แสดงให้เห็นจำนวนของประชากรที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลดีที่ทำให้อยุธยาสามารถพัฒนาตนเองให้เติบโตและฟื้นตัวจากการเป็นเมืองภายใต้อาณัติของหงสาวดี
ซึ่งการกวาดต้อนไพร่ซึ่งมีความหลากหลายในครั้งนี้นำไปสู่การพัฒนา ศิลปกรรม ในแขนงต่างๆซึ่งเกิดจากความหลากหลายทางเชื้อชาติซึ่งเข้ามาพัฒนาอยุธยาโดยการนำความรู้จากหงสาวดีเข้าสร้างวัฒนธรรมต่างๆจนเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรม จนทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองแห่งพหุวัฒนธรรม
6.ระบบไพร่ สร้างวัฒน์ด้วยความหลากหลาย
ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ของอยุธยาจากการกวาดต้อนผู้คนจากหงสาวดีหลังการประกาศอิสรภาพทำให้อยุธยาซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้เปิดรับองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมต่างๆจากบรรดาไพร่ที่ได้มาโดยการกวาดต้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมอญ ซึ่งผลผลิตก็มีในหลากหลายด้าน ทั้งได้มาซึ่งเกิดจากการสังเกตหรือรับมาปรับปรุงในแบบของตนเอง
1
วัฒนธรรมที่เราได้รับมานั้นมักเกิดขึ้นจากการเปิดรับวัฒนธรรมที่รับมาโดยมีการดัดแปลงน้อยที่สุด เช่น วงปี่พาทย์มอญ ตะกร้อซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับการละเล่นชี่นโล่นมาจากมอญ-พม่า คำในภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษามอญ-พม่าซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่เพียงแต่ได้รับอิทธิพล แต่เราได้สืบทอดและผสมผสานเพื่อให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนบางครั้งคนในปัจจุบันเข้าใจผิดว่า วัฒนธรรมนี้เป็นของไทยดั้งเดิม
อิทธิพลของชนชาติต่างๆซึ่งเกิดจากไพร่ที่ถูกกวาดต้อนหรืออพยพเข้ามาพึ่งใบบุญในกรุงศรีอยุธยานั้น ได้นำเอาวัฒนธรรมของชนชาติตนเข้ามาเผยแพร่ อยุธยาซึ่งกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวก็เปิดรับวัฒนธรรมบางส่วนเข้ามาปรับใช้ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ในตัว จึงทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองเปิด
เมืองเปิดในที่นี้ไม่ได้เพียงแต่หมายถึง เมืองที่มีการเปิดให้ผู้คนเข้ามาอย่างเดียว แต่เป็นเมืองที่เปิดรับวัฒนธรรมจากต่างชาติเพื่อนำมาปรับปรุงและต่อยอดเพื่อใช้ในการพัฒนาและฟื้นตัวเองจากความบอบช้ำทางสงครามและการเสียกรุงครั้งที่ 1 ซึ่งผลที่ได้จากการเปิดรับทางวัฒนธรรมของอยุธยาทำให้อยุธยาฟื้นตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถกลับมาเหมือนในช่วงก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
ซึ่งไพร่ได้มีส่วนในการสร้างภูมิปัญญา วัฒนธรรมซึ่งทำให้อยุธยาเกิดการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้จากไพร่ที่ต่างเชื้อชาติจนก่อให้เกิดภูมิปัญญาไทยในสิ่งใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานและการรับวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาปรับใช้ในแบบของตนเอง
7.ระบบไพร่ การถูกกระชากครั้งสุดท้าย
หลังการปกครองอยุธยาของราชวงศ์สุโขทัยมีระยะเวลาอันยาวนานเพียง 60 ปี เกิดการรัฐประหารซึ่งเป็นการรัฐประหารสร้างแรงกระเพื่อมอันมหาศาลให้กับโครงสร้างและสังคมอยุธยานั่นคือ การรัฐประหารโดยเจ้าพระยากลาโหมศรีสุริยวงศ์หรือในเวลาต่อมาจะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสถาปนาราชวงศ์ลำดับที่ 4 ของอยุธยาที่เรารู้จักในนาม ราชวงศ์ปราสาททอง ซึ่งพระองค์แตกต่างจากกษัตริย์ที่ผ่านมาและราชวงศ์ของพระองค์ได้สร้างผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมเป็นอย่างมาก
เนื่องจากพระองค์เป็นกษัตริย์ที่มาจากสามัญชนซึ่งสะสมอำนาจผ่านการรวบรวมขุนนางต่างๆให้อยู่ภายใต้การปกครองของตนเองแล้วทำการรัฐประหารเงียบเรื่อยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเชษฐาธิราชและรัฐประหารราชวงศ์สุโขทัย ปลดสมเด็จพระอาทิตยวงศ์ออกจากราชบัลลังก์แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์
การที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีรากฐานเดิมมาจากการเป็นขุนนาง ทำให้พระองค์เห็นถึงปัญหาและสาเหตุของการแก่งแย่งอำนาจซึ่งเกิดจากการสะสมอำนาจของขุนนางที่ถึงแม้ว่าจะมีการตัดแบ่งและจำกัดอำนาจของขุนนางเพื่อให้อำนาจไม่ได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนก็ตาม แต่หากว่าขุนนางรวมตัวกันอำนาจก็ย่อมสามารถท้าทายอำนาจได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ขั้วอำนาจหลักคือ สมุหนายกและสมุหกลาโหม ซึ่งมีขุนนางในสังกัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งสมุหกลาโหมถือเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมากพอที่จะสามารถท้าทายอำนาจราชสำนักได้ ทำให้ในสมัยราชวงศ์ปราสาททองมีการตั้งระบบคานอำนาจขึ้น โดยการยกตำแหน่งโกษาธิบดีหรือกรมคลังขึ้นมามีบทบาททัดเทียมกับสมุหนายกและสมุหกลาโหม และให้บทบาทหน้าที่ในการคานอำนาจซึ่งกันและกัน
ทำให้ไพร่ถูกตัดแบ่งไปเพิ่มในส่วนของโกษาธิบดีให้มีเท่ากับสมุหนายกและสมุหกลาโหม และในเวลาต่อมามีจำนวนขุนนางต่างชาติหรือขุนนางชำนาญการเข้ามามีบทบาทและมีจำนวนมากยิ่งขึ้นทำให้จำนวนไพร่ถูกตัดแบ่งไปสังกัดขุนนางเหล่านี้ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น อำนาจของขุนนางในสมัยราชวงศ์ปราสาททองจึงมีการตัดแบ่งซอยให้มากยิ่งขึ้นจนทำให้อำนาจไม่ได้มีความเป็นก้อนใหญ่ แต่มีความเป็นก้อนเล็กก้อนน้อยจนไม่สามารถรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่ๆได้
การแบ่งซอยอำนาจของขุนนางเห็นได้เด่นชัดยิ่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีการย้ายพระองค์ไปประทับที่พระราชวังลพบุรีหรือพระนารายณ์ราชนิเวศน์เป็นหลัก ทำให้ขุนนางต้องแบ่งไพร่ของตนเองมาสร้างฐานอำนาจและต้องมาเข้าเฝ้าองค์กษัตริย์เมื่อออกว่าราชการที่ลพบุรี ส่วนอำนาจเดิมที่อยุธยาก็ต้องแบ่งไพร่ส่วนหนึ่งเพื่อรักษาอำนาจเดิมให้คงอยู่ และต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ก็ได้ตั้งเมืองบางกอกเป็นเมืองท่าที่สำคัญ
ซึ่งทำให้บางกอกมีความสำคัญขึ้นมาในฐานะศูนย์กลางอีกแห่ง ขุนนางเพื่อที่จะแสวงหารายได้ให้กับตนเองก็ต้องแบ่งไพร่ในสังกัดของตนเองลงมาอยู่บางกอกเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับตนเอง การแบ่งซอยอำนาจของขุนนางแบบนี้ทำให้อำนาจขุนนางกระจัดกระจายจนไม่สามารถรวมตัวได้ในเวลารวดเร็ว
เช่นเดียวกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแม้ในเชิงทฤษฎีจะเป็นสิ่งที่แก้ปัญหาได้ แต่ในทางปฏิบัตินั้นกลับล้มเหลว เนื่องจากการแม้จะมีการคานอำนาจกันและกันหรือการกระชากไพร่ในสังกัดของขุนนางให้ถูกฉีกออกเป็นก้อนเล็กๆ แต่หากเหล่าบรรดาขุนนางรวมตัวกันอำนาจก็ยังคงเพียงพอที่จะโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ไม่ต่างกัน เพียงแต่การรัฐประหารในครั้งนี้เป็นไปด้วยความละมุนละม่อม
ซึ่งทำให้ไม่เกิดการทำสงครามแต่เป็นการรัฐประหารที่เข้ากุมอำนาจโดยที่ขุนนางชั้นปกครองส่วนใหญ่แทบจะทั้งหมดร่วมมือกันโดยมีแกนนำคือ พระเพทราชา ซึ่งเกิดจากความไม่พอใจในนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งหลายคนมักจะเข้าใจว่า เป็นนโยบายทางการค้ากับต่างชาติ แต่แท้จริงแล้วความไม่พอใจของเหล่าขุนนางไม่พอใจในนโยบายการกดขี่ขุนนางชั้นปกครอง
เนื่องจากสมเด็จพระนารายณ์ทรงได้รับการสนับสนุนจากขุนนางชำนาญการหรือขุนนางต่างชาติในช่วงการรัฐประหารเพื่อแย่งชิงราชบัลลังก์มาจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งทำทำให้พระองค์ให้การเอาใจใส่ขุนนางชำนาญการเป็นอย่างมากในฐานะขุนนางฝ่ายของตน แต่ในทางกลับกันขุนนางชั้นปกครองซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามถูกลดทอนอำนาจ เพื่อกดอำนาจไว้ไม่ให้มาอำนาจขึ้นมาท้าทายฝ่ายของตนเอง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเมืองการปกครองในสมัยอยุธยายุคราชวงศ์ปราสาททองคือ ความพยายามครั้งสุดท้ายในการปฏิรูปทางอำนาจของขุนนางเพื่อไม่ให้ขุนนางต่างๆเข้ามาท้าทายอำนาจของกษัตริย์ แต่สุดท้ายความพยายามดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงในระดับที่สามารถแก้ไขปัญหาให้หายไปได้ อย่างไรก็ดีการปฏิรูปในครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นได้ถึง 2 ปัจจัยหลักที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง
ปัจจัยประการแรกคือ ความหวาดกลัวในจำนวนไพร่ที่อยู่ในอำนาจของขุนนางที่มีมากจนสามารถรัฐประหารด้วยตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเชื้อพระวงศ์ เนื่องจากราชวงศ์ปราสาททองมาจากสามัญชน จึงเข้าใจในปัญหานี้และหลาดกลัวสิ่งนี้ ทำให้มีการลดทอนอำนาจและคานอำนาจทำให้อำนาจขุนนางแยกออกมา ไพร่ซึ่งได้อยู่ในสังกัดของขุนนางจึงได้รับผลกระทบนี้ซึ่งเกิดการแบ่งไปยังพื้นที่ต่างๆซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจในจุดต่างๆ
ประการต่อมาคือ การตอบสนองความต้องการของกษัตริย์ที่ต้องการจะปกป้องพระองค์เองจากฝ่ายตรงข้ามหรือขุนนางชั้นปกครอง เช่น การสร้างป้อมวิไชเยนทร์หรือป้อมวิไชยประสิทธิ์ การก่อสร้างพระราชวังลพบุรี ทำให้ไพร่ถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงานจำนวนมาก ไพร่จึงกลายเป็นผู้แบกรับภาระในเกมทางการเมืองอยุธยาในช่วงปลายซึ่งรุนแรงน้อยกว่าช่วงต้น นอกจากเกมทางการเมืองแล้วไพร่ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญในความรุ่งเรืองอันโดดเด่นในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง และรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั่นคือ เศรษฐกิจ
8.ระบบไพร่ ลมหายใจสุดท้ายทางเศรษฐกิจของอยุธยา
ระบบไพร่นอกจากเรื่องการเมือง สังคม วัฒนธรรมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ระบบไพร่ยังมีส่วนสำคัญในด้านเศรษฐกิจด้วยเช่นกันดังที่กล่าวไว้แล้วในช่วงต้น ซึ่งไพร่ทวีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในสมัยราชวงศ์ปราสาททองซึ่งเป็นยุคที่รุ่งเรืองทางการค้ามากที่สุด ไพร่เป็นส่วนสำคัญในฐานะกำลังการผลิตที่สำคัญที่ผลิตสินค้าอันก่อให้เกิดรายได้อันมหาศาลให้กับอยุธยาซึ่งเป็นเมืองท่าทางการค้านานาชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
ซึ่งด้วยระบบการค้าของอยุธยาซึ่งเป็นระบบแบบผูกขาด ซึ่งทำให้ไพร่กลายเป็นแรงงานการผลิตสินค้าที่มีราชสำนักเป็นเจ้าของสินค้าที่ไพร่เป็นผู้ผลิตขึ้นมาแต่เพียงผู้เดียว การค้าภายนอกอาณาจักรจึงถูกกำกับโดยราชสำนักโดยผ่านทางกรมท่าซึ่งสังกัดกรมโกษาธิการหรือกรมคลัง แต่ผู้ผลิตคือไพร่ซึ่งเป็นแรงงานให้กับราชสำนักในการผลิตสิ่งต่างๆให้
แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากในสมัยอยุธยาไม่ได้มีระบบเงินเบี้ยหวัดจ่ายแก่ขุนนาง ขุนนางจึงไม่ได้มีเงินเดือนเป็นรายได้ของตนเอง จึงทำให้ขุนนางต้องไปรีดเอารายได้จากไพร่ในสังกัดของตนเองในการผลิตสินค้าให้กับราชสำนักและตนเองในระบบอยู่เมืองกินเมือง ต้นตอของระบบคอรัปชั่น
ซึ่งเป็นการที่ไพร่ต้องแบกรับภาระจากทั้งสองฝ่ายทั้งต้องผลิตทรัพยากรเพื่อส่งไปให้กับราชสำนักซึ่งเรียกเก็บในฐานะภาษีอากร และต้องผลิตทรัพยากรให้กับขุนนางในสังกัดของตนเพื่อนำไปขายหารายได้ให้กับตัวขุนนางเอง
จึงทำให้ไพร่อยู่ในฐานะรากฐานสำคัญที่อยู่ด้านล่างสุดในการผลิตทรัพยากรต่างๆเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้ทั้งขุนนางในสังกัดของตนเอง และให้กับราชสำนักที่จ้องจะเรียกเก็บภาษี จึงเป็นเหตุให้ไพร่เป็นตัวแปรสำคัญในส่วนต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความมั่งคั่งของอยุธยามาอย่างยาวนาน
1
ด้านเศรษฐกิจภายใน อยุธยาได้มีการเก็บภาษีกับไพร่ในทุกๆคนทั้งไพร่หลวงและไพร่สม ซึ่งถือเป็นรายได้ที่มีกำไรและสร้างสภาพคล่องให้กับอยุธยารองลงมาจากการค้าระหว่างอาณาจักร ซึ่งเป็นรายได้ที่เป็นการสร้างภาระให้กับไพร่อันมหาศาล ซึ่งภาษีในช่วงราชวงศ์ปราสาททองนั้นมีการเก็บภาษีในหลายประเภทซึ่งเป็นการขูดรีดบรรดาไพร่เป็นอย่างมาก
แต่ด้วยเหตุนี้ก็ได้สร้างเสถียรภาพและสภาพคล่องทางการคลังให้กับอยุธยาจนสร้างความรุ่งเรืองให้กับอยุธยา อยุธยาจึงเป็นการพึ่งพิงการผลิตสิ่งต่างๆจากไพร่ ทำให้การเศรษฐกิจของอยุธยาเป็นการขูดรีดในสิ่งต่างๆจากบรรดาไพร่
ดังนั้นเศรษฐกิจของอยุธยาเป็นการยึดโยงอยู่ที่ไพร่อันเป็นกำลังในการผลิตทรัพยากรที่สำคัญในการค้าขายกับต่างชาติ และยังเป็นฐานในการรีดเอาทรัพยากรในรูปแบบภาษีอากร ดังนั้นกระบวนการทางเศรษฐกิจของอยุธยา ไพร่คือกลุ่มผู้ที่แบกรับภาระการขูดรีดทั้งแรงงานที่ถูเอาไปใช้ในการผลิตทรัพยากรให้แก่ราชสำนักและขุนนางที่ตนสังกัด และการขูดรีดภาษีอากรที่ราชสำนักได้เรียกเก็บซึ่งก็เพิ่มภาระให้กับไพร่ให้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีความรุ่งเรืองของอยุธยาจึงดำเนินต่อไปในฉากหน้าที่ดูยิ่งใหญ่
แต่ในฉากหลังเต็มไปด้วยการขูดรีดจากไพร่ซึ่งเป็นสิ่งตัวไพร่นั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เศรษฐกิจของอยุธยาพุ่งทะยานสูงสุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก่อนจะซบเซาลงหลังสิ้นสุดสมัยสมเด็จพระนารายณ์เข้าสู่ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นห้วงสุดท้ายของหน้าประวัติศาสตร์ของอาณาจักรอยุธยาก่อนจะมุ่งสู่จุดจบของอาณาจักรด้วยฝีมือของไพร่นั่นเอง
1
9.ฟ้าใสสีแสดและพายุที่โหมกระหน่ำ
หลังการรัฐประหารของสมเด็จพระเพทราชาและการตั้งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบใหญ่แก่ระบบไพร่ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบเพียงแต่ชนชั้นปกครอง แต่ในการรัฐประหารในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการอ้างเหตุผลความเป็นอยู่อันขัดสนของอาณาราษฎรเพื่อใช้เป็นเหตุผลในการรัฐประหาร
แต่แท้จริงแล้วอย่างที่กล่าวไปเบื้องต้นไพร่ไม่ได้รับผลจากการรัฐประหารในครั้งนี้ เนื่องจากการอ้างเหตุผลดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงไพร่หรือทาส แต่เป็นการหมายถึงขุนนางด้วยกันเองซึ่งเสียผลประโยชน์จากการนโยบายของสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งทำให้พวกตนถูกกดอำนาจไว้
ตลอดช่วงเวลาการปกครองอยุธยาภายใต้ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นความสงบสุขที่มีแต่ความขัดแย้งซึ่งเกิดขึ้นกันภายในราชสำนักไม่ใช่เหล่าขุนนางแทน แต่ขุนนางก็ยังมีส่วนโดยการให้การสนับสนุนเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่เหล่าขุนนางคนนั้นๆคาดว่า จะให้ผลประโยชน์กับตน ทำให้การแก่งแย่งอำนาจที่สร้างความปั่นป่วนทั้งกบฎธรรมเธียร ความขัดแย้งระหว่างกรมพระราชวังบวรสถานฯพระเจ้าเสือกับสมเด็จพระเพทราชา
ความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กบฏเจ้าสามกรม และการออกผนวชของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือขุนหลวงหาวัด ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับช่วงก่อนสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 แต่มีความแตกต่างกันในแง่ของความแตกแยกที่แตกต่างออกไป
ในสมัยเสียกรุงครั้งที่ 1 ความแตกแยกเกิดความอ่อนแอของอยุธยาเป็นหลักจึงทำให้อยุธยาไม่สามารถควบคุมไพร่พลที่อยู่ในหัวเมืองต่างพากันแยกตัวออกไปสวามิภักดิ์กับหงสาวดี และการสูญเสียไพร่พลในการป้องกันเมืองจากการทำสงครามใหญ่ทั้ง สงครามช้างเผือก การรัฐประหารขุนวรวงศาธิราช ซึ่งเป็นสงครามใหญ่ที่สร้างความบอบช้ำให้กับอยุธยาในครั้งเดียว ซึ่งทำให้หงสาวดีสบโอกาสทำสงครามเพื่อเข้ามามีอำนาจในอยุธยา
แต่การเสียกรุงครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากแรงกดดันจากตัวอังวะที่เข้ามาโอบล้อมเป็นหลักซึ่งเกิดจากการที่อังวะเข้ามาล้อมอยุธยา เป็นการกดดันให้อยุธยาตายอย่างช้าๆและล่มสลายด้วยภายใน เป็นการใช้จิตวิทยาในการเข้าทำลายอยุธยา ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน โดยกลุ่มอังวะทำการกดดันไม่ใช่ชนชั้นปกครองแต่เป็นไพร่
การล้มกรุงศรีอยุธยาของอังวะเป็นการปิดตายให้คนภายในกรุงศรีอยุธยาไม่ให้สามารถออกมามีปฏิสัมพันธ์กับภายนอก เนื่องจากอยุธยามีข้อได้เปรียบที่เป็นสิ่งที่อยุธยาใช้เอาชนะศัตรูอยู่ 3 ปัจจัยคือ
ปัจจัยแรกคือ จุดยุทธศาสตร์ซึ่งมีปราการธรรมชาติเป็นน้ำโดยมีแม่น้ำล้อมรอบ ปัจจัยต่อมาคือ ไพล่พลจากหัวเมืองเหนือที่จะยกทัพลงมาตีข้าศึกที่เข้ามาล้อมเมืองไว้ ปัจจัยสุดท้ายคือ น้ำเหนือในฤดูฝนที่ไหลบ่าลงมาท่วมบริเวณโดยรอบเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งเป็นสิ่งที่เอาชนะข้าศึกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ในการล้อมเมืองของอังวะนั้นข้อได้เปรียบต่างๆของอยุธยากลับไม่สามารถเอาชนะศัตรูได้
เนื่องจากอังวะได้ต้านทัพเมืองเหนือไม่ให้สามารถนำทัพมาช่วยอยุธยาได้ ในขณะเดียวกันน้ำเหนือที่อยุธยาเฝ้ารอให้ไหล่บ่าขับไล่กองทัพอังวะออกไป ทางอังวะก็ทราบดีเรื่องชัยภูมิที่ตั้งและข้อได้เปรียบของอยุธยา ทำให้อังวะจึงได้ตั้งค่ายบนเนินเพื่อไม่ให้น้ำท่วมถึง ทำให้ข้อได้เปรียบทั้งหมดของอยุธยาได้ถูกอังวะแก้ทางได้หมดแล้ว จึงทำให้อยุธยาซึ่งไม่สามารถออกมาข้างนอกได้ ทำได้เพียงแต่ตั้งรับภายในเกาะเมือง
ในขณะที่ข้อได้เปรียบของอยุธยาถูกอังวะทำลายหมดแล้ว ในทางกลับกันข้อได้เปรียบที่ไม่ได้ผลยังย้อนกลับเป็นตัวเร่งให้อยุธยาล่มสลายโดยเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากการที่อยุธยาถูกล้อมและโดยรอบของเมืองกลายเป็นน้ำ ทำให้การทำสงครามเปรียบจากการนำทหารออกมาต่อสู้กันนอกเมือง กลายเป็นการต่อสู้ทางน้ำที่เป็นการระดมยิงปืนให่ใส่กัน ซึ่งอยุธยาที่ไม่สามารถออกมาจากเมืองได้ทำให้ทรัพยากรที่อยู่ในเมืองซึ่งเกิดจากการกักตุนไว้ตั้งแต่ก่อนการล้อมเมืองก็ค่อยๆทยอยลดน้อยลง
ซึ่งทำให้เสบียงหรือทรัพยากรในอยุธยาลดลงเรื่อยๆประกอบกับการตายของไพร่พลจำนวนมากทำให้ประชากรในเมืองลดลงจนไม่เพียงพอในการปกป้องเมือง จนทำให้อยุธยาอยู่ในสภาวะวิกฤตซึ่งนำไปสู่เหตุจราจลขึ้น เมื่อเมืองอยู่ในสถานะล้มเหลวในการป้องกันเมือง ประชากรในเมืองโดยเริ่มจากไพร่ซึ่งหนีออกมาจากมาขอพึ่งทัพอังวะ เนื่องจากอยุธยาไม่สามารถเหนี่ยวรั้งระบบไพร่ให้อยู่ภายใต้อำนาจได้ ไพร่จึงหลุดการควบคุมแล้วหนีออกจากอยุธยาเพื่อหาทางรอด กลุ่มต่อมาที่หนีออกมาคือ ขุนนาง
ซึ่งหนีออกมาจากอยุธยาแล้วกระจายตัวออกไปตามหัวเมืองต่างๆเนื่องจากอยุธยาในตอนนั้นอยู่ในสภาวะที่ใกล้จะตายแล้ว ขุนนางจึงมองว่า อยุธยาไม่ได้มีผลประโยชน์ให้แสวงหาอีกแล้ว จึงได้หนีออกมาเพื่อจะได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆ จนกลายเป็นกลุ่มชุมนุมต่างๆ
ในท้ายที่สุดเมืองไพร่ที่ใช้ในการป้องกันเมืองมีไม่เพียงพอ การป้องกันเมืองหลวงก็ล่มสลายลงพร้อมกับการพังทลายของกำแพงเมืองพร้อมกับการทะลักเข้ามาของกองทัพอังวะมุ่งเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาและในวันนั้นอยุธยาก็เหลือเพียงแต่ชื่อ หลังการเสียกรุงครั้งที่ 2 นั้นก็เช่นเดียวกับการเสียกรุงครั้งที่ 1 มีการกวาดต้อนผู้คนจากอดีตอยุธยากลับกรุงอังวะ
แต่เหตุผลหลักในครั้งนี้ไม่ใช่การบั่นทอนอำนาจเมืองที่พ่ายแพ้ แต่เป็นการกวาดต้อนผู้คนเพื่อมาใช้แรงงานในการสร้างเมืองอังวะซึ่งเพิ่งจะสร้างได้ไม่นาน ประกอบกับเกณฑ์ไปเป็นทหารเนื่องจากอังวะในขณะนั้นกำลังทำสงครามกับจักรวรรดิต้าชิงอยู่
จึงจะเห็นว่า แม้แต่การล่มสลายของอยุธยาหรือแม้แต่หลังการเสียกรุงไปแล้ว ไพร่ยังเป็นสิ่งสำคัญ เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม หรือยุทธปัจจัยในการทำสงคราม ตราบกระทั่งมาจนถึงการกอบกู้บ้านเมืองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน
บทสรุป
เราจะเห็นว่าจากเรื่องราวที่ผ่านจะสังเกตว่า ไพร่เป็นตัวแปรที่เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของอยุธยาในหลายด้าน ตั้งแต่การสถาปนาอาณาจักรจนกระทั่งการล่มสลายของอาณาจักรอยุธยา การดำรงอยู่ของระบบไพร่ถูกใช้โดยชนชั้นปกครอง ซึ่งไพร่เป็นระบบที่ถูกมองว่า เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสำคัญในทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ยุทธปัจจัยต่างๆ จึงเป็นเครื่องมือที่เหล่าชนชั้นปกครองโดยเฉพาะขุนนางมุ่งสะสมและแสวงหาผลประโยน์โดยการขูดรีดเอาทรัพยากรต่างๆที่ได้จากการไพร่ไม่ว่าจะเป็น แรงงาน ผลผลิต ภาษีอากร
อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยอยุธยาภาระต่างๆล้วนตกอยู่กับไพร่หรือฐานันดรที่ 3 ทั้งหมด การที่ภาระทุกอย่างตกอยู่กับไพร่ทำให้ทุกอย่างต้องยึดโยงกับไพร่ ซึ่งทำให้ชนชั้นปกครองของอยุธยาต้องสร้างโครงสร้างหรือกระบวนการที่ใช้ในการควบคุมไพร่ให้อยู่ภายใต้อิทธิพลอำนาจของชนชั้นปกครอง เปรียบเหมือนหินที่ถูกมัดโดยเส้นด้ายซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธเพื่อป้องกันตัวเองได้
2
แต่หากมีสิ่งใดมากระทบกับระบบก็ย่อมจะทำให้ก้อนหินที่ถูกมัดไว้ร่วงหล่นลง เนื่องจากไม่มีสิ่งใดมาผูกมัด เช่นกันกับระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมไพร่ หากสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมสามารถทำให้เกิดประโยชน์เช่น สมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่หากชนชั้นปกครองมีปัญหาจนก่อให้เกิดผลกระทบกับระบบก็ย่อมทำให้ไพร่หลุดออกจากการควบคุม และนำพาไปสู่จุดจบของอาณาจักรที่เกิดขึ้นโดยไพร่ และล่มสลายโดยไพร่ดังคำที่กล่าวไว้ข้างต้นของบทความนี้ว่า“ไพร่สร้างเมืองได้ ไพร่ก็ทำให้เมืองล่มสลายได้เช่นกัน”
2
ประวัติศาสตร์
การเมือง
เศรษฐกิจ
1 บันทึก
2
107
1
2
107
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย