29 ก.ย. 2023 เวลา 04:58 • ประวัติศาสตร์

การล่มสลายของอาณาจักร

การล่มสลายของอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งนั้นมีหลายสาเหตุ ซึ่งที่ผ่านมา สาเหตุหลักๆ ก็อาจจะเป็นการรุกรานจากดินแดนอื่นหรือไม่ก็สงครามกลางเมือง
แต่สาเหตุที่อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งจะล่มสลายนั้นก็อาจจะไม่ได้มีเพียงแค่นั้น หากพิจารณาอย่างลึกๆ สาเหตุอาจจะมีมากกว่านั้น ซึ่งในบทความนี้ ผมจะขอยกบางเหตุผลหรือสาเหตุมาให้ลองพิจารณานะครับ
1.การละเลยในความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐาน
ดินแดนหลายแห่งนั้นอยู่ได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ถนนหนทางในอาณาจักรโรมัน ระบบทางรถไฟของสหภาพโซเวียต หรือคลองใหญ่ (Grand Canal) ในจีน เป็นต้น
3
คลองใหญ่นั้นเปรียบเสมือนเส้นทางชีวิตของจีน เชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงอย่างกรุงปักกิ่งกับดินแดนส่วนกลาง โดยในช่วงสูงสุดนั้น คลองใหญ่นั้นมีเรือบรรทุกสินค้าใช้คลองใหญ่ถึงกว่า 8,000 ลำ บรรทุกข้าวระหว่าง 240,000-360,000 ตัน
คลองใหญ่ (Grand Canal)
ในปีค.ศ.1825 (พ.ศ.2368) ได้เกิดน้ำท่วมทำให้คลองใหญ่ถูกปิด เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความโกลาหลและสงครามกลางเมือง และถึงแม้จะมีความพยายามที่จะปรับปรุงคลองใหญ่เพื่อให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง แต่สุดท้าย คลองใหญ่ก็ถูกปิดใช้ไปในปีค.ศ.1901 (พ.ศ.2444)
10 ปีต่อมา วันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ.1911 (พ.ศ.2454) การปฏิวัติในจีนก็ทำให้จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งจีนต้องสิ้นอำนาจ และทำให้เกิดสงครามกลางเมืองก่อนที่ในเวลาต่อมา ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะได้รับชัยชนะในปีค.ศ.1949 (พ.ศ.2492)
ดังนั้นอาจจะเรียกได้ว่าโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆ นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก หากโครงสร้างพื้นฐานเสื่อมโทรม ผลลัพธ์ที่ตามมาก็อาจจะแย่เกินกว่าที่จะคาด
2.การลดลงของจำนวนประชากร
การลดลงของจำนวนประชากรมักจะตามมาด้วยความเสื่อมโทรมของอาณาจักร
ในช่วงที่จักรวรรดิโรมันรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยศตวรรษที่สอง นักประวัติศาสตร์ได้ประเมินว่าจักรวรรดิโรมันนั้นมีประชากรมากถึง 65 ล้านคนเลยทีเดียว
แต่ต่อมา เมื่อถึงราวศตวรรษที่สี่ โรคระบาดก็ทำให้จำนวนประชากรลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน ซึ่งการลดลงของจำนวนประชากรก็ทำให้จักรวรรดิโรมันเสื่อมโทรมและไม่มีกำลังที่จะป้องกันตนเอง
ถึงแม้ว่าต่อมาจำนวนประชากรจักรวรรดิโรมันจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 55 ล้านคน แต่ในปีค.ศ.476 (พ.ศ.1019) จักรวรรดิโรมันตะวันตกก็ล่มสลาย โดยหนึ่งในสาเหตุแห่งความล่มสลายก็คือการขาดแคลนทรัพยากรในการป้องกันดินแดนจากศัตรูผู้รุกราน
ในปัจจุบัน หลายคนก็กังวลเรื่องการลดลงของจำนวนประชากร โดยหนึ่งในผู้ที่ให้ความสนใจในปัญหานี้ก็คือ "อีลอน มัสก์ (Elon Musk)" มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก นักธุรกิจเทคโนโลยีผู้มีทรัพย์สินมากถึง 241,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8.9 ล้านล้านบาท)
ที่สหรัฐอเมริกา อัตราการเกิดก็ลดลง โดยในปีค.ศ.2021 (พ.ศ.2564) ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าอัตราการเกิดในสหรัฐอเมริกาลดลงเหลือเพียง 1.7 คนต่อสตรีหนึ่งคน ส่วนจีนนั้นอยู่ที่ 1.2 คนต่อสตรีหนึ่งคน ญี่ปุ่นและอิตาลีอยู่ที่ 1.3 คนต่อสตรีหนึ่งคน ส่วนเกาหลีนั้นอยู่ที่ 0.8 คนต่อสตรีหนึ่งคน
1
ส่วนไทยนั้น ข้อมูลในปีค.ศ.2020 (พ.ศ.2563) อัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 1.3 คนต่อสตรีหนึ่งคน
อีลอน มัสก์ (Elon Musk)
การลดลงของจำนวนประชากรทำให้เกิดความกังวลในปัญหาต่างๆ ที่จะตามมา เช่น จำนวนทหารที่จะประจำการในกองทัพเพื่อป้องกันประเทศก็ต้องลดลง แรงงานในภาคอุตสาหกรรมก็ต้องลดลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว การเก็บภาษีก็ย่อมต้องลดลง การค้าต่างๆ ก็ชะลอตัว
1
และด้วยความที่อัตราการเกิดลดลง แต่จำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ทำให้งบประมาณในการดูแลผู้สูงอายุนั้นก็ประสบปัญหา และหลายๆ ประเทศก็กำลังเจอกับปัญหานี้
1
แต่วิธีการแก้ปัญหาการลดลงของจำนวนประชากรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากการจะไปบังคับให้คู่หนุ่มสาวมีลูกโดยไม่เต็มใจนั้นย่อมทำไม่ได้แน่ๆ การจะมีบุตรนั้นต้องเกิดจากความเต็มใจของคู่หนุ่มสาวสามีภรรยา
ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่หลายคนคิดขึ้นมาได้ ก็คือการพึ่งพาเทคโนโลยี
เทคโนโลยีจะช่วยในการทดแทนแรงงานที่ขาดหาย ไม่ว่าจะเป็นเอไอ (AI) หุ่นยนต์ ระบบอัลกอริทึม โดยในปัจจุบัน บริษัท Tesla Motors ของมัสก์ ก็ได้พัฒนารถยนต์ที่ขับได้เอง รวมทั้งซูเปอร์คอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์มนุษย์จักรกลที่จะทำหน้าที่แทนมนุษย์
มัสก์คาดการณ์ว่าในวันหนึ่ง หุ่นยนต์มนุษย์จักรกลจะเข้ามาแทนที่และมีจำนวนมากกว่ามนุษย์ โดยมัสก์ได้ก่อตั้งบริษัทเอไอถึงสองบริษัท นั่นคือ "OpenAI" และ "xAI"
อารยธรรมที่มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากหุ่นยนต์และเครื่องจักรจะนำพาอนาคตที่ดีมาได้หรือไม่? คำถามนี้คงไม่มีใครตอบได้นอกจากกาลเวลาเท่านั้น
3.การบริหารการเงินที่ผิดพลาด
การบริหารการเงินที่ผิดพลาดก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาณาจักรต้องล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษี การเก็บและจ่ายหนี้ และการบริหารเงินที่ล้มเหลวก็ล้วนแต่ส่งผลหายนะต่ออาณาจักร
ตัวอย่างสำคัญคือกรณีของฝรั่งเศส
ความล้มเหลวทางการเงินนำพาไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ซึ่งเป็นการสิ้นสุดการปกครองระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศส
ในปลายศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสคือหนึ่งในชาติที่ร่ำรวยและเจริญที่สุดชาติหนึ่งในโลก และกองทัพฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก
แต่จุดอ่อนของฝรั่งเศสในเวลานั้นก็คือ ฝรั่งเศสไม่สามารถเก็บภาษีได้มากพอ รวมทั้งยังไม่สามารถจ่ายหนี้ที่คั่งค้างได้
และถึงแม้จะทรงอำนาจ แต่ในเวลานั้นฝรั่งเศสก็ยังขาดระบบทางการเงินที่ทันสมัย ไม่มีธนาคารกลางที่บริหารจัดการเรื่องเงินและหนี้ และราชสำนักฝรั่งเศสก็ต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในประเทศ
ราชสำนักไม่มีเงินพอที่จะจ่ายหนี้ที่กู้ยืมมาได้ เนื่องจากรัฐบาลก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้มากพอ และพระประมุขอย่าง “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)” ก็ไม่ใช่พระประมุขที่ทรงพระปรีชานัก
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)
รัฐธรรมนูญที่ยุ่งเหยิงของฝรั่งเศสก็ได้ให้อำนาจแก่สภาส่วนภูมิภาคในการยับยั้งภาษีใหม่ๆ ได้ ทำให้ราชสำนักไม่สามารถเก็บภาษีได้มากนัก
วิธีแก้ปัญหาก็คือเรียกประชุมรัฐสภา และสภาฐานันดร ซึ่งไม่เคยมีการเรียกประชุมตั้งแต่ค.ศ.1614 (พ.ศ.2157) ก็ถูกเรียกอีกครั้งในรอบ 175 ปี เนื่องจากสภาฐานันดรก็มีอำนาจที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้
ภายในปีค.ศ.1788 (พ.ศ.2331) ฝรั่งเศสนั้นถังแตกและพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็ทรงเรียกประชุมสภาฐานันดร โดยสภาฐานันดรได้จัดประชุมในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1789 (พ.ศ.2332) และเมื่อนั้น ความวุ่นวายก็บังเกิดขึ้น
เหล่าสมาชิกหัวรุนแรงในสภาฐานันดรได้ปฏิเสธที่จะฟังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และได้เดินออกจากที่ประชุมพร้อมประกาศแยกตัวเป็น “สมัชชาแห่งชาติ (National Assembly)”
และสมัชชาแห่งชาตินี้เองที่เป็นผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศส และส่งองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ไปประหาร
จักรวรรดิอ็อตโตมันก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กันในศตวรรษที่ 19 โดยในเวลานั้น จักรวรรดิอ็อตโตมันขาดแคลนระบบทางการเงินที่ทันสมัย ทำให้ท่านสุลต่านที่ปกครองอาณาจักรต้องกู้ยืมเงินจำนวนมากมาจากนายธนาคารจากยุโรป
เงินที่ได้มานั้น ท่านสุลต่านทรงนำไปใช้ซื้ออาวุธใหม่ๆ สร้างทางรถไฟ ซื้อเรือรบ สร้างระบบโทรเลข และปรับปรุงดินแดนสู่ความทันสมัย
แต่ในความเป็นจริงนั้น ทุกอย่างเป็นเหมือนการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ในความเป็นจริงนั้นจักรวรรดิอ็อตโตมันยังคงขาดระบบบริหารทางการเงินที่ทันสมัย รวมทั้งการเก็บภาษีก็ทำไม่ได้เต็มที่ ทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้สินที่คั่งค้างได้
นอกจากนั้น ในระหว่างค.ศ.1854-1874 (พ.ศ.2397-2417) คณะทูตอ็อตโตมันได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากมหาอำนาจต่างชาติอีกกว่า 15 ฉบับ ทำให้ในช่วงแรก จักรวรรดิอ็อตโตมันมีเงินจำนวนมากซึ่งมาจากการกู้ยืม
แต่แทนที่จะนำเงินที่ได้นั้นไปพัฒนาประเทศ เหล่าขุนนางทุจริตต่างก็นำเงินที่กู้ยืมมานั้นไปเข้าบัญชีของตน ทำให้รัฐบาลอ็อตโตมันต้องหันไปพึ่งกลุ่มนายธนาคารในคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งนายธนาคารเหล่านี้ก็ร่ำรวยจากการปล่อยกู้ให้รัฐบาล และแบ่งปันความร่ำรวยนั้นกับเหล่าขุนนาง
ในปีค.ศ.1856 (พ.ศ.2399) “สุลต่านอับดุล เมจิดที่ 1 (Abdulmejid I)” สุลต่านแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมัน ก็ได้ทำการปฏิรูปอีกครั้ง โดยท่านสุลต่านอับดุล เมจิดที่ 1 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายธนาคารชาวอังกฤษจัดตั้ง “ธนาคารอ็อตโตมัน (Imperial Ottoman Bank)” ซึ่งตามหลักแล้วธนาคารอ็อตโตมันสามารถดำเนินการในฐานะธนาคารกลางได้ แต่ในความเป็นจริง ทั้งหมดเป็นเพียงเล่ห์กล
สุลต่านอับดุล เมจิดที่ 1 (Abdulmejid I)
นายธนาคารชาวอังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำหน้าที่บริหารธนาคารอ็อตโตมัน และแทนที่จะถวายรายงานธนาคารแก่สุลต่าน ผู้จัดการธนาคารกลับทำรายงานแก่คณะกรรมการของตน
แต่ถึงอย่างนั้นท่านสุลต่านอับดุล เมจิดที่ 1 ก็ต้องทรงยอม เนื่องจากกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นเพียงสิ่งเดียวที่จะช่วยปกป้องจักรวรรดิอ็อตโตมันจากการรุกรานของ “จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander II of Russia)”
1
แทนที่จะปรับปรุงระบบการเงินในประเทศ ธนาคารอ็อตโตมันกลับส่งเงินภาษีที่เก็บได้ในจักรวรรดิอ็อตโตมันไปให้แก่นายธนาคารชาวอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งระบบนี้ก็ดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานมาจนถึงการล่มของตลาดหุ้นในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในปีค.ศ.1873 (พ.ศ.2416)
1
เมื่อถึงปีค.ศ.1874 (พ.ศ.2417) แม้แต่นายธนาคารในคอนสแตนติโนเปิลก็ไม่ยอมปล่อยกู้แก่รัฐบาลอีกต่อไป ถึงแม้จะได้ดอกเบี้ยถึง 25% ก็ตาม และเมื่อถึงปีค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) รายได้ของจักรวรรดิอ็อตโตมัน 2 ใน 3 ส่วนก็ถูกนำมาจ่ายหนี้ที่รัฐบาลติดค้าง
จักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งรัสเซีย (Alexander II of Russia)
ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424) รัฐบาลอ็อตโตมันได้ทำข้อตกลงกับยุโรป โดยการเงินของจักรวรรดิอ็อตโตมันนั้นตกไปอยู่ใต้อำนาจของ “คณะบริหารหนี้สาธารณะอ็อตโตมัน (Ottoman Public Debt Administration)” หรือ “OPDA” ซึ่ง OPDA ก็เป็นอีกหนึ่งเล่ห์กลของนายธนาคารชาวยุโรปในการกอบโกยผลประโยชน์จากจักรวรรดิอ็อตโตมัน
แต่ท่านสุลต่านที่ปกครองจักรวรรดิอ็อตโตมันกลับเห็นดีเห็นงามกับ OPDA เนื่องจากธนาคารยุโรปตกลงที่จะลดหนี้ให้ถึง 40% แลกกับการที่ OPDA ซึ่งบริหารงานโดยฝ่ายยุโรปจะเข้าจัดการเรื่องเศรษฐกิจและการเงินทั้งหมดในจักรวรรดิอ็อตโตมัน
1
เมื่อเข้ามามีอำนาจทางการเงิน OPDA ก็เริ่มตักตวงอย่างเต็มที่ เช่น OPDA มีสิทธิในสัมปทานทางรถไฟ ซึ่งรวมไปถึงการครอบครองป่าไม้และเหมืองแร่ ทำให้ผู้สร้างทางรถไฟสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติได้เต็มที่
ภายในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) OPDA ก็กอบโกยผลประโยชน์จากจักรวรรดิอ็อตโตมันไปได้มหาศาล สร้างความร่ำรวยให้ฝ่ายยุโรป
และในขณะที่ OPDA กำลังกอบโกยผลประโยชน์จากจักรวรรดิอ็อตโตมันอย่างเต็มที่ ดินแดนอื่นๆ ใต้อำนาจของจักรวรรดิอ็อตโตมันต่างก็หลุดลอยไปจากมือของจักรวรรดิอ็อตโตมัน ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ซึ่งตามหลักแล้วยังเป็นดินแดนใต้อำนาจของจักรวรรดิอ็อตโตมัน ก็ถูกอังกฤษเข้ายึด และดินแดนอื่นๆ อีกหลายแห่งซึ่งเคยเป็นของจักรวรรดิอ็อตโตมันก็ต้องหลุดมือไปเช่นกัน
ทางด้าน “สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ 2 (Abdul Hamid II)” พระประมุขแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมัน ก็ทรงยอมยกอำนาจส่วนใหญ่แก่กลุ่มยังเติร์ก (Young Turk) โดยกลุ่มยังเติร์กสัญญาว่าจะทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย แต่อันที่จริง กลุ่มยังเติร์กนั้นเป็นขบวนการเคลื่อนไหวฟาสซิสต์
29 ตุลาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) กลุ่มยังเติร์กได้ตัดสินใจนำประเทศเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Power) ซึ่งนำพาไปสู่ความล่มสลายของจักรวรรดิอ็อตโตมัน
สุลต่านอับดุล ฮามิดที่ 2 (Abdul Hamid II)
17 พฤศจิกายน ค.ศ.1922 (พ.ศ.2465) “สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 (Mehmed VI)” สุลต่านองค์สุดท้ายแห่งจักรวรรดิอ็อตโตมันก็ต้องเสด็จหนีออกจากพระราชวัง โดยทรงหนีประชาชนของพระองค์ไปกับรถพยาบาลอังกฤษ และต้องลี้ภัยไปประทับยังมอลตา ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
พระองค์สวรรคตในปีค.ศ.1926 (พ.ศ.2469) โดยในเวลานั้น พระองค์ทรงยากจนขั้นสุด แม้แต่โลงพระบรมศพก็ถูกยึดเป็นการใช้หนี้ที่พระองค์ทรงติดค้าง
1
สุลต่านเมห์เหม็ดที่ 6 (Mehmed VI)
ส่วน OPDA นั้นกลับรอดมาได้ โดยตุรกีได้จ่ายหนี้งวดสุดท้ายแก่ OPDA ในปีค.ศ.1954 (พ.ศ.2497)
นี่ก็เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างการบริหารทางการเงินที่ผิดพลาด ก็อาจทำให้อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ล่มสลายได้เลยทีเดียว
โฆษณา