29 ก.ย. 2023 เวลา 07:37 • กีฬา

Inverted Fullback มันธรรมดาไปแล้วเรอะ?

By: Colly
การดูบอลในช่วง 4-5 ปีหลัง คำศัพท์ที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆก็คือ inverted fullback รูปแบบการเล่นใหม่ที่หลายๆทีมนิยมนำมาใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครเป็นผู้นำแท็กติกแบบนี้มาใช้เป็นคนแรก แต่ที่แน่ๆก็คือ เป๊ป กวาร์ดิโอล่า ยอดกุนซือชาวสเปนนี่แหละที่ทำให้แท็กติกนี้กลายเป็นที่นิยม หลังจากทีมของเขา ทั้ง บาเยิร์น มิวนิค และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หยิบแท็กติกนี้มาใช้อย่างเป็นจริงเป็นจัง และได้ผลลัพธ์ที่ดีเสียด้วย
Inverted Fullback หากจะให้อธิบายความหมายของมันก็ต้องบอกว่าเป็นวิธีการที่พลิกโฉมหน้าของผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็กอย่างสิ้นเชิง (ก็ตามคำศัพท์ inverted นั่นแหละครับ) เพราะโดยปกติอย่างที่เราคุ้นตา นักเตะฟูลแบ็กก็จะมีหน้าที่หลักอยู่บริเวณริมเส้นฝั่งที่ตัวเองรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเกมรับหรือเกมรุกก็อยู่มันแต่ฝั่งนั้นแหละ เวลาตั้งรับก็ป้องกันอยู่พื้นที่นั้น เวลาเติมเกมรุกก็ดันขึ้นไปฝั่งเดียว เห็นเส้นข้างสนามเป็นเพื่อนว่างั้นเหอะ
แต่ inverted fullback คือการปรับให้ผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็กขยับเข้าด้านใน กลายเป็นผู้เล่นมิดฟิลด์อีกคน (ขณะเดียวกันก็ขยับให้เซ็นเตอร์ถ่างออกมากขึ้นเพื่อรักษาพื้นที่ในแนวรับ) ซึ่งมีข้อดีก็คือทำให้ทีมได้เปรียบเรื่องตัวผู้เล่นในแดนกลาง (เพราะเหมือนมีตัวผู้เล่นมากกว่าคู่แข่ง) ส่งผลให้รักษาการครองบอลได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อบอลอยู่กับทีมเรา อย่างน้อยๆก็ไม่แพ้แหละครับ มีแต่เสมอกับชนะ
อีกทั้งการขยับเข้ามาตรงกลาง ฟูลแบ็กผู้นั้นยังสามารถใช้ทักษะการเปิดบอลยาวมาช่วยอย่างได้ผลอีกด้วย จากแต่ก่อนที่กระชากไปริมเส้นแล้วโยนเข้ากลาง ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นเปิดบอลจากกลางสนามไปให้กองหน้าวิ่งไปเอาบอล ทักษะเดียวกันแหละต่างกันแค่ทิศทาง ทีนี้ก็เลยทำให้ทีมมีมิติในแนวรุกเพิ่มขึ้นไปอีก
ลองนึกชื่อของนักเตะที่เล่นแบบ inverted fullback ได้ดีสิครับ ชูเอา กานเซโล่, โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้, แบ็งฌาแม็ง ปาวาร์ฯลฯ เป็นลูกศิษย์ของ “เป๊ป” ตั้งเท่าไหร่
แต่ในช่วง 2 สัปดาห์หลัง มีสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งเสมือนเป็น “มุมกลับ” ของ inverted fullback อีกทีหนึ่ง นั่นคือ “การจับกองกลางไปเล่นเป็นแบ็ก”
ใช่ครับ ก่อนหน้านี้คือการจับฟูลแบ็กไปเล่นกลาง ตอนนี้เอากองกลางไปเล่นแบ็กแล้ว 555 สลับกันให้มันปวดกบาลเล่นซะงั้น
เริ่มจาก ลิเวอร์พูล ของ เจอร์เก้น คล็อปป์ ก่อนเลย โดยในเกม ยูโรปา ลีก JK จับกองกลางดาวรุ่งอย่าง สเตฟาน บายจ์เซติช ไปเล่นเป็นแบ็กขวา แทนที่ของ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ที่เจ็บ จากนั้นในเกมล่าสุด (คาราบาวคัพ) ก็จับเอากองกลางอีกรายอย่าง เคอร์ติส โจนส์ ไปเล่นแบ็กขวาเช่นกัน
ส่วนวิธีการเล่นก็เหมือนกับพวก inverted fullback เดิมๆแหละครับ แค่เปลี่ยนจากใช้ฟูลแบ็กมาใช้มิดฟิลด์
ไม่ใช่แค่ ลิเวอร์พูล ทีมเดียวนะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ใช้วิธีนี้เช่นกัน โดยจับเอากองกลางคนใหม่อย่าง โซฟียาน อัมราบัต มาเล่นแบ็กซ้าย (ในเกมที่เจอ คริสตัล พาเลซ) โดยจะให้ขยับเข้ามาตรงกลางยามทีมตัวเองครองบอล ก่อนจะเปลี่ยนตำแหน่งมาเล่นมิดฟิลด์ตัวรับแบบเต็มตัวในครึ่งหลัง
ข้อดีของการใช้วิธีนี้ก็คือเป็นการนำทักษะหรือธรรมชาติของมิดฟิลด์มาใช้อย่างได้ผล เพราะเป็นผู้เล่นที่ไม่เสียบอลง่ายๆ มีทักษะในการพลิกบอลไปได้ดี ไม่เหมือนกับให้ฟูลแบ็กมาเล่นที่เวลาเจอเพรสซิ่งหนักๆก็อาจจะพลาดเสียบอลกลางสนามจนโดนโต้กลับได้ง่ายกว่า (เช่นที่ เทรนท์ โดนประจำ 555) ส่วนในแง่ของเกมรับ การเป็นฟูลแบ็กที่ต้องระวังแค่ด้านเดียว มันย่อมปรับตัวง่ายกว่าสำหรับมิดฟิลด์อยู่แล้ว
เพราะอย่างงี้ไง สมัยก่อนเวลาจะส่งพวกดาวรุ่งประเดิมสนามเกมแรก เรามักจะเห็นกุนซือส่งไปเล่นริมเส้น หรือเล่นเป็นแบ็ก เพราะมันเป็นตำแหน่งที่สามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า (เช่น สตีเว่น เจอร์ราร์ด ลงเกมแรกก็คือการไปแทน เว็กการ์ด เฮกเก้ม เป็นต้น)
อย่างไรก็ตาม หากจะมองอีกมุม สาเหตุที่กุนซืออย่าง คล็อปป์ หรือ เทน ฮาก ใช้วิธีนี้ก็เป็นเพราะวิเคราะห์แล้วแหละว่าทีมของตัวเองจะเป็นฝ่ายครองเกมบุกมากกว่า จึงน่าจะใช้ทักษะของกองกลางให้เป็นประโยชน์มากกว่า เพราะหากเป็นเกมที่ใกล้เคียงกัน กองกลางที่โดนเปลี่ยนตำแหน่งเหล่านี้อาจเจอปัญหาใหญ่ได้ในยามที่ต้องเล่นเกมรับ หรือเวลาที่อีกฝ่ายครองบอลอยู่ เพราะมันอาจจะเกิดการหลงตำแหน่งกันได้ง่ายๆด้วยความไม่คุ้นชิน
ดังนั้น วิธีการเล่น inverted fullback แบบที่ใช้นักเตะกองกลางแทนที่จะเป็นฟูลแบ็กแบบนี้ แม้ว่าจะดูเป็นมิติใหม่ที่น่าจะสร้างประโยชน์ให้ทีมแถมยังปรับตัวได้ง่ายกว่า ก็คงใช้ได้แค่บางนัดแหละครับ แล้วแต่ว่าทีมตัวเองจะเจอใคร
โฆษณา