4 ต.ค. 2023 เวลา 01:00 • ไลฟ์สไตล์

เคยมั้ย? เวลาตั้งใจไปเดินห้าง ของอยากได้ “ไม่ซื้อ” ของที่ซื้อ “ไม่อยากได้”

รู้จัก “Gruen Effect” กลที่ทำให้ช้อปจนลืมตัว
เคยมั้ย…ตั้งใจไปซื้อของเพียง 1 อย่างในห้าง กลับได้ของหลายๆ อย่างกลับบ้าน ตั้งใจใช้เวลาเดินห้างไม่เกินครึ่งชั่วโมง กลับเสียเวลาซื้อของ 3 - 4 ชั่วโมง ถ้าใช่…คุณน่าจะกำลังตกเป็นเหยื่อทฤษฎี “Gruen Effect”
เชื่อว่าหลายคนเป็น…ตั้งใจมาจากบ้านแล้วว่าจะเข้าห้างไปซื้อของไม่กี่ชิ้น แต่พอไปถึงเคาน์เตอร์คิดเงิน กลับมีข้าวของในรถเข็นที่รอให้จ่ายเงินเยอะมาก รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลจากเป็นกระบวนการทางจิตวิทยา ที่เรียกว่า “Gruen Effect”
“Gruen Effect” คืออะไร ?
“Gruen Effect” เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยา คิดค้นโดย “Victor Gruen” สถาปนิกชาวออสเตรเลีย ผู้บุกเบิกการออกแบบ Shopping mall คนแรกๆ ของสหรัฐฯ
จริงๆ แล้วถูกพัฒนามาจาก Nugde Theory ของ ดร.ริชาร์ด เอช. เธเลอร์ แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2017
Nugde Theory เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม พูดถึงความสามารถในการกำหนดพฤติกรรมของผู้คนในทำในสิ่งที่เราต้องการ โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ หรือ ฝืนใจ ซึ่งคนเหล่านั้นจะเลือกทำหรือไม่ทำได้ด้วยตัวเอง
Gruen Effect รับเอาแนวคิดของ Nugde Theory มาปรับใช้ กับการออกแบบห้าง ทำให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาเจอกับ “สิ่งจูงใจรอบตัว” จนลืมจุดประสงค์หลักที่ตั้งใจมา
สุดท้าย ใช้เวลาอยู่ในห้างนานขึ้น เจอสินค้ามากมาย ก็มีโอกาสเสียเงินซื้อสินค้าเหล่านั้นมากกว่าที่ต้องการ เรียกว่า "บรรยากาศพาไปให้เสียเงิน" ซะงั้น
เท่านั้นยังไม่พอ Gruen Effect ยังถูกปรับให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละตลาด และ แพร่หลายไปยังร้านค้าปลีกทั่วโลก
เช่น ห้าง IKEA เลือกใช้ผังร้านแบบ "เขาวงกต" ที่ชวนให้หลงทาง หาทางออกได้ยาก ไม่มีทางเข้า-ทางออกที่ชัดเจน มองไม่เห็นสภาพแวดล้อมข้างนอก แถมยังมีทางลัดย่อย ถ้าเดินผิดจะย้อนกลับมาที่เดิม…
จุดประสงค์ คือ ต้องการให้ลูกค้า เดินอยู่ใน IKEA ให้นานที่สุด พอลูกค้าเจอสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ ก็เกิดอารมณ์ร่วมและอยากได้ จนยอมจ่ายเงินซื้อในที่สุด
จึงไม่แปลก หากตั้งใจมาซื้อ ตู้เสื้อผ้า ซักใบที่ IKEA จะได้ชุดเครื่องครัวกลับบ้านไปด้วย จิตวิทยาแบบนี้สร้างยอดขายถล่มทลายให้ IKEA
รับมือกับ “Gruen Effect” ยังไงดี?
1. ตั้งสติก่อนช้อป
ทุกครั้งก่อนก้าวขาเข้าห้าง ต้องเตือนตัวเองว่า “ซื้อแต่ของที่จำเป็นเท่านั้น” ยุคนี้สมัยนี้ ข้าวยากหมากแพง หากเผลอไผลไม่ทันระวัง เงินจะหมดกระเป๋าไม่รู้ตัว ต้องใจแข็งเข้าไว้
2. จดลิสต์รายการของที่ต้องการซื้อ
การมีลิสต์รายการที่แน่นอน จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ถึง 80% ว่าเงินทุกบาททุกสตางค์ที่คุณวางแผนใช้จ่ายจะไม่บานปลายเกินงบ ที่เหลืออีก 20% ขึ้นอยู่กับความใจแข็งแล้วล่ะ
3. จ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น
ทุกครั้งที่จะออกไปซื้อของ แนะนำให้เลือกถือแต่เงินสด เท่าที่คิดว่าน่าจะเพียงพอกับของที่ต้องซื้อเท่านั้น ไม่จำเป็น อย่าพกบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิต ติดไปด้วย เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองเผลอจับจ่ายเกินตัวจนต้องมากลุ้มใจภายหลัง
สุดท้ายแล้ว ในยุคที่เศรษฐกิจยังเอาแน่เอานอนไม่ได้แบบนี้ ขาช้อปทั้งหลาย ควรเตือนตัวเอง อย่าตกเป็นเหยื่อห้าง ร้าน ง่ายๆ เพราะถ้าเผลอช้อปแบบไม่มีสติเมื่อไร เงินในกระเป๋ารั่วแน่นอน
#aomMONEY #Psychology #Investment #Financial
#จิตวิทยา #การเงิน #การลงทุน #การใช้จ่าย #GruenEffect
โฆษณา