1 ต.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“ข้าวคาร์บอนต่ำ” : ข้าวอนาคตเวียดนาม ชิงธงผู้นำข้าวโลกยุคใหม่

การผลิตและการส่งออกข้าวของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังจะพลิกโฉมครั้งใหญ่ หลังประเทศคู่ค้าหันมาใส่ใจเรื่องลดโลกร้อน และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ซึ่งเวลานี้เวียดนามผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ และเป็นคู่แข่งขันของไทยได้เห็นโอกาส และได้เริ่มแผนปฏิบัติการแล้ว
บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด
เวียดนามผลิตข้าวเปลือกปีละ 42 ล้านตัน ผลิตข้าวสารได้ 30 ล้านตัน ผลผลิตข้าวเวียดนามร้อยละ 60 ผลิตที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta : MRD) และผลผลิตข้าวจาก MRD ร้อยละ 90 ส่งออกไปต่างประเทศ (MRD ผลิตผลไม้ 35% และส่งออก 75% ส่วนประมงผลิต 60% ส่งออก 65%)
MRD ประกอบด้วย 13 จังหวัด (จังหวัดทางใต้เวียดนามมีทั้งหมด 18 จังหวัด) มีประชากรอาศัยอยู่ 18 ล้านคน (จังหวัดทางตอนล่างของ MRD ได้แก่ Cu Mau, Bac Lieu, Soc Trang, Tra Vinh และ Ben Tre มีประชากรเฉลี่ย 1 ล้านคน และจังหวัดด้านบนของ MRD มีประชากรเฉลี่ย 2 ล้านคน MRD มีขนาดเศรษฐกิจ 10% ของเวียดนาม (ปี 2021 มูลค่า 35,426 ล้านเหรียญ)
จังหวัดที่มีเศรษฐกิจใหญ่ของ MRD คือ จังหวัดเกิ่นเทอ (Can Tho) ลองอัน (Long An) เกียน ซาง (Kien Giang) และอัน ซาง (An Giang) ตามลำดับ พื้นที่รวมของ MRD จำนวน 40,000 ตรกม. (สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดงตอนเหนือเวียดนามมี 15,000 ตร.กม.) พื้นที่ร้อยละ 70% ทำการเกษตร สินค้าหลักคือ ข้าว ประมง และผลไม้ (ส่วนใหญ่เป็นกล้วย ทุเรียน ส้ม และมะพร้าว ตามลำดับ)
แต่เมื่อคิด GDP แล้ว เศรษฐกิจ MRD มาจากภาคเกษตรกรรมเพียง 14% ภาคบริการ 56% ที่เหลือเป็นภาคอุตสหกรรม (ปี 2019) บริเวณ MRD จะเป็นที่ราบลุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์เพราะเกิดจากแม่น้ำโขงแยกออกมาเป็น 9 แม่น้ำ คนเวียดนามเรียกว่า "แม่น้ำเก้ามังกร หรือ Song Cuu Long"
แต่ความท้าทายที่จะทำให้วิถีชีวิตของ MRD เปลี่ยนไปคือ “น้ำเค็มรุกล้ำ ดินทรุด และน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น” Can Tho University ประเมินว่าในปี 2100 จังหวัด Ca Mau, Bac Lieu, Soc Trang, Tra Vinh และ Ben Tre จะจมน้ำทะเลไป 40% แต่ผมคิดว่าน่าจะเร็วกว่านั้น เพราะ ดินทรุดปีละ 1 ซม. น้ำทะเลหนุนปีละ 2 ซม. ทำให้ในอีก 30 ปี น้ำจะเข้ามา 1 เมตร
ปัจจุบันน้ำทะเลเข้ามาใน MRD ยาว 60 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 60 ตรกม.สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจข้าวของเวียดนาม เวียดนามจึงมีแผนพัฒนาประเทศ ระหว่างปี 2021-2030 ปรับเปลี่ยนที่ปลูกใน MKD เป็น "ข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Cabon Rice)" เพื่อตอบโจทย์ 2 เรื่องคือ
เวียดนามมีนโยบายชัดเจน Net Zero Emission ในปี 2050 การไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการผลิตข้าวและเศรษฐกิจของประเทศ ต้องไม่เหมือนเดิม เพราะข้าวปล่อยมีเทน (Methane) ร้อยละ 48 แม้ว่ามีเทนอยู่ชั้นบรรยากาศเพียง 12 ปี (CO2 อยู่มากกว่า 100 ปี) แต่มีผลกระทบต่อ GHG รุนแรงกว่า 28 เท่า
และที่สำคัญยังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดรับสภาพภูมิอากาศ เวียดนามได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวทนน้ำเค็ม (Salt-Tolerant Rice Varieties : STRVs) มีหลายพันธุ์ได้แก่พันธุ์ Lua Soi, Mot Bui Hong, and Nang Quot Bien (Rice Breeding in Vietnam : Retrospects, Challenges and Prospects, Tran Dang Khan และทีม, 2021) และพันธุ์ OM576, OM 4900, OM5629, OM6377 เป็นต้น (Salt-tolerant rice variety adoption in the Mekong River Delta, SongYi Paik, July 9, 2019) นอกจากจะมีพันธุ์ข้าวแล้ว
ขณะเดียวกันรัฐบาลผลักดันและขับเคลี่อนด้วย 4 ฝ่าย (นโยบายรัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชาวนา) มีการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วย เช่น บริษัท Loc Troi group สำนักงานอยู่ในโฮจิมินห์เข้ามาทำฟางข้าวเป็นปุ๋ยออร์แกนิค และใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ไปแทนปุ๋ยเคมีให้ข้าวมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น
บริษัท My Lan Group ที่อยู่ในจังหวัด Tra Vinh (หนึ่งใน 13 จังหวัดสามเหลื่ยมปากแม่นำโขง) จัดทำระบบการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมกับข้าว ทำให้สามารถลดปุ๋ยไป 40—60% เพิ่มผลผลิต 10% และลด GHG ได้ 60% และไปพัฒนา “Alternative Wet and Dry (AWD)” ทำให้นาข้าวลด GHG ได้ 40%
นอกจากนี้ยังให้แบบจำลอง “Rice-Shrimp Model” เพื่อเลี้ยงกุ้งก่อนปลูกข้าว หลังจากนั้นปลูกข้าวในหน้าฝน วิธีนี้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี (ช่วยลด GHG) เพราะขี้กุ้งเป็นปุ๋ยแทน และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น เป้าหมายของการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านเฮกต้าร์ในปี 2030 ตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและจะเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงในปี 2030 เช่นกัน
ปัจจุบันเวียดนามปลูกข้าว 7 ล้านเฮกตาร์ นั้นแสดงว่าในอีก 7 ปีข้างหน้า เวียดนามจะมีผลผลิตข้าวเปลือกที่เป็นคาร์บอนต่ำ 6.25 ล้านตัน ตลาดต่างประเทศน่าจะอยากจะซื้อข้าวและเมล็ดพันธุ์ประเภทนี้ เพราะช่วยลดภาวะโลกร้อน
โฆษณา