1 ต.ค. 2023 เวลา 05:23 • ปรัชญา

เสื้อผ้ามือสอง ของเก่าใคร แต่ใหม่เรา

แม้ข้าพเจ้าจักมิได้มีความเข้าใจที่มากพอเกี่ยวกับแฟชั่น บริบท ความเป็นมา หรือประวัติศาสตร์เท่าที่ควร หากแต่ก็คลั่งไคล้แหละหลงใหลในการเลือกเสื้อผ้าให้แก่ตัวข้าพเจ้าเอง ประการหลักที่ข้าพเจ้าจะเลือกซื้อเสื้อผ้า กางเกง รวมถึงเครื่องประดับสิ่งของต่างๆ (อาทิเช่น นาฬิกา กระเป๋า รองเท้า) มักจะหนีไม่พ้นในเรื่องของราคา ข้าพเจ้ามิได้มีเงินถุงเงินถังมากพอที่จะซื้อเสื้อผ้าในราคาที่แพงหูฉี่ (แม้จากอยากได้มากเพียงใดก็ตาม)
แต่ข้าพเจ้าก็พอใจและมีความหลงใหลกับการเลือกซื้อเสื้อผ้าในงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ย การเลือกเสื้อผ้าที่มิได้อยู่ตามห้างสรรพสินค้า แต่เป็นตามตลาดนั้น หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ เหล่านี้เองจึงทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจถึงรสนิยมการเลือกซื้อเสื้อผ้าของตัวเองว่า “แฟชั่นเสื้อผ้ามือสอง”
ดังที่กล่าวไปข้างต้น ข้าพเจ้ามิได้มีความรู้มากพอในแฟชั่น หากแต่ก็หมายจะอธิบายให้เข้าใจถึงสาระสำคัญของ “แฟชั่นเสื้อผ้ามือสอง” ตามที่ข้าพเจ้าได้ศึกษามา
"เสื้อผ้ามือสอง มิใช่เรื่องไกลตัว"
ข้าพเจ้าครุ่นสงสัยเหลือเกินว่า เสื้อผ้าบางตัวที่แขวนอยู่ในตู้หรือกองพะเนินอยู่ตามมุมบางมุมในห้องข้าพเจ้า เสื้อบางตัวมาจากพ่อ กางเกงบางตัวจากแม่ จากน้า ที่พวกท่านนั้นใส่ไม่ได้แล้วหรือมิได้ใส่แล้ว เหล่านี้คือเสื้อผ้ามือสองด้วยหรือไม่ เป็นการส่งต่อจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง การส่งต่อเสื้อผ้าที่พ่อใส่ไม่ได้แล้วให้แก่ลูกได้ใส่ต่อ เหล่านี้ก็อาจจะเรียกได้ว่า “เสื้อผ้ามือสอง”
หากแต่เมื่อมันอยู่ในบริบทของครอบครัว ข้าพเจ้ามองว่าเราอาจจะมิได้ใช้คำว่า เสื้อผ้ามือสอง อาจเป็นเพียงการส่งต่อเสื้อผ้าให้กันแบบธรรมดาๆ เช่น "ลูก กางเกงตัวนี้ลูกใส่ได้ไหม แม่เจออยู่ในตู้เก่าน่ะ เอาไปใส่สิ" เป็นต้น
สอดคล้องกับข้อมูลของ (เฉลิมพล ตั้งศิริกุล: 2565. ออนไลน์) ที่กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 14 ช่วงที่เสื้อผ้าใหม่นั้นยังมิใช่สิ่งที่ผู้คนทั่วไปจะหาซื้อได้ เนื่องด้วยราคาที่สูง เสื้อผ้าใหม่ๆ จึงสงวนไว้ให้กลุ่มคนชนชั้นที่พอมีกำลังซื้อ เสื้อผ้าที่ถูกสวมใส่แล้วจึงกลายเป็นมรดกของครอบครัวไปโดยปริยาย
การเริ่มขายเสื้อผ้ามือสอง การแปรเปลี่ยนมาเป็นเทรนด์แฟชั่น เริ่มจากจุดใด?
การริเริ่มค้าขายเสื้อผ้ามือสองในปัจจุบัน เป็นการตั้งแผงขายกลางตลาด หรือแม้กระทั่งมีตลาดที่รองรับเสื้อผ้ามือสอง เช่น ตลาดปัฐวิกรณ์ พันทิพย์ งามวงศ์วาน หรือแม้แต่ตลาดตามหมู่บ้าน หากแต่ในอดีตมิได้มีการตั้งแผงเหมือนเช่นปัจจุบัน มีบริบทและขั้นตอนที่ค่อนข้างชัดเจน
ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีกฎที่ชัดเจนว่าผู้ใดจะทำการขายเสื้อผ้ามือสอง จะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็นเวลานากว่า 5 ปี เพื่อจะเปิดร้านขายเสื้อผ้าได้ เมื่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปได้อุบัติขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และต้น 20 ผู้คนทั่วไปจึงเข้าถึงเสื้อผ้าได้มากขึ้น เพราะราคาที่ค่อนข้างถูกลง ทำให้ตลาดเสื้อผ้ามือสองเริ่มเสื่อมความนิยมลง กลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังกลุ่มประเทศแอฟริกาหรือแถบเอเชีย
แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ตลาดเสื้อมือสองกลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งในหลากหลายแห่งของยุโรป เช่น ตลาดเรซิน่า ในประเทศอิตาลี ที่ขายสินค้าและเสื้อผ้าที่ถูกขโมยหรือถูกทิ้งโดยทหารสหรัฐฯ
ภาพบรรยากาศของตลาด เรซิน่า ในเมืองแอร์โคลาโน ประเทศอิตาลี
ในปัจจุบันที่เทรนด์เสื้อผ้ามือสองมีบทบาทอย่างมากในโลกของแฟชั่น ข้าพเจ้ามองว่าจุดเด่นหลักของเสื้อผ้ามือสอง คือ “ราคา” แม้ข้าพเจ้าจะกล่าวว่าเสื้อผ้ามือสองทำให้ข้าพเจ้าสามารถเลือกซื้อเสื้อผ้าได้ในงบประมาณที่จำกัด หากแต่มิได้หมายความสินค้ามือสองหรือเสื้อผ้ามือสองจะมีราคาที่ถูกไปเสียทั้งหมด อาจกล่าวได้ว่า มันมีราคาที่ค่อนข้างกว้างเสียมากกว่า ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ความลื่นไหลของราคาเช่นนี้อาจจะดึงดูดผู้คนบางกลุ่มให้หันมาสนใจเสื้อผ้ามือสองมากขึ้น
ประการต่อมาคือการเลือกผสมผสาน ข้าพเจ้าเองมีความชอบส่วนตัวในการเลือกซื้อบางอย่าง เพื่อให้นำไปประกอบกับบางอย่างได้ เช่น กางเกงยีนส์หนึ่งตัว สามารถใส่คู่กับเสื้อยืดของวงดนตรีสักวงที่ข้าพเจ้าไปซื้อมาจากตลาดเสื้อผ้ามือสอง หรือใส่คู่กับเสื้อตัวอื่นได้ มันคือการนำมามิกซ์แอนด์แมตช์กันได้อย่างลื่นไหล และด้วยราคาที่ไม่แพงมาก ทำให้สามารถเลือกซื้อครั้งหนึ่งได้หลายตัว นำมามิกซ์แอนด์แมตช์กัน ในขณะที่เสื้อผ้ามือหนึ่งอาจจะทำแบบนี้ได้ยาก เพราะบางครั้ง มักจะออกมาเป็น Collection หรือตามฤดูกาล
ประเด็นสุดท้ายคือการเข้ามาสู่ตลาดออนไลน์ นับแต่เกิดโรคระบาดอย่าง โควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาสนใจตลาดออนไลน์มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เสื้อผ้า แบรนด์เสื้อผ้าดังๆ ก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงตลาดของเสื้อผ้ามือสองด้วย และด้วยความหลากหลายของโลกอินเตอร์เน็ต อาทิเช่น Instagram Facebook TikTok ร้านค้าออนไลน์ที่ขายเสื้อผ้ามือสองก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ข้าพเจ้ามองว่าเหล่านี้เอง จึงทำให้ตลาดของเสื้อผ้ามือสองมีการเติบโตขึ้นมาก
ตัวอย่างร้านขายเสื้อผ้ามือสองใน Instagram @two.told.tt @m.outfitstore @heartbreakkid.store
แฟชั่นเหล่านี้บ่งบอกถึงสิ่งใด?
ข้าพเจ้าเชื่อว่า แฟชั่นสามารถพูดถึงและอภิปรายได้หลากหลายแง่มุม ทั้งเชิงวัฒนธรรม อุตสาหกรรม สังคม แต่ในบทความนี้ข้าพเจ้าอยากจะเล่ากล่าวถึงมุมมองทางปรัชญาในบางทัศนะ Helen Cixous อธิบายว่า เสื้อผ้ามิได้เป็นสิ่งที่นำมาปกปิดร่างกาย แต่มันทำหน้าที่เป็นเสมือนส่วนหนึ่ง (extension) เราทุกคนมีการแสดงออกมาว่าเป็นคนอย่างไรผ่านการแสดงออกทางรูปลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ภายนอก (appearance)
ในทัศนะนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นด้วยว่าเสื้อผ้าหรือเทรนด์แฟชั่นคือ การแสดงออกบางอย่างที่ปรากฏผ่านรูปลักษณ์ภายนอก นั่นหมายถึงการบ่งบอกว่าเรานั้นเป็นอย่างไร ชอบในสิ่งใด ในส่วนของเสื้อผ้ามือสองข้าพเจ้ามองว่าก็เป็นเทรนด์หนึ่งที่บ่งบอกถึงการแสดงความเป็นตัวตนได้อย่างดี ตัวอย่างเช่น เสื้อวงดนตรีมือสอง ที่ถูกนำมาใส่เพื่อบ่งบอกถึงตัวตนของผู้ใส่เอง ว่าชอบในวงดนตรีนี้
หรืออีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือรสนิยมในการเลือกซื้อเสื้อผ้าแบบมือสอง ที่ถึงแม้ในบางที อาจจะมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อเสื้อผ้าที่ราคาแพง หากแต่ก็ยังคงชื่นชอบและหลงใหลกับเสื้อผ้ามือสองอยู่ เหล่านี้เองที่บ่งบอกว่าเป็นการแสดงออกทางรูปลักษณ์ที่ผู้บริโภคต้องการ และแสดงถึงความเป็นตัวตนของผู้บริโภคด้วยเฉกเช่นเดียวกัน ความเป็นตัวตนในที่นี้ คือ ความเป็นตัวตนที่ชื่นชอบในเสื้อผ้ามือสอง
เสื้อวงดนตรี My Chemical Romance และ David Bowie ของข้าพเจ้าเอง
ในส่วนท้าย ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่าเหล่านี้เป็นเพียงแค่ประเด็นหัวข้อหนึ่งที่ข้าพเจ้าครุ่นสงสัยเกี่ยวกับความเป็นมา ประวัติศาสตร์ ของเสื้อผ้ามือสอง อาจมีบางรายละเอียดที่ข้าพเจ้ามิได้ลงลึกมากเท่าที่ควร รวมถึงเสื้อผ้ามือสองสามารถมองในแง่มุมของปรัชญาได้อย่างไรบ้าง ท่านล่ะ......ได้แนวคิดอะไรบ้างหรือไม่
โฆษณา