2 ต.ค. 2023 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์

เรื่องเก่าเล่าใหม่ หมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแพทย์แผนไทย

หมอชีวกโกมารภัจจ์ หมอชี-วะ-กะ หรือที่บางคนเรียก หมอชี-วก เป็นที่รับรู้กันผ่านตำราเรียนว่าท่านคือหมอที่รักษาพระพุทธเจ้าสมณโคดม เมื่อครั้งที่ถูกพระเทวทัตกลิ้งหินใหญ่ใส่หมายทำร้ายพระพุทธองค์ แต่แล้วจากหินใหญ่นั้นกลิ้งกระทบใส่ก้อนหินใหญ่สองก้อนก่อนที่จะมีสะเก็ดหินหล่นกระทบพระบาทเกิดห้อพระโลหิตขึ้น หมอชีวกนี้เองที่เป็นคนรักษาให้จนหายดี
นอกจากนั้นแล้วหมอชีวกเองก็เป็นต้นแบบของหมอแผนโบราณในหลาย ๆ ประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย หมอแผนไทยหรือหมอที่เป็นคนไทยจะนิยมกราบไหว้บูชาหมอชีวกโกมารภัจจ์เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบวิชาชีพที่ช่วยในการรักษาผู้อื่น
 
ดังนั้นวันนี้ ผมจึงอยากเล่าเรื่องราวการเรียนเป็นหมอ ของหมอชีวกให้ทุกท่านได้รับฟังกัน Enjoy ครับ
ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีหญิงงามอยู่นางหนึ่งชื่อว่า สาลวดี เป็นนางนครโสเภณี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งให้ เนื่องจากนางมีความสามารถในการฟ้อนรำ ขับร้อง ไปจนถึงการเล่นดนตรีในระดับเอกอุ การที่จะว่าจ้างนางได้ต้องใช้เงินมหาศาลเหลือเกิน
แต่แล้ววันหนึ่ง นางเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา หลังจากคลอดแล้วนางมีจิตใจแน่วแน่ว่า ทารกนี้ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถทำอะไรให้นางได้ ซ้ำยังจะติดขัดต่ออาชีพของนางอีก จึงสั่งสาวใช้ให้นำทารกไปทิ้งที่กองขยะเสีย
แต่โชคของเด็กชายยังมีอยู่ ขณะนั้นอภัยราชกุมาร บุตรของพระเจ้าพิมพิสารผู้ครองแคว้นมคธ ผ่านมาพบทารกนอนอยู่บนกองขยะ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กเข้าไปดูเสีย แล้วตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” มหาดเล็กก็กราบทูลว่า “ยังมีวิตอยู่พะยะค่ะ (ชีวโก)”
ด้วยความเมตตาของอภัยราชกุมารทารกน้อยจึงถูกพากลับไปเลี้ยงที่วังโดยได้รับนามว่า ชีวกโกมารภัจจ์ โดยคำว่าชีวก ได้มาจากการทูลตอบของมหาดเล็กที่ว่ายังมีชีวิตอยู่ ส่วนคำว่าโกมารภัจจ์นั้นหมายความว่า “กุมารที่ได้รับการเลี้ยงดู” หรือ “กุมารในราชสำนัก” อันหมายถึง “บุตรบุญธรรม” ของอภัยราชกุมารนี่เอง
เรื่องราวอาจดูราบรื่น ชีวกโกมารภัจจ์ได้รับการเลี้ยงดูในวังย่อมสุขสบายหาใดเปรียบ แต่ใครจะรู้แม้ว่าชีวกจะติบโตมาในวังในฐานะลูกบุญธรรม แต่พวกเด็ก ๆ ในวัง ที่อยุไล่เลี่ยกัน ต่างกลั่นแกล้งล้อเลียนว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ เป็นเด็กเก็บมาเลี้ยง อยู่ตลอด
จนเมื่อเติบใหญ่ขึ้น ด้วยความมุมานะของชีวก ที่ไม่อยากพึ่งพาบารมีของพระราชบิดา จึงแอบหนีไปขอเล่าเรียนศิลปวิทยาที่แคว้นคันธาระ ชีวกนั้นสนใจวิชาแพทย์เป็นอย่างมาก จึงตั้งใจไปกราบอาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักศิลา ครั้นไปถึงแล้วเงินทองก็ร่อยหรอ เงินที่จะใช้กราบเรียนวิชายังไม่มี จึงขอกราบตัวรับใช้อาจารย์เป็นค่าเล่าเรียนแทน
อาจารย์ทิศาปาโมกข์เห็นชีวกเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้อะไรก็ทำได้ไม่เคยขาด เป็นคนขยันขันแข็งตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ประกอบกับความใกล้ชิด จึงมีความรักและเอ็นดูศิษย์คนนี้มาก ความรู้ใด ๆ ล้วนถ่ายทอดให้จนหมดสิ้น
วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันไรก็ผ่านไป 7 ปี หนุ่มน้อยชีวกเติบใหญ่ขึ้น ความรู้สะสมมากขึ้นตามวันเวลา คิดว่าคงถึงเวลาที่ต้องกราบลาอาจารย์เพื่อกลับไปหาพระราชบิดาและทำคุณประโยชน์ตอบแทนเสียที
อาจารย์ทิศาปาโมกข์เมื่อทราบแล้วก็ตั้งบททดสอบให้บทหนึ่ง หากชีวกสามารถทำได้ ก็ถือว่าการศึกษานี้สำเร็จเสร็จลุล่วงแล้ว คือให้ชีวกถือเสียมเข้าป่า แล้วจงไปศึกษาหาต้นไม้ที่ใช้ยาไม่ได้มาให้อาจารย์
ชีวกสำรวจป่าอย่างขยันขันแข็ง เวลาผ่านไปเท่าไร ก็หาไม่ได้เสียที จึงตกตระกอนความคิดขึ้นมาทันที แล้วเดินทางกลับไปหาอาจารย์
ครั้นเมื่อชีวกกลับมาถึงที่สำนัก ปรากฏว่าชีวกกลับมามือเปล่า! ไม่สามารถหาต้นไม้มาให้อาจารย์ได้ อาจารย์จึงถามไปว่า “เหตุใดจึงกลับมามือเปล่าเล่า” หมอชีวกจึงตอบกลับไปว่า “เพราะไม่มีต้นไม้ใดที่เป็นยาไม่ได้ขอรับ” อาจารย์ทิศาปาโมกข์ได้ยินเข้าก็ตบเข่าฉาดบอกว่า “เจ้าจบการศึกษาแล้ว ไปเถอะ”
ประโยคที่ว่า “เพราะไม่มีต้นไม้ใดที่เป็นยาไม่ได้” กลายเป็นประโยคอำมตะที่ถูกสืบทอดเล่าต่อกันมารุ่นแล้วรุ่นเล่า จนเป็นประโยคที่มีอิทธิพลต่อวิชาเภสัชกรรมของแพทย์แผนไทยในปัจจุบันครับ
และนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติหมอชีวกโกมารภัจจ์ ผู้เป็นต้นแบบ เป็นบรมครูของแพทย์แผนไทยนั่นเองครับ ถ้าชอบก็ฝากกดไลก์👍 กดแชร์➡ กดติดตาม🔁 ไว้ด้วยนะครับ🙏🙏🙏
โฆษณา