2 ต.ค. 2023 เวลา 08:40 • ท่องเที่ยว

อัฟกานิสถาน EP 02 - คาบูล สวรรค์บนดินของจักรพรรดิบาบูร์แห่งโมกุล

If there is a paradise on earth, it is this, it is this, it is this!
วันรุ่งขึ้นเราได้วีซ่าตามนัดหมาย จึงเดินทางไปขึ้นเครื่องสายการบิน Kam Air ของอัฟกานิสถาน ระหว่างเข้าแถวเช็คอินที่สนามบิน มีนักท่องเที่ยวผู้หญิงฝรั่งเศสเข้ามาทักทาย สอบถามว่าจะไปอัฟกาฯหรือ จะไปกี่วัน จะไปไหนบ้าง กลุ่มเธอกำลังจะไปที่นั่น มีไกด์ปากีฯร่วมเดินทางไปด้วย ในกลุ่มมีชายไทยที่ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสตั้งแต่เด็กเข้ามาคุยกับพวกเรา เมื่อถึงประตูรอขึ้นเครื่อง นักท่องเที่ยวฝรั่งเศสชายหญิงทั้งกลุ่มเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นแบบอัฟกันอย่างเป๊ะมาก! นี่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มแรกที่เราเจอ
ใช้เวลาบิน 1 ช.ม. พนักงานบนเครื่องเป็นชายทั้งหมด หนวดเคราครบทุกคน สุภาพ ให้บริการราบรื่นดี เสิร์ฟแซนด์วิช เวเฟอร์ช็อคและน้ำแอปเปิ้ลยูเอช ทีใส่รวมมาในกล่อง (เราจะค่อยๆค้นพบว่า เป็นเมนูของว่างมาตรฐานของทุกสายการบินทั้ง 5 เที่ยวบินในอัฟกานิสถาน!) หนุ่มปีเตอร์ สมาชิกกลุ่มผู้อารีอารอบของเราเก็บของว่างนี้ไว้เพื่อแบ่งปันให้เด็กๆที่ต้องการ
เมื่อถึงสนามบินคาบูล ผ่าน ต.ม. และรับกระเป๋าแล้ว ต้องนำกระเป๋าทุกใบเข้าเครื่องสแกนอีกครั้ง จุดถัดไปต้องกรอกแบบฟอร์มขนาดเอ 4 และกระดาษแข็งขนาดใหญ่กว่านามบัตร เมื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ เราจะได้รับกระดาษแข็งที่ประทับตราแล้วคืนมา ซึ่งต้องคืน ต.ม.ตอนขาออก เอกสารทั้งสองใบนี้ต้องมีรูปถ่ายติดด้วย แต่พวกเราไม่มีรูป เจ้าหน้าที่ยังอะลุ้มอล่วยให้ผ่าน ไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะเข้มงวดขึ้นหรือไม่
หน้าอาคารมีลานจอดรถ พื้นที่บริเวณนี้คงถือเป็นพื้นที่ส่วนใน ที่ต้องรักษาความปลอดภัยสูงสุด จึงไม่อนุญาตให้รถเข้ามาจอดประชิดอาคาร และติดตั้งแผงโซลาร์ไว้เกือบเต็มพื้นที่ เราจึงได้ออกกำลังกาย ลากกระเป๋า ออกมาพบไกด์อัฟกันที่ลานจอดรถในพื้นที่ชั้นกลาง ระยะทางน่าจะเกือบ 0.5 ก.ม.
เมื่อเก็บกระเป๋าเรียบร้อย พวกเราแยกย้ายขึ้นรถตู้เล็ก 2 คัน การท่องเที่ยวอัฟกาฯเป็นกลุ่มใน พ.ศ. นี้ยังต้องใช้รถตู้เล็ก ไกด์จัดให้นั่งคันละ 6 คน ที่นั่งบางแถวจะนั่งไม่สบายนักเพราะช่วงวางขาแคบ ถ้าฝืนนั่งแถวหลังเพิ่มอีก 3 คน เป็น 9 คน คงจะไม่สนุกเลยเพราะแอร์เป่าไม่ถึงแน่นอน
ได้ยินแว่วๆว่า ปีหน้าหรือปีต่อๆไป อาจจะมีรถตู้รุ่นใหม่ที่นั่งสบายกว่าเดิมมาบริการ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพิ่มขึ้นมาก
การจราจรในเมืองคาบูลจอแจ รถวิ่งฝั่งขวา (บ้านเราวิ่งฝั่งซ้าย) หน้าสนามบิน มีอาคารจัดงานแต่งงานหลายหลังเปิดไฟสว่างไสวชนิดหรูหราหมาเห่าเพราะค่านิยมที่นี่ต้องจัดงานแต่งงานให้ใหญ่โต อาคารบ้านช่องริมถนนในเขตที่เรานั่งรถผ่าน ไม่ทิ้งร่องรอยความเสียหายจากสงครามกลางเมือง
อาคารมีหลายรูปแบบปนกัน ทั้งแบบสร้างด้วยอิฐดินเผา คอนกรีต ชั้นเดียว หลายชั้น มีอาคารสูงแบบทันสมัย สลับด้วยแท่งแบริเออร์คอนกรีต สูง 3 เมตรกว่าเรียงเป็นแนวกำแพงและติดรั้วลวดหนามด้านบนอีก มีป้อมสอดส่องเป็นระยะๆ คงเป็นหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานความมั่นคง เราได้รับคำเตือนล่วงหน้าว่า ไม่พึงถ่ายรูปด่านตรวจ เจ้าหน้าที่ตาลีบัน ค่ายทหารหรือหน่วยงานความมั่นคงด้วยเกรงว่าอาจเป็นเรื่องบานปลายได้ จึงไม่ค่อยมีรูปประกอบ
ระหว่างทาง เจอด่านตรวจตาลีบัน 1 ด่าน ซักถามไกด์เยอะมาก จากนั้น นั่งรถต่ออีกครู่หนึ่ง และแล้วรถก็จอดข้างแท่งแบริเออร์คอนกรีตที่วางไว้ริมถนนตลอดแนวด้านหน้าโรงแรม เว้นทางเดินห่างจากกำแพงสูงชั้นนอกให้แขกทุกคนเดินผ่านประตูเล็ก แล้วเดินเรียงหนึ่งเข้าห้องเล็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงสูงชั้นใน
แขกต้องนำสัมภาระติดตัววางบนเครื่องสแกน ส่วนคน แยกไปช่องตรวจค้นร่างกาย แล้วจึงรับกระเป๋า/เป้ พนักงานโรงแรมยกกระเป๋าเดินทางใหญ่มาเข้าเครื่องสแกนตามหลัง เกือบทุกโรงแรมมักจะมี รปภ. พร้อมอาวุธสงคราม
นี่เป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง โรงแรมในเมืองใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการก่อเหตุ จะมีขั้นตอนการตรวจละเอียดแบบนี้ ยกเว้นเมืองเล็กและเมืองที่ค่อนข้างสงบอย่างมาซารีชารีฟ (Mazar-e-Sharif) และบามิยันที่แค่ปิดประตูรั้ว มี รปภ. พร้อมอาวุธสงคราม แต่ตรวจใต้ท้องรถด้วยกระจก ก่อนเปิดประตูให้ขับเข้าด้านในแค่นั้น
เมื่อผ่านห้องตรวจออกมา เจอลานโล่ง มีไม้ยืนต้น และกระถางไม้ดอกหลากสีดูสดชื่น ได้อารมณ์แบบ Wow! What’s a secret garden! มือไวเท่าความคิด หยิบมือถือ เตรียมถ่ายรูปลานและสวนสวยด้านหน้า แต่ที่ไวกว่าเรา คือเสียงเข้มๆร้องห้ามจาก รปภ. ส่งสัญญานให้รู้ว่าห้ามถ่ายรูปครับ
ที่นี่คือ เซเรน่าระดับ 5 ดาว โรงแรมหรูแบบตะวันตกแห่งแรกในคาบูล สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในยุคของพระเจ้าโมฮัมหมัด ซาฮีร์ ชาห์ แห่งราชวงศ์บารักไซ (ครองราชย์ พ.ศ. 2476 - 2516) กษัตริย์องค์สุดท้ายของอัฟกานิสถาน ทรงเร่งพัฒนาประเทศให้ทันสมัยโดยได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่นและโซเวียต
ล้อบบี้โรงแรมทันสมัย ตกแต่งด้วยงานหัตถกรรมท้องถิ่น สวยทุกมุม โถงสันทนาการมีโต๊ะพูล(หรือสนุ้กเกอร์ แยกไม่ออกค่ะ) ตกแต่งผนังด้วยหน้า ต่างจำลองที่เป็นงานฝีมือท้องถิ่น ฯลฯ
ห้องพักสะอาด สบาย มี amenities ครบครัน จากหน้าต่างห้อง มองเห็นทิวเขาลิบๆเพราะคาบูลอยู่ในหุบเขาเป็นแนวยาวในเทือกเขาฮินดูกูษ ด้านล่างใกล้ห้องอาหารมีสวนสไตล์เปอร์เซียขนาดเล็ก มีทางน้ำไหลจากน้ำพุลงด้านล่าง แปลงไม้ดอกจัดวางตรงกลาง สองข้างทางเดินเป็นไม้ยืนต้นตัดแต่งทรงพุ่ม
ความสวยงาม สงบ ร่มรื่นของที่พัก เมื่อเทียบกับข่าวสารแง่ลบเกี่ยวกับอัฟกานิสถานที่รับรู้มาหลายสิบปี ทำให้เหมือนหลุดเข้าไปอีกโลกหนึ่ง อาจเหมือนครั้งที่บาบูร์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิโมกุลยกกำลังพลถอยร่นจากเฟอร์กานาเมื่อ ค.ศ.1504 (พ.ศ.2047 ตรงกับสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 โอรสของพระบรมไตรโลกนาถ)เข้าโจมตีเมืองต่างๆลงมาทางใต้เพื่อสร้างอาณาจักรใหม่จนถึงคาบูล สภาพภูมิอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ของไม้ผลนานาชนิดของเมือง สร้างความประทับใจให้จักรพรรดิบาบูร์อย่างยิ่ง จึงตั้งราชธานีแห่งแรกของราชวงศ์โมกุล/มุฆัลที่คาบูล
แม้บาบูร์ขยายดินแดนไปทางตะวันออก ยึดครองทางเหนือของอินเดียในปี ค.ศ. 1526 และใช้ชีวิตในดินแดนใหม่จนสิ้นพระชนม์ที่เมืองอักราเมื่อปี ค.ศ.1530 (พ.ศ. 2073) แต่ทรงคิดถึง”บ้าน”ที่คาบูลเสมอ และปรารถนาให้ฝังพระศพของพระองค์ที่คาบูล พระมเหสีโปรดให้สร้างสุสานที่นั่นตามพระประสงค์ ป้ายที่สุสานของพระองค์จารึกบทกวีสี่บาทของอามีร์ คุสโร กวีเอกแห่งรัฐสุลต่านเดลี สะท้อนความรักผูกพันที่พระองค์ทรงมีต่อดินแดนแห่งนี้ ผู้รู้แปลความไว้ดังนี้
If there is a paradise on earth, it is this, it is this, it is this!
คาบูลในวันวาร
คาบูลอยู่ทางตะวันออกของอัฟกานิสถานในช่องเขาที่ทอดตัวเป็นแนวแคบยาวในเทือกเขาฮินดูกูษ มีแม่น้ำคาบูลไหลผ่านและไปบรรจบกับแม่น้ำสินธุ ด้วยตำแหน่งที่ตั้งสามารถติดต่อกับเมืองโบราณในเอเชียกลางทางเหนือของเทือกเขา ติดต่อเมืองทางใต้และตะวันตกผ่านกาซนี่ และเมืองในอนุทวีปผ่านช่องเขาไคเบอร์ อาณาจักรที่เรืองอำนาจตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาลจนถึงปัจจุบันต่างต้องการยึดครองไว้ คาบูลจึงเป็นดินแดนที่ถูกทำลาย บางครั้งถูกทิ้งร้างและกลับมาฟื้นฟูบูรณะขึ้นใหม่หลายครั้งหลายหน
ปี ค.ศ. 870 กองทัพมุสลิมอาหรับนำโดยอับดุร์ ราห์มัน บิน ซามาราเข้ายึดคาบูลแต่ปกครองอยู่ไม่นาน ในปี ค.ศ. 1221 ถูกกองทัพมองโกลทำลายเพื่อล้างแค้นให้กับการตายของหลานชายคนโปรดของเจงกิสข่าน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิติมูริดยึดเมืองได้ในปี ค.ศ. 1398 (พ.ศ.1941 หลังอยุธยาก่อตั้งได้ 48 ปี) คาบูลได้รับการพัฒนากลายเป็นศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจักรวรรดิติมูริด
ช่วงปลายจักรวรรดิติมูริด (ค.ศ.1370 - 1507) บาบูร์ปกครองเฟอร์กานาต่อจากพ่อ พยายามตีเมืองซามาร์คันด์ แต่กลับพ่ายแพ้และยังเสียเฟอร์กานาอีก จึงล่าถอยลงใต้เพื่อสร้างอาณาจักรของตนเอง บาบูร์สร้างบ้านแปงเมืองและสร้างสวนที่ได้รับอิทธิพลจากสวนแบบเปอร์เซียอย่างน้อยสิบแห่งขึ้นที่คาบูล
ต่อมาเมื่อย้ายราชธานีไปยังอนุทวีปอินเดีย คาบูลกลายเป็นเมืองหน้าด่าน เป็นประตูสู่ฮินดูสถาน แต่ยังคงเป็นศูนย์กลางของชุมชนเมืองที่รุ่งเรืองและศูนย์กลางการผลิตกษาปณ์เงินและทองของจักรวรรดิโมกุล นอกจากนี้ยังเป็นที่มั่นทางทหารสมัยชาห์จะฮันเพื่อโจมตีบัลค์และบาดัคชาน เป็นพระราชวังฤดูร้อนของโมกุล แต่โครงสร้างทางสถาปัตยกรรม สวนโมกุล ป้อมปราการ มัสยิด และ ตลาดบาซาร์หลายแห่งรวมถึง Char Chatta Bazaar ที่สร้างยุคนี้และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียกลาง ถูกอังกฤษทำลายในสงครามแองโกล-อัฟกัน
คาบูลอยู่ใต้การปกครองของโมกุลราว 200 ปี เมื่อนาดีร์ชาห์แห่งเปอร์ เซียยึดคาบูลในปี ค.ศ.1738 (พ.ศ.2281 ตรงกับสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) คาบูลหมดความสำคัญลงอีกครั้งหนึ่ง จนกระทั่งปี ค.ศ.1776 (พ.ศ.2319 ตรงกับสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี) คาบูลกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเมื่อติมูร์ชาห์แห่งจักรวรรดิดูร์รานีหรืออาณาจักรซาโดไซย้ายราชธานีจากกันดาฮาร์มายังคาบูล โดยมีเปษวาร์เป็นราชธานีในฤดูหนาวเพื่อให้ไกลจากฐานกำลังของกลุ่มอำนาจเดิม ขณะนั้นคาบูลมีประชากรเพียง 10,000 คน และขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คนภายใน 20 ปี
อังกฤษแทรกแซงการเมืองภายในอัฟกานิสถาน
ช่วงต้นคริสตวรรษที่ 19 จักรวรรดิดูร์รานีที่เคยยิ่งใหญ่เป็นปึกแผ่น มีปัญหาการแย่งชิงอำนาจระหว่างผู้ครองแคว้นต่างๆ จนแตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย เฮรัต กันดาฮาร์ แว่นแคว้นทางเหนือปกครองโดยเจ้าเมืองที่ไม่ขึ้นต่อกัน ซูจาห์ ชาห์แห่งดูร์รานีซึ่งปกครองคาบูล ได้ลี้ภัยไปอยู่อินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1809 (พ.ศ. 2352) และได้เบี้ยบำนาญจากบริษัทอินเดียตะวันออกที่หวังว่าจะใช้ประโยชน์จากกษัตริย์พลัดถิ่นได้สักวัน
ค.ศ. 1834 (พ.ศ. 2377 ตรงกับสมัย ร.3) ซูจาห์ ชาห์ กษัตริย์พลัดถิ่นบุกยึดกันดาฮาร์โดยได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษ แต่ไม่สำเร็จ
ต่อมาจักรวรรดิซิกข์รุกรานและยึดครองเปษวาร์ ราชธานีฤดูหนาวของจักรวรรดิดูร์รานี เป็นเหตุโดสต์ โมฮัมหมัด ข่านจากราชวงศ์บารักไซแห่งสาธารณรัฐคาบูล (Emirate of Kabul ครอบคลุมคาบูล กาซนี่ และจาลาลาบัด) ร่วมมือกับราชวงศ์คาจาร์แห่งเปอร์เซียเพื่อขจัดจักรวรรดิซิกข์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอนุทวีป
ระหว่าง ค.ศ. 1835 - 1837 (พ.ศ 2378 - 2380 ตรงกับสมัย ร. 3) โดสต์ โมฮัมหมัด ข่าน ยกทัพหมายไปชิงเปษวาร์คืน หลังจากล้อมป้อมปราการนานหลายเดือนและสังหารแม่ทัพซิกข์ได้ ก็ถอยทัพกลับ
ด้วยความกริ่งเกรงเรื่องการแข่งขันอำนาจและขยายเขตอิทธิพลของจักรวรรดิรัสเซียในเอเชียกลางตามทฤษฎีที่อังกฤษเรียกว่า The Great Game กอปรกับการที่คาบูลร่วมมือกับเปอร์เซีย การรุกคืบของฝ่ายมุสลิมมาทางตะวันออก และความเข้มแข็งของอัฟกานิสถาน อาจทำให้เกิดการลุกฮือ วุ่นวายในอาณานิคมของตนจนยากแก่การปกครอง อังกฤษจึงเลือกสนับสนุนซูจาห์ ชาห์ ดูร์รานีที่โอนอ่อนผ่อนตามมากกว่าและหันไปเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิซิกข์
นักวิชาการบางคนเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่อังกฤษตัดสินใจแทรกแซงกิจการภายในของอัฟกานิสถานน่าจะมาจากสาเหตุอื่นข้างต้นที่จะกระทบผลประโยชน์ของตนในอาณานิคม มากกว่าทฤษฎี The Great Game แต่ฝ่ายอังกฤษยกทฤษฎี The Great Game ขึ้นบังหน้า บริแทนนิกาและข้อมูลจากฝ่ายอังกฤษทุกวันนี้ยังนำเสนอว่าสถานการณ์ The Great Game เป็นสาเหตุของสงครามแองโกล-อัฟกัน
สงครามแองโกล - อัฟกันครั้งที่ 1 ค.ศ. 1838 - 1842 (พ.ศ. 2381 - 2385 ตรงกับสมัย ร.3)
อังกฤษส่งทหารรุกรานกรุงคาบูลในปี ค.ศ. 1839 และสถาปนา ซูจาห์ ชาห์ ดูร์รานีเป็นกษัตริย์อีกครั้ง อีกทั้งเนรเทศโดสต์ โมฮัมหมัด ข่านไปอินเดีย ช่วงแรกฝ่ายอังกฤษยึดคาบูลและเมืองต่างๆได้อย่างง่ายดาย ในเวลาต่อมาโดสต์ โมฮัมหมัด ข่านและเจ้าเมืองต่างๆสามารถรวบรวมกำลังจากชนเผ่าพื้นเมืองตีโต้กองกำลังผสมอังกฤษ-อินเดียจนพ่ายแพ้
อังกฤษพยายามสร้างความแตกแยกและลอบสังหารผู้นำแต่ไม่สามารถพลิกสถานการณ์ได้ สุดท้ายจึงตัดสินใจถอนตัวออกจากคาบูลกลับอาณา นิคมอินเดีย จากจำนวนกำลังพลเริ่มต้นราว 16,500 คน ถูกสังหารในสงครามจนเหลือเพียงหลักร้อย นับเป็นความปราชัยครั้งใหญ่ของเจ้าอาณานิคม
มีการตั้งข้อสังเกตว่า อังกฤษบันทึกเหตุการณ์สงครามอย่างละเอียดว่าชาว อัฟกันสังหารทหารที่กำลังถอยทัพอย่างเหี้ยมโหด แต่ไม่พูดถึงความโหดร้ายของตนช่วงที่ยึดครองดินแดนและอาชญากรรมที่กระทำต่อคนพื้นเมือง การสังหารพลเรือน การข่มขืนหญิงนับพันรายช่วงสงคราม
ภาพลักษณ์เกี่ยวกับชาวอัฟกันว่าป่าเถื่อน โหดเหี้ยม ไม่น่าไว้ใจจากข้อมูลของอังกฤษคงอยู่ในความจำของผู้คนมาอีกกว่าร้อยปี (ตราบเท่าทุกวันนี้?) แต่จากมุมมองของชาวอัฟกัน อังกฤษคือผู้รุกราน ทหารอังกฤษส่วนใหญ่เสียชีวิตในสนามรบ Arwin Rahi นักวิจัยอิสระชาวอัฟกัน เห็นว่าปลายปากกาของอังกฤษสร้างความเสียหายแก่อัฟกานิสถานมากเสียยิ่งกว่ากระบอกปืน
สงครามควรจะยุติลงเมื่ออังกฤษพ่ายแพ้และเสียหายอย่างหนัก แต่ปลายปี ค.ศ. 1842 ทหารอังกฤษสองนายจากจาลาลาบัดและกันดาฮาร์ไม่อาจรับความอัปยศจากความพ่ายแพ้นี้ ได้รวบรวมกำลังพลที่ยังเหลือ มุ่งหน้าสู่เมืองร้างคาบูล ทำลายบ้านเรือน เรือกสวนไร่นาและตลาดหลายแห่งรวมทั้งตลาดใหญ่ชาร์ชัตตาจนยับเยิน ทิ้งภาระให้ชาวอัฟกันต้องแบกรับ ฟื้นฟูเรือกสวน บ้านเมืองขึ้นมาใหม่เป็นเวลาอีกหลายสิบปี
ทหารกลุ่มนี้เดินทางขึ้นเหนือไปยังเมืองชาริการ์และอิสตาลิฟที่ชาวอัฟกันหลบภัยสงครามอยู่ ทั้งสองเมืองไม่ใช่เขตปะทะต่อสู้กัน คนที่หลบภัยที่นั่นไม่เคยต่อสู้กับฝ่ายอังกฤษ ทหารอังกฤษสังหารชายอัฟกันทุกคน ข่มขืนหญิงนับร้อย โดยอ้างว่าการข่มขืนผู้หญิงเป็นอาวุธต่อสู้กับชาวอัฟกัน!
จากนั้นทหารกลุ่มนี้เคลื่อนพลกลับอาณานิคมอินเดียก่อนจะเข้าสู่ฤดูหนาว เป็นการสิ้นสุดสงครามแองโกล-อัฟกันครั้งที่ 1
การรุกรานอัฟกานิสถานทำให้อังกฤษเป็นที่เกลียดชังของชาวอัฟกันตลอดกาล ส่วนชื่อซูจาห์ ชาห์ หรือ ชาห์ ซูจาห์ก็กลายเป็นคำเรียกผู้นำหุ่นเชิดในยุคต่อมา เช่นในทศวรรษที่ 1980s บาบรัค คาร์มาลเลขาธิการพรรคประชาธิปไตยประชาชนอัฟกานิสถานผู้นิยมอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต มีฉายาว่า ชาห์ ซูจาห์ที่ 2 หลายปีต่อมาประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาถูกเรียกขานว่า ชาห์ ซูจาห์ที่ 3 เช่นกัน
จากคาบูลในวันนี้ วันรุ่งขึ้นพวกเราจะเริ่มท่องเที่ยวไปเมืองต่างๆในอัฟกานิสถาน และจะกลับมาที่คาบูลอีกครั้งช่วงท้ายของการเดินทาง
โฆษณา