3 ต.ค. 2023 เวลา 02:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เช้านี้ ค่าเงินบาท ทะลุ 37 บาท เป็นที่เรียบร้อย

- ยิ่งไม่มีความชัดเจน ในการแจกเงินดิจิทัล เงินบาทยิ่งอ่อนค่าไปเรื่อย ๆ และค่าเงินบาทที่อ่อนนี้ จะเป็นต้นทุนทางอ้อมของรัฐบาลเอง
2
1. ต่างชาติเทขายพันธบัตร หุ้น เรื่อยมา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน หลังจากที่ตลาดรู้ว่ามีโอกาสสูงที่รัฐบาลจะแจกเงินดิจิทัล 560,000 ล้าน
2. การอ่อนค่าในครั้งนี้ แปลกตรงที่ไม่ได้เป็นเพราะดอลลาร์แข็งเพียงอย่างเดียว แต่ชัดเจนว่าอ่อนกว่าภูมิภาค ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ทุกประเทศที่กล่าวมานี้ เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลเหล่านี้ทั้งหมดในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา
3. สาเหตุที่ต่างชาติต้องขายพันธบัตรทิ้งแรงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ก็เพราะเหตุผลแรกคือ ข้อแรก ดอกเบี้ยสหรัฐมีอัตราที่สูงกว่า ข้อสอง ตลาดเก็งว่าราคาพันธบัตรของไทยจะลดลงในอนาคต เนื่องจาก Yield ที่สูงขึ้นเพราะความต้องการใช้เงินของภาครัฐมาแจกเงิน 560,000 ล้าน
4. เมื่อรู้ว่าพันธบัตรจะราคาลดในอนาคต ก็ต้องรีบเทขายตอนนี้ เมื่อขายนำเงินกลับประเทศ ค่าเงินบาทก็อ่อนอย่างต่อเนื่อง
5. เงินต่างชาติก้อนใหญ่ ขายวันเดียวไม่หมด จึงต้องทยอยขายไปเรื่อย ซึ่งเราก็จะเห็นว่า ค่าเงินบาทรันเทรนด์ การอ่อนค่าแบบไปเรื่อย ๆ เหมือนมีคนทยอยขายเรื่อย ๆ
4
สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ
1. เมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า เราจะต้องใช้เงินมากขึ้นในการน้ำเข้า น้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของทุกอุตสาหกรรมในประเทศไทย
2. ผู้สินค้านำเข้าทุกอย่างจะจ่ายแพงขึ้นอีก ใกล้ตัวเราที่เห็นแล้วก็ iPhone ในไทยที่จะไม่ได้ขายที่ราคาถูกแบบเมื่อก่อน ในทางตรงกันข้าม ผู้ส่งออกก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ถ้าส่งออกเป็นสกุลเงินดอลลาร์
3. สุดท้าย แบงก์ชาติ ก็คงพิจารณาการขึ้นดอกเบี้ย หรือ มีมาตรการอะไรเพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท
4. ในขณะเดียวกันก็จะมีโครงการขนาดใหญ่มากดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอีก นั่นก็คือการแจกเงิน 560,000 ล้าน ซึ่งต้องกู้เงิน และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็แปลว่ารัฐบาลไทยต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นเพื่อมาแจกเงินเช่นกัน ซึ่งรายละเอียดการแจกเงินยังไม่ชัดเจน
และยิ่งไม่ชัดเจน ตลาดก็กังวล และเลือกที่จะขายออกมาก่อนแบบในช่วงนี้..
————-
แจกเงิน 560,000 ล้านเกี่ยวอะไรกับ พันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินบาท /โดย ลงทุนแมน
1. โลกเรากำลังพบกับเหตุการณ์ที่ดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบกว่า 10 ปี นำโดยธนาคารกลางสหรัฐเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
2. เหตุการณ์นี้ มันเกิดขึ้นแบบรวดเร็ว จนหลายคนยังวนเวียนกับ QE สหรัฐพิมพ์เงินล้น และคิดว่าตอนนี้เรายังอยู่ในยุคที่เงินในระบบมีมหาศาล ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ แต่จริง ๆ มันเปลี่ยนไปแล้วในตอนนี้ ตอนนี้คนเอาเงินไปฝากที่สหรัฐ 1 ปี จะได้ดอกเบี้ย 5.4% ต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วที่ได้ดอกเบี้ย 0%
3. สำหรับในไทยที่ผ่านมาก็ขึ้นดอกเบี้ยตามสหรัฐอเมริกามาบ้างแล้ว แต่ไทยก็ยังมีดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐเท่าตัว และแน่นอนเมื่อเป็นแบบนี้ เงินจึงไหลออกไปยังที่ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า และนั่นจึงทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
มาจนถึงตอนนี้ เราคงเข้าใจตรงกันว่า เรากำลังอยู่ในยุคที่ดอกเบี้ยไม่ต่ำแล้ว และถ้ามีเรื่องใหญ่มากระทบ ดอกเบี้ยก็จะสูงเพิ่มได้อีก
4. แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ แจกเงิน 560,000 ล้านบาท ?
คำตอบคือ การแจกเงินจำนวนมากขนาดนี้ รัฐบาลต้องกู้เงิน ไม่ว่าจะเป็นกู้โดยตรงผ่านรัฐบาลเอง หรือจะใช้เครื่องมือทางอ้อมผ่านทางธนาคารออมสินอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายมันก็จะมีการกู้เงินในตลาดที่มีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันอยู่ดี
ปกติแล้วรัฐบาลจะกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรให้ตลาด แล้วตลาดก็จะเอาเงินก้อนไปให้รัฐบาลเพื่อแลกกับดอกเบี้ย พร้อมการคืนเงินต้นในอนาคต
5. อัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตร จะไม่ได้ขึ้นกับดอกเบี้ยนโยบายอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับความคาดหวังของนักลงทุนด้วย ซึ่งมันจะมาจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นก็คือความต้องการใช้เงินจากภาครัฐในอนาคต
6. เมื่อตลาดคาดหวังว่ารัฐบาลจะกู้เงิน 560,000 ล้านบาท มาแจก จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้น หรือในทางการเงินเรียกว่า Yield เพิ่ม ซึ่ง Yield ของพันธบัตรระยะยาวของไทยเพิ่มขึ้นสูงตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังจากมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลไทยจะเริ่มการแจกเงินจำนวนมาก
7. แปลว่าในตอนนี้ เมื่อรัฐบาลจะกู้เงิน รัฐบาลจะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพงขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม ซึ่งแปลว่า ต้นทุนของรัฐบาล (ซึ่งมันก็เป็นของคนไทยทุกคน) จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่ 560,000 ล้านบาท แต่มันจะต้องบวกค่าดอกเบี้ยเพิ่มไปด้วย ตัวอย่างเช่นดอกเบี้ย 2.5% ดอกเบี้ยก็ปีละ 14,000 ล้านบาท
8. รู้ไหมว่าจากเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อ 26 ปีที่แล้ว ตอนนั้นรัฐบาลไทยก็มีหนี้แบบนี้ 1 ล้านล้านบาท ในกองทุนฟื้นฟู FIDF ผ่านมาเป็น 20 ปี ตอนนี้เงินต้นยังเหลือ 600,000 ล้านบาท ปีที่แล้วแค่ค่าดอกเบี้ยก็ 19,000 ล้านบาท และกว่าหนี้ก้อนนี้จะหมดคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสิบปี
1
9. ที่สำคัญคือรู้ไหมว่ารัฐบาลเอาที่ไหนมาจ่ายหนี้กองทุนฟื้นฟู คำตอบก็คือ 0.46% ของเงินฝากพวกเราทุกคน
2
ใช่.. ถ้าไม่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในตอนนั้น วันนี้พวกเราทุกคนจะได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร “เพิ่มขึ้นอีก 0.46%” เงินจำนวนนี้ธนาคารทุกธนาคารจะหักและนำส่งกองทุนฟื้นฟู
2
ถ้าจะถามว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 26 ปีที่แล้ว สร้างภาระให้ลูกหลานจนถึงวันนี้ และยังคงสร้างภาระต่อไปจนถึงวันหน้า ก็คงตอบว่า “มันเป็นแบบนั้น”
1
ทุกวันนี้คนไทยที่มีเงินฝากต้องเสมือนเสียค่า subscription 0.46% ต่อปี
ถ้าฝากเงิน 10,000 บาท ก็เสียค่าสมาชิกปีละ 46 บาท
ถ้าฝากเงิน 100,000 บาท ก็เสียค่าสมาชิกปีละ 460 บาท..
1
หลายคนคงเริ่มคิดว่า ลูกหลานของเราที่เกิดมา มีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องมารับภาระจ่ายเงิน 0.46% จากเงินฝากของเขา แต่เขาก็ต้องจ่าย เพียงเพราะเขาเกิดมาอยู่ในประเทศไทย..
1
10. เรากำลังสร้างหนี้ก้อนมหึมา ที่ขนาดเกือบเท่าหนี้กองทุนฟื้นฟูอีกก้อนหนึ่ง หลายคนยังไม่รู้ว่ามันเยอะขนาดไหน ? เราลองมาเทียบขนาดกัน
งบประมาณสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ 120,000 ล้านบาท
ท่าเรือแหลมฉบัง เฟสสาม 110,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ 100,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีแดง 96,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีชมพู 53,000 ล้านบาท
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 50,000 ล้านบาท
สถานีรถไฟกลางบางซื่อ 16,000 ล้านบาท
เงินที่รัฐบาลกำลังจะแจกนี้ สร้างโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กล่าวมาทั้งหมด แถมยังเหลือเงินทอน
ในขณะที่รัฐบาลกำลังจะนำเงินจำนวนนี้มาแจกเพื่อกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น และคาดหวังให้เกิดการใช้จ่ายเป็น Multiplier ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการทำแบบนี้มันจะเหมาะสมในเวลาที่เศรษฐกิจกำลังเกิดวิกฤติ เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำ
11. ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่มีความกดดันจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้นเมื่อรัฐบาลแจกเงินจะยิ่งส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ และเพิ่มความกดดันที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามมา และเมื่อไหร่ก็ตามที่ดอกเบี้ยขึ้น ก็จะย้อนกลับมาเป็นต้นทุนการเงินของทุกธุรกิจในที่สุด ซึ่งตอนนี้ธุรกิจที่ต้องระดมทุนด้วยหุ้นกู้ก็ประสบปัญหาต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น บางธุรกิจถึงขนาดไม่มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ยและเกิดปัญหาสภาพคล่องแล้ว
1
12. แน่นอนข้อดีของการแจกเงินที่ทุกคนคาดหวังคือจะให้เกิด Multiplier Effect ที่มากกว่า 1 ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าจะได้มากกว่า 1 หรือไม่ แต่ถึงทำได้ผลจริง การกระตุ้นการบริโภคนี้มันก็จะอยู่ได้เพียงไม่กี่ปี และมีความเสี่ยงที่ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ จะเพิ่มกำลังการผลิตเพราะคิดว่ามีความต้องการ แต่เมื่อความต้องการนั้นหมดแรงกระตุ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มมานั้น ก็จะเป็นส่วนเกินในระบบ และจะเป็นปัญหาตามมาในระบบเศรษฐกิจ
1
13. อีกประเด็นก็คือ การพัฒนาระบบบล็อกเชนเพื่อมารองรับการแจกเงิน ถ้าหากทำจริงก็จะต้องใช้เวลา เงินทุนในการพัฒนา และความเสถียรของระบบการจ่ายเงินด้วยบล็อกเชนสำหรับการใช้งาน 50 ล้านคนทั่วประเทศ ไม่เคยมีประเทศไหนทำมาก่อน แปลว่าประเทศเรากำลังจะเป็นหนูทดลองตัวใหญ่ ซึ่งแปลกดีเหมือนกัน ทั้งที่ประเทศไทยก็มีระบบการจ่ายเงินด้วยพร้อมเพย์ในเป๋าตังอยู่แล้ว
2
14. สุดท้ายคงต้องฝากถึงรัฐบาล การแจกเงินมันก็เหมือนฉีดยากระตุ้น แต่เราก็คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความจำเป็นต้องกระตุ้นในตอนนี้เพื่อให้คึกคัก แล้วทิ้งภาระให้ลูกหลานอีกสิบปี มาคอยใช้หนี้ที่สร้างขึ้น
หรือเราจะนำเงินก้อนนี้มาทำอย่างอื่น ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อเกิดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ลูกหลานแข่งขันกับประเทศอื่นได้
หรือเราจะเลือกอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องสร้างหนี้แล้วค่อยไปสร้างหนี้ในช่วงเวลาวิกฤติ และมีความจำเป็นมากกว่าตอนนี้ ก็อาจเป็นทางเลือกที่ไม่แย่นัก
26 ปีที่แล้ว บรรพบุรุษของเราสร้างภาระ 0.46% ให้กับเงินฝากของลูกหลาน และตอนนี้เราอาจกำลังกดปุ่มเพิ่มตัวเลขนี้ทางอ้อม ให้กับลูกหลานของเรา โดยที่พวกเขาน่าจะมีสิทธิ์เลือกว่าจะเกิดมาโดยที่ไม่ต้องมีภาระหนี้ก้อนนี้..
26 ปีที่แล้ว รัฐบาลจัดให้เรามีหนี้จากวิกฤติการเงิน 1 ล้านล้านบาท
เราคืนเงินต้นจนเหลือ 6 แสนล้านบาท
ระหว่างทางเราก็มีโครงการต่าง ๆ สร้างหนี้เรื่อยมา ทีละหลายแสนล้านบาท เยอะที่สุดก็ตอนช่วงล็อกดาวน์ที่กู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท
และในตอนนี้เรากำลังสร้างหนี้อีก 5.6 แสนล้านบาท ทั้งที่ไม่เกิดวิกฤติอะไร
อดคิดไม่ได้ว่า
เรากำลังเดินทางไกลมา 26 ปี เพียงเพื่อย้อนกลับไป เริ่มต้นใหม่ที่จุดเดิม อีกครั้ง..
โฆษณา