แต่ด้วยราคาของผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับไม้จริงทั่วไป ทำให้ยุคปัจจุบันนี้เริ่มมีการขนานนามไผ่ว่า “ไม้ซุงของคนรวย” หรือ the rich man’s timber เนื่องจากไผ่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เอาไปทำอะไรก็ได้แทบทุกอย่าง แทบจะตรงกับสำนวนไทยที่ว่าทำได้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ หากไผ่ได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจังและจริงใจจากทุกภาคส่วน เราน่าจะได้เห็นไผ่ในภาพของ “วัตถุดิบสีเขียวสำหรับทุกคน” หรือ green material for all ในอนาคตอันใกล้นี้
จริง ๆ แล้วไผ่คืออะไร ?
หากบอกว่าไผ่เป็นกลุ่มของพืชในวงศ์หญ้า (Family Poaceae หรืออาจคุ้นเคยกันในชื่อวงศ์ Gramineae) หลายคนคงนึกไม่ถึงว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร เพราะต้นไผ่หรือกอไผ่ทั่วไปนั้นค่อนใหญ่ถึงใหญ่มาก ไม่น่าจะเป็นพืชในวงศ์หญ้าซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ๆ ได้ โดยอาจลืมไปว่ามีหญ้าหลายชนิดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่คล้ายกับไผ่ เช่น อ้อย (Saccharum officinarum L.) ข้าวโพด (Zea mays L.) แขมหรืออ้อน้อย (Phragmites karka (Retz.) Trin. ex Steud. หรือบางคนอาจจะทราบดีอยู่แล้วว่าไผ่เป็นพืชวงศ์เดียวกับหญ้า
และยิ่งพอทราบด้วยว่าไผ่มีประโยชน์มากมายก็อาจจะรู้สึกยอมรับไม่ได้ว่าว่าไผ่เป็นพืชในวงศ์หญ้าที่มักจะเป็นวัชพืช เป็นพืชที่คนไม่ต้องการ ทั้งที่จริงแล้วพืชในวงศ์หญ้านั้นเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตที่สำคัญของมวลมนุษย์ชาติ ไม่ว่าจะเป็นอ้อยและข้าวโพดดังที่กล่าวมาแล้ว หรือโดยเฉพาะข้าวชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวร่วน (ข้าวจ้าว) (Oryza sativa L.) ข้าวสาลี (Triticum aestivum L.) ข้าวไรย์ (Secale cereale L.) ข้าวโอ๊ต (Avena sativa L.) ข้าวบาร์เลย์ (Hordeum vulgare L.)
ไผ่ข้อหนาม A. ลักษณะกอ; B. ใบจริง; C. ลำอ่อน แสดงรากอากาศลักษณะคล้ายหนามที่ข้อ; D. ลักษณะการประกอบขึ้นเป็นกิ่ง; E. ลักษณะลำในกอ; F. หน่อไผ่ แสดงลักษณะของหูกาบรูปสามเหลี่ยมและมีขนที่ขอบของหูกาบ ที่มา: Sungkaew et al., 2018