4 ต.ค. 2023 เวลา 14:34 • ประวัติศาสตร์
พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเพื่อการพัฒนาประเทศ

เรียนรู้เส้นทางการพัฒนาประเทศไปกับพิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตร

พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางกรุง บริเวณแยกสะพานขาว โดยพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในบริเวณสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ หน่วยงานวางแผนระดับประเทศ จึงทำให้หลายๆคนยังไม่ทราบว่าสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรได้รับการประกาศในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา แห่งนี้ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
จุดเริ่มต้นที่อาคารเก่าแก่ในสถานที่ราชการได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ เริ่มจากในสมัยก่อนอาคารแห่งนี้ หรือที่คนทำงานสภาพัฒน์ เรียกว่าตึกกลาง เป็นสถานที่สำหรับให้เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติใช้ทำงานมาหลายสมัย แต่ต่อมา ทางผู้บริหารได้เล็งเห็นถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากอาคารแห่งนี้อยู่คู่กับเหตุการณ์บ้านเมืองสำคัญมากมาย และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ทางผู้บริหารจึงให้ปรับเปลี่ยนจากสถานที่ทำงานให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์สุริยานุวัตรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2566
สำหรับการได้มาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พวกเราจะได้เรียนรู้เรื่องราวที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
1. ชีวิตและการทำงานของพระยาสุริยานุวัตรที่สร้างคุณูปการให้กับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน
2. ได้ทราบถึงเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจากดั้งเดิมจนมาถึงสมัยใหม่ และได้รับความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาประเทศแต่ละฉบับ
3. เรียนรู้เกี่ยวกับสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้าง และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ของอาคารสุริยานวัตร
ภายนอกอาคาร
ทั้งนี้ ความเป็นมาของอาคารสุริยานุวัตรนั้น เดิมทีเป็นที่พำนักของพระยาสุริยานุวัตร หรือนามเดิมคือ เกิด บุนนาค นักเศรษฐศาสตร์คนแรกของไทย
ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย(ดูแลพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์)
จากนั้นท่านได้กลับมารับหน้าที่เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการที่ประเทศไทย รัชกาลที่5จึงพระราชทานที่ดินและสร้างบ้านหลังนี้ให้ และเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2479 ท่านถึงแก่อนิจกรรม และได้คืนบ้านให้แก่รัฐ จนกระทั่งสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปัจจุบันได้เข้ามาซื้อที่ดินแห่งนี้เพื่อใช้เป็นสถานที่ราชการ
ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก ประดับตกแต่งด้วยลวดลายแบบ Art Nuveau ที่ได้รับความนิยมมากในสมัย ค.ศ.1900-1910 ออกแบบโดยมารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาลี ผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม
ประตูไม้ลูกฟักดุนเปิดปิดแบบบานคู่ หน้าบานประตูแกะสลัก ลายพันธุ์พฤกษาภายในกรอบลูกฟัก
บันไดทำจากไม้สักมีลักษณะลวดลายเป็นลายพฤกษา และบันไดใช้การยึดติดกับผนัง
กระจกปริศนา
กระจกที่เห็นเมื่อขึ้นบันไดมาบานนี้ อาจดูธรรมดา แต่ความจริงแล้วกระจกบานนี้มีเรื่องราวมากกว่านั้น
โดยคุณประชงค์ บุนนาค ทายาทของพระยาสุริยานุวัตรได้มอบกระจกบานนี้ให้แก่สภาพัฒน์ฯ และในสมัย ดร.อำพน กิตติอำพน มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ และได้มีการแกะกระจกบานนี้ออก ทำให้ได้พบกับรูปภาพที่ซ่อนอยู่หลังกระจก ตามที่ทายาทได้บอกเอาไว้ เป็นรูปภาพของหม่อมลินจง อาภากร ณ อยุธยา ธิดาของพระยาสุริยานุวัตร
โดยวิธีการซ่อนรูปภาพหลังนี้ มีระยะห่างจากกระจก ไม่ได้แปะติดกับตัวกระจกโดยตรง ทำให้ภาพไม่เสียหายมาก
(กระจกที่จัดแสดงปัจจุบัน ตัวบานกระจกเป็นของจริง แต่กรอบเป็นของที่ทำเลียนแบบขึ้นมา)
ภาพวาดของหม่อมลินจง วาดโดย กาลิเลโอ คีนิ จิตรกรชาวอิตาลี
ในอดีตสันนิษฐานว่าเป็นห้องทำงาน และห้องนอนของพระยาสุริยานุวัตร
บริเวณโถงทางเดินชั้น2
ภาพวาดพระยาสุริยานุวัตร โดย โปรเฟสเซอร์เยลลี เอดดออาร์โด (Gelle Edoardo) และห้องส่วนกลางของอาคาร ปัจจุบันใช้เป็นห้องประชุมผู้บริหารระดับสูง
ห้องใต้หลังคาให้ลมผ่าน ในบ้านจะได้ไม่ร้อน
คราวนี้มาชมในส่วนของนิทรรศการกันบ้างค่ะ โดยส่วนของนิทรรศการแบ่งออกเป็น 7 โซน แต่ละโซนแทนด้วยแสงที่สะท้อนสาระที่นำเสนอ ดังนี้
1. แสงแรก
นำเสนอจุดเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ประวัติของพระยาสุริยานุวัตร และได้มีการจัดแสดงตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกคือ “ทรัพยสาตร์” เขียนโดยพระยาสุริยานุวัตร โดยว่าด้วยเรื่อง ทุน แรงงาน และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเป็นความคิดที่ค่อนข้างสมัยใหม่ ณ ขณะนั้น
และตำราเล่มนี้ถูกเขียน ณ ตึกสุริยานุวัตรแห่งนี้
👇🏻
บรรยากาศห้องทำงานจำลอง
ข้าวของที่จัดแสดงมีความสวยงาม บางอย่างเป็นสิ่งของที่ตกทอดมาและทายาทท่านพระยาได้มอบไว้ให้
เก้าอี้ที่ทายาทมอบให้
ตำราทรัพยสาตร์ ตำราเศรษฐศาสตร์เล่มแรกของไทย
2. แสงกำเนิด
นำเสนอวีดิทัศน์เกี่ยวกับแผนพัฒนาประเทศตั้งแต่จุดเริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 ที่เน้นการพัฒนาความเจริญด้านถนนหนทาง ประปา ไฟฟ้า จนถึงในปัจจุบันแผนพัฒนาประเทศดำเนินมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แล้ว นอกจากนี้ ยังนำเสนอบทบาทหน้าที่ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอีกด้วย
👇🏻
วิดิทัศน์แผนพัฒนาประเทศ
หอเกีรติยศแด่จอมพลสฤษดิ์ ธระรัชต์ ผู้ริเริ่มการวางแผนพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังแสดงรายชื่อบุคลากรของ สศช.ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ
3. แสงนำทาง
เปรียบว่าแผนพัฒนาประเทศ คือสิ่งที่นำทางประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาในวิกฤติต่างๆ และพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยโซนนี้จะนำเสนอจุดเด่นของแต่ละแผนโดยสังเขป
👇🏻
การรณรงค์คุมกำเนิด วิกฤติการณ์ราคาน้ำมัน
4.แสงในโลกมืด
บอกเล่าความแปรปรวนแต่ละช่วงของเศรษฐกิจในประเทศไทย และการปรับแผนพัฒนาประเทศให้เหมาะสมกับวิกฤติของแต่ละยุค
👇🏻
ปีศาจน้ำมัน และปีศาจเงิน
5. แสงจากฟ้า
ในปี 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยย่ำแย่เป็นอย่างมาก โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 ทรงแนะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อช่วยประชาชน ประเทศไทยจึงค่อยๆกลับมาฟื้นตัว
👇🏻
หลักเศรษฐกิจพอเพียง
6. แสงสู่อนาคต
โซนนี้นำเสนอเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570)ซึ่งเป็นแผนพัฒนาประเทศฉบับล่าสุด ซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
👇🏻
7. แสงสว่างทางปัญญา
เป็นห้องที่สรุปเรื่องราวทั้งหมด และจัดแสดงผลงานต่างๆไว้ค่ะ
👇🏻
หากท่าใดอยากเข้าชมสามารถ walk-in เข้ามาได้ แต่แนะนำให้โทรมาแจ้งทางพิพิธภัณฑ์ล่วงหน้าจะดีกว่าค่ะ
และหากเยี่ยมชมเป็นหมู่คณะ ต้องเขียนจดหมายขออนุญาตค่ะ
เบอร์โทรติดต่อ : 02 280 4085 ติดต่อกลุ่มงานประชาสัมพันธ์นะคะ
เปิด วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.
ปิด วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ
ขอขอบคุณกลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ
โฆษณา