4 ต.ค. 2023 เวลา 16:55 • การศึกษา

ทำไมคนเราถึง “ฉลาด” ไม่เท่ากัน

แรงบันดาลใจของบทความนี้ ได้มาจาก pantip.com ที่มีคนตั้งหัวข้อกระทู้ว่า “ทำไมคนเราฉลาดไม่เท่ากัน” สั้น กระชับ แต่เจ็บ ๆ คัน ๆ ดีครับ บทความนี้เลยจะชวนทุกท่านขบคิดว่า ความไม่เท่ากันเกิดจากอะไร และสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำที่เรามองไม่เห็นอยู่จริงไหม
ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนว่า บทความนี้ไม่ได้บูลลี่ (bully) ใคร หรือเหน็บแนมคนในสังคมแต่อย่างใด แต่เป็นข้อสังเกตของคนในสังคมไทย อย่างที่ลงไว้ใน pantip.com เอง และตัวเจ้าของกระทู้ก็เป็นผู้บ่นเองด้วยครับว่า ทำไมกันนะ พยายามแล้วแต่ยังไม่ฉลาดขึ้นสักที จะมีวิธีไหนช่วยได้บ้าง
สาเหตุที่ผู้คนในสังคมมีความไม่เท่าเทียมกันอย่างชัดเจน (รวมถึง นิยาม “ความฉลาด” ของแต่ละบุคคลที่เปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย) หนึ่งในสาเหตุใหญ่คือ “โอกาส” (opportunities) ครับ ใช่ครับ โอกาสของแต่ละคนไม่เท่ากันตั้งแต่สภาพครอบครัว ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงฐานะเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงคุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่เป็นนามธรรมด้วย เช่น ความรู้ ความสัมพันธ์เชิงธุรกิจ ทัศนคติ การจัดการเงิน การจัดการทางอารมณ์ เราอาจตั้งชื่อได้ง่าย ๆ ว่าเป็น “โอกาสจากครอบครัว” ครับ
เราจะเริ่มจากโอกาสที่เป็น “ทรัพย์สิน” ซึ่งมองเห็นได้ง่ายที่สุด และเป็นที่รู้กันว่าครอบครัวไหนที่มีเงินทองเพียงพอ และก็จะดันลูกหลานให้เรียนเมืองนอก เพื่อให้ได้เรียนในโรงเรียนที่ขึ้นชื่อว่ามีคุณภาพที่สุด หรือส่งเรียนเพื่อเอาค่านิยมว่า “จบเมืองนอก” จะได้มีความนับหน้าถือตาหลังกลับมาประเทศไทย เรื่องนี้มีวิจัยในประเทศไทยอย่างชัดเจน นับเป็นอัตลักษณ์ของระบอบทุนนิยมไทยเลยทีเดียว
ส่วนโอกาสจากครอบครัวที่เป็นนามธรรม เช่น ความรู้ ความสามารถบางประการ ผู้ที่เกิดในครอบครัวที่ส่งต่อความรู้จะได้รับโอกาสในการเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ ตั้งแต่เกิด รวมถึงทัศนคติต่อเรื่องต่าง ๆ ซึ่งทำให้การเรียนรู้ของแต่ละคนช้าเร็วไม่เท่ากัน และเรียนรู้กันคนละด้านเช่นกัน ในทางกลับกัน ผู้ที่เกิดในครอบครัวที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือการเรียนรู้ อาจเกิดการพัฒนาที่ช้ากว่า
จะเห็นได้เลยครับว่า โอกาสจากครอบครัวทั้ง 2 ประเภทส่งผลให้การพัฒนา (รวมถึงความฉลาด) ต่างกันตั้งแต่จดเริ่มต้น
ทำไมคนเราถึง "ฉลาด" ไม่เท่ากัน
คำถามที่ว่า “แล้วเราควรทำอย่างไร” หากมีสารตั้งต้นที่ไม่เท่าครอบครัวที่มีธุรกิจในระบบทุน ก็ต้องบอกว่าเป็นความโชคดีอย่างยิ่ง ที่หลังปีค.ศ. 2000 เกิดการพัฒนาโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรุดหน้า ทำให้หลายคนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ความรู้จึงหาได้ง่ายตามไปด้วย แต่คำเตือนของโลกยุคใหม่คือ ข้อมูลเท็จมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จึงต้องวิเคราะห์เรื่องเล่าจากอินเทอร์เน็ตให้มากเช่นกัน
มาถึงสุดท้ายนี้ คำแนะนำที่ดีที่สุดและพื้นฐานที่สุดคือ อ่าน ครับ
YOU ARE WHAT YOU READ
ประโยคนี้ไม่เกินจริงนัก อ่านหนังสือที่ตนเองสนใจ เน้นย้ำว่า “หนังสือ” จะแม่นยำกว่า เนื่องจากได้รับการตรวจทานข้อมูลมาแล้วและมีบรรณาธิการตรวจทานก่อนพิมพ์เป็นเล่ม
ให้เวลาและให้โอกาสตนเองในการเรียนรู้
แม้คำว่า “ฉลาดไม่เท่ากัน” อาจต่างกันที่จุดเริ่มต้น
แต่หลายคนก็สามารถเปลี่ยนปลายทางจากการลงมือทำได้เช่นกันครับ.
โฆษณา