18 ต.ค. 2023 เวลา 02:00 • ครอบครัว & เด็ก

Kitchen Therapy บำบัดจิตใจยุคใหม่ด้วยการเข้าครัว

อีกหนึ่งเทรนด์หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หลายคนหันมาสนใจการทำอาหารมากขึ้น เนื่องจากมีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น มีเวลาอยู่กับตัวเองและครอบครัวมากขึ้น และที่สำคัญยังเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ง่าย ๆ อีกด้วย
ซึ่งการเพิ่มขึ้นของตัวเลขคนทำอาหารจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดทฤษฎีใหม่ขึ้น นั่นคือ การบำบัดจิตใจให้มีความสุขด้วยการเข้าครัว หรือเรียกแนวคิดนี้ว่า ‘Kitchen Therapy’ ซึ่งหากให้นิยามลึกลงไปกว่านั้น …ก็ต้องกล่าวว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาสถาบันดูแลสุขภาพหลายแห่งทั่วโลก ได้มีการใช้การทำอาหาร เข้ามาเป็นหลักสูตรในการบำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หรือใช้สร้างความผ่อนคลายให้ผู้คน เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีประสิทธิภาพในการสร้างสุขภาพจิตที่ดี
🍳 ทำไมการเข้าครัวหรือ Kitchen Therapy ถึงช่วยบำบัดจิตใจได้ ?
หากว่ากันตามแนวคิดนี้ ปัจจัยที่ทำให้การบำบัดด้วยการทำครัวเกิดขึ้นมาจาก 2 หัวข้อ
1) การทำอาหารในบ้านทำให้คนมีสมาธิกับตัวเอง และหลีกหนีความวุ่นวายจากสภาพสังคมรอบตัวได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องเผชิญหน้ากับงานอันหนักหน่วงมาทั้งวัน การได้ทำตามความชอบในมุมเล็ก ๆ โดยไม่มีใครมารบกวน ก็จะทำให้สุขภาพจิตในวันนั้นดีขึ้นได้
2) การทำอาหารทำให้บุคคลได้พบความแปลกใหม่ เช่น ได้ทดลองทำอะไรใหม่ ๆ เมนูใหม่ สูตรใหม่ ซึ่งการเกิดสิ่งใหม่ทำให้สารแห่งความสุขเกิดขึ้น และส่งผลต่อการบำบัดที่ทำให้เรามีสุขภาวะจิตประจำวันดีตามไปด้วย
🍳 การบำบัดด้วยการเข้าครัวให้ผลลัพธ์อะไร ?
แนวคิด Kitchen Therapy สามารถทำให้เห็นผลลัพธ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะทำได้ง่าย ซึ่งให้ผลลัพธ์ดังนี้
🧑‍🍳 ช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย : การทำอาหารโดยไร้ความกดดัน ยิ่งเมื่ออยู่ในที่พักอาศัยของตนเอง ก็จะทำให้เกิดความผ่อนคลายมากขึ้น เพราะไร้ซึ่งข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นเวลาหรือผลงาน เราสามารถค่อย ๆ บรรจงทำสิ่งตรงหน้าได้อย่างใจอยาก ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนมีสุขภาพจิตดีขึ้น คือ ผ่อนคลาย และเป็นตัวของตัวเอง
🧑‍🍳 ช่วยเพิ่มสมาธิและการโฟกัส : สืบเนื่องจากการผ่อนคลาย การได้ทำครัวทำให้เรามีสมาธิกับสิ่งที่ทำ โฟกัสกับสิ่งตรงหน้า มองเห็นขั้นตอนทีละขั้นในการทำให้เกิดผลสำเร็จ โดยไม่เครียดแม้จะเกิดความผิดพลาดในสิ่งที่ทำ
🧑‍🍳 ช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ : เพราะการบำบัดจิตใจด้วยการทำอาหารไม่มีถูกหรือผิด มีแต่ว่าเราจะสร้างสรรค์อะไรออกมาตามใจผู้ทำอาหาร จึงเสมือนเป็นการเติมเต็มจินตนาการ ปลดปล่อยความคิดจากเรื่องหนัก ๆ ให้ออกมาในรูปแบบสิ่งของที่รับประทานได้
🧑‍🍳 เป็นการตอกย้ำแนวคิดของความสำเร็จ : สุขภาพจิตของผู้คนจะดีขึ้นก็ต่อเมื่อรู้สึกทำสิ่งใดสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอัน คล้ายกับได้รับรางวัลเมื่อทำผลงานนั้นเสร็จ ซึ่งในแง่ของงานที่ทำประจำอาจจะไม่ได้ผลลัพธ์นั้นเสมอไป แต่แนวคิดดังกล่าวจะเกิดทุกครั้งที่ทำอาหารเสร็จ เกิดความรู้สึกได้รับความสำเร็จ ที่ทำให้ผู้ลงมือภูมิใจในตัวเองทุกครั้งที่ทำอาหาร
🧑‍🍳 ช่วยกระชับความสัมพันธ์ : เนื่องจากการทำอาหารในบ้านอาจจะไม่ได้ทำเพื่อรับประทานคนเดียว ดังนั้นการทำอาหารโดยมีคนใกล้ชิดคอยช่วย ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการบำบัดที่จะทำให้ความสัมพันธ์ต่อคนรอบตัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
ในสังคมที่ต้องพบเจอกับการแข่งขันมากมาย เห็นหรือไม่ว่ายังมีพื้นที่เล็ก ๆ ในบ้านที่คอยช่วยเราให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น และเอไอเอก็หวังว่า วันนี้หากใครที่ไม่เคยลองทำอาหาร อาจจะหันมาลองทำ ไม่ใช่เพื่อสร้างสรรค์อาหารให้อร่อยที่สุด แต่เพื่อเพิ่มความสุขทางจิตใจให้แก่เราเอง 😊
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา