Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bigmama ชวนอ่าน
•
ติดตาม
5 ต.ค. 2023 เวลา 23:30 • ข่าวรอบโลก
ฝูง ‘แซลมอน’ หลุดจากฟาร์มเลี้ยง กลายเป็น ‘เอเลียนสปีชีส์’ รุกรานปลาท้องถิ่น
เกิดข่าวใหญ่ในแวดวงสิ่งแวดล้อม เมื่อ “แซลมอน” เลี้ยงในระบบฟาร์มหลายพันตัว หลุดออกจากฟาร์มในไอซ์แลนด์ จนเริ่มรุกราน “สัตว์น้ำท้องถิ่น” กลายเป็น ‘เอเลียนสปีชีส์’ ทำลายระบบนิเวศน์ธรรมชาติ
Key Points:
• “แซลมอน” หลายพันตัว หลุดจากฟาร์มเลี้ยงในนอร์เวย์ และกระจายไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง ล่าสุดพบในแม่น้ำอย่างน้อย 32 แห่งทั่วไอซ์แลนด์
• เมื่อแซลมอนจากฟาร์มไปปะปนกับแซลมอนตามธรรมชาติ ทำให้พวกมันกลายเป็น “เอเลียนสปีชีส์” หรือผู้รุกราน สร้างผลเสียต่อแซลมอนตามธรรมชาติ โดยเฉพาะการผสมพันธุ์ที่ทำให้ลูกปลามีร่างกายไม่แข็งแรง
• แซลมอนในฟาร์มถูกเลี้ยงใน “ระบบเปิด” ซึ่งกระชังของฟาร์มเลี้ยงตั้งอยู่ในทะเล แม้ว่าเจ้าของฟาร์มจะป้องกันแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสที่พวกมันจะหลุดออกมาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้
หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินให้กับชุมชนในหลายประเทศก็คือ “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” เพราะนอกจากทำให้ผู้ประกอบการ และชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว
ยังเป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมหลากหลายรูปแบบเข้ามาปรับใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพของสัตว์น้ำได้ต่อไปในอนาคต
โดยเฉพาะ “แซลมอน” ถือเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำยอดนิยมที่เกษตรกรหลายๆ ประเทศ นิยมทำฟาร์มเลี้ยงเพื่อส่งขายทั่วโลก
แต่ล่าสุด “ฟาร์มแซลมอน” ในนอร์เวย์กำลังพบกับปัญหาใหญ่นั่นคือ ฝูงแซลมอนหลายพันตัวได้หลุดออกจากกระชังของฟาร์มเลี้ยง ลงไปปะปนกับประชากรแซลมอนท้องถิ่นในไอซ์แลนด์จนสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ธรรมชาติ
• เมื่อ “แซลมอนฟาร์ม” กลายเป็น “เอเลียนสปีชีส์” รุกรานแซลมอนธรรมชาติ
หนึ่งใน “แซลมอนธรรมชาติ” ที่ได้รับการยอมรับว่าคุณภาพดี และมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาศัยอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของ “ไอซ์แลนด์”
แต่ตอนนี้พวกมันกำลังถูกรุกรานอย่างหนักจาก “แซลมอนเลี้ยง” ของฟาร์มระบบเปิดใน “นอร์เวย์” ซึ่งเริ่มทยอยหลุดออกจากกระชังปลาตั้งแต่ประมาณวันที่ 20 ส.ค.66 ที่ผ่านมา
โดยแซลมอนเลี้ยงที่หลุดออกมาเหล่านั้น มาจากกระชังปลาที่ชื่อว่า “Patreksfjörður” ซึ่งเป็นของบริษัท “Arctic Fish” หนึ่งในบริษัทเลี้ยงปลาแซลมอนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ขณะเดียวกัน “สถาบันวิจัยทางทะเลและน้ำจืด” หรือ MRI ของไอซ์แลนด์ ก็ออกมาเปิดเผยว่า แซลมอนเลี้ยงที่หลุดจากฟาร์มได้แพร่กระจายไปในแม่น้ำอย่างน้อย 32 แห่งทั่วไอซ์แลนด์
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าเป็นหายนะด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อแซลมอนฟาร์ม และแซลมอนธรรมชาติผสมพันธุ์กัน จะทำให้แซลมอนรุ่นลูกสูญเสียความสามารถในการอยู่รอด
ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก The Guardian ระบุว่า การผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแซลมอนทั้ง 2 สายพันธุ์นั้น แม้จะได้ลูกปลาที่เติบโตได้เร็วแต่พวกมันก็จะอายุสั้น รวมถึงบั่นทอนความสามารถในการสืบพันธุ์ตามธรรมชาติของ “แซลมอน” อีกด้วย
และทำให้พันธุกรรมของแซลมอนรุ่นหลังๆ ผิดเพี้ยนไปจากเดิม โดยนักวิทยาศาสตร์เริ่มพบว่าแซลมอนรุ่นใหม่ในธรรมชาติมียีนที่แตกต่างจากสายพันธุ์ธรรมชาติแบบดั้งเดิม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แซลมอนเลี้ยงหลุดออกมาจากฟาร์ม เพราะในปี 2021 เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันนี้จากฟาร์มแซลมอนในไอซ์แลนด์มาแล้ว ในครั้งนั้นพบว่ามีปลามากถึง 81,000 ตัวที่หลุดออกจากกระชังเลี้ยง
ทำให้ในปี 2022 ฟาร์มถูกปรับเป็นเงิน 705,000 ปอนด์ หรือประมาณ 3,141,053 บาท เนื่องจากฟาร์มตั้งใจปกปิดเหตุการณ์ที่ปลาเลี้ยงในระบบหลุดออกสู่ธรรมชาติ
สำหรับจุดสังเกตว่าปลาตัวไหนหลุดออกมาจากฟาร์ม สามารถดูได้ที่หางที่มีความโค้งมน และครีบที่ฉีกขาด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์ม
ดังนั้นเมื่อแซลมอนฟาร์มจำนวนหลายพันตัวเริ่มเข้ามาสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในฐานะ “เอเลียนสปีชีส์” ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ความผิดเพี้ยนของสายพันธุ์ปลา และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อาจตามมาในอนาคต
• ฟาร์มปลาระบบเปิด หนึ่งในตัวการปัญหาสิ่งแวดล้อม?
อีกประเทศหนึ่งที่มีการเพาะเลี้ยงแซลมอนก็คือ “สกอตแลนด์” และก็พบปัญหาลักษณะเดียวกับฟาร์มในนอร์เวย์คือ แซลมอนหนีหลุดออกมาปะปนกับปลาตามธรรมชาติ
ข้อมูลของ WildFish ระบุว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทำให้แซลมอนเลี้ยงหลุดออกสู่ธรรมชาติก็คือ การทำฟาร์มเลี้ยงปลาในระบบเปิด ซึ่งจะกั้นเป็นกระชังปลาอยู่ในทะเล
ต่อให้มีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวด แต่ก็มีการตรวจพบปลาที่หลุดออกมาอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นระยะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ด้าน Andrew Graham-Stewart (แอนดรูว์ เกรแฮม-สจวร์ต) ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ปลาแซลมอน และปลาเทราต์ แห่งสกอตแลนด์ ได้ให้ความเห็นว่า “นี่คือ ความล้มเหลวอย่างต่อเนื่องของผู้ดำเนินการฟาร์มปลาแซลมอนในการป้องกันไม่ให้พวกมันเข้ามาปะปนกับปลาตามธรรมชาติ”
นอกจากนี้บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างระบุว่า ฟาร์มปลาแบบเปิดทำให้เกิด “มลพิษ” จากขยะอินทรีย์และยาฆ่าแมลงในการรักษาเหาทะเล โดยหน่วยงานควบคุมมลพิษของนอร์เวย์ประเมินว่า ฟาร์มปลาขนาดกลางประมาณ 3,000 ตัน
ผลิตน้ำเสียได้มากเท่ากับเมืองที่มีประชากร 50,000 คน รวมถึงมีการเติมสารอาหารที่ไม่จำเป็นลงไปในน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา ทำให้เกิดสาหร่ายที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์ทางน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย
สำหรับไอซ์แลนด์นั้นแม้ว่าประชาชนส่วนมากต่อต้านการเลี้ยงแซลมอนในระบบเปิด เพราะมองว่าธรรมชาติเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ แต่ในพื้นที่ชนบทอันห่างไกล
ชาวบ้านกลับมองว่าอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำดังกล่าวเป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน แม้ว่าจะมีการจ้างงานอยู่ที่ประมาณ 5.5% ในภูมิภาคเท่านั้น
ปัจจุบันจำนวน “แซลมอนธรรมชาติ” ในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกหลายชนิดทั่วโลกกินเป็นอาหาร ลดลงจาก 8-10 ล้านตัวในปี 1970 เหลือ 3-4 ล้านตัว โดยในนอร์เวย์เหลือเพียงประมาณ 500,000 ตัวเท่านั้น ถือว่าลดลงครึ่งหนึ่งของจำนวนปลาธรรมชาติเมื่อ 20 ปีก่อน
แน่นอนว่าปัญหาหลักที่ทำให้ประชากรแซลมอนลดลงนั้น มาจากการที่แซลมอนตามธรรมชาติต้องเผชิญภัยคุกคามจากแซลมอนที่หลุดออกมาจากฟาร์มระบบเปิด
เพราะนอกจากจะมี “เหาทะเล” ติดมากับพวกมันจนทำให้เกิดการติดเชื้อในแซลมอนท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้แซลมอนที่เกิดใหม่จากการผสมข้ามสายพันธุ์มีสภาพร่างกายอ่อนแอตามไปด้วย
ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ ในตัวของลูกแซลมอนที่ทยอยเกิดมามียีนแซลมอนธรรมชาติน้อยลง และในบางตัวก็แทบไม่มีหลงเหลืออยู่เลย
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการกลายพันธุ์ของแซลมอนธรรมชาติไปมากกว่านี้ จนก่อให้เกิดการล่มสลายของระบบนิเวศน์ในหลายประเทศรัฐบาล และภาคเอกชนในประเทศแถบมหาสมุทรแอตแลนติก
จำเป็นต้องร่วมมือกันหาทางออก โดยเฉพาะการเพิ่มมาตรการดูแล “แซลมอนเลี้ยง” ไม่ให้พวกมันหลุดจากฟาร์มได้อีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : The Guardian, WildFish และ Nature World News
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์
By กรุงเทพธุรกิจ
https://www.bangkokbiznews.com/world/1092283
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย