Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ThailandOutdoor
•
ติดตาม
6 ต.ค. 2023 เวลา 03:40 • ความคิดเห็น
นิยมไพรสมาคม และจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ในประเทศไทย
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้หนังสือรายเดือนของ “นิยมไพรสมาคม” มาจากมิตรสหายหลายเล่มและกำลังทะยอยอ่านอย่างบรรจง (เพราะหนังสือเหล่านี้มีอายุ 65 ปี แทบจะกรอบเป็นผงอยู่แล้ว)
ผมอ่านแล้วตื่นตะลึงมากครับ ผมเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลมาบ้างว่าท่านสร้างสรรค์ส่งดีๆไว้มากมาย แต่ไม่เคยรับรู้เรื่องนิยมไพรสมาคมมากนัก และดูเหมือนว่าเรื่องราวของสมาคมนี้ได้เลือนหายไปจากความรับรู้ของสังคมไทยแล้ว เลยขอมาเล่าเรื่องหลายอย่างสู่กันฟังถึงประวัติศาสตร์สำคัญของการอนุรักษ์ในบ้านเราที่กำลังจะลืมเลือนไป
ในยุคก่อนปี พ.ศ. 2500 ประเทศไทยยังไม่รู้จักกับคำว่า “อนุรักษ์” ใดๆเลย (ในหนังสือก็ยังไม่มีคำนี้) ตอนนั้นใครอยากจับจองที่ตรงไหนก็ไปแจ้งที่อำเภอแล้วก็ลงมือถาง สัตว์ป่าทุกชนิด (ยกเว้นช้าง) ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครอง ใครอยากล่าอะไรด้วยวิธีไหน จำนวนเท่าไหร่ก็ไม่จำกัด
หน่วยราชการ และรัฐบาลไม่เคยสนใจเรื่องนี้ ไม่เคยมีความคิดเห็นหรือแสดงท่าทีว่าจะพยายามหยุดการทำลายล้างนี้เลย
ผมยังไม่แน่ใจว่า “นิยมไพรสมาคม” นั้นเริ่มต้นมาได้อย่างไร (ถ้าใครรู้ช่วยแบ่งปันชี้แนะด้วยครับ) แต่เห็นได้ชัดว่า นี่คือการรวมตัวกันของนักนิยมไพร ที่เข้าใจธรรมชาติและรักธรรมชาติอย่างแท้จริง พวกเขารวมตัวกันเพราะไม่ต้องการเห็นธรรมชาติที่เขารักถูกทำลายลงไปต่อหน้า โดยที่มีคุณหมอบุญส่ง เลขะกุลผู้เป็นเลขานุการ สมาคมเป็นฟันเฟืองหลักและผู้ใหญ่อีกมากมายหลายท่านร่วมงานด้วย
ผมอ่านพบว่า นิยมไพรสมาคมทำหนังสือหลายฉบับถึงรัฐบาลเรียกร้องให้จริงจังกับการปราบปรามการบุกรุกทำลายป่า เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายที่ดิน, ออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า และประกาศให้พื้นที่สำคัญทางธรรมชาติเป็นวนอุทยาน ฯ พร้อมๆกับที่พยายามเผยแพร่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติให้กับคนทั่วไปด้วยการออกหนังสือ, จัดบรรยาย,ฉายภาพยนต์ ฯลฯ
พอได้อ่านบทความต่างๆในหนังสือนิยมไพร ผมก็ยิ่งทึ่งขึ้นไปอีกระดับ ในยุคนั้นที่ยังไม่มีคำว่า “อนุรักษ์” ไม่มีการศึกษาข้อมูลหรือวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าโดยรัฐเลย (ตอนนั้นกรมป่าไม้มุ่งเน้นการจัดการการทำไม้เป็นงานหลัก) นิยมไพรสมาคม น่าจะเป็นองค์กรแรกที่เริ่มทำเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวม จำแนกสัตว์ป่า,นก, แมลง, หอย ฯ มาบันทึกและเผยแพร่
นอกจากนี้หนังสือเล่มเล็กๆนี้ยังมีบทความที่พาเที่ยวธรรมชาติให้คนหันมาสนใจธรรมชาติมากขึ้น, บทความให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ และเรียกร้องให้มีการสงวนรักษาธรรมชาติที่ถูกต้อง ไปจนถึงการแปลบทความและหนังสือชั้นยอดเกี่ยวกับการอนุรักษ์จากต่างประเทศมาให้อ่านกัน
หลายปีหลังจากที่นิยมไพรสมาคมเรียกร้อง รัฐบาลในยุคนั้นก็เริ่มขยับตัว มีการร่างกฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า, ประกาศเขตวนอุทยาน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของ “การอนุรักษ์” ในบ้านเรา
น่าเสียดายว่า นิยมไพรสมาคม หยุดดำเนินการไปด้วยสาเหตุใดที่ผมก็ไม่อาจทราบได้
เมื่อได้อ่านหนังสือนิยมไพรหลายเล่มเข้า ผมก็เกิดความรู้สึกที่ปะปนกันหลายอย่างจนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังครับ
ความรู้สึกแรกคือทึ่งครับ นิยมไพรสมาคมในตอนนั้นคงจะรวบรวมเอาคนเก่ง, คนรักและเข้าใจธรรมชาติ และตั้งใจจริงมาไว้ด้วยกัน จึงสามารถนำเสนอแนวความคิดที่ล้ำสมัย สามารถชี้แนะแนวทางของการอนุรักษ์ได้ก่อนกาลเช่นนั้น
ความรู้สึกที่สอง ผมเข้าใจแล้วครับ ราชการ, รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นยุคไหนก็ไม่เคยคิดทำนโยบายอะไรดีๆเกี่ยวกับธรรมชาติได้เอง เพราะเขาขาดทั้งวิสัยทัศน์ที่กว้างพอ, ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และขาดแรงจูงใจให้ผลักดันอะไรที่ต่างไปจากที่ทำอยู่เดิมๆ ดังนั้นจะทำอะไรดีๆให้เกินขึ้นได้ในประเทศนี้ คงต้องเกิดจากการเรียกร้องของประชาชนที่มีความรู้ความตั้งใจดีมารวมตัวกันแล้วหาทางเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์
ความรู้สึกที่สามคือละเหี่ยใจครับ เมื่อเห็นสิ่งที่นิยมไพรสมาคมเคยทำในอดีตแล้วหันมามอง NGO สายอนุรักษ์ในบ้านเราตอนนี้ วิสัยทัศน์, ความเข้าใจในเชิงลึกและมุมกว้างของธรรมชาติ และความสามารถแตกต่างกันเหลือเกินครับ NGO สายอนุรักษ์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถเรียกร้องหรือผลักดันในระดับนโยบาย ให้ออกหรือปรับเปลี่ยนกฎหมายหรือแนวทางปฏิบัติของรัฐเพื่อให้เกิดแนวทางอนุรักษ์ที่ถูกต้องได้ ส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่เพียงคอยต่อต้านระดับโครงการของรัฐที่มีผลเสียต่อธรรมชาติ
ความรู้สึกที่สี่ เสียดายครับ ที่แนวทางการอนุรักษ์ที่นิยมไพรสมาคมวางรูปแบบและแนวทางไว้อย่างถูกต้องด้วยความเข้าใจธรรมชาติที่เขามีอย่างลึกซึ้งและถูกใส่ไว้ในกฎหมายอนุรักษ์ฉบับแรกๆที่พวกเขาช่วยผลักดัน ได้ถูกบิดเบือนเปลี่ยนแปลงไปจนเสียทิศทางไปจนยากที่จะทำให้การอนุรักษ์ของประเทศนี้จะประสบความสำเร็จได้
แนวทางไหนหรือที่ผมพูดถึง? มันคือหลักการที่เป็นพื้นฐานที่สุดของการอนุรักษ์ครับ ลองอ่านข้อความนี้ดูแล้วอาจจะเข้าใจครับ
“การสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่หมายถึงการเก็บหรือสงวนรักษาไว้โดยไม่ใช้ แต่หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฉลาด คือใช้ให้ดีที่สุด ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด และให้ยืดเยื้อนานที่สุดเท่าที่จะนานได้” (1)
จากบทความ การสงนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ โดย อาจารย์เจริญ บุญญวัฒน์
ในหนังสือนิยมไพร ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 ปี 2501
ผมยังหวังว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยเราจะมีองค์กรที่รวบรวมผู้คนที่มีความรู้กว้างขวาง, เข้าใจธรรมชาติอย่างถูกต้องและลึกซึ้ง และมีความตั้งใจดีที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติอย่างนิยมไพรสมาคม เกิดขึ้นมาอีกสักครั้ง และนั่นอาจจะเป็นความหวังเดียวที่จะช่วยผลักดันให้ “การอนุรักษ์” ไปในทิศทางที่ถูกต้อง ก่อนที่จะเดินตกเหวไปในทิศทางที่มันกำลังเป็นอยู่ครับ
หมายเหตุ
ผมเชื่อว่าข้อความนี้เป็นการแปลคำพูดของ Gifford Pinchot ผู้ที่เป็นผู้ก่อตั้งคนแรกของ U.S. Forest Service ที่เป็นคนสำคัญคนหนึ่งวางรากฐานการอนุรักษ์ของประเทศอเมริกา ที่สามารถฉลิกโฉมจากการทำลายล้างอย่างเลวร้ายมาเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คุณหมอบุญส่ง เลขะกุล เคยเดินทางไปพบกับภรรยาของ Gifford Pinchot เพื่อสนทนาและขออนุญาตนำประวัติของสามีผู้ล่วงลับมาแปลและเผยแพร่ให้คนไทยได้อ่านกัน และนิยมไพรสมาคมก็ได้แปลและจัดพิมพ์ออกมา
ท่องเที่ยว
ไลฟ์สไตล์
อนุรักษ์ธรรมชาติ
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย