6 ต.ค. 2023 เวลา 15:16 • กีฬา

สูงสุดสู่สามัญ เข้าใจหลักสถิติ "Regression to the Mean"

ที่อธิบายว่าทำไมผลงานอันโดดเด่นมักตามมาด้วยผลงานที่น่าผิดหวัง
ในโลกของกีฬามันจะมีสิ่งที่เรียกว่า “Sports Illustrated Cover Jinx” อยู่
มันคือความเชื่อที่ว่าเวลาใครก็ตามที่ขึ้นปกของนิตยสารชื่อดังเล่มนี้ ผลงานของตัวเอง/ทีม จะแย่ลงหลังจากนั้น
มีนักกอล์ฟคนหนึ่งชื่อ แอนดี นอร์ต (Andy North) ซึ่งได้ขึ้นปก SI ครั้งแรกตอนที่ได้แชมป์ U.S Open ในปี 1978 ตอนนั้นโด่งดังมากเป็นม้ามืดมาเลย แล้วก็ชนะ
แล้วเวลาผ่านไปอีก 7 ปี เขาก็ไม่ชนะอีกเลย
จนกระทั่งชนะ U.S Open อีกครั้งในปี 1985 แล้วก็ได้ขึ้นปก SI อีกรอบ โด่งดังอีกครั้ง
แต่หลังจากนั้นเขาก็ไม่เคยชนะอีกเลย
หรือแม้แต่นักเทนนิสที่มีชื่อเสียงอย่าง เซเรนา วิลเลียมส์ (Serena Williams) ในปี 2015 ที่กำลังอยู่บนเส้นทาง Grand Slam ชนะมาแล้ว 3 ถ้วยใหญ่ และด้วยสภาพร่างกาย ฟอร์มการเล่น ทุกคนเชื่อเลยว่าเธอจะได้ Grand Slam ในปีนั้น
สร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของตัวเองและเป็นคนแรกตั้งแต่ปี 1988 ที่ Steffi Graf ทำ Grand Slam เอาไว้
หลังจากนั้นก็ขึ้นปก SI แล้วในการแข่งขันถ้วยสุดท้ายของปี ในรอบรองชนะเลิศเธอได้พบกับนักเทนนิสชาวอิตาเลียนชื่อ โรแบร์ต้า วินชี่ (Roberta Vinci) ซึ่งถ้าเทียบชื่อเสียงและสถิติที่ผ่านมาแล้วงานนี้เซเรนาชนะได้ไม่ยาก
แต่…ผลการแข่งขันออกมาช็อกโลกเซเรนาแพ้ตกรอบครับ
จนทำให้ความเชื่อเรื่อง “Sports Illustrated Cover Jinx” ยิ่งมีความขลังมากขึ้นไปอีก (ถ้าลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จะเห็นว่ามีเคสเยอะมากๆครับ)
แต่ว่าถ้ามองกันตามหลักเหตุและผล สิ่งที่เกิดขึ้นคือเวลาคนที่ได้ขึ้นปก “Sports illustrated” จะเป็นช่วงเวลาที่คนเหล่านั้นอยู่จุดสูงสุดของอาชีพในเวลานั้น ๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่ผลงานจะแย่ลงนั้นจึงมีสูงกว่าที่จะทำผลงานได้ดีกว่าเดิม
3
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การกลับคืนสู่สามัญ” หรือที่ในทางคณิตศาสตร์เรียกว่า “Regression to the Mean” ครับ
เป็นหลักการทางสถิติที่บอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นผลลัพธ์ของการทำอะไรสักอย่างที่มันโดดเด่นมากๆ (หรือในทางกลับกันก็ได้นะครับ เช่นแย่มากๆ) สุดท้ายมันจะเด้งกลับไปสู่ค่าเฉลี่ยของคนคนนั้น
สมมุติว่าเราเอาเด็กนักเรียนห้องหนึ่งมาสอบวิชาคณิตศาสตร์
ในทางแล้วผลลัพธ์ที่ได้วันจันทร์กับวันอังคารต้องออกมาเหมือนกัน คือคนที่เก่งก็ต้องเก่ง คนที่ห่วยก็จะห่วย
แต่ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผลลัพธ์ของทั้งสองวันจะมี Noise หรือตัวแปรรบกวนที่ทำให้ผลออกมาแตกต่างกันอยู่ครับ เช่นว่าวันจันทร์คนที่ได้คะแนนสูงสุดตื่นมาอย่างสดชื่น ทานข้าวเช้า มาสอบด้วยสมองปลอดโปร่ง แต่พอมาวันอังคารเมื่อคืนนอนไม่พอ ทะเลาะกับแฟน ฯลฯ ผลงานก็อาจจะแย่ลงได้
หรือกลับกันคนที่ผลงานแย่ที่สุดวันจันทร์อาจจะมีปัญหาชีวิต แต่วันอังคารพอปัญหาหมดไปแล้วทำงานผลงานได้ดีมากกว่าเดิม
คนที่เก่งที่สุดมีโอกาสจะได้คะแนนน้อยลง คนที่ได้คะแนนต่ำสุดก็มีโอกาสที่จะได้คะแนนสูงขึ้น
แต่ถามว่าคนที่เก่งจะได้คะแนนห่วยสุดเลยไหม? หรือคนที่ห่วยจะได้ท็อปเลยไหม? ก็คงไม่ แต่สุดท้ายแล้วผลลัพธ์มันจะเป็นค่าเฉลี่ยของความสามารถของคนคนนั้น
เพราะฉะนั้นเวลาจะวัดผลอะไรสักอย่าง อย่าใช้แค่ตัวเลขหรือการวัดผลเพียงครั้งสองครั้ง ควรวัดผลจากค่าเฉลี่ยที่ทำอยู่บ่อยๆ จะแม่นยำกว่า
หรืออย่างการลงทุนหากปีนี้ได้ผลตอบแทนดีมากๆ ปีหน้าโอกาสที่มันจะดีกว่าเดิมก็คงยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นนักลงทุนที่แย่ หรือถ้าตอนนี้ชีวิตมันห่วยแตกมากสุดๆ โอกาสที่มันจะดีขึ้นก็มีมากกว่าเช่นกัน
ก็คงเหมือนกับคำที่บอกว่า เมื่อเราอยู่จุดต่ำสุด มันก็ไม่มีทางไหนให้ไปต่อแล้วนอกจากข้างบน ซึ่งกลับกันสำหรับคนที่อยู่จุดสูงสุดก็ไม่มีทางไหนให้ไปต่อแล้วนอกจากข้างล่างนั่นแหละครับ
1
- โสภณ ศุภมั่งมี (บรรณาธิการ aomMONEY)
#aomMONEY #Knowledge #Psychology #SerenaWilliams #SportsIllustratedCoverJinx #RegressiontotheMean #การกลับคืนสู่สามัญ
โฆษณา