6 ต.ค. 2023 เวลา 19:13 • ข่าว

การหลุดพ้นจากหนี้นอกระบบ การทำนาบนหลังคน และดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ทำอย่างไร

ที่เขียนบทความฉบับนี้ขึ้นมา ด้วยเพราะมีคนมาปรึกษาเยอะมาก ทั้งตั้งกระทู้ถามใน Facebook และส่งข้อความถามส่วนตัว ซึ่งผมตอบไปแล้วหลายรายมาก เกิน 7 ราย โดยผมแนะนำแล้วก็ได้ผลอย่างดีเกินคาด คนที่มาปรึกษาสามารถดำรงชีวิตไปได้อย่างปกติสุข ประกอบอาชีพได้อย่างดีและมีเงินเก็บ สามารถตั้งตัวได้ ไม่ต้องมีความทุกข์กับเรื่องพวกนี้อีกต่อไป หากแก้ไขปัญหาอย่างถูกวิธี ดังนั้นจึงตั้งใจว่าจะเขียนเป็นบทความให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อตอบและแก้ไขปัญหาสำหรับอีกหลายคนต่อไป
หนี้นอกระบบมีคำเรียกอีกหลายอย่าง เช่น "ส่งเงินรายวัน" หรือ "เสียดอกรายวัน" เป็นต้น แต่ที่ได้ยินหนาหู บ่อยครั้ง หรือในวงการนี้เขาใช้กันคือ "ดอกลอย" ตอนแรกก็งงว่าดอกลอยคืออย่างไร พอฟังผู้ที่มาปรึกษาแล้วก็เข้าใจได้ว่า คือหนี้ที่ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยไว้เป็นอัตราร้อยละอย่างการเก็บดอกเบี้ยทั่วไป แต่จะให้กู้ยืมเงินแล้วให้จ่ายเงินจำนวนรายวันตามที่กำหนด เช่น ต้องเสียให้วันละ 5 ร้อยบาทบ้าง หรือวันละ 2 พันบาทบ้าง แล้วแต่เจ้าหนี้ผู้ให้กู้เงินจะกำหนด
หนี้นอกระบบผิดกฎหมายอย่างไร ต้องทำความเข้าใจ และให้ความรู้แก่ผู้ตกเป็นเหยื่อของเจ้าหนี้เหล่านี้เสียก่อน คำว่านอกระบบหมายถึง นอกระบบกฎหมาย นอกระบบที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง ซึ่งในการกู้ยืมเงินกันนั้น กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 [*1] และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 [*2]
ผมสรุปความให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย ไม่ต้องเป็นภาษากฎหมายที่เคร่งครัดนัก ดังนี้ กฎหมายห้ามเจ้าหนี้เงินกู้ยืมเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ที่ยืมเงิน เกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งหากเรียกเกินกฎหมายกำหนดไว้นี้ เจ้าหนี้จะต้องติดคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลฎีกาตัดสินว่า ดอกเบี้ยเป็นโมฆะทั้งสิ้น [*3] ไม่ใช่โมฆะเฉพาะส่วนที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี [*4]
เหตุใดกฎหมายจึงบัญญัติไว้เช่นนั้น และเหตุใดศาลจึงตัดสินเช่นนั้น เจตนารมณ์ของทั้งกฎหมายและศาลก็คือ ไม่ต้องการให้เจ้าหนี้เอาเปรียบลูกหนี้มากเกินไป ไม่ต้องการให้เจ้าหนี้ทำนาบนหลังคน ไม่ต้องการให้เจ้าหนี้รวยบนความทุกข์ของลูกหนี้ ไม่ต้องการให้เจ้าหนี้รวยอย่างง่ายดาย และไม่ต้องการให้ลูกหนี้ตกเป็นทาสเงินกู้ตลอดไปจนโงหัวไม่ขึ้น ทำงานใช้หนี้เท่าไรก็ไม่มีวันหมดไปเสียที
เท่าที่ผมได้รับทราบข้อมูลมา เจ้าหนี้มักอ้างอย่างหน้าด้านหน้าตาเฉยมากว่า "ก็ตอนจะมากู้ก็รู้อยู่แล้วนี่ว่า จะต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไร แล้วก็ยังยอมกู้ กราบกรานเลยว่า ยังไงก็ส่งดอก ส่งเงินต้นไหว เป็นหนี้ไม่ว่าจะดอกเบี้ยเท่าไรก็ต้องชดใช้" ซึ่งลูกหนี้พอเจอไม้นี้เข้าไป ก็จะไปไม่เป็น ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะติดกับดักกับคำพูดดังกล่าว และกลัวเจ้าหนี้มาก
ซึ่งผมอยากแนะนำว่า อย่าไปสนใจคำพูดเอาเปรียบอย่างหน้าด้านหน้าทนแบบนั้น กฎหมายไม่คุ้มครองเจ้าหนี้ที่กระทำแบบนั้น เจ้าหนี้ไม่สามารถจะฟ้องร้องลูกหนี้ได้เลยทั้งทางแพ่งและอาญา เพราะเจ้าหนี้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง กลับกลายเป็นว่าเจ้าหนี้จะติดคุกเสียเอง หากลูกหนี้เอาหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความเอาผิดดำเนินคดีให้ถึงที่สุดแก่เจ้าหนี้
มีบางคนเคยมาเถียงว่า ทีธนาคารยังเก็บดอกเบี้ยได้เยอะ หรือพวกบัตรเครดิตก็เก็บดอกเบี้ยได้เยอะ ประเด็นนี้ต้องทำความเข้าใจว่า ธนาคารเขามีกฎหมายพิเศษอนุญาตให้ทำได้ แต่คนธรรมดาจะทำเช่นนั้นไม่ได้
และที่เคยเจออีกกรณี เจ้าหนี้หัวหมอมาก คือ เขียนสัญญากู้ยืมถูกต้อง ดอกเบี้ยไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ให้ส่งเงินต้น ดอกเบี้ยและเงินรายวันสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผมขอแนะนำว่า ทำเช่นนั้นเจ้าหนี้ก็ไม่รอดคดีอาญาที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานะครับ เนื่องจากลูกหนี้สามารถนำเรื่องราวทั้งหมด และหลักฐานที่ได้จ่ายเงินไป นำสืบได้ว่า เจ้าหนี้กระทำความผิดอาญาเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา
วิธีการแก้ไขเรื่องดังกล่าวก็คือ คุณซึ่งเป็นลูกหนี้ ต้องเลิกจ่ายดอกเบี้ยที่เกินร้อยละ 15 ต่อปี เลิกจ่ายดอกลอย เลิกจ่ายรายวัน ให้จ่ายเฉพาะเงินต้นหรือต้นเงินที่ได้ยืมมา เอาจำนวนเงินทั้งหมดที่เราเคยจ่ายไปมาคำนวณดูว่า ครบหรือพอดีกับเงินต้นแล้วหรือยัง ซึ่งเวลาจ่ายเงินใด ๆ ต้องจ่ายให้มีหลักฐาน เช่น โอนผ่านธนาคาร แล้วเก็บสลิปอิเล็กทรอนิกส์ไว้ หรือพิมพ์ใส่กระดาษเก็บไว้ เอาไว้ยันกับเจ้าหนี้ว่าเราจ่ายครบแล้ว
และเราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินต้นเป็นจำนวนทั้งหมดทีเดียว สามารถผ่อนจ่ายได้ตามใจของเราเลย เอาที่เราไหว ไม่ต้องไปฟังคำเจ้าหนี้ เจ้าหนี้ถ้าเขาไม่พอใจอย่างไร หรืออยากได้เยอะ ได้เร็วขนาดไหน ให้เขาไปฟ้องศาลได้เลย ซึ่งเขาไม่กล้าฟ้องแน่นอน เพราะตัวเจ้าหนี้เองก็กระทำความผิดอาญา
วิธีที่เจ้าหนี้จะใช้ก็คือ จ้างสำนักงานทนายไม่ว่าจริงหรือปลอม ทำหนังสือทวงหนี้ ขู่ว่าจะฟ้องศาล หากไม่ชำระหนี้ ขอให้สบายใจเลยว่า เขาทำอะไรเราไม่ได้เลย ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ขอให้ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน และใช้เงินต้นที่ยืมมาก็พอแล้ว ซึ่งตั้งแต่ให้คำปรึกษาไป ก็ยังไม่มีเจ้าหนี้ที่ไหน ไปฟ้องศาลทางแพ่ง หรือแจ้งความอาญาสักราย
ข้อควรระวัง ควรระวังตัวไว้บ้างก็ดีเหมือนกัน เนื่องจาก เขาอาจจ้างคนมาทำร้ายหรือด่าทอ หรือกดดันให้เราจ่ายหนี้ ก็ไม่ต้องไปสนใจ ถ่ายรูป เก็บหลักฐาน หากบุกรุกเข้ามาในบ้านก็ถ่ายรูป หากด่าทอเรา ก็ถ่ายรูป หากประจานเราหน้าสื่อออนไลน์ เราก็จับภาพหน้าจอถ่ายภาพ (Capture)
ซึ่งการเก็บหลักฐานทั้งหมดให้พิมพ์ลงกระดาษ แล้วไปแจ้งความต่อตำรวจว่า ขอดำเนินคดีอาญาให้ถึงที่สุด อย่าทำเพียงว่า ลงบันทึกประจำวัน อย่างไรก็ตาม เท่าที่ให้คำปรึกษามา ยังไม่พบว่ามีใครถูกเจ้าหนี้ทำร้ายร่างกาย เนื่องจาก บางครั้งเจ้าหนี้ก็ไม่กล้าทำ ได้แต่ขู่ให้ลูกหนี้กลัวและยอมสยบใช้หนี้
จำไว้ หนี้นอกระบบ เราต้องมีสติ ต้องตั้งใจ ใจแข็งไว้ ไม่ต้องกลัว เนื่องจากหนี้ที่ดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด ไม่มีใครทำอะไรเราได้เลยทั้งทางแพ่งและอาญา ฟ้องศาลใด ๆ ก็ไม่ได้ เพราะเจ้าหนี้กระทำผิดกฎหมายอาญาเสียเองตั้งแต่ต้น ให้ตั้งหน้าตั้งตา ทำมาหากิน ผ่อนใช้หนี้ต้นเงินของเจ้าหนี้ให้หมดก็เพียงพอ เรื่องอื่นไม่ต้องไปสนใจ หรือหากอยากดัดหลังเจ้าหนี้ ก็เอาหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานี้ไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินคดีอาญาให้ถึงที่สุดเลยก็ได้ เจ้าหนี้จะได้ติดคุกเสียบ้าง
หมายเหตุ  [*1], [*2], … หมายถึง การอ้างอิงที่เชิงอรรถท้ายบทความ
—-------—-------—-------
เชิงอรรถ
[*1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 654 ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี
[*2] พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560
มาตรา 4 บุคคลใดให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินหรือกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการอำพรางการให้กู้ยืมเงิน โดยมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้
(2) กำหนดข้อความอันเป็นเท็จในเรื่องจำนวนเงินกู้หรือเรื่องอื่น ๆ ไว้ในหลักฐานการกู้ยืมหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้เพื่อปิดบังการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด หรือ
(3) กำหนดจะเอาหรือรับเอาซึ่งประโยชน์อย่างอื่นนอกจากดอกเบี้ย ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของหรือโดยวิธีการใด ๆ จนเห็นได้ชัดว่าประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากเกินส่วนอันสมควรตามเงื่อนไขแห่งการกู้ยืมเงิน
[*3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 567/2536
[*4] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1452/2511
โฆษณา