9 ต.ค. 2023 เวลา 06:13 • ความคิดเห็น

Schadenfreude

ผมยังนึกคำไทยที่อธิบายคนลักษณะนี้ไม่ออก ใครอ่านแล้วลองช่วยกันนึกดูนะครับ..
มีรุ่นน้องเพิ่งบ่นว่าได้ยินมาถึงคำนินทาถึงตัวเองซึ่งฟังแล้วก็นอยด์ จิตตกอยู่ไม่น้อย แต่พอผมได้เรื่องที่ว่า ผมกลับนึกถึงพฤติกรรมของผู้เล่ามากกว่าว่าเล่าเพื่อจุดประสงค์ใดและเล่าความจริงหรือบริบททั้งหมดหรือไม่ เพราะผมเจอคนประเภทนี้อยู่บ้าง เป็นคนที่มีความสุขเวลาเห็นคนอื่นทุกข์หรือพังพินาศ ผมอยากอธิบายลักษณะคนพรรค์นี้แล้วไปลองอ่านๆดูว่าเขาเรียกคนพรรค์นี้ว่าอย่างไร
1
ซึ่งมีในภาษาเยอรมันเรียกว่า Schadenfreude ผมถึงกับต้องถามไปที่ ดร. วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้รู้เรื่องเยอรมันดีซึ่งได้รับคำตอบว่าเป็นคำเฉพาะมากแต่ก็อ่านได้ว่า ชาเด้อฟรอย และประมาณว่าเป็นคนประเภทสุขใจเมื่อเวลาเห็นคนอื่นฉิบหาย
ซึ่ง ดร. วิทย์ ก็บอกต่อด้วยว่า มันมีในทุกวัฒนธรรมครับพี่..
ผมเองก็เจอคนแบบนี้อยู่เป็นพักๆ แต่ก่อนมีน้องที่ทำงานคนหนึ่ง เจอทีไรจะรีบเข้ามาแล้วเล่าว่ามีใครด่าผมบ้าง มีเรื่องอะไรที่ผมถูกนินทา ใครพูดอะไรไม่ดีกับผมในบริษัท ผมฟังใหม่ๆก็จิตตกเหมือนกัน คิดมากและก็พยายามคิดว่าเราทำอะไรไม่ดีบ้าง
มองคนที่เขามาเล่าถึงด้วยความระแวงบ้าง แต่ก็เริ่มเอะใจว่าทำไมน้องคนนี้ถึงชอบเอาอะไรมาเล่าแบบนี้ ก็เลยสังเกตพฤติกรรมเขาและก็เริ่มรู้จักคนแบบ Schadenfreude เป็นครั้งแรกว่าเขาเป็นพวกชอบเห็นคนที่อาจจะดีกว่า มีความสุขกว่ามีความทุกข์ คงสะใจและมีความสุขจากการได้ปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความนอยด์นี้ใส่คน พอมั่นใจว่าน้องเอามาบอกนี่มาแนวหวังดีแต่ประสงค์ร้าย ผมก็พยายามหนีห่างให้ไกล เจอหน้าหลบได้ก็หลบตั้งแต่นั้นมา
หลังจากนั้นผมก็เริ่มมีคำถามทุกครั้งเวลามีคนมาบอกว่าเรื่องราวติฉินนินทา หรือเรื่องร้ายๆว่าคนที่มาบอกนั้นมีจุดประสงค์อย่างไรก่อน หลายครั้งเป็นกัลยาณมิตรมาตักเตือนด้วยความปรารถนาดีซึ่งเวลาได้ยินก็จะฟังออกไม่ยากซึ่งเราต้องน้อมรับอย่างตั้งใจและขอบคุณ แต่มีบางครั้งก็จะรู้สึกถึงความสะใจของผู้เล่า หรือจุดประสงค์ที่แฝงอยู่ เวลาเห็นอาการทุกข์ของเรา การตั้งคำถามถึงผู้พูดไปพร้อมกับสารที่ได้นั้นมีประโยชน์สองทาง
ทางหนึ่งก็คือถ้าผู้พูดเจตนาไม่บริสุทธิ์ เราก็จะต้องเช็คต้นตอของข้อมูลก่อน เพราะเขาอาจจะเล่าไม่ครบเพื่อให้ดราม่า หรือเล่าโดยไม่ได้บอกบริบทหมดก็ได้ และประการที่สองก็คือทำให้รู้ว่าคนแบบ Schadenfreude นี้หนีได้ต้องหนี หนีไม่ได้ก็ต้องพยายามคุยเรื่องอื่นไปแทน
คนที่เป็น Schadenfreude ที่ผมเล่านั้นคือเป็นนิสัยสันดานก็เคยเจอ แต่ก็มีเป็นแบบชั่วคราวก็มี บางทีก็เพราะความอิจฉา ริษยา โกรธขึ้งอะไรบางอย่างก็เป็นไปได้ เช่นตอนที่ผมทำงานใหม่ๆ ผมเคยมีเพื่อนร่วมงานที่โกรธเจ้านายแล้วลาออกไป ก็จะพยายามมาเล่ามาพูดว่ามีคนพูดอะไรไม่ดี ใครนินทาผมบ้างเพื่อให้ผมทุกข์จนคิดจะลาออก จะได้ทำให้เขาไม่ได้รู้สึกแย่อยู่คนเดียว
1
หรือไม่นานมานี้ก็มีเพื่อนที่เอาเรื่องที่ผมโดนใส่ร้ายมาเล่า มาใส่ไข่ทั้งๆที่รู้ว่าไม่จริงมาขยี้ เพื่อแสดงการเอาชนะคะคานทางการเมืองก็มี ในกรณีแบบนี้ก็คงแค่หลีกเลี่ยงบทสนทนาในช่วงนั้นหรือหัวข้อนั้นๆไปเพราะความเป็นเพื่อนโดยรวมนั้นยังคงอยู่มากกว่าความเป็น Schadenfreude ชั่วคราว ความเป็นเพื่อนนั้นใหญ่จนพออดทนถูๆไถๆไปได้เช่นกัน
คนที่เป็นแบบนี้ที่ผมเจอบ่อยส่วนใหญ่ก็คือคนที่ผิดหวังหรือตกต่ำ ไม่ประสบความสำเร็จ แทนที่จะพยายามยกตัวเองขึ้นสูงแต่กลับแก้ปัญหาทางใจด้วยการดึงคนอื่นลงมาต่ำ มาทุกข์ให้เท่าตัวเอง
หรือไม่ก็พยายามแค่จะเอาชนะคะคานทางความคิดหรือบางทีเป็นความสุขทางจิตที่ได้ความรู้สึกสะใจเวลาได้เห็นสีหน้าและความไม่สบายใจของผู้ฟัง สารที่เขาเอามาเล่าก็เลยไม่บริสุทธิ์ ผู้รับสารอย่างเรา ก่อนที่จะรีบนอยด์ก็ควรจะดูต้นทางของผู้ส่งสารก่อนด้วย อย่างน้อยก็จะได้ไม่รีบด่วนทุกข์จนเกินเหตุไปได้
และถ้าเราทุกข์ ตกต่ำ หรือมีชีวิตที่ไม่ดี เราก็น่าพยายามยกตัวเองให้สูงขึ้นแทนที่จะไปดึงคนอื่นให้ต่ำลงก็น่าจะเป็นผลดีกับทั้งเราเองและเพื่อนฝูงนะครับ ไม่งั้นอาจจะทั้งเสียเพื่อนและเสียทั้งคุณค่าของตัวเองในที่สุดก็ได้
อ่านมาถึงตรงนี้ มีคำไทยที่เรียกคนแบบ Schadenfreude กันหรือยังครับ…
1
โฆษณา