Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
TODAY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
9 ต.ค. 2023 เวลา 08:25 • ข่าวรอบโลก
อธิบายแบบเข้าใจง่าย ปมขัดแย้ง อิสราเอลปะทะปาเลสไตน์
อิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ เป็น 2 ชาติที่มีปมความขัดแย้งกันรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ภาพจรวดมิสไซล์นับพันที่ทั้ง 2 ประเทศระดมยิงใส่กันในสัปดาห์นี้ อาจจะดูน่ากลัว แต่ความจริง มันไม่ใช่ความขัดแย้งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก สองชาตินี้ห้ำหั่นกันมา 73 ปีเต็มๆ แล้ว
3
พวกเขาขัดแย้งเรื่องอะไรกัน ทำไมไม่สามารถประนีประนอมกันได้ สำนักข่าว TODAY จะอธิบายทั้งหมดแบบเข้าใจง่ายในโพสต์เดียว
1
เผยแพร่ครั้งแรก : 15 พ.ค. 2564
1) ชนชาติยิว เป็นหนึ่งในชนชาติที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตามในอดีต ด้วยความที่แผ่นดินอิสราเอลของยิวอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ใกล้กับ 3 ทวีป คือเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ส่งผลให้อิสราเอลได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจของจักรวรรดิต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ส่งผลให้ชาวยิว ที่อยู่มาแต่เดิมต้องร่อนเร่กระจัดกระจายไปอาศัยในหลายประเทศทั่วโลก
2) ชาวยิว แม้จะอพยพไปอยู่ในประเทศอื่นๆ แต่ยังรักษาประเพณีดั้งเดิมของตัวเองไว้อย่างเหนียวแน่น และปรารถนาที่สักวันในอนาคตจะกลับมาตั้งรกรากแผ่นดิน ที่เยรูซาเล็ม เมืองศักดิ์สิทธิ์เดิมของตัวเองอีกครั้ง
3
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือด้วยความที่อิสราเอลเปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัย จึงผ่านมือคนหลายเชื้อชาติหลายศาสนา ทั้งเปอร์เซีย กรีก และโรมัน ส่งผลให้เยรูซาเล็ม กลายเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของคน 3 ศาสนา ทั้งยูดาห์, คริสต์ และ อิสลาม
5
3) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เยรูซาเล็มและพื้นที่โดยรอบ ตกอยู่ภายใต้การปกครองของมหาจักรวรรดิออตโตมัน หรือประเทศตุรกีในปัจจุบัน โดยจักรวรรดิออตโตมัน ตั้งชื่อดินแดนที่ตั้งของเยรูซาเล็มและพื้นที่โดยรอบว่า “ปาเลสไตน์”
2
โดย ณ เวลานั้น ปาเลสไตน์เป็นเพียงชื่อเรียกของดินแดนเท่านั้น และชาวอาหรับที่เข้ามาอาศัยอยู่ก็ถูกเรียกตามชื่อดินแดนว่า ชาวปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้มีอำนาจปกครองตัวเองใดๆ เพราะเป็นเพียงผู้อาศัยที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิออตโตมันเท่านั้น
12
4) แม้จะเปลี่ยนผ่านผู้ปกครองดินแดนไปหลายเชื้อชาติ แต่ชาวยิวก็ยังคงตั้งความหวังไว้เสมอว่าสักวัน จะกลับมาดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองอีกครั้ง โดยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษสัญญากับชาวยิวไว้ว่า ถ้ามาช่วยรบจะมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้หลังชนะสงคราม ซึ่งชาวยิวเองที่ต้องการจะก่อตั้งประเทศของตัวเองอยู่แล้ว จึงรับปากว่าจะเข้ามาช่วยในสงครามครั้งนี้ด้วย
11
พอสงครามสิ้นสุดลง อังกฤษซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รับชัยชนะ และจักรวรรดิออตโตมันที่อยู่ฝ่ายมหาอำนาจกลางต้องล่มสลายลง ทำให้ดินแดนปาเลสไตน์ที่เคยเป็นของจักรวรรดิออตโตมัน ตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ และ อังกฤษก็ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ พวกเขาอนุญาตให้ชาวยิวย้ายถิ่นฐานเข้าไปอาศัยในดินแดนปาเลสไตน์ได้
6
3
5) แต่ปัญหาก็คือ การเอาคนยิวไปอยู่ในแผ่นดินที่มีคนอาหรับอาศัยอยู่มานานหลายปี มันไม่ได้ราบรื่นขนาดนั้น เพราะชาวปาเลสไตน์เดิม เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ พวกเขาเปรียบเสมือนเจ้าถิ่นที่อยู่มานาน แล้วอยู่ๆ มีชาวยิวซึ่งเป็นคนต่างศาสนาย้ายเข้ามาร่วมอาศัยด้วยเป็นจำนวนมาก นั่นทำให้ชาวปาเลสไตน์เริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยกลัวว่าจะโดนกลืนกิน จึงเกิดการใช้ความรุนแรงเพื่อขับไล่ชาวยิวขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นของความรุนแรงระหว่างสองเผ่าพันธุ์ที่รบพุ่งกันมาตลอดหลายสิบปี
9
ชาวยิวก็อ้างว่า นี่คือแผ่นดินของพวกเขาตั้งแต่พันปีก่อน แต่ฝั่งชาวอาหรับก็อ้างว่านี่ก็คือแผ่นดินของพวกเขาเช่นกัน เพราะอยู่มาเป็นหลายร้อยปีแล้ว ต่างคนก็ต่างอ้างสิทธิ์อันชอบธรรมของตัวเอง
6) ในช่วงแรก ปริมาณคนยิวมีน้อยกว่าคนอาหรับ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมนีนำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวทั่วยุโรป ส่งผลให้ชาวยิวจำนวนมากต้องหนีตาย อพยพกลับมาอยู่ที่ปาเลสไตน์เพิ่มมากขึ้น และการกระทบกระทั่งกันก็หนักขึ้นอีก
1
7) หลังสงครามครั้งที่ 2 จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร เริ่มมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) ขึ้น เพื่อระงับข้อพิพาทต่างๆ ด้วยวิธีสันติ และกรณีแรกๆ ที่ UN ต้องการยุติความขัดแย้ง คือการต่อสู้กันของคนยิวกับคนอาหรับที่ชิงพื้นที่ปาเลสไตน์
4
ในปี 1947 UN มีมติให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือรัฐของชาวยิวโดยเฉพาะ และอีกส่วนคือรัฐของชาวอาหรับ โดยเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้ง 2 ชนชาติ ให้เป็นเมืองเป็นกลาง ไม่ตกอยู่ในความครอบครองของทั้งยิวและอาหรับ
3
8) UN จัดสรร แบ่งพื้นที่ทั้งฝั่งยิว และฝั่งอาหรับในเปอร์เซ็นต์ที่ใกล้เคียงกัน มีพื้นที่ทางออกติดทะเลแบ่งๆกัน ซึ่งชาติสมาชิก UN รับรองแผนนี้ด้วยคะแนนเสียง 33-13 เสียง และเมื่อ UN อนุมัติ ชาวยิวจึงประกาศเอกราชของรัฐตัวเองขึ้น และตั้งชื่อประเทศว่าอิสราเอล ในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948
7
9) อย่างไรก็ตาม ฝั่งปาเลสไตน์ ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าพวกเขาอยู่ในแผ่นดินนี้มายาวนานนับร้อยปี อยู่ๆมาถูกตัดแบ่งประเทศกว่าครึ่งให้ชาวยิวแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมกับพวกเขานัก
3
10) บรรยากาศการเมืองโลกตอนนี้ ฝั่ง UN นำโดยอังกฤษ และสหรัฐฯ อยู่ฝั่งอิสราเอล แต่ ฝั่งชาติอาหรับรอบด้าน ที่เป็นมุสลิม แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง เพราะมองว่า เป็นแนวคิดของพวกชาติตะวันตกที่รวมหัวกัน ใช้อำนาจล่าอาณานิคมแบบมัดมือชก และอีกอย่าง เอาดินแดนของคนศาสนาอื่น มายัดใส่ตรงกลางระหว่างแผ่นดินอิสลามก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก
5
รอบด้านอิสราเอล ประกอบด้วยประเทศ อียิปต์, เลบานอน, จอร์แดน, ซีเรีย และ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอิสลามทั้งสิ้น
5
11) การที่อิสราเอล ประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช แปลว่าพวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองจากอังกฤษอีกต่อไปแล้ว ทำให้ชาวปาเลสไตน์ จับมือกับชาติอาหรับได้แก่ ได้แก่ อียิปต์ เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน และอิรัก คราวนี้ไม่ใช่แค่ขัดแย้งกันธรรมดา แต่ยกระดับเป็นสงครามระหว่างประเทศทันที อิสราเอล ปะทะ ปาเลสไตน์และชาติอาหรับ
3
12) แม้จะโดนหลายชาติรุม แต่อิสราเอลเตรียมพร้อมเป็นอย่างดี นอกจากจะป้องกันกองกำลังของชาติอาหรับไม่ให้รุกล้ำเข้ามาได้แล้ว ยังเป็นฝ่ายตีโต้กลับไป และสามารถยึดครองดินแดนชาติอาหรับบางส่วนได้อีกด้วย
2
แม้จะมีกำลังน้อยกว่า และโดนรุมทุกทิศทาง แต่สงครามรอบนี้ อิสราเอลเอาชนะอย่างเด็ดขาด แต่ละประเทศต้องยอมทยอยเซ็นสัญญาสงบศึกกับอิสราเอล และผลจากสงครามในครั้งนี้ ปาเลสไตน์เสียดินแดนของตัวเองไปบางส่วน ขณะที่พื้นที่ฉนวนกาซ่าทางทิศตะวันตกของประเทศ ได้ถูกตั้งเป็นเหมือนแผ่นดินกันชน ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน เพื่อลดการกระทบกระทั่งของอียิปต์กับอิสราเอล เช่นเดียวกับฝั่งตะวันออก เขตเวสต์แบงค์ ก็ถูกตั้งเป็นเหมือนเขตกันชนระหว่างจอร์แดน กับอิสราเอล
5
13) สำหรับชาวปาเลสไตน์ กลายเป็นว่าพวกเขาตกที่นั่งลำบากยิ่งกว่าเดิม แผนแบ่งดินแดนของ UN ถ้ายินดียอมรับแผ่นดินไป ก็ยังจะได้พื้นที่ 44% ของแผ่นดินเดิม แต่เมื่อใช้วิธีทำสงครามแล้วแพ้แบบนี้ กลายเป็นว่าดินแดนของตัวเองก็โดนยึดไปอีก จนแทบจะไม่เหลือแผ่นดินให้ตัวเองอยู่แล้ว
4
14) เมื่อทำสงครามเต็มรูปแบบแล้วเอาชนะไม่ได้ จึงกลายมาเป็นจุดกำเนิดของ องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องดินแดนแต่เดิมของตนคืน แต่เปลี่ยนวิธีมาใช้การสู้รบแบบกองโจรแทน
2
15) เหตุการณ์ล่วงเลยมาจนถึงปี 1967 ได้เกิดสงครามครั้งใหญ่อีกครั้ง จากการที่อิสราเอลไม่พอใจประเทศรอบข้าง ที่ให้การสนับสนุนองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นกลุ่มทหารแนวกองโจร ในการเข้ามาก่อความวุ่นวายในอิสราเอล
3
16) สถานการณ์ค่อยๆ ยกระดับความตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ฝั่งชาติอาหรับทั้งอียิปต์ ซีเรีย จอร์แดน และอิรัก ต่างเตรียมกำลังรบไว้เพื่อรับมือหากเกิดสงครามขึ้น โดยถ้าวัดกันที่กองกำลัง อิสราเอลมีทหารแค่ 50,000 นายเท่านั้น แต่ชาติพันธมิตรอาหรับมีทหารรวมกัน มากกว่า 547,000 นาย ต่างกันราว 10 เท่าตัว
4
17) อย่างไรก็ตาม แม้จะมีกำลังน้อยกว่า แต่อิสราเอลเหนือกว่าในด้านแผนการรบ พวกเขาใช้วิธีจู่โจมอย่างรวดเร็ว เพื่อรีบทำลายเครื่องบินรบของฝั่งตรงข้ามก่อน และกุมความได้เปรียบเอาไว้ได้
6
สงครามครั้งนี้ถูกเรียกว่าเป็น “สงคราม 6 วัน” จากการที่อิสราเอลสามารถเอาชนะได้ภายในเวลา 6 วันเท่านั้น ส่งผลให้อิสราเอลได้ดินแดนในฉนวนกาซ่าและเขตเวสต์แบงค์ รวมถึงดินแดนบางส่วนของอียิปต์และซีเรียเพิ่มเข้ามาด้วย
7
18) ขนาดมีหลายประเทศรวมกันยังเอาชนะอิสราเอลไม่ได้ ทำให้ฝั่ง PLO เริ่มยอมรับความจริง และเปลี่ยนท่าที จากเดิมต้องการใช้ความรุนแรงไล่ชาวอิสราเอลออกไปให้หมด กลับกลายเป็นว่า ยอมรับการแบ่งดินแดนตามมติเดิมของ UN ในปี 1947 เพื่อที่อย่างน้อยจะได้เหลือดินแดนให้ชาวปาเลสไตน์ได้อยู่อาศัยบ้าง
2
19) แต่ตอนนี้ เกมพลิกแล้ว เมื่ออิสราเอลกุมอำนาจไว้ได้หมดแบบนี้ พวกเขาไม่มีความจำเป็นต้องไปรับข้อเสนอของปาเลสไตน์ ขนาดประเทศอาหรับรอบๆ ยังเสร็จหมด แล้วกลุ่ม PLO ที่มีกำลังน้อยนิด จะสามารถเอาอะไรมาต่อรองได้ นั่นทำให้อิสราเอล ใช้กลยุทธ์ ส่งประชาชนชาวอิสราเอลไปอยู่อาศัยทั้งในเขตฉนวนกาซ่า และเขตเวสต์แบงค์ เพื่อทำการกลืน พื้นที่ของปาเลสไตน์เดิม ให้กลายเป็นของอิสราเอลโดยสมบูรณ์
10
20) ในมุมของปาเลสไตน์ การที่อิสราเอล เอาคนมาอยู่อาศัยในพื้นที่ ที่ชาวปาเลสไตน์เดิมเคยอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะในเขตเวสต์แบงค์ ถูกมองว่าเป็นเหมือนการไล่ที่ ซึ่งนานาชาติก็ไม่เห็นด้วยกับอิสราเอลในการเคลื่อนไหวนี้ เพราะมองว่าควรมีจุดตรงกลางที่ทั้งสองเชื้อชาติจะอาศัยอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องกลืนกินทั้งประเทศแบบนี้
5
21) ชาวปาเลสไตน์ ตอนนี้ไมมีสิทธิ์ใดๆ ในการปกครองตนเอง พวกเขาเหมือนเป็นเบี้ยล่างของฝั่งอิสราเอล แต่จะให้ไปรบก็ไม่มีวันชนะ อย่างไรก็ตาม เกิดเหตุสำคัญขึ้นเมื่อรถของกองทัพอิสราเอลไปชนเข้ากับรถขนคนงาน จนเป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 4 ราย จากเรื่องนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์ลุกฮือขึ้นสู้ โดยเหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า Intifada ครั้งที่ 1
2
ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงในฉนวนกาซ่าและทำร้ายเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล ส่วนอิสราเอลก็ไม่ยอมอยู่เฉย มีการใช้อาวุธหนักเข้าสู้กับผู้ประท้วงอย่างดุเดือด จนนำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 277 ราย และชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตถึง 1,962 ราย
3
22) ในช่วงเวลาเดียวกัน ชาวปาเลสไตน์กลุ่มหนึ่งมองว่า PLO มีท่าทีประนีประนอมเกินไป และไม่ได้ยึดถือกับกฎระเบียบของศาสนาอิสลาม ดูจากสถานการณ์แล้วคงยากที่ปลดปล่อยปาเลสไตน์ได้ จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมาอีกกลุ่มในชื่อ “กลุ่มฮามาส”
ขณะที่ PLO เริ่มหยุดการสู้รบแบบกองโจร และมองหาแนวทางสันติในการเจรจาต่อรองกับอิสราเอล กลุ่มฮามาสเลือกที่จะใช้วิธีสู้รบกับอิสราเอลด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น พวกเขาได้กลายเป็นกลุ่มการเมืองอีกขั้วของปาเลสไตน์ที่มีบทบาทสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน
1
23) ฝั่งนานาชาติเองก็พยายามเข้ามามีบทบาทในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้ง จนมาสู่การทำข้อตกลงออสโลในปี 1993 และ 1995 โดยตกลงว่าจะมีการแบ่งเขตเวสต์แบงค์ออกเป็นเขต A B และ C พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ปาเลสไตน์ได้ปกครองตนเองในบางส่วน
2
24) แต่ความขัดแย้งยังคงไม่ยุติลงง่ายๆ เมื่อกลุ่มฮามาสไม่ได้ไปยอมตกลงอะไรด้วย พวกเขายังไม่ยอมละทิ้งจุดมุ่งหมายเดิม คือการทำลายล้างอิสราเอลให้สิ้นซาก และไม่มีการอ่อนข้อลงเหมือนอย่าง PLO แต่อย่างใด
2
กลุ่มฮามาสใช้วิธีส่งมือระเบิดพลีชีพเข้าไปก่อเหตุในอิสราเอลหลายครั้ง ซึ่งก็ยิ่งทำให้การเจรจาสันติภาพดำเนินต่อไปได้ยากลำบาก เพราะชาวอิสราเอลเองก็รู้สึกโกรธแค้นกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเช่นกัน โดยเฉพาะชาวยิวฝ่ายชาตินิยมขวาจัด ที่มองว่าอิสราเอลควรใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นเพื่อกำราบกลุ่มฮามาสให้ได้
4
25) เหตุการณ์สำคัญต่อมาคือการเกิด Intifada ครั้งที่ 2 ในช่วงปี 2000-2005 จากการที่ผู้นำฝ่ายค้านของอิสราเอล พร้อมด้วยกำลังทหารและตำรวจ เดินเข้าไปเยี่ยมชมภายในมัสยิดอัลอักซอแห่งนครเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลำดับที่ 3 ของศาสนาอิสลาม รองจากนครเมกกะและนครมาดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย
2
การรุกล้ำเข้าไปในมัสยิดสำคัญ สร้างความไม่พอใจให้ชาวปาเลสไตน์อย่างมาก พวกเขามองว่าเป็นการจงใจยั่วยุและดูหมิ่นทางศาสนา จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันขึ้น และกลายเป็นความรุนแรงที่ลากยาวต่อมาเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี
6
26) นับตั้งแต่นั้นมา อิสราเอลได้เพิ่มความเข้มงวดด้านการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก มีการสร้างกำแพงกั้นระหว่างเขตเวสต์แบงค์กับประเทศอิสราเอล และเดินหน้าขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ในนครเยรูซาเล็ม เพื่อให้ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานต่อไป โดยไม่สนเสียงประณามจากนานาชาติ
8
27) หลังจากที่ Intifada ครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การปะทะกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ดูจะเบาลงไปพักหนึ่ง กลายเป็นความขัดแย้งภายในปาเลสไตน์ด้วยกันเอง ระหว่างกลุ่มฟาตะห์ที่เป็นผู้ควบคุมองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) กับกลุ่มฮามาสที่ชนะการเลือกตั้งภายในของปาเลสไตน์เมื่อปี 2006
3
ความขัดแย้งเริ่มทวีความรุนแรง จนนำมาสู่สงครามกลางเมืองของปาเลสไตน์ในปี 2007 ในชื่อ “สงครามแห่งฉนวนกาซ่า” และชัยชนะตกเป็นของกลุ่มฮามาส จากนั้นเมื่อรบกันเองจบแล้ว กลุ่มฮามาสก็หันไปโจมตีอิสราเอลต่อ
6
28) ข้ามมาสู่ปี 2021 การปะทะกันที่มัสยิดอัลอักซอก็เกิดขึ้นอีกครั้ง โดยตำรวจอิสราเอลใช้กระสุนยางและระเบิดแสงเข้าจู่โจมระหว่างที่ชาวปาเลสไตน์กำลังประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิด ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ใช้หินและขวดขว้างใส่เจ้าหน้าที่เป็นการตอบโต้
1
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ฝั่งอิสราเอลอ้างว่า พวกเขาจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยจากการที่ชาวปาเลสไตน์ขว้างหินใส่ตำรวจและชาวอิสราเอลที่มาประกอบพิธีทางศาสนาอยู่ในบริเวณใกล้เคียง
1
29) ความวุ่นวายในมัสยิดอัลอักซอครั้งนี้ ทำให้ชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 305 ราย ส่วนเจ้าหน้าที่อิสราเอลบาดเจ็บ 21 ราย เป็นเหตุให้ผู้นำชาติมุสลิมหลายประเทศออกมาประณามอิสราเอล โดยมองว่าการบุกมัสยิดอัลอักซออันศักดิ์สิทธิ์ เปรียบเสมือนการโจมตีศาสนาอิสลาม
7
30) กลุ่มฮามาสที่เป็นคู่ขัดแย้งในพื้นที่ยิ่งไม่ยอมอยู่เฉย พวกเขาตัดสินใจตอบโต้จากที่ตั้งในฉนวนกาซ่า ด้วยการยิงจรวดจำนวนมาก กระจายไปยังเป้าหมายต่างๆ ทั่วประเทศอิสราเอล พร้อมชี้ว่า นี่คือการตอบโต้ที่สมเหตุสมผลแล้ว กับการบุกรุกสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวปาเลสไตน์
1
31) กองทัพอิสราเอลเผยว่าจรวดถึง 1 ใน 4 จาก 1,600 ลูกยิงไม่ถึงเป้า และตกลงในพื้นที่ภายในฉนวนกาซ่าเอง ส่วนที่ข้ามมาฝั่งอิสราเอล ก็ถูกระบบป้องกันที่เรียกว่า ไอรอนโดม (Iron Dome) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ยิงสกัดไว้ได้ถึง 90%
5
และ พอโดนระดมยิงด้วยจรวดจำนวนมากขนาดนี้ ทางด้านอิสราเอลจึงตัดสินใจตอบโต้บ้าง ด้วยการยิงจรวดโจมตีฉนวนกาซ่าถึง 600 เป้าหมาย
การที่ฝั่งปาเลสไตน์ไม่มีระบบป้องกันชั้นเยี่ยมอย่างที่อิสราเอลมี ทำให้พื้นที่ในฉนวนกาซ่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก คาดว่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 137 ราย และบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
2
32) ความขัดแย้ง ณ เวลานี้ ไม่มีทางถอยกันง่ายๆ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลกล่าวว่าการยิงจรวดใส่นครเยรูซาเล็ม นับเป็นการล้ำเส้น และผู้ที่โจมตีจะต้องชดใช้อย่างสาสม แต่ฝั่งผู้นำกลุ่มฮามาสก็ยืนยันว่าไม่ถอยเช่นกัน
4
33) เสียงสะท้อนจากนานาชาติแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือพันธมิตรหลักของอิสราเอลอย่างสหรัฐฯ ที่ยืนยันว่าอิสราเอลมีสิทธิ์ที่จะป้องกันตนเอง ขณะที่ฝ่ายแสดงท่าทีเป็นกลางอย่างเช่นอังกฤษ ออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายถอยคนละก้าวเพื่อยุติความรุนแรง ส่วนชาติมุสลิมอย่างตุรกี ชี้ว่านานาชาติควรปกป้องปาเลสไตน์จากการรุกรานของอิสราเอล
1
สเตฟาเน่ ดูจาร์ริค โฆษกของยูเอ็น ออกมาพูดถึงการปะทะครั้งนี้ว่า การที่กลุ่มฮามาสยิงจรวดแบบไม่เลือกเป้าเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนอาศัยอยู่หนาแน่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ขณะเดียวกันก็ได้เรียกร้องให้อิสราเอลใช้ความอดกลั้นให้ถึงที่สุด และใช้กำลังอย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือน
1
34) จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในเรื่องนี้ เกิดขึ้นจากการที่ อิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างอ้างสิทธิ์ในการครอบครองดินแดนเดียวกัน โดยมีการยกประวัติศาสตร์และความเชื่อทางศาสนาเพื่อเคลมว่าตนเองมีสิทธิ์ครอบครองโดยชอบธรรม
3
ความขัดแย้งของสองชนชาตินี้ จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก หนทางการเจรจาให้จบลงด้วยสันติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากมาก เรียกได้ว่า การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะรบเอาชนะได้อย่างเด็ดขาด มีความเป็นไปได้มากกว่าเสียอีก และแน่นอนว่ากว่าจะถึงวันที่สงครามของอิสราเอลกับปาเลสไตน์สิ้นสุดลง จำนวนผู้เสียชีวิต จะไม่หยุดอยู่แค่หลักร้อยแน่นอน
10
#สำนักข่าวทูเดย์
#MakeTomorrowTODAY
3
ข่าว
ข่าวรอบโลก
การเมือง
123 บันทึก
167
16
390
123
167
16
390
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย