9 ต.ค. 2023 เวลา 08:56 • ข่าวรอบโลก

Two-state solution คืออะไร ทำไมจึงเป็นแนวทางที่โลกเรียกร้องให้อิสราเอลและปาเลสไตน์ ดำเนินการตาม

ณ ตอนนี้มีคนไทยเสียชีวิตแล้ว 12 คน บาดเจ็บ 8 คน ถูกจับ 11 คน ในเหตุการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์รอบล่าสุดที่กลุ่มฮามาสเปิดการโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีการสังหารพลเรือนจำนวนมากโดยชุดปฏิบัติการขนาดเล็ก ในขณะที่อิสราเอลก็ประกาศระดมพลทั่วประเทศและส่งทหารเข้าเขตกาซ่าแล้ว ซึ่งโดยรวมตัวเลขผู้เสียชีวิตทะลุ 1 พันคนแล้ว
ประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกออกมาประณามความรุนแรง และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยึดถือ Two-state solution และผลักดันกระบวนการสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ให้ก้าวหน้าขึ้น
-------------------
Two-state solution เป็นแนวทางที่ต้องการให้มีรัฐทั้งรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่ร่วมกันบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน แม้ว่าเขตแดนที่แท้จริงนั้นจะยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน โดยอิสราเอลต้องการให้เขตแดนเป็นเขตแดนปัจจุบันที่มีผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวอาศัยอยู่ ส่วนโลกอาหรับเรียกร้องให้เขตแดนกำหนดโดยเขตแดนก่อนสงครามในปี 1967 หรือสงครามหกวัน รวมถึงให้แบ่งกรุงเยรูซาเลมออกเป็นสองส่วนและต่างฝ่ายต่างปกครอง
อย่างที่เราทราบกันดีคือสหราชอาณาจักรยึดครองดินแดนแถบนี้เป็นเมืองขึ้นมานาน จนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งชาวยิวอพยพเข้ามาสู่ดินแดนปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่สหราชอาณาจักรเตรียมการถอนตัวออกจากพื้นที่ ที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติจึงออกมติที่ 181 เรียกร้องให้แบ่งดินแดนเป็นสองส่วนคือรัฐยิวและรัฐอาหรับ
แต่กลุ่มประเทศอาหรับไม่ยอมรับแผนการนี้จนนำมาสู่สงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 หลังจากอิสราเอลประกาศเอกราช แต่สงครามทำให้อิสราเอลขยายดินแดนได้มากขึ้น ผู้อพยพชาวอาหรับได้หนีภัยสงครามเข้ามายังฉนวนกาซาและเขตเวสแบงค์ซึ่งดูแลโดยอิยิปต์และจอร์แดนตามลำดับเพราะปาเลสไตน์ไม่มีรัฐบาลดูแล และทำให้เกิดกลุ่มต่าง ๆ ของชาวปาเลสไตน์ขึ้นมาปกครองและดูแลกันเอง ซึ่งรวมถึงแนวร่วมปลดปล่อยปาเลสไตน์หรือ PLO
สงครามเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 1967 ซึ่งเรียกว่าสงครามหกวัน แต่ผลลัพธ์ของสงครามทำให้อิสราเอลได้ดินแดนมากขึ้นไปอีก โดยเข้ายึดครองคาบสมุทรไซไน ฉนวนกาซ่า เขตเวสแบงค์ และกรุงเยรูซาเล็มตะวันออก ก่อนที่จะมีการเจรจากันโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวกลางให้อิสราเอลคืนคาบสมุทรไซไนให้อิยิปต์ภายใต้ Camp David Accords ซึ่งมีแนวคิดในการแลกเปลี่ยนดินแดนเพื่อสร้างสันติภาพ
-------------------
ในปี 1987 เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อต้านการยึกครองดินแดนของอิสราเอลซึ่งรู้จักกันในนาม the First Intifada แม้ว่าจะถูกทางการอิสราเอลปราบปรามอย่างรุนแรง
แต่ชาวปาเลสไตน์ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมุ่นในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องดินแดนและสิทธิในการปกครองตนเอง รวมถึงการกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก จนทำให้รัฐบาลอิสราเอลเปลี่ยนท่าทีเป็นการเจรจาและนำมาสู่การเจรจาเป็นครั้งแรกที่กรุง Madrid ในปี 1991 และบรรจุต้องตกลงสำคัญในการเจรจาที่กรุง Oslo ในปี 1993 ซึ่งผู้นำในการเจรจาคือชาวยกรัฐมนตรีซิมง เปเรสของอิสราเอลและยัตเชอร์ อาราฟัตของกลุ่ม PLO
ในการเจรจาภายใต้ Oslo Accord นั้น PLO ได้แสดงจุดยืนในการรับรู้การมีอยู่ของอิสราเอล ยอมรับแผนสันติภาพของสหประชาชาติ การเรียกร้องให้อิสราเอลคืนดินแดนที่ได้มาหลังปี 1967 ตามมติสหประชาชาติที่ 242 และ 338 รวมถึงประณามการก่อการร้ายต่ออิสราเอล
ในขณะที่อิสราเอลยอมรับ PLO ในฐานะตัวแทนของชาวปาเลสไตน์และในฐานะคู่เจรจา ซึ่งนำมาสู่การก่อตั้งองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ที่เปรียบเสมือนรัฐบาลปาเลสไตน์ และยอมรับอำนาจโดยจำกัดของปาเลสไตน์ในการปกครองฉนวนกาซ่าและเขตเวสแบงค์ โดยทั้งสองฝ่ายจะเจรจาปัญหาอื่น ๆ รวมถึงเขตแดนระหว่างสองรัฐ การคืนถิ่นฐานของผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ การตั้งถิ่นฐานของชาวยิว และการปกครองกรุงเยรูซาเลมในภายหลัง
ข้อตกลงนี้ทำให้ทั้งชิมง เปเรสและยัตเซอร์ อาราฟัตได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1994
แต่แม้จะเป็นแผนการที่น่าจะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลางได้มากที่สุด และมีความพยายามในการดำเนินการตามแผน เช่น การส่งมอบเมืองบางเมืองให้กับองค์การบริหารแห่งชาติปาเลสไตน์ การถอนทหารอิสราเอลจากพื้นที่ขัดแย้ง แต่หลายฝ่ายทั้งในอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ต่อต้านแผนการนี้ โดยแต่ละฝ่ายมองในุมมมองของตนเองว่าเป้าหมายสูงสุดคือการมีรัฐของตนเองโดยกำจัดรัฐอีกฝ่ายเท่านั้น
รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งภายในอิสราเอลและปาเลสไตน์เอง เช่น การลุกฮือครั้งที่สองหรือ Second Intifada หลังจากการไปเยือน Dome of the Rock ของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและกระแสชาตินิยมในอิสราเอล และการที่ฮามาสชนะเลือกตั้งในปาเลสไตน์ ทำให้แผนการมีอุปสรรค การเปลี่ยนแปลงท่าที่ไปมาของสหรัฐอเมริกาในฐานะตัวกลางเจรจา โดยเฉพาะในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยิ่งทำให้การเจรจาล้มเหลวและหยุดชะงักเรื่อยมา
-------------------
แม้หลายฝ่ายจะมองว่า Two-state solution เป็นสิ่งที่ยากจะเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ เพราะนอกจากการต่อต้านจากฝ่ายที่มีแนวคิดสุดโต่งจากทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์แล้ว เหตุการณ์ทางการเมืองและความรุนแรงหลายเหตุการณ์ยังทำให้การเจรจาตามที่กำหนด Oslo Accord แทบไม่ประสบความสำเร็จ
ในมุมมองของประชาคมโลก Two-state solution เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะสร้างสันติภาพอย่างถาวรในตะวันออกกลาง และเป็นแนวทางที่ประเทศส่วนใหญ่สนับสนุน โดยเฉพาะประเทศที่แสดงรับรองการมีอยู่ของทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์พร้อมกัน ซึ่งรวมถึงประเทศไทย หลายประเทศจึงเรียกร้องให้มีการเคารพมติสหประชาชาติ คืนดินแดนที่ถูกยึดครองมาโดยเฉพาะก่อนปี 1967 ในสงครามหกวัน กำหนดเขตแดนและทำข้อตกลงในการปกครองกรุงเยรูซาเล็มจากทั้งสองฝ่าย
แต่ความรุนแรงและสงครามที่เกิดขึ้นจากทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ก็ยิ่งทำให้ความหวังที่จะเห็น Two-state solution ประสบผลสำเร็จเลือนลางมากขึ้นไปอีก
โฆษณา